Mahachulalongkornrajavidyalaya University
MCU Home Search Contacts Study Events Site Map Thai/Eng
MCU
ON THIS SITE
Curriculum
Academic Articles

First Page » Assoc. Prof. Ven. Phramaha Hansa Dhammahaso, Ph.D. » Buddhist Political Economy
 
counter : 66513 time

''Buddhist Political Economy''
 
Assist. Prof. Phramaha Hansa Dhammahaso, Ph.D. (2554)

ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
หลักสูตรประกาศนียบัตรแนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับ
การจัดการความขัดแย้งด้านนโยบายสาธารณะโดยสันติวิธี
รุ่นที่ ๒   สถาบันพระปกเกล้า

 

 


          ตามที่มหาวิชชาลัยภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่น มูลนิธิชนชุมท้องถิ่นพัฒนา ซึ่งเป็นองค์กรภาคเอกชนได้มีหนังสือถึงพระเดชพระคุณอธิการบดี ศ.ดร.พระธรรมโกศาจารย์ เพื่อเข้าเยี่ยมชมภารกิจเกี่ยวกับการบริหารมหาวิทยาลัย ในวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๕๔ ที่ผ่านมานั้น และพระเดชพระคุณได้โปรดเมตตานุเคราะห์ให้ผู้เขียนในฐานะผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่ายวิชาการได้เป็นผู้แทนของมหาวิทยาลัยเพื่อต้อนรับและร่วมแลกเปลี่ยน ประสบการณ์ด้านศาสนา (Interfaith Dialogue) นั้น  เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนแง่มุมในเชิงวิชาการด้านนี้ ผู้เขียนจึงขอโอกาสนำประเด็นดังกล่าวมาสรุปเป็น “ลักษณะงานกึ่งวิชาการ และกึ่งบรรยาย” มานำเสนอผู้สนใจได้ศึกษาและเรียนรู้ต่อไป

 

 

เกริ่นนำ

       ในนามของผู้บริหาร นำโดยท่านอธิการบดี ศ.ดร.พระธรรมโกศาจารย์ ท่านรองอธิการบดีและพี่น้องชาวมหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯทุกท่าน ขอต้อนรับพี่น้องที่มาจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ได้ให้เกียรติอย่างสูงยิ่ง เดินทางมาดูงานที่เราโดยท่านอาจารย์ ดร.ศักดิ์ ประสานดี ได้กรุณาพามาพบปะพูดคุย การพบปะพูดคุยกันวันนี้ให้ถือเป็นลักษณะการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการด้าน ศาสนา (Interfaith Dialogue) ซึ่งหัวใจหลักของประเด็นนี้คือการแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับชีวิตและการทำ งานด้านศาสนาของพวกเรา

       เมื่อกล่าวถึงช่วงชีวิตของความเป็นพระในอดีตที่ผ่านนั้น อาตมาโชคดีมากที่ตัวเองได้มีโอกาสได้เรียน และเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์เป็นทั้งชาวมุสลิม ชาวซิกซ์ ชาวฮินดู และบาทหลวง ท่านเหล่านี้ได้สอน และบรรยายองค์ความรู้และวิถีการใช้ชีวิตของศาสนา และศาสนิกต่างๆ เมื่อครั้งที่อาตมาเรียนปริญญาตรีในวิชา “ขบวนการของศาสนาในประเทศไทย”  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำอยู่ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่านได้ให้บทเรียนมากมายเกี่ยวกับสันติภาพและสันติวิธีเมื่อครั้งที่อาตมา เรียนอยู่ที่สถาบันพระปกเกล้าเกี่ยวกับหลักสูตรการจัดการความขัดแย้งด้าน นโยบายสาธารณะโดยสันติวิธี ในขณะเดียวกัน อาตมาได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมกับผู้นำศาสนาอิสลามในสามจังหวัดชายแดนภาค ใต้ร่วมกันอาจารย์ ดร.โคทม อารียา และอาจารย์ ดร.ปาริชาด สุวรรณบุปผาอยู่เสมอๆ

       ดังนั้น การที่อาตมาได้มีโอกาสพบปะกับพี่น้องชาวมุสลิมที่เป็นนิสิต นักศึกษา ผู้นำทางศาสนาจากสามจังหวัดชาวแดนภาคใต้ที่เดินทางมาศึกษาดูงานด้านการศึกษา ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยมิได้ถือว่าเป็นเรื่องแปลก หรือตื่นเต้นแต่ประการใด เพราะในช่วงชีวิตของการทำงานที่ผ่านมานั้นได้เข้าไปปฏิสัมพันธ์กับผู้นำ ศาสนาต่างๆ มาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว

       สิ่งที่ถือได้ว่าสำคัญมาก คือ การที่อาตมาได้มีโอกาสได้อ่านคัมภีร์ของศาสนาต่างๆ เช่น อัลกุร์อ่าน และคัมภีร์ไบเบิลเกิดขึ้นเมื่อครั้งที่อาตมาทำวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาเอก เรื่อง การจัดการความขัดแย้งโดยพุทธสันติวิธี  จึงทำให้อาตมาต้องเข้าไปศึกษาและเรียนรู้ว่า ศาสนาอื่นๆ มีรูปแบบและแนวทางในการจัดการความขัดแย้งอย่างไร  จะเห็นว่า ไม่ว่าศาสนาสำคัญๆ ในโลกนี้  ล้วนมีจุดเน้นอยู่ที่การสอนให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างสันติ  กล่าวคือ อิสลามเน้นคุณค่าและให้ความสำคัญแก่สันติ  ศาสนาคริสต์ ให้ความสำคัญกับความรัก โดยเฉพาะประโยชน์ที่ว่า “จงรักเพื่อนบ้านเหมือนกับรักตัวท่านเอง”

       ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าเราจะมองในมิติคำสอนของศาสนาใด เราจะพบประโยชน์ที่เป็นหัวใจสำคัญที่ว่า “โลกทั้งผองล้วนเป็นประดุจพี่น้องกัน”  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในหลักการของพระพุทธศาสนาเราจะเน้นว่า “ในสังสารวัฏนี้ ไม่เคยมีใครที่ไม่เคยเกิดเป็นพี่น้องหรือญาติกัน”   และหากมองในมิติของศาสนาอิสลาม หรือคริสต์แล้ว มนุษย์ทุกคนล้วนเกิดมาจากพระเจ้าซึ่งเป็นพระผู้สร้างมนุษย์ทุกคน  ดังนั้น  หากมองในมิติของศาสนาคริสต์ หรืออิสลาม  จากความจริงดังกล่าว มนุษย์จึงไม่ควรที่จะทำลาย หรือเบียดญาติของเรา  ซึ่งสอดรับกับหลักการของพระพุทธศาสนาที่ชี้ให้เห็นว่า “มนุษย์ทุกคนล้วนเป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย”  ในขณะเดียวกัน มนุษย์ทุกคนล้วนรักความสุข และเกลียดกลัวความทุกข์  ฉะนั้น การเข้าใจสัจธรรมในประเด็นนี้จะทำให้มนุษย์อยู่ร่วมกัน และมีท่าทีต่อกันในเชิงบวกมากยิ่งขึ้น

       ในฐานะที่เราล้วนเป็นผู้น้องกันในลักษณะดังกล่าว อาตมาในนามผู้แทนของผู้บริหาร คณาจารย์ และเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  จึงขอต้อนรับและขอขอบคุณทุกท่านที่ได้เดินทางมาร่วมแปลกเปลี่ยนเรียนรู้ใน มุมมองของแต่ละศาสนาเพื่อจะนำไปสู่การเรียนรู้ เข้าใจ และอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขมากยิ่งขึ้นในสถานการณ์ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยได้รับอย่างสูงยิ่งจากทุกท่าน ดังเช่นที่ครั้งหนึ่งที่อาตมาได้เดินทางไปที่ภาคใต้ และได้รับเกียรติอย่างสูงยิ่งจากโต๊ะอิหม่ามจากผู้นำศาสนา โดยเฉพาะจากผู้นำทางศาสนาอิสลาม

ศาสนาต่างๆ  ควรมีหลักการและแนวปฏิบัติเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้อย่างไร  

       คำถามที่อาตมาพยายามที่จะถามและร่วมแลกเปลี่ยนกับพี่น้องของเราอยู่เสมอคือ ทำอย่างไรเวลาจะคิด พูด และแสดงออกต่อกันด้วยเมตตา เราพูดถึงหลักของเมตตา อิสลามหมายถึงสันติ เป็นศาสนาแห่งความสันติ อยู่ด้วยกันอย่างสันติแบบพี่แบบน้อง ศาสนาคริสต์สอนเรื่องความเมตตา จงรักเพื่อนบ้านเหมือนกับตัวท่านเอง พระพุทธศาสนาสอนพรหมวิหารด้วยความเมตตา สิ่งเหล่านี้ความคล้ายคลึงกัน หลักนี้เป็นหลักเดียวกันที่พวกเราใช้อยู่ด้วยกันในปัจจุบันนี้

       คำถามที่สองคือ ทำอย่างไรเราจึงจะสามารถประนีประนอมผลประโยชน์ร่วมกันได้ เราลงไปที่ภาคใต้ครั้งใด เราพูดถึงเรื่องของความยุติธรรมเราพูดถึงความเที่ยงธรรม เราพูดถึงเรื่องของการดูแลเอาใจใส่จากรัฐเหมือนๆกัน   ทำอย่างไรพี่น้องสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เราจึงจะไม่ถูกมองว่าเป็นพลเมือง หรือกลุ่มคนที่แปลกแยกจากภาคอื่นๆ  ทั้งในแง่ของศาสนา ภาษา ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม

       เมื่อวันที่  ๒๒-๒๓ ตุลาคม ๒๕๕๓ ที่ผ่านมานี้ อาตมาได้ไปร่วมนำเสนอบทความทางวิชาการเรื่อง "Peace in Buddhism: An Analytical Study" ในงาน Enron International Conference เป็น ครั้งที่ ๑ ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และก็มีการพูดเรื่อง “การศึกษาที่เรียนรู้จากภายในสู่ภายนอก” เป็นการเน้นหนักการศึกษาเพื่อสันติภาพ (Education for Peace) คำถามคือ ทำอย่างไรจึงจะสามารถให้มีการเปลี่ยนถ่าย จากการศึกษาที่เกิดจากการศึกษาที่อยู่ข้างในออกมาข้างนอก การศึกษาที่ผ่านมาเราไม่ได้พูดถึงการศึกษาที่อยู่ข้างใน เรามักจะพูดถึงการศึกษาที่อยู่ข้างนอกตัวเรา

       ในโอกาสนี้ อาตมาได้มีโอกาสพบปะกับท่านจุฬาราชมนตรี ซึ่งในชีวิตของการทำงานไม่เคยได้รับโอกาสเช่นนี้มาก่อน  หัวใจสำคัญของการได้มีโอกาสได้พบ และฟังสุนทรพจน์ของท่านคือประโยคสำคัญที่ว่า “การเกิดขึ้นของศาสนามีเป้าหมายของความสงบร่มเย็นและเป็นสันติสุขของชาวโลก” ความหมายที่แท้จริงของประโยคนี้ตามความเข้าใจของอาตมาก็คือ “เมื่อใครก็ตามนับถือพระพุทธศาสนา  ศาสนาคริสต์ หรืออิสลาม   เป้าหมายในการนับถือของเราก็คือ ทำอย่างไร  ศาสนิกชนของแต่ละศาสนาจะสามารถใช้หลักการที่เป็นหัวใจของศาสนามาเป็นเครื่อง มือในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้ (How to Live Together Peacefully)  จะเห็นว่าเป้าหมายเชิงสังคมของการมี หรือนับถือศาสนานั้นมุ่งเน้นประเด็นนี้เป็นด้านหลัก

       จะเห็นว่า ก่อนที่เราจะเกิดขึ้นมาลืมตาดูโลกใบนี้   มนุษย์ทุกคนไม่ได้นับถือศาสนา หรือมิได้รู้จักศาสนาใดศาสนาหนึ่งเลย   แต่เมื่อเราเกิดขึ้นมาภายในบริบทของวัฒนธรรม สังคม และศาสนาที่แตกต่างกัน  เราล้วนได้รับอิทธิพลจากพ่อ แม่ พี่ น้องของเรา และญาติของเรา ที่ได้นำศาสนามาเป็นเครื่องนำทาง หรือเข็มทิศชีวิตในการเดินทาง 

       จากคำกล่าวของท่านจุฬาราชมนตรีดังกล่าวนั้น นับว่าสอดรับกับหลักการของพุทธทาสภิกขุ แห่งสวนโมกขพลาราม  ซึ่งหลวงพ่อมีเพื่อน และญาติธรรมเป็นชาวอิสลาม เป็นโต๊ะครู และโต๊ะอิหม่ามจำนวนมาก อีกทั้งมีกัลยาณมิตรที่เป็นบาทหลวง  จึงทำให้มีโอกาสแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และความคิดระหว่างศาสนากันอยู่เนืองๆ

หัวใจของ Interfaith Dialogue ตามหลักตรีปณิธานของพุทธทาสภิกขุ

       พุทธทาสภิกขุได้นำเสนอหลักการสำคัญที่ถือได้ว่าเป็นเครื่องมือในการศึกษา เรียนรู้ และอยู่ร่วมกันกับเพื่อนมนุษย์ในโลกนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจ  ซึ่งหลักการของท่านคือ “ตรีปณิธาน”   หลักการนี้ เป็นหลักการที่พี่น้องชาวมุสลิมจะคุ้นเคยเป็นอย่างยิ่ง และเมื่อก็ตามที่อาตมาเดินทางไปสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อาตมามักจะนำเสนอประเด็นต่อนักวิชาการ นักการศาสนา และพยายามที่จะเน้นว่า เมื่อใดที่เกิดความขัดแย้ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเกิดความขัดแย้งกัน หลายท่านมักจะสื่อความว่า “ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นความขัดแย้งด้านศาสนา”  แต่ในความเชื่อ และจากผลการวิจัยหลายชิ้นจะพบว่า  ความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้น มิได้เกิดจากหลักการทางศาสนา หรือศาสนิกของแต่ละศาสนา หากแต่เกิดจากผลประโยชน์และความต้องการของกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง หรือมากกว่านั้น ต้องการที่จะขยายผลทางอุดมคติทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม แล้วพยายามที่จะหลักการศาสนามาตีความเพื่อนำไปเป็นเครื่องมือสนองตอบต่อความ ต้องการของลัทธิ และแนวคิดของกลุ่มคนเหล่านั้น 

       เมื่อได้สนทนากับนักการศาสนาหลายๆ ท่านจะพบว่า  ความจริงแล้วปัญหาที่เกิดขึ้นหลายๆประเด็น  ผู้นำศาสนาอยู่ร่วมกันอย่างร่มเย็นและมีความสุข  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่ท่านอาศิส พิทักษ์คุมพล  ในฐานะจุฬาราชมนตรี ท่านพยายามที่ย้ำเตือนให้ชาวมุสลิม  การจัดสัมมนาระดับนานาชาติ ณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ที่ว่า “การเกิดขึ้นของทุกศาสนาในโลกนี้ ต้องเป็นไปเพื่อหลักประกันให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างสันติ”   

       ถึงกระนั้น ข้อกังวลในประเด็นนี้ก็คือ ประเด็นคือ  การที่กลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองพยายามที่จะนำเอาประเด็นทางศาสนาไปอธิบาย และตีความเพื่อตอบสนองความต้องการทางอุดมการณ์และแนวคิดของกลุ่มตน  ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความไม่เข้าใจระหว่างหมู่ชนที่อาศัยอยู่ร่วมกันในสังคมใด สังคมหนึ่งได้  ฉะนั้น   เราควรแยกออกจากกันให้ได้ว่า ปัญหาใดเป็นปัญหาระหว่างกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในรัฐ และเราควรที่จะเจรจาเพื่อสนองตอบต่อผลประโยชน์ และความต้องการให้สอดรับกับความเป็นไปของชาติเราได้อย่างไร จึงจะทำให้คนในชาติอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข  ฉะนั้น ประเด็นใดที่เกี่ยวข้องกับการเมืองควรใช้การเมืองเข้าไปดำเนินการ  ประเด็นใดที่เกี่ยวข้องกับการตีความหลักการทางศาสนาไปรับใช้อุดมการณ์ทาง ความคิดและการเมืองก็ควรที่จะต้องใส่ใจ และเชิญผู้นำทางศาสนามาหาทางออกร่วมกัน เพื่อป้องกัน และป้องปรามหลักการและแนวที่บิดเบี้ยวไปจากข้อเท็จจริงทางศาสนา

       ด้วยเหตุดังกล่าวนั้น ท่านพุทธทาสภิกขุ จึงพยายามที่จะนำเสนอหลักการที่ว่าด้วย “ตรีปณิธาน” เพื่อเป็น “กาวใจ” และสร้างหลักการในการอยู่ร่วมกันกับศาสนิกอื่นๆ ได้อย่างมีความสุข  ซึ่งหลักการดังกล่าวประกอบไปด้วย

       ๑. การศึกษา และเข้าใจศาสนาของตัวเองให้ลึกซึ้ง
            ทำอย่างไรจะทำให้ตนเข้าถึงหัวใจของศาสนาของตนได้ ถ้าทุกคนกลับไปหา กลับไปอ่าน กลับไปศึกษา กลับไปเรียนรู้ เราจะพบความจริงว่าศาสดาของเราทุกศาสนานั้น ปรารถนาจะให้เราทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างรุ่งโรจน์มีความสุขซึ่่งสอดรับกับ ประเด็นที่ท่านจุฬาราชมนตรีได้นำเสนอเอาไว้  ตัวแปรสำคัญของความสอดรับกับในลักษณะดังกล่าว เราสามารถประเมินได้ว่า  "สาระสำคัญเหล่านี้คือหัวใจ หรือรากฐานที่เป็นแก่นแท้ของทุกศาสนา"

        ๒. ศาสนิกของทุกศาสนาต้องพยายามทำความเข้าใจแนวคิดและแนวปฏิบัติของศาสนาอื่นๆ   
             สำหรับตัวอาตมาเองนั้น นับว่าโชคดีที่ได้มีโอกาสพบเพื่อนต่างศาสนิกอยู่เนือง และได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางศาสนาทั้งในประเทศและต่างประเทศ (Interface Dialogue)  การได้เรียน ได้สนทนาธรรมโต๊ะอิหม่าม และบาทหลวง  ที่เคยสอนปริญญาตรีเมื่อสิบห้าปีที่แล้ว  อาตมาก็ได้มีโอกาสคุยกันเรื่องศาสนาเปรียบเทียบ  (Comparative Religion) ซึ่งการเปรียบเทียบดังกล่าวมิได้หมายถึงการเปรียบเทียบให้เห็นว่า ทำไมเราจึงต่างกัน แต่ประเด็นคือ มีประเด็นใดที่สอดรับกัน และเราจะนำหลักการที่สอดรับกับมาแลกเปลี่ยนกัน และนำเสนอเพื่อเป็นเครื่องมือในการจัดการความขัดแย้งและอยู่ร่วมกันของคนใน สังคมได้อย่างไร 

       ในประเด็นนี้ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โดย ศ.ดร.พระธรรมโกศาจารย์ อธิการบดี ได้เป็นหลักในการดำเนินการ  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีการแลกเปลี่ยนนักศึกษา และจัดสัมมนานานาชาติร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยกับมหาวิทยาลัยในประเทศ อียิปต์  นอกจากนี้  มหาวิทยาลัยทั้งสองได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนนักศึกษาเพื่อให้ได้มีโอกาสเรียนรู้ หลักการของศาสนาทั้งสอง ซึ่งนับเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้เปิดพรมแดนของการศึกษาด้านศาสนาเปรียบเทียบ ระหว่างกัน

       อีกกรณีหนึ่งที่นับว่าเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจมากคือ  เมื่อครั้งที่อธิการบดีได้ส่งให้อาตมาเป็นภาษาอังกฤษที่เมือง Oxford ประเทศอังกฤษ  สิ่งหนึ่งที่อาตมาได้พบ และอัศจรรย์ใจคือ สังคมอังกฤษมีประชากรชาวมุสลิมย้ายเข้าไปอยู่อาศัยเป็นจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุก ปี  และที่น่าสนใจมากคือ ในเมืองอ๊อกฟอร์ด (Oxford) นั้น มีมัสยิดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอังกฤษ ซึ่งใช้ทุนในการสร้าง หากคิดเป็นเงินสกุลไทยราวๆ ๓,๐๐๐ ล้านบาท  ประเด็นที่น่าสนใจมากไปกว่านั้นคือ สังคมอังกฤษได้เห็นความสำคัญ และหันมาเลือกเรียนวิชาเกี่ยวกับศาสนาอิสลามมากขึ้นตามลำดับ

       เหตุผลสำคัญนั้น เกิดจากการคำถามที่สังคมอังกฤษพยายามอย่างยิ่งที่จะเรียนรู้ เข้าใจ และอยู่ร่วมกันสังคม และวัฒนธรรมอิสลามได้อย่างไร  จึงจะไม่ทำให้เกิดกระบวนการที่ว่าด้วยการปะทะกันทางวัฒนธรรม (Clash of Civilization)   จะเห็นว่า สังคมอังกฤษพยายามที่จะเรียนรู้วิธีคิด วัฒนธรรม และการเป็นอยู่พี่น้องชาวมุสลิม เพื่อให้เข้าใจความแตกต่าง และอยู่ร่วมกับความแตกต่างกันมากยิ่งขึ้น 

       การที่เราเลือกที่จะข้ามไปเรียนศาสนา แนวคิด และแนวปฏิบัติของอิสลามหรือศาสนาอื่นๆ  สาระสำคัญจึงอยู่ที่ว่า การไม่พยายามที่จะตั้งคำถามว่า ทำไมเราจึงแตกต่างจากเขา หรือคนอื่นๆ แทนที่จะถามว่าทำไมคนอื่นๆ หรือเพื่อนมนุษย์บางท่านบางกลุ่มจึงแตกต่างจากเรา ทำไมจึงคิดไม่เหมือนเรา ปฏิบัติไม่เหมือนเรา  ซึ่งจะนำไปสู่การศึกษาหาคำตอบ และปฏิบัติต่อไปว่า ทำอย่างไร เราจึงจะสามารถเข้าใจความแตกต่าง และอยู่ร่วมกับความแตกต่างของเขาได้อย่างไร  ซึ่งความเข้าใจดังกล่าวจะนำไปสู่ท่าทีในการคิด และการแสดงออกต่อกันในเชิงบวกมากยิ่งขึ้น  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเคารพ และให้เกียรติในการที่เขาเป็นเขา  มิได้หมายถึงการนำเอาเขามาเป็นเรา  พยายามที่จะทำให้เขาเป็นเหมือนดังที่เขาเป็น   ซึ่งการมองในลักษณะเป็นการมองที่พระพุทธศาสนาเรียกว่า การมองสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง (ยถาภูตญาณทัศนะ)

       ในหลายๆ สถานการณ์ บางคนมักตั้งคำถาม ทำไมคนนั้นต่างจากเรา ทำไมเราจึงไม่เหมือนเขา เวลาตั้งคำถาม เรามักจะถามว่า ทำไมเขาจึงคิดไม่เหมือนเรา คำถามที่สำคัญต้องถามคือ ทำไมเขาจึงคิดไม่เหมือนเรา แล้วเราจะเข้าใจความคิดของเขาเพื่ออยู่ร่วมกับเขาอย่างมีความสุขได้อย่างไร ด้วยเหตุนี้ จึงมีชุดคำพูดที่เราจะนำเสนอกันอยู่ในหลายๆ เวทีว่า “เกื้อกูลและไม่ก้าวก่าย เข้าใจแต่ไม่ปะปน”ประโยคนี้มีคุณค่าต่อการแลกเปลี่ยน และการช่วยเหลือเพื่อนของเราในศาสนาต่างๆ หรือต่างวัฒนธรรมจากเราเป็นอย่างมาก  ประเด็นคือ รัฐต้องเกื้อกูลพี่น้องทุกคนในประเทศไหม ต้องเกื้อกูลแต่ต้องไม่ก้าวก่ายเขา เขาเชื่ออย่างไรต้องเชื่ออย่างนั้น ประเพณีเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น ปฏิบัติตามครรลองของตัวเองไป ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ

       ๓.ต้องพยายามช่วยกันถอนตัวออกจากอำนาจวัตถุนิยม
           จากประสบการณ์ของการ เดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น อาตมาไม่พบว่าผับ และบาร์ ซึ่งเป็นแหล่งอบายมุขแต่ย้อนกลับมามองสถานการณ์เดียวกันนี้ในกรุงเทพมหานคร จะพบว่าเต็มไปด้วยสิ่งมอมเมา และบำรุงบำเรอกิเลสในลักษณะต่างๆ เพื่อสนองกิเลสและตัณหาของมนุษย์ในสังคมเมือง หลักการและท่าทีเหล่านี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า “นี่คือแนวทางของวัตถุนิยมและบริโภคนิยม” ซึ่งซ่อนตัวอยู่ภายใต้ระบอบของระบบทุนนิยมที่ไร้ขีด

       จะเห็นว่า ในขณะที่สถานการณ์ของโลกปัจจุบันอุดมไปด้วยปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความขัด แย้งและความรุนแรงนั้น  คำถามที่ชาวโลกมักจะถาม และหันกลับมาให้ความใส่ใจอย่างต่อเนื่องและจริงจังก็คือ “ศาสนาต่างๆ ควรจะมีบทบาทและหน้าที่เข้าไปช่วยดำเนินการอย่างไร ทั้งในระดับองค์กร และการประยุกต์หลักการทางศาสนาไปเป็นเครื่องมือในการจัดการกับปัญหาดัง กล่าว”  หากศาสนาทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับศาสนบุคคล องค์กร และศาสนธรรมไม่สามารถที่จะสนองตอบต่อประเด็นดังกล่าว และทำให้ชาวโลกอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขได้  คำถามคือ “จำเป็นอยู่หรือไม่ที่ชาวโลกจะต้องนับถือศาสนาเพื่อเป็นที่พึ่งพิง และเป็นที่รำลึกนึกถึงในสถานการณ์ที่ตนเองและสังคมกำลังเผชิญหน้ากับความขัด แย้งและความรุนแรงอย่างต่อเนื่องและยาวนาน”

       ประเด็นที่นักการศาสนามักจะถามกลับคือ “ในความเป็นจริงแล้ว ปัญหาเกิดจากการที่ศาสนาไม่สามารถสนอบตอบต่อประเด็นดังกล่าวในแง่ของบุคลากร หรือด้านศาสนธรรมจริงหรือ? หรือว่า ในความเป็นจริงแล้ว เกิดจากตัวของศาสนิกชนในแต่ละศาสนาไม่สามารถที่จะนำหลักการของศาสนาไป ประยุกต์ใช้ให้สอดรับกับความเป็นไป สาระสำคัญคือ กลุ่มคนต่างๆ ใส่ใจเฉพาะในส่วนที่เป็นผลประโยชน์และความต้องการของตัวเองมากจนเกินไป จนไม่สนใจและใส่ใจเพื่อนมนุษย์ร่วมโลกว่า จะทุกข์ทรมานจากการแสดงออก หรือการแย่งชิงของเรามากน้อยเพียงใด  หากเป็นไปในลักษณะนี้ ปัญหาจึงมิได้อยู่ที่ศาสนา หรือหลักการของศาสนาแต่อยู่ที่ศาสนิกมิได้ใส่ใจต่อหลักการ หรือนำหลักการของศาสนาได้อย่างลึกซึ้ง และจริงจังต่อสถาการณ์ที่เกิดขึ้น

       ในประเด็นนี้  หากย้อนกลับไปวิเคราะห์หลักการของท่านจุฬาราชมนตรี และพุทธทาสภิกขุดังที่ได้กล่าวในเบื้องต้นจะพบความจริงที่ว่า ศาสนิกของแต่ละศาสนาควรหันหน้าไปศึกษา และใส่ใจต่อหลักการเดิมแท้ของแต่ละศาสนาที่ตัวเองนับถือให้เข้าใจอย่างถ่อง แท้  เพื่อจะได้พบแก่นแท้ว่า คุณค่าที่แท้จริงของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขคืออะไร  และเราควรที่ปฏิบัติตนให้สอดรับกับหลักการเดิมแท้ของหลักการที่ศาสนาตัวเอง นำเสนออย่างไร  หลังจากนั้น  จำเป็นอย่างยิ่งที่ศาสนิกควรให้ความใส่ใจที่จะเรียนรู้ และเข้าใจวิธีคิด และการดำเนินชีวิตของศาสนา หรือศาสนิกของศาสนาอื่นๆ เพื่อจะได้มีท่าทีและแสดงออกต่อกกันในเชิงบวกมากยิ่งขึ้น

       นอกจากนี้ การดำรงชีวิตให้สอดรับกับหลักการของแต่ละศาสนาที่จะมุ่งเน้นให้มนุษยชาติ ดำเนินชีวิตบนฐานของการรู้เท่าทันต่อวัตถุนิยม การบริโภคที่มุ่งเน้นคุณค่าแท้ตามความจำเป็นของชีวิตแทนที่จะมุ่งบริโภค วัตถุเพื่อตอบสนองอารมณ์และความอยากของตัวเองโดยไร้ขีดจำกัด

 

 สันติภาพ สันติวิธี สมานฉันท์และวิถีแห่งความปรองดอง

       ในระยะเวลา ๑๐ ปีที่ผ่านมานั้น สังคมไทยได้พยายามที่จะสร้างวาทกรรมที่ว่าด้วยการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข บนบาทฐานของ “สังคมแห่งรอยยิ้ม” ที่ได้รับการตั้งชื่อจากทุนทางสังคมดังเดิมว่า “สยามเมืองยิ้ม”  ซึ่งวาทกรรมที่ได้รับการนำเสนอในเบื้องต้นนั้น ประกอบด้วย

       (๑) สันติภาพ (Peace) สันติภาพเป็นสังคมแห่งเป้าหมายที่มนุษยชาติมุ่งหวังที่จะอยู่ร่วมกันอย่างมี ความสุข นักสันติภาพบางท่านอาจจะตีความสันติภาพว่าเป็น “เป้าหมาย” ของชีวิตและสังคม แต่เนื่องจากสังคมโลกประกอบด้วยวัฒนธรรม ความเชื่อ และศาสนาจำนวนมาก ฉะนั้น การตีความคำว่า สันติภาพจึงมักจะมีความแตกต่างกันในเชิงเป้าหมาย  เช่น บางท่านจะมองว่าสันติภาพคือภาวะที่ไร้ซึ่งความขัดแย้งและความรุนแรง  บางท่านจะตีความว่าสันติภาพนั้น มนุษย์สามารถขัดแย้งกันได้ แต่ไม่ควรจะใช้ความรุนแรงเข้าเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหา การตีความต่าง ย่อมนำไปสู่การปฏิบัติที่แตกต่างกันเช่นกัน

       (๒) สันติวิธี (Peaceful Means) สันติวิธีเป็นเครื่องมือที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะนำไปสู่ “สันติภาพ” ทั้งมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมิติภายใน และภายนอก หรือในเชิงปัจเจก และสังคม  ถึงกระนั้น  ตัวสันติวิธีควรจะเป็นทั้งเครื่องมือ (Means) และ เป้าหมาย (End) ในตัวเดียวกัน เพราะการจะได้มาซึ่งสันติภาพ จำเป็นที่จะต้องใช้เครื่องมือที่เต็มไปด้วยสันติภาพเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ดี สันติวิธีโดยเนื้อแท้มี ๓ สำนัก ทั้งสำนักจัดการความขัดแย้ง สำนักเรียกร้องความต้องการ และสำนักสันตินิยม จะเห็นว่าในหลายสถานการณ์นั้น บางท่านมิได้สนใจที่ตัววิธีการ หรือตัวสันติวิธีว่าจะทำให้เกิดสันติภาพได้อย่างไร แต่มักจะสนใจที่ตัวเป้าหมายของการอยู่ร่วมกันเป็นจุดหมายหลัก  ฉะนั้น การตีความสันติวิธีในฐานะเป็นเครื่องมือในการจัดการกับความขัดแย้งเพื่อก้าว ไปสู้สันติภาพมักจะมีข้อปลีกย่อยที่แตกต่างกันในสาระสำคัญ ด้วยเหตุนี้ เมื่อวิธีการเข้าถึงสันติภาพมีความต่างกัน  ตัวสันติภาพเองก็ย่อมมีความแตกต่างกันในเป้าหมายเช่นกัน

       (๓) สมานฉันท์ (Reconciliation) เนื้อแท้ของคำนี้บางท่านตีความว่า “การคืนดี” หรือ “การฟื้นคืนดี” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การประนีประนอมกลุ่มผลประโยชน์ หรือกลุ่มขัดแย้งให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข แต่ถึงกระนั้น โดยเนื้อหาของภาษาไทยนั้น มีนัยถึง “ความพึงพอใจของกลุ่มผลประโยชน์ หรือกลุ่มขัดแย้งที่ได้รับการแสดงออกในมิติต่างๆ เช่น การแบ่งปันทรัพยากรเท่าเทียมกัน ความยุติธรรม ความเที่ยงตรง และความเสมอภาคของกลุ่มคนต่างๆ ที่อาศัยอยู่ร่วมกันในสังคมระดับต่างๆ ตั้งแต่ครอบครัว ชุมชน สังคม ประเทศ และโลก จะเห็นว่า ความสมานฉันท์จะเกิดขึ้นได้นั้น มักจะจะอิงแอบกับปัจจัยภายนอกที่กลุ่มผลประโยชน์ต้องการ และเรียกร้อง  อย่างไรก็ดี ประเด็นว่าด้วยความสมานฉันท์ มักจะได้รับการตีความโดยมุ่งเน้นไปที่การสมานเฉพาะในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่ สามารถประนีประนอมผลประโยชน์ร่วมกันได้ และพยายามที่จะกันกลุ่มที่เห็นต่างออกไป ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง และความรุนแรงตามมา

       (๔) ความปรองดอง (Harmony) หรืออาจจะตีความหมายของคำนี้ว่า “ประสมกลมเกลียวเป็นหนึ่งเดียวของกลุ่มคนต่างๆ ในสังคม  ซึ่งคำนี้มีนัยที่สะท้อนทั้งในมิติภายใน และภายนอก ถึงกระนั้น การที่จะทำให้กลุ่มผลประโยชน์เกิดความรู้สึกที่จะเป็นหนึ่งเดียวกันกลุ่ม อื่นๆ ได้นั้น  มักจะต้องพึ่งพาตัวแปรภายนอกเช่นเดียวกัน  ซึ่งประเด็นนี้ผู้เขียนมองว่า มีความลึกซึ่งมากกว่าคำว่า ความสมานฉันท์ ของกลุ่มคน หรือกลุ่มผลประโยชน์  แต่การจะได้มาซึ่งความปรองดองนั้น ไม่สามารถสร้างด้วยวัตถุ หรือการขยายพื้นที่ของผลประโยชน์และความต้องการให้เพิ่มมากขึ้นเพื่อสนอง ความอยากของคนในสังคมหรือองค์กรเท่านั้น เพราะในความเป็นจริงแล้ว ทรัพยากรมีจำกัด แต่ความต้องการของมนุษย์มีไม่จำกัด  หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ อาจจะมีความจำเป็นที่เราจะต้องขยายพื้นที่ของความอยากให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น  ดังนั้น การที่เราจะขยายพื้นที่ความอยากให้แก่กลุ่มคนต่างๆ ในสังคมอย่างไม่มีที่สุดนั้น หากจะมองอีกนัยหนึ่ง อาจจะกลายเป็นแรงกระตุ้นความอยากให้เพิ่มสูงขึ้น  โดยที่สังคมไม่ได้ใส่ใจต่ออันตรายที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินการในลักษณะดัง กล่าว

       จะเห็นว่า การที่สังคมพยายามที่จะสร้างวาทกรรมทั้ง ๔ ประเด็นอยู่เนืองๆ นั้น ทำให้เราได้ประจักษ์ว่า เป็นการเรียกร้องสิ่งเหล่านี้ให้กลับคืนมาอยู่คู่กับสังคมไทยดังที่เคยปรากฏ เพราะในโลกของความเป็นจริงแล้ว หากเราพร่ำเพรียกเรียกหาสิ่งใดเนืองๆ เรามักจะเห็นความสำคัญของสิ่งนั้น เพื่อจะได้อยู่กับสิ่งนั้น เพราะสิ่งนั้นอาจจะไมได้อยู่กับเรา หรือกำลังจะจางหายไปจากเรา ดังเช่นที่คำทั้ง ๔ นั้นปรากฏแก่สังคมไทยในสถานการณ์ปัจจุบันนี้

เราจะกลับไปหารากเหง้าของสันติภาพในแต่ละศาสนาได้อย่างไร 

       อย่างไรก็ดี ในขณะที่ศาสนากับเผชิญหน้ากับ “กระแสของวัตถุนิยมและบริโภคนิยม” ที่กำลังแพร่หลายอยู่ในสังคมโลกและสังคมไทยในขณะนี้ ได้ทำให้สังคมภาคส่วนต่างๆ ได้ตั้งคำถามที่แหลมคมต่อศาสนาเช่นเดียวกันว่า

             (๑) ศาสนาจะเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมนำเสนอทางรอด และร่วมแก้ปัญหาให้มวลมนุษยชาติได้อย่างไร?  จึงจะทำให้มนุษยชาติไม่ตกอยู่ในห้วงเหว และหลุมพรางของวัตถุนิยมและบริโภคนิยม จนนำไปสู่ความสามารถที่จะรู้เท่าทันโดยไม่ตกเป็นทาสของสิ่งเหล่านี้ และเสพสิ่งเหล่านี้ในฐานะเป็น “สิ่งจำเป็นต่อการดำรงเผ่าพันธุ์”  และ “สร้างสรรค์คุณประโยชน์ให้แก่ตัวเองและสังคมโลก”

             (๒) ศาสนาอาจจะกลายเป็นส่วนของปัญหาหรือไม่?  อันเนื่องจากการที่ศาสนาในแง่ศาสนาบุคคลในรูปขององค์กรศาสนาเองไม่ได้ ตระหนักรู้ หรือรู้เท่าทันต่อกระแสของโลกาภิวัตน์ จึงไม่สามารถปรับตัวให้สอดรับกับกระแสของการเปลี่ยนของสังคม และทำอย่างไร ศาสนาจึงจะไม่กลายเป็นภาระ หรือส่วนเกินของสังคมในโอกาสต่อไป

             (๓) ศาสนาผ่ายแพ้ต่อลัทธิบริโภคนิยม หรือวัตถุนิยมจริงหรือไม่?  ตัวแปรสำคัญที่ทำให้ “ร่องรอยของความพ่ายแพ้” คือ การร่วมสนับสนุนแนวคิดและส่งเสริมอุดมการณ์ดังกล่าวทั้งทางตรงและทางอ้อม  ซึ่งอาจจะเป็นไปในรูปของการนำเสนอหลักการและแนวทางผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่จับต้องได้และไม่ได้  โดยมุ่งเน้น “ปริมาณ” มากกว่า “คุณค่าแท้” ที่จะเกิดขึ้นแก่ปัจเจกชน และสังคมโดยรวม

คุณค่าของศาสนา: จากการแย่งชิงสู่การแบ่งปัน

              (๑)  แบ่งปันความรัก  คำถามที่สำคัญคือ “เพราะเหตุใด? มนุษย์จึงต้องรักผู้อื่น สัตว์อื่น และสิ่งอื่น”   เหตุผลเนื่องมาจาก “การที่มนุษย์ไม่สามารถอยู่คนเดียวในโลกใบนี้ได้”  มนุษย์ สัตว์ทุกชนิด และธรรมชาติสิ่งแวดล้อมมีความจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยและกัน ช่วยเหลือกัน  เพื่อการดำรงเผ่าพันธุ์ และเป็นเครื่องมือสำคัญในการหล่อเลี้ยงวิถีชีวิต ดำเนินชีวิตเพื่อให้สิ่งเหล่านี้รอดเพื่อพัฒนา “คุณค่าอื่นๆ” ต่อไป  ด้วยเหตุผลเช่นนี้  การอยู่รอดของคนอื่น สัตว์อื่น  หรือสิ่งอื่นๆ จึงส่งผลในเชิงบวกต่อการอยู่รอดของเราเช่นเดียวกัน  ฉะนั้น การเปิดพื้นที่ให้แก่คนอื่น หรือสิ่งอื่นๆ โดยการแบ่งปันความรัก ความปรารถนาดีต่อกัน จึงเป็น “ความจำเป็น” ที่ “มนุษย์” จะต้องมีและแสดงออกต่อกันและกัน

              (๒)  แบ่งปันผลประโยชน์และความต้องการ  การดำรงอยู่ของมนุษยชาติที่ต้องสัมพันธ์กับวิถีโลกมีความสัมพันธ์กับปัจจัย ๔ และโลกธรรมอย่างแยกไม่ออก  เนื่องจากมนุษย์มีความจำเป็นในการของการดำรงชีวิตเพื่อความอยู่รอด ด้วยเหตุนี้ ในขณะที่ทรัพยากรมีจำกัด แต่ความต้องการของมนุษย์มีไม่จำกัดนั้น การแบ่งปันทรัพยากรเพื่อให้ฝ่ายต่างๆ เกิดความพึงพอใจสูงสุดจึงมีความจำเป็นที่ใส่ใจ โดยใช้กฎกติกามาเป็นเครื่องมือในการดำเนินการ  นอกจากนั้น  การแบ่งปัน “โลกธรรม” ให้สอดรับกับความต้องการของคน หรือกลุ่มคนย่อมมีความสำคัญเช่นเดียวกัน  คำถามคือ “เราจะแบ่งปันความต้องการด้านทรัพยากรให้สอดรับกับความต้องการด้านโลกธรรมได้อย่างไร” จึงจะทำให้กลุ่มต่างๆ ที่มีความหลากหลายในสังคมเกิดความพึงพอใจสูงสุดตามข้อเสนอและข้อเรียกร้อง ประเด็นนี้ รัฐ ผู้นำหรือกลุ่มคนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะวางกรอบหรือกติกาอย่างไร จึงจะใช้เป็นเกณฑ์เพื่อรองรับการตัดสินใจดังกล่าว โดยไม่ทำให้แต่ละฝ่ายเกิดความรู้สึก และสงสัยในความเสมอภาค เป็นธรรมและเที่ยงธรรม

              (๓) แบ่งปันความสุข  ความสุขในบริบทนี้ ครอบคลุมถึงความสุขทั้งในระดับปัจเจก ครอบครัว สังคม ประเทศชาติ และสังคมโลก  เป็นทั้งความสุขที่ต้องพึ่งพาสิ่งเร้า หรือสิ่งภายนอก และไม่ต้องพึ่งพา ในขณะเดียวกัน ความสุขในครอบครัว ย่อมมีความแตกต่างจากความสุขในระดับสังคม ประเทศชาติ และสังคมโลก  เราจะนิยามความสุขในระดับต่างๆ เหล่านี้อย่างไร  เพราะการนิยามจะมีผลต่อการออกแบบกิจกรรม หรือการดำเนินการในลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้สอดรับกับแบ่งปัน ทรัพยากรเพื่อให้สอดรับกับสิ่งที่เพื่อนมนุษย์ปรารถนาที่จะมีและเป็น  ย่างไรก็ดี เนื่องจากกลุ่มต่างๆ ล้วนต้องการ และเพรียกหาความสุข ไม่ว่าจะเป็นสุขแท้ หรือเทียม พึ่งพาสิ่งภายนอกหรือไม่ก็ตาม  สิ่งที่ต้องระมัดระวังและใส่ใจก็คือ การแสวงหาความสุขภายในนับเป็นเรื่องเชิงปัจเจก แต่เราจะแสวงหาความสุขภายนอกอย่างไร จึงจะไม่ทำสุขที่เราแสวงหานั้น ไปกระทบหรือกินพื้นที่ความสุขของคนอื่นๆ จนกลายเป็นความขัดแย้งในเชิงลบและนำไปสู่ความรุนแรงต่อไป

              (๔)  แบ่งปันถ้อยคำดีๆ และมีคุณค่า  จะเห็นว่า ถ้อยคำดีๆ และมีคุณค่านั้น เป็นสิ่งที่มนุษย์ สัตว์ หรือสิ่งต่างๆ ในโลกนี้ ล้วนมีความต้องการและปรารถนาที่จะสัมผัสทางหู และภาษากายส่วนอื่นๆ และสิ่งเหล่านี้ หากมองในเชิงโลกธรรม นับได้ว่ามีผลอย่างยิ่งต่อวิถีชีวิต และการดำรงอยู่ของมนุษย์กลุ่มต่างๆ ในสังคม  การออกแบบถ้อยคำโดยผ่านกระบวนการคิดอย่างมีเหตุมีผล ผ่านการปรุงแต่งทางอารมณ์ที่เน้นเรื่องความรู้สึกรัก และใส่ใจกันและกันจึงนับเป็นความสำคัญ ฉะนั้น ถ้อยคำดีๆ และมีคุณค่าจึงควรประกอบด้วยเกณฑ์ที่ว่า “จริง ไพเราะ ไม่เหมาะกาล ประสานสามัคคี มีประโยชน์ และมีเมตตา” เกณฑ์นี้จะเป็นกรอบที่จะทำให้การเปล่งเวลาของแต่ละมีเป้าหมายและท่าทีที่ เป็นบวกมากยิ่งขึ้น

              (๕)  แบ่งปันลมหายใจแห่งสันติภาพ  มนุษย์ทุกคนในโลกนี้อาจจะคิดว่า เรากำลังหายใจเอาอากาศจากภายนอกเข้าไปเท่านั้น  กลุ่มคนจำนวนน้อยที่จะคิดว่า อากาศที่มีอยู่ทั่วไปนั้น ล้วนเคยเป็นอากาศที่เพื่อนมนุษย์ของเราเคยหายใจเข้าไปแล้วหายใจออกมาทั้ง สิ้น  ประเด็นก็คือ “เรากำลังสูดดมลมหายใจของกันและกันอยู่ทุกวินาที” ฉะนั้น เมื่อใดก็ตาม ในขณะที่เราหายใจเข้าไป ในขณะนั้น เราโกรธ เกลียด ปองร้าย เกลียดชังเพื่อนของเรา หรือใครคนใดคนหนึ่ง เมื่อหายใจออกมา เพื่อนรอบข้างของเราย่อมจักหายใจเอาลมหายใจแห่งความเกลียดชัง ความโกรธ ความอิจฉาริษยา และอาฆาตมาดร้ายเข้าไปด้วย  แต่หากการหายใจของเราเป็นไปในเชิงบวก  การหายใจเข้าออกของเพื่อนมนุษย์ที่อยู่รอบข้างเราก็จะเป็นไปในเชิงบวกเช่น เดียวกัน

 

สรุป

           “ศาสนาช่วยโลกของเราได้อย่างไร?”  เป็นประเด็นที่บทความนี้ให้ความสนใจ และใส่ใจคือว่า “หากศาสนาใดๆ ก็ตามในโลกนี้  (๑) ไม่สามารถที่จะทำให้ผู้นับถือมีความสุขกับการใช้ชีวิตอย่างยั้งยืน (๒) ไม่สามารถทำให้อยู่ร่วมกับคนอื่น สัตว์อื่น และสิ่งอื่นอย่างสงบ และสันติสุข (๓) สร้างความหวาดระแวง และหวาดกลัวต่อมวลมนุษยชาติ (๔) ทำให้ผู้นับถือขาดความตระหนักรู้ และเป็นทาสของวัตถุนิยม หรือคล้อยตามลัทธิบริโภคนิยมโดยขาดการรู้เท่าทัน”  คำถามคือ “ศาสนาในลักษณะเช่นนี้  มีคุณค่าเพียงใดที่มนุษยชาติจะต้องให้ความตระหนักรู้ และใส่ใจ เคารพ และนับถือบูชา”

          จากการประเมินศาสนาหลักๆ ในโลกนี้  จะพบว่า ปัญหาหลักไม่ได้อยู่ที่ “เนื้อแท้ หรือแก่นแท้” ของศาสนา  เพราะหลักการของศาสนาทุกศาสนาล้วนมีนัยที่มุ่งเน้นให้มวลมนุษยชาติอยู่ร่วม กันอย่างสงบ และสันติ อีกทั้งเป็นไปเพื่อการสนับสนุนและส่งเสริมแนวทางสันติภาพ สันติวิธี ความสมานฉันท์ และความปรองดองของคนในชาติและสังคมโลก

          อย่างไรก็ดี คำถามหลักที่เรามักจะสงสัยก็คือ “ศาสนบุคคล หรือองค์กรทางศาสนาต่างๆ ในโลกนี้” ได้พยายามหรือสนับสนุน รวมไปถึงการพัฒนา หรือยึดมั่นในหลักการและแก่นแท้ของศาสนาตัวเองมากน้อยเพียงใด ทำอย่างไร? ศาสนบุคคลหรือองค์กรศาสนาต่างๆ จะไม่พยายามที่จะ “บิด” หรือ “แปรรูป” หลักการทางศาสนาที่ทรงคุณค่าไปสู่การรับใช้อุดมการณ์ ผลประโยชน์ ความต้องการ และอำนาจของกลุ่มตน หรือองค์กรของตน

          นอกจากนี้  ศาสนบุคคลหรือองค์กรทางศาสนาต่างๆ ได้พยายามมากน้อยเพียงใดที่จะชักนำ และชักพาให้ศาสนิกที่เคารพ ศรัทธาและนับถือให้หลุดออกไปจากวงโคจรของวัตถุนิยม หรือบริโภคนิยมที่กำลังถาโถม และพัดพาให้สังคมโลกกำลังประสบกับปัญหาและชาตากรรมที่ดังที่ประสบอยู่ในขณะ นี้  อีกทั้ง เราจะนำ “ลัทธิบริโภคนิยม หรือวัตถุนิยม” มารับใช้มนุษยชาติเพื่อการรู้เท่าทัน และพัฒนาตัวเองและสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขได้อย่างไร

          หลักการสำคัญที่ผู้เขียนให้ความใส่ใจคือ “เราจะหันหลังให้แก่ “การแย่งชิง” ไปสู่ “การแบ่งปัน” สิ่งดีๆ ให้แก่กันแลกันได้อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราจะแบ่งปันความรักให้สอดรับกับความรู้ได้อย่างไร  เราจะแบ่งปันผลประโยชน์ และความต้องการด้านทรัพยากร ให้สอดรับกับโลกธรรมที่มีอยู่และดำรงอยู่ในโลกนี้ได้อย่างไร เราจะช่วยกันนิยามความสุขในระดับต่างๆ ตั้งแต่ปัจเจก ครอบครัว สังคม ประเทศชาติ และสังคมโลกเพื่อจะได้ปฏิบัติต่อกันเพื่อให้สอดรับกับความสุขที่คนเหล่านั้น ต้องการได้อย่างไร เราจะแบ่งปันถ้อยคำที่มีคุณค่าและเต็มไปด้วยความรู้สึกที่ดีที่มีต่อกันได้ อย่างไร และเราจะแบ่งปันลมหายใจแห่งสันติภาพ เพื่อให้ลมหายใจของเราเป็นลมหายใจแห่งความรักแทนลมหายใจแห่งการเกลียดชังกัน ได้อย่างไร   ประเด็นคือ “การตอบคำถามเหล่านี้ไม่ใช่เพื่อความอยู่รอดของตัวเราเองเท่านั้น หากแต่เป็นความอยู่รอดของสรรพสัตว์ทุกชนิดที่อาศัยอยู่ในโลกใบนี้

(Source: Article)
 
 
 
Copyright © Mahachulalongkornrajavidyalaya University All rights reserved 
Maintained by: webmaster@mcu.ac.th 
Last Update : Thursday February 9, 2012