Mahachulalongkornrajavidyalaya University
MCU Home Search Contacts Study Events Site Map Thai/Eng
MCU
ON THIS SITE
Curriculum
Academic Articles

First Page » Phrasritawatmethe » ยลพม่า
 
counter : 28360 time

''ยลพม่า''
 
พระศรีธวัชเมธี (ชนะ ป.ธ.๙) (2549)

วันอาทิตย์ที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๙

Kandaw Gyi, Rangoon ณ ทะเลสาบใหญ่ กรุงย่างกุ้ง

คณะผู้แทนมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และเจ้าหน้าที่สำนักงบประมาณ จำนวน ๑๕ รูป/คน ขึ้นเครื่องบินทีจี ๓๐๓ กรุงเทพฯ – ย่างกุ้ง ระยะทาง ๘๕๑ กิโลเมตร ใช้เวลา ๑ ชั่วโมงก็ถึงจุดหมายปลายทางสนามบินนานาชาติย่างกุ้ง อาคารสนามบินยังไม่เสร็จสมบูรณ์ดี กำลังก่อสร้างปรับปรุงใหม่ เจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐบาลพม่าสังกัดกรมการศาสนาเข้ามาต้อนรับอำนวยความสะดวกให้แก่คณะของพวกเรา โดยพาผ่านกองตรวจคนเข้าเมืองเข้าสู่ประเทศพม่า

เวลาพม่าช้ากว่าไทยเราครึ่งชั่วโมง เรียนรู้ภาษาพม่าพื้นฐานนิดหนึ่ง เช่น ทักทายด้วยคำว่า มิงคะลาบา หมายถึง สวัสดี  จี (Gyi) แปลว่า ใหญ่ สะยาดอ (Sayadaw) แปลว่า พระอาจารย์ใหญ่หรือท่านเจ้าอาวาส มีความหมายเหมือนภัททันตะ และ ชเว แปลว่า ทอง

รถวิ่งเข้าเมืองตามเส้นทางถนนกาบาเอ (Kaba Aye Pagoda Rd.) ถึงที่พักตั้งอยู่ห่างสนามบิน ๒๕ กิโลเมตร มองออกไปเห็นพระเจดีย์ชเวดากองตั้งตระหง่าน สีทองสุกสกาวผ่องใสงามตา สมคำเลื่องลือ

เมื่อผ่านประตูด้านหน้าเรือนรับรองที่พัก มองเห็นรูปปั้นไม้แกะสลักนรสิงห์ ตั้งตระหง่านอยู่ ๒ รูป โดยมีร่างเป็นสิงห์ หน้าตาเป็นคน แต่มีปีกบินได้เหมือนนก สอบถามประวัติความเป็นมา ได้ความว่า ชาวพม่าเรียกว่า มนุสสสีหะ มีประวัติตามนิทานปรัมปราเมืองสะเทิมว่า เมื่อครั้งในยุคสุวรรณภูมิ (ประมาณ พ.ศ. ๒๓๖) พระเจ้าอโศกมหาราชได้ส่งสมณทูต คือพระโสณะและพระอุตตระเข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนา ได้พบพวกยักษ์กินเด็กมนุษย์ พระอรหันต์ทั้งสองจึงได้สร้างหรือแปลงร่างเป็นนรสิงห์ขับไล่ยักษ์กินเด็กให้หนีไป หลังจากนั้น ได้ปักหลักตั้งมั่นพระพุทธศาสนาในดินแดนสุวรรณภูมินี้ นรสิงห์จึงถือว่าเป็นเทพพิทักษ์ เป็นเครื่องหมายแห่งสิ่งชอบธรรมในพระพุทธศาสนา

อีกนัยหนึ่ง มีคำอธิบายอีกว่า นรสิงห์ เป็นสัญลักษณ์หมายถึงการขับไล่พระไม่ดี ฝ่ายมิจฉาทิฐิ ประพฤติชั่วร้าย เช่น พวกที่ประพฤติผิดพระธรรมวินัย สร้างประเพณีส่งตัวเจ้าสาวก่อนแต่งงาน ให้ไปอยู่กับพระไร้ยางอายเหล่านี้เป็นเวลาหนึ่งคืน ทำให้นึกถึงเรื่องพวกหญิงสาวในบันทึกว่าด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีของเจินละที่ว่า[1]

จะต้องให้พระภิกษุหรือดาบสทำพิธีทำลายพรหมจารี เรียกว่า “เจวิ้นถาน” ..... พวกภิกษุใช้มือทำลายพรหมจารีด้วยตนเอง แล้วนำเอาเยื่อพรหมจารีนั้นใส่ลงในเหล้า เขายังเล่ากันอีกว่า บิดามารดาญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านต่างแต้มเหล้านั้นที่หน้าผากของตนทุกคน บางคนก็ว่าทุกคนใช้ปากชิมดู บ้างก็ว่าพระภิกษุประกอบเมถุนกรรมกับเด็กหญิง

นรสิงห์ถูกสร้างขึ้นมา เพื่อใช้ขับไล่พระเหล่ามิจฉาทิฐิประพฤติมิชอบให้หนีพ้นออกไป  ทำให้พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทบริสุทธิ์ผุดผ่อง ตั้งหลักปักฐานมั่นคงบนพื้นแผ่นดินสุวรรณภูมินี้ได้

“ย่างกุ้ง” ในเอกสารไทยบางแห่งเขียนว่า “ร่างกุ้ง”  มีความหมายว่า “เสร็จสิ้นสงคราม” เดิมชื่อดะเกิง ตะกอง หรือดากอง เป็นเมืองของมอญมาก่อน เป็น ๑ ใน ๕ ของพระมหาเจติยสถานสำคัญในพม่า หลังจากพม่ารบชนะมอญได้เด็ดขาด จึงเปลี่ยนชื่อดะเกิงเป็นย่างกุ้ง ส่วนฝรั่งเรียกว่าแรงกูน ประเทศพม่าใช้ศัพท์บาลีว่า อริมัททนะประเทศ หมายถึงประเทศที่ย้ำยีข้าศึกศัตรูได้

พม่าใช้ระบบเดือน ๑๒ ตั้งต้นเดือนเมษายน และสิ้นสุดเดือนมีนาคม (ดังหลักฐานราศี ๑๒ ที่ปรากฏในภาพ)

 

 

ถ้ำมหาปาสาณคูหา

คณะเราเข้าเยี่ยมชมถ้ำมหาปาสาณคูหา สร้างขึ้นในสมัย ฯพณฯ อูนุ เคยเป็นสถานที่จัดทำสังคายนาครั้งที่ ๖ และจัดประชุมผู้นำศาสนาพุทธครั้งสำคัญ ตรงปากทางเข้าเขียนบอกว่าเป็นเขตสีมา ภายในถ้ำสร้างเป็นลักษณะหอประชุม มีพระพุทธพจน์เป็นภาษาอังกฤษเขียนไว้บนผนังใหญ่ กล่าวถึงความมหัศจรรย์ของพระพุทธศาสนา ๘ ประการ มีใจความสำคัญ ดังนี้

[๔๕๗] พระพุทธศาสนาเปรียบเหมือนมหาสมุทรลุ่มลึกลาดลงไปโดยลำดับ มิใช่ลึกมาแต่เดิมเลย สิกขาตามลำดับ กิริยาตามลำดับ ปฏิปทาตามลำดับ ในธรรมวินัยนี้ก็เหมือนกัน มิใช่แทงตลอดอรหัตผลมาแต่เดิมเลย

[๔๕๘] พระพุทธศาสนาเปรียบเหมือนมหาสมุทรตั้งอยู่ตามธรรมดา ไม่ล้นฝั่ง สาวกทั้งหลายของเราก็เหมือนกัน ไม่ล่วงละเมิดสิกขาบทที่เราบัญญัติแล้วแก่สาวกทั้งหลาย แม้เพราะเหตุแห่งชีวิต

[๔๕๙] พระพุทธศาสนาเปรียบเหมือนมหาสมุทรไม่ร่วมกับซากศพที่ตายแล้ว ซากศพที่ตายแล้วใดมีอยู่ในมหาสมุทร มหาสมุทรย่อมนำซากศพที่ตายแล้วนั้นไปสู่ฝั่ง ซัดขึ้นบกโดยพลัน บุคคลนั้นใดเป็นผู้ทุศีล มีธรรมลามก มีความประพฤติไม่สะอาด น่ารังเกียจ ปิดบังการกระทำ มิใช่สมณะปฏิญาณว่าเป็นสมณะ มิใช่พรหมจารีปฏิญาณว่าเป็นพรหมจารี เน่าภายในโชกชุ่มด้วยกิเลส ผู้เศร้าหมองก็เหมือนกัน สงฆ์ย่อมไม่ร่วมกับบุคคลนั้น ย่อมประชุมกันยกเธอเสียโดยพลัน ถึงแม้เธอนั่งในท่ามกลางภิกษุสงฆ์ก็จริง ถึงอย่างนั้น เธอชื่อว่าไกลจากสงฆ์ และสงฆ์ก็ไกลจากเธอ

[๔๖๐] พระพุทธศาสนาเปรียบเหมือนแม่น้ำใหญ่บางสาย คือ แม่น้ำคงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหี ไหลถึงมหาสมุทรแล้วย่อมละนามและโคตรเดิมเสีย   ถึงซึ่งอันนับว่ามหาสมุทรทีเดียว วรรณะ ๔ เหล่านี้ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทรก็เหมือนกัน ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว ย่อมละชื่อและตระกูลเดิมเสีย ถึงซึ่งอันนับว่า สมณะเชื้อสายพระศากยบุตรทีเดียว

[๔๖๑] พระพุทธศาสนาเปรียบเหมือนแม่น้ำบางสายในโลกที่ไหลไป ย่อมไปรวมยังมหาสมุทร และสายฝนยังตกลงมาจากอากาศ ความพร่องหรือความเต็มของมหาสมุทรย่อมไม่ปรากฏ เพราะเหตุนั้น ภิกษุจำนวนมากก็เหมือนกัน ถ้าแม้ยังปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ความพร่องหรือความเต็มของนิพพานธาตุย่อมไม่ปรากฏ

[๔๖๒] พระพุทธศาสนาเปรียบเหมือนมหาสมุทรมีรสเค็มรสเดียว ธรรมวินัยนี้ก็เหมือนกัน มีวิมุตติรส รสเดียว

[๔๖๓] พระพุทธศาสนาเปรียบเหมือนมหาสมุทรมีรัตนะมาก มีรัตนะมิใช่ชนิดเดียว รัตนะในมหาสมุทรนั้นเหล่านี้ คือ แก้วมุกดา แก้วมณี แก้วไพฑูรย์ สังข์ ศิลา แก้วประพาฬ  เงิน ทอง ทับทิม มรกต ธรรมวินัยนี้ก็เหมือนกันมีรัตนะมาก มีรัตนะมิใช่อย่างเดียว รัตนะในธรรมวินัยนั้นเหล่านี้   คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗    อริยมรรคมีองค์ ๘

[๔๖๔] พระพุทธศาสนาเปรียบเหมือนมหาสมุทรเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ใหญ่ ๆ สัตว์ใหญ่ ๆ ในมหาสมุทรนั้นเหล่านี้ คือ ปลาติมิ ... อสูร นาค คนธรรพ์ มีอยู่ในมหาสมุทร มีลำตัวตั้งร้อยโยชน์ก็มี สองร้อยโยชน์ก็มี สามร้อยโยชน์ก็มี สี่ร้อยโยชน์ก็มี ห้าร้อยโยชน์ก็มี ธรรมวินัยนี้ก็เหมือนกัน เป็นที่อยู่อาศัยของคนใหญ่ ๆ คนใหญ่ ๆ ในธรรมวินัยนั้นเหล่านี้ คือ โสดาบัน ผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล สกิทาคามี ผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งซึ่งสกิทาคามิผล  อนาคามี ผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งซึ่งอนาคามิผล อรหันต์ ผู้ปฏิบัติเพื่อความเป็นอรหันต์

ด้านข้างทั้งสองของถ้ำมหาปาสาณคูหา เขียนหลักธรรมเป็นบาลีและอังกฤษไว้ว่า

v          สุโข พุทฺธานมุปฺปาโท Happy is the arising of the Buddha การบังเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย นำสุขมาให้

v          สุขี สทฺธมฺมเทสนา Happy is the exposition of the Ariyadhamma การแสดงพระสัทธรรม นำสุขมาให้

v          สุขา สงฺฆสฺส สามคฺคี Happy is the harmony amongst the Sangha ความพร้อมเพรียงของหมู่คณะ นำสุขมาให้

v          สมคฺคานํ ตโป สุโข Happy is the practice of those in harmony ความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลสของผู้พร้อมเพรียงกัน นำสุขมาให้

คณะเราเข้าไปสวดมนต์ไหว้พระที่องค์พระประธาน ซึ่งเป็นพระพุทธรูปหยกสวยงาม ตั้งประดิษฐานอยู่บนซุ้มศิลปะพม่า ฝาผนังถ้ำเขียนลวดลายประดับด้วยดอกไม้ที่เรียกชื่อในภาษาพม่าว่าใบตองก้า ภาษาไทยตรงกับดอกบุนนาก สัญลักษณ์ใบไม้ของต้นบุนนากเป็นไม้ตรัสรู้ของพระศรีอริยเมตไตรย พระพุทธเจ้าองค์ที่ ๕ ในภัทรกัลป์นี้ เขาปลูกต้นบุนนากไว้รอบ ๆ บริเวณคูหา

ที่น่าชมเชยอีกอย่างหนึ่ง คือรูปปั้นพระอรหันต์ ๑๐๘ พระองค์ เป็นรูปปั้นพระเถระพระเถรีอรหันต์ทั้งหลายในสมัยพุทธกาล ข้าพเจ้าเริ่มเดินไปทางด้านขวามือของพระพุทธเจ้า เป็นรูปปั้นพระสารีบุตร พระโกณฑัญญะ ..... เดินชมดูจนถึงพระสีวลี และอยากดูภิกษุณีอรหันต์ว่ามีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร จึงเดินไปถึงรูปปั้นพระเขมาเถรี และพระภิกษุณีอรหันต์อีก ๑๓ รูป

 

เมื่อเพ่งลองอ่านอักษรพม่าดู ก็พอเดาอ่านได้บ้างถ้าเป็นบาลี เพราะตัวหนังสือเหมือนกับอักษรตัวธรรมล้านนา ลักษณะกลม ๆ

 

พระเจดีย์สันติภาพโลก (World Peace Pagoda)

คณะเราไปเยี่ยมชมพระเจดีย์สันติภาพโลก มีชื่อในเอกสารอย่างเป็นทางการว่าพระเจดีย์สิริมังคลกาบาเอ ภายในมีพระพุทธรูปชื่อพระสิริมังคลมหาชินนินท์ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๖ มีป้ายเขียนบอกไว้ว่า ฯพณฯ นายปรีชา เลาหพงษ์ชนะ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพานิชย์และคณะผู้แทนจากประเทศไทย ปิดทองไว้เมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ (Gilded with gold leaves on 5th February, 2006)

ภายใน มีพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าตั้งอยู่ตรงกลาง ด้านซ้ายขวามีพระธาตุพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะบรรจุตั้งอยู่ มีแว่นส่องขยายให้ผู้ชมส่องดูใกล้ ๆ ด้วย

ข้าพเจ้าเดินชมจิตรกรรมฝาผนังรอบพระเจดีย์ เป็นรูปจิตรกรรมพระโพธิสัตว์ ๕ พระองค์ (ตามรูปภาพ) ดังนี้

๑.                  พระทีปังกร เป็นภาพทำนายสุเมธดาบส ซึ่งทอดกายเป็นสะพานข้าม ว่าต่อไปจะเป็นพระพุทธเจ้า

๒.                  พระกกุสันธะ  เป็นภาพถูกพระยามารห้ามออกผนวช ชุดเครื่องแต่งกายเป็นอังวะ

๓.                  พระโกนาคมนะ เป็นภาพได้รับคำทำนายว่าจะเป็นพระพุทธเจ้า ชุดเครื่องแต่งกายเป็นมัณฑเลย์

๔.                  พระกัสสป เป็นภาพพระพรหมทำนาย ชุดเครื่องแต่งกายเป็นอมรปุระ

๕.                  พระโคดม เป็นภาพเจ้าชายสิทธัตถะเห็นเทวทูตทั้ง ๔

ถือโอกาสรีบเดินแวะเข้าไปชมพิพิธภัณฑ์พระพุทธศาสนาและพุทธประวัติซึ่งตั้งอยู่ด้านใกล้เคียงกัน ด้านข้างหน้ามีพระพุทธบาท ๑๐๘ ประการสร้างจำลองขึ้นใหม่เป็นลักษณะวงกลม ภายในพิพิธภัณฑ์มีรูปปั้นเกี่ยวกับพุทธประวัติชนิดลอยตัว เริ่มต้นแต่พระทีปังกรทำนายพระสุเมธดาบส ... พระองคุลีมาล ...ภาพที่สวยงามคือภาพพระเจ้าเปิดโลก เสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

 

ข้อสังเกตในศาสนสถานทั่วไปในพม่า จะพบเห็นตู้รับบริจาคหลายตู้ ฉะนั้น เมื่อจะเดินทางไปกราบไหว้พระในพม่า ควรเตรียมเงินชนิด ๒๐ บาท ๕๐ บาท และ ๑๐๐ บาทไว้มาก ๆ พบตู้บริจาคที่ไหน ก็ทำบุญหยอดใส่ตู้ไปบำรุงพระพุทธศาสนาในประเทศเพื่อนบ้าน วัดสำคัญที่มีพระเจดีย์อยู่จะไม่มีพระเณรพักอยู่อาศัย ที่มีเจดีย์สำคัญจะมีเจ้าหน้าที่รัฐบาลหรือกรรมการวัดจัดการดูแลทุกประการ ฉะนั้น จึงสะอาด มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยดี ไม่มีขอทานมารบกวน

 

เข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราช

คณะเรามีโอกาสเข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราช  รองสมเด็จพระสังฆราช และพระเลขานุการ รวม ๕ องค์

ระบบสมเด็จพระสังฆราชในพม่าใช้วิธีคัดเลือกจากพระสงฆ์ทั่วประเทศ สถานที่เข้าเฝ้าเป็นสำนักงานคล้ายกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติที่พุทธมณฑล ตั้งอยู่ใกล้กับมหาปาสาณคูหา ซึ่งเขาใช้เป็นเขตสีมา ท่านอธิบดีกรมการศาสนาชื่อนายเมียว เมียนต์ บอกเล่าสถานการณ์พระพุทธศาสนาว่า

ในพม่ามีวัดประมาณ ๕๐,๐๐๐ วัด พระภิกษุสามเณรรวมกัน ๕๐๐,๐๐๐ รูป แม่ชี ๓๐๐,๐๐๐ คน ไม่มีภิกษุณี พระพม่านิยมห่มผ้าสีกลักแก่หรืออ่อน นิยมถือพัดใบตาล (ข้าพเจ้าได้รับถวายมาอันหนึ่ง มีป้ายตัวอักษรเขียนเป็นมหาปัฏฐาน ๒๔ คือ เหตุปัจจะโย อารัมมณะปัจจะโย...)

ท่านเจ้าคุณวิสุทธิภัทรธาดา ได้กราบเรียนวัตถุประสงค์ของการเดินทางมาพม่า และกราบอาราธนาสมเด็จพระสังฆราชพร้อมคณะเดินทางไปร่วมงานฉลองวิสาขบูชาโลกที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น ระหว่างวันที่ ๗ – ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๔๙ โดยปรารภว่าเป็นงานเดียวกับที่รัฐบาลไทยได้เคยนิมนต์ไปเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๗ แต่บัดนี้รัฐบาลไทยได้มอบหมายให้มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเป็นแม่งานจัดประชุมขึ้น ณ พุทธมณฑลและศูนย์ประชุมสหประชาชาติ เพื่อร่วมฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และขอนิมนต์ไปร่วมเจริญพระพุทธมนต์ถวายในหลวงที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามด้วย

ท่านพระครูสุวัฒนวชิรคุณ กราบเรียนว่า ประเทศไทยประสงค์นิมนต์พระพม่าจำนวน ๑๐๐ รูป ไปร่วมงานวิสาขบูชาโลก และจะส่งพระไทยจำนวนเป็นร้อยรูปเช่นกันมาศึกษาดูงาน และปฏิบัติฝึกกรรมฐานที่ประเทศพม่า เพราะประเทศไทยขาดพระวิปัสสนาจารย์จำนวนมาก และการฝึกแบบพม่าเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง

สมเด็จพระสังฆราช ตรัสตอบปฏิสันถารว่า ศาสนามิใช่เรื่องของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นของทุกประเทศ บางคราวประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุม ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป เราต้องร่วมมือกันทำงานเพื่อพระพุทธศาสนา เป็นเสมือนพี่น้องกัน เหมือนเมื่อ ๒๖ ปีที่แล้ว ซึ่งเรามีความสนิทสนมกันมาก แต่ต่อมาห่างเหินกันไป เมื่อกลับมาฟื้นฟูใหม่จึงรู้สึกดีใจมาก

 

วัดเจ๊าทัตจี (Chauk Htat Gyi) กรุงย่างกุ้ง

เป็นความคิดที่อยู่ในใจมานานแล้วว่า จะต้องเดินทางไปศึกษาดูงานในพม่าเกี่ยวกับรอยพระพุทธบาท ๑๐๘ ประการ ทราบว่ามีหลายแห่งที่น่าศึกษา เช่น บริเวณพระมหาเจดีย์ชเวดากอง และพิพิธภัณฑ์เมืองพุกาม เป็นต้น ที่วัดเจ๊าทัตจีมีรอยพระพุทธบาทน่าศึกษามาก จึงได้ขอร้องให้พาไปดู ก่อนเดินทางไปกราบนมัสการพระธาตุชเวดากองในยามค่ำคืน เมื่อไปถึงแล้ว ก็สมใจนึก เพราะได้กราบไหว้พระพุทธไสยาสองค์ใหญ่ พระบาทมีรูปรอยมงคล ๑๐๘ ประการ แถมยังมีแผนผังรูปภาพพร้อมคำอธิบายประกอบ โดยย่อได้ใจความว่า พระพุทธบาทที่มีรูปมงคล ๑๐๘ นี้ แสดงถึงโลกทั้ง ๓ คือ เครื่องหมาย ๕๙ ประการแสดงถึงอากาศโลก เครื่องหมาย ๒๑ ประการแสดงถึงสัตวโลก และเครื่องหมาย ๒๘ ประการแสดงถึงสังขารโลก แต่เพราะมีเครื่องหมายพระเจ้าจักรพรรดิ์รวมอยู่ด้วย ทำให้สุทัตตะโกณฑัญญะแน่ใจพยากรณ์ว่า พระองค์จะออกผนวชสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า ในขณะที่พราหมณ์อื่น ๆ ทำนายคติเป็น ๒ ว่า ถ้าอยู่ครองเรือนจะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ ถ้าออกบวชจะเป็นพระพุทธเจ้า

 

เมื่อตอนไปถึงนั้น เป็นยามเย็นจวนพลบค่ำสนธยา แสงตะวันย้อนส่องมาทางพระบาท จึงให้เขาถ่ายรูปและจดบันทึก เพื่อศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมต่อไป ได้ความดังนี้

๑. The spear

หอก

๒. The royal mansion

เรือนหลวง

๓. The wax flower

ดอกพุดซ้อน

๔. The Three Regular line across the Neck

สังวาล

๕. The Ornament Head Band

มงกุฎ

๖. The Table Laid

ตั่ง

๗. The Royal Cot

บัลลังก์

๘. The Javelin

ตะขอ

๙. The Multi-Tiered Roof

ปราสาท

๑๐. The Archway

ซุ้ม, โตรณะ

๑๑. The White Parasol

เศวตฉัตร

๑๒. The Royal Scimitar

ดาบชนิดโค้ง, พระขรรค์

๑๓. The Palmyra Fan

พัดใบตาล

๑๔. The Fan Made of Peacocks Feathers

พัดหางนกยูง

๑๕. The Whisk Made of the Tail of the Antelore

จามร, แส้ปัด

๑๖. The Frontilet

ขะโจมหน้า

๑๗. The Ruby

เพชร, แก้วมณี

๑๘. The Alms Bowl

บาตร

๑๙. The Garland of Jasmines

พวงดอกมะลิ

๒๐. The Blue Lotus

อุบลเขียว

๒๑. The Red Lotus

อุบลแดง

๒๒. The Laered Lotus

บัว....

๒๓. The White Water Lily

บัวบุณฑริก

๒๔. The White Lotus

อุบลขาว

๒๕. The Pot Full of Water

หม้อน้ำ

๒๖. The Cup Full of Water

ถาดน้ำ

๒๗. The Ocean

มหาสมุทร

๒๘. The Mountain of the Universe

ภูเขาจักรวาล

๒๙. The Himalaya Mt.

เขาหิมาลัย

๓๐. The Meru Mt.

เขาสุเมรุ

๓๑. The Sun

พระอาทิตย์

๓๒. The Moon

พระจันทร์

๓๓.  The Planet

นักขัตตฤกษ์

๓๔. – ๓๘. The Four Great Islands, The East Island, The West Island, The North Island, The South Island, The Two Thousand lesser Islands

มหาทวีปทั้งสี่ คือ ปุพพวิเทหะ, อมรโคยาน, อุตตรกุรุ, ชมพูทวีป

 

ทวีปน้อย ๒ พัน

๓๙. The Cakkavatti (The Universal Monarch)

พระเจ้าจักรพรรดิ์

๔๐. The White Conch Shield

หอยสังข์

41. The Pair of Golden Fish

ปลาคู่

42. The Wheel

จักร

43.- 49. The Seven Great Lakes

มหาคงคา ทั้ง ๗

50. – 56. The Seven Mountain Ranges

ภูเขาทั้ง ๗

57. – 63. The Seven Rivers

สระใหญ่ทั้ง ๗

64. The Garuda King

พญาครุฑ

65. The Crocodile King

พญาจระเข้

66. Streamers

ธงยาว

67. The Golden Palanquin

เสลี่ยง

68. The Mount Kalasa

เขาไกรลาส

69. The Lion King

พญาราชสีห์

70. The Tiger King

พญาไกรสร

71. The Noble Steed Born among Clouds

ม้าพลาหก

72. The Noble White Elephant

ช้างขาว

73. The Dragon

พญานาควาสุกรี

74. The Golden Swan

หงส์ทอง

75. The Noble Bull

วัวผู้

76. The Erawana Sakkas Celestial Elephant

ช้างเอราวัณ

77. The Golden Lewathan

จระเข้ทอง

78. The Royal Barge With the Four Doorways

เรือทอง

79. The Cow and her Calf

แม่โคพร้อมลูก

80. The Kinnara Mystical Male Bird

นกกินร

81. The Kinnary Mystical Female Bird

นกกินรี

82. The Karawaik Bird

นกการะเวก

83. *The Peacock

นกยูง

84. *The Crane

นกกระเรียน

85. *The Ruddy Goose

ไก่เถื่อน

86. The Pleasant Partiridge

นกกระทา

87.- 92. The Six Deva Realms

เทวโลกทั้ง ๖

93. – 108. The Sixteen Brahma Realms

พรหมโลกทั้ง ๑๖

รอยพระพุทธบาทมงคล ๑๐๘ ประการ มีแผนผังดังรูปภาพ

 

พระธาตุมหาเจดีย์ชเวดากอง (Shwe Dagon Pagoda)

ส่วนยอดพระธาตุมหาเจดีย์ชเวดากอง ทำด้วยทองคำบริสุทธิ์หนักถึง ๗ ตัน เจดีย์ที่รายล้อมปิดด้วยทองคำเปลว รอบ ๆ ฐานพระเจดีย์มีพระประจำวันเกิด ภาพแกะสลักเกี่ยวกับเรื่องทศชาติล้อมรอบฐานพระเจดีย์ สิ่งที่น่าประทับใจมาก คือชาวพม่าไม่ว่าเด็กเล็กหรือผู้หญิง ทุกเพศทุกวัย ตั้งใจกันมากราบไหว้พระธาตุกันด้วยความศรัทธาอย่างแรงกล้า บางคนสวดมนต์เสียงดังไพเราะ ออกเสียงดัง ๆ ไม่อายใครทั้งสิ้น ถ้ามีเสียงประชันสวดพร้อมกัน ฟังดูขลังดี

พระพุทธรูปในพม่าส่วนมากเป็นปางมารวิชัย พม่าเรียกว่า ภูมิผัสสสมุทร

ณ บัดนี้เราได้มาถึงและกราบไหว้พระมหาเจติยสถานศักดิ์สิทธิ์ ๑ ใน ๕ ในประเทศพม่า เห็นยอดพระเจดีย์สกาวสุกใสด้วยทองคำระยิบระยับงามตาประทับใจ ดุจพระอินทร์มารังสรรค์ไว้ในโลกมนุษย์ฉะนั้น

 

สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตของชาวพม่า คือการเป็นพุทธศาสนิกชน เป็นพุทธมามกะที่ดี สมกับเป็นเมืองพระพุทธศาสนา เขานิยมสวดมนต์ไหว้พระในชีวิตประจำวัน เป็นวิถีชีวิตของเขาที่สั่งสมกันมาตั้งครั้งบรรพกาล การไหว้พระสวดมนต์จะพบเห็นได้ทั่วไปแม้ในเมืองหลวงกรุงย่างกุ้ง

ภาพที่พบเห็นทั่วไป คือ ชายนุ่งผ้าโสร่ง หญิงนุ่งผ้าถุง มองเห็นแฟชั่นตะวันตกแทบจะไม่เจอ จะพบเห็นบ้างประปรายจากพวกนักท่องเที่ยว ผู้คนที่นี่เขานับถือพระพุทธศาสนาเป็นชีวิตจิตใจ พระภิกษุสามเณรบิณฑบาตตามท้องถนนทั่วไปทั้งภาคเช้าและบ่าย

ข้อสังเกตเกี่ยวกับพระปางประจำวันเกิด แตกต่างจากของไทย วิธีบูชามีแบบแผนชัดเจน เช่น

คนเกิดวันเสาร์ ก็ไปบูชาที่พระพุทธรูปซึ่งมีนาคหรืองูเป็นสัญลักษณ์ เอาน้ำรดพระพุทธรูปประจำวันและนาคเท่าอายุของตนเองบวกหนึ่ง เช่น อายุ ๔๗ ก็รดน้ำจำนวน ๔๗ ขันบวกหนึ่ง เขาจะเขียนบอกเป็นภาษาพม่าว่าเป็นวันเกิดอะไร มีกำลังวันเท่าไร พร้อมกับสลักชื่อผู้บริจาคสร้างไว้ เบื้องหน้ามีเรื่องราวทศชาติเป็นภาพประกอบประดับอยู่รอบฐานพระเจดีย์ ทุกช่องมีพระพุทธรูปมากมายติดเป็นรั้วล้อมรอบพระมหาเจดีย์ชเวดากอง ด้านรอบนอกรั้วพระเจดีย์ก็มีพระพุทธรูปตั้งประดิษฐานอยู่ทั่วไปเช่นกัน ชาวพุทธต่างมากราบไหว้ สนทนาธรรม สวดมนต์ เห็นแล้วน่าศรัทธาในวิถีชีวิตเขานัก

พระพุทธรูปประจำวันพม่า ให้สังเกตดูสัตว์พาหนะเป็นหลักยึด ดังนี้

คนเกิดวันอาทิตย์                                                  ครุฑ

คนเกิดวันจันทร์                                                     เสือ

คนเกิดวันอังคาร                                                    สิงห์หรือราชสีห์

คนเกิดวันพุธ                                                          ช้างที่มีงา

คนเกิดวันพุธ (กลางคืน) ราหู                               ช้างที่ไม่มีงา

คนเกิดวันพฤหัสบดี                                               หนูตะเภา

คนเกิดวันศุกร์                                                        หนูเล็ก

คนเกิดวันเสาร์                                                       งู

 

จากจุดที่คณะเราพัก มองออกไปเห็นพระมหาเจดีย์ชเวดากอง และเจดีย์มหาวิชัยตั้งอยู่เคียงคู่กัน สีทองเหลืองอร่ามทั้งในกลางวันและในยามกลางคืน เขานิยมประดับไฟฟ้ามองเห็นยอดสีทองเหลืองอร่ามงามตา

 

วันจันทร์ที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๙

พระทรงพระไตรปิฎก

โปรแกรมแรกของเช้าวันที่สอง เป็นรายการเดินทางไปเยี่ยมมหาวิทยาลัยนานาชาติเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเถรวาท (ITBMU – International Theravada Buddhist Mission University) เพื่อพบปะพูดคุยกับพระไตรปิฎกธร ในขณะรถวิ่งไปได้สังเกตมองเห็นประชาชนหนุ่มสาวและเด็กต่างหิ้วปิ่นโตใส่กับข้าวไปเรียนหรือไปทำงานกัน นับเป็นอีกวิถีชีวิตที่น่าสนใจ

เมื่อเดินทางไปถึงมหาวิทยาลัย ได้พบกับพระไตรปิฎกธร ผู้ทรงจำพระไตรปิฎก

ในพม่ามีพระไตรปิฎกธรเพียง ๑๑ รูป เขาเพิ่งเริ่มต้นระบบการสอบไล่ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๗ พระที่สอบไล่ได้มรณภาพไปแล้ว ๓ รูป ส่วนรูปที่คณะเราเข้าพบปะสนทนาด้วยเป็นรูปอันดับที่ ๑๐ ชื่อว่าท่านสุนทร การสอบผ่านเป็นพระทรงพระไตรปิฎกมิใช่เป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย ยากมากตรงที่ต้องท่องจำพระไตรปิฎกได้ทั้งหมด ท่องได้แบบขึ้นสมอง เหมือนพระทรงจำพระปาติโมกข์ฉะนั้น ผู้จะสอบคัดเลือกต้องเตรียมตัวสอบเป็นอย่างดีไม่ต่ำกว่า ๔ ปี ถ้าสอบผ่านแล้ว รัฐบาลจะประกาศเกียรติยศและถวายค่านิตยภัตพอสมควร  พร้อมทั้งอุปถัมภ์ค่าพาหนะ เช่น ขึ้นเครื่องบินขึ้นรถฟรี และสวัสดิการอื่น ๆ

พระสุนทรมีชื่อติดพัดเป็นทางการว่า พระไตรปิฎกธร ติปิฎกโกวิท ภัททันตะ สอบไล่ได้เมื่อปี ๒๕๔๗ (Tipitakathara Tipitakakovida Bhattanta Sonthara, 2004)

สอบถามว่า หลังสอบไล่ท่องพระไตรปิฎกได้แล้ว หากจะต้องทบทวนพระไตรปิฎกใหม่ทั้งหมด ต้องใช้เวลาท่องถึง ๖๐๐ ชั่วโมง หรือท่องโดยไม่พักเลย ใช้เวลาถึง ๒๕ วัน ท่องปากเปล่าในคัมภีร์สำคัญของพระไตรปิฎกจำนวน ๔๐ คัมภีร์

 

ร่วมประชุมกับเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยนานาชาติเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเถรวาท

จุดมุ่งหมายของการเดินทางไปพม่า เพื่อให้มีโปรแกรมแลกเปลี่ยนทางด้านการศึกษาระหว่างครูบาอาจารย์และนิสิตระหว่างสถาบันเรากับเขา

มหาวิทยาลัยนานาชาติเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเถรวาทก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๑ วัตถุประสงค์สำคัญก็เพื่อสอนพระไตรปิฎกแบบเถรวาท ตามที่ได้สังคายนาไว้ในคราวประชุมสังคายนาครั้งที่ ๕ มหาวิทยาลัยมีบริการให้อาหารพร้อมที่พักแก่นิสิตนักศึกษาฟรี คณะเราได้ชมหอพักสตรีที่ตั้งอยู่อีกด้านหนึ่ง ถัดไปเป็นหอพักสำหรับพระภิกษุสามเณร แยกกันอยู่อย่างชัดเจน

การศึกษาในมหาวิทยาลัยนี้มีข้อบังคับสำหรับนักศึกษาต่างชาติอยู่อย่างหนึ่ง ว่าต้องเรียนภาษาพม่าเป็นภาคบังคับอย่างเคร่งครัด ทุกอาทิตย์นิสิตต้องปฏิบัติกรรมฐาน ๒ ชั่วโมง มีสภาที่ปรึกษาสำหรับนิสิต

ท่านญาณิสสระบอกว่า ที่เรามาประชุมร่วมกันนี้ ขอให้มีการพูดคุยสนทนากันอย่างเปิดเผยและอย่างฉันท์มิตร ซึ่งจะนำไปสู่การเผยแผ่พระพุทธศาสนาร่วมกันในอนาคต หลังจากวันนี้ไป เราจะต้องมาวางแผนงานหรือทำโครงการให้ชัดเจน จะขอพูดคุยรายละเอียดกันอีกในครั้งต่อไป

ข้าพเจ้าเดินไปดูด้านหน้าอาคาร ซึ่งมีป้ายวางศิลาฤกษ์มหาวิทยาลัยตั้งอยู่ มีจารึกเขียนไว้ว่า ในบรรดาประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา ๕ ประเทศ พม่าถือว่าได้รักษาคำสอนเถรวาทไว้อย่างบริสุทธิ์ผุดผ่อง ทั้งทางด้านปริยัติและปฏิบัติ

คณะเราฉันเพลที่ร้านอาหารชื่อไหมไทย ท่านญาณิสสระเป็นเจ้าภาพเลี้ยงเพลมื้อนี้

 

พระธาตุเจดีย์ชเวสุเล (Sule Pagoda)

ยลพระเจดีย์ชเวสุเล ตั้งอยู่กลางเมืองย่างกุ้ง มองเห็นยอดพระเจดีย์ตั้งตระหง่านสวยงาม ไม่ว่าจะเดินทางมาจากทิศทางใดในทิศทั้งสี่ ไทยเรียกว่าจุลเจดีย์ เป็นที่บรรจุพระเกศธาตุ สูงขนาดเท่าพระศรีรัตนเจดีย์ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม รูปทรงเป็นพระสถูปแปดเหลี่ยมงามยิ่งนัก เสียดายที่กำลังซ่อมแซมอยู่ จึงมองเห็นทรวดทรงไม่เต็มตา คณะเรายืนมองดูอยู่ข้างหน้า ไม่ได้เข้าไปภายใน

 

 

พระธาตุเจดีย์โปตาตอง (Botataung Pagoda)

มีประวัติว่า พระเกศธาตุของพระพุทธเจ้ามาขึ้นที่วัดนี้เป็นแห่งแรก จึงได้รับการบรรจุเป็นแห่งแรกด้วย (Buddha’s First Sacred Hair Relic Pagoda) ณ พระธาตุเจดีย์โปตาตอง ซึ่งตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำ ก่อนจะนำไปบรรจุที่ชเวดากองต่อไป

คณะเราเดินทางสู่สนานบินนานาชาติย่างกุ้ง ใช้เส้นทางถนนแปร รถวิ่งผ่านมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง จนไปถึงสนามบินย่างกุ้ง เพื่อขึ้นเครื่องไปยังเมืองมัณฑเลย์

เครื่องบินได้แวะลงรับส่งผู้โดยสารที่สนามบินเฮโฮ (Heho Airport) รัฐฉาน ตั้งอยู่ใกล้กับเมืองพินมานะ ที่มีข่าวลือว่าพม่าจะย้ายเมืองหลวงใหม่มาที่เมืองนี้ ถือว่าเป็นจุดที่ใกล้ถ้าบินมา

 

สนามบินมัณฑเลย์ (Mandalay International Airport)

เดินทางถึงสนามบินมัณฑเลย์เมื่อเวลา ๑๗.๔๕ น. เป็นสนามบินที่ทันสมัยมากที่สุดในพม่า แต่มีการเมืองเข้ามาแทรกแซงจึงทำให้ยังไม่สามารถเปิดเป็นสนามบินนานาชาติอย่างเป็นทางการได้ บางคนพยายามให้คำอธิบายว่า เพราะพม่ามีเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองน้อย ต้องใช้เจ้าหน้าที่จากกรุงย่างกุ้งมาทำงาน ฉะนั้น จึงยังไม่พร้อมที่จะเปิดให้บริการ ข่าวอีกกระแสหนึ่งว่า เพราะพม่ายังไม่พร้อมที่จะให้ชาวต่างชาติเข้ามา กลัวว่าวัฒนธรรมของประเทศจะเสื่อมทรามเสียหาย เพราะวัฒนธรรมตะวันตกหลั่งไหลเข้ามา กลัวว่าภูมิคุ้มกันยังไม่ดีพอ

 

เมืองสะแคง หรือสะกายน์

พระปุณณภาสะ ศิษย์ของท่านญาณิสสระแห่งสถาบันสีตะคู เดินทางมาให้การต้อนรับอย่างดีที่สนามบินมัณฑเลย์ พาคณะเราไปยังเมืองสะกายน์ ซึ่งคนไทยเรียกว่า “เมืองสะแคง” หรือ “เมืองจักกาย” ระหว่างทางท่านได้อธิบายบอกถึงสภาพแวดล้อมของสถาบันพระพุทธศาสนาสีตะคู ซึ่งตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำอิระวดี เพราะแม่น้ำเริ่มโค้งตรงเมืองสะแคงนี้จึงเป็นที่มาของคำว่าสะกายน์

คำว่า สีตะคู มาจากภาษาบาลีว่า สีตะ แปลว่า เย็น สบาย บวกกับ คูหา แปลว่า ถ้ำ มีความหมายรวมกันว่า เป็นที่อยู่อย่างสันติของโลก (place of world peace)

สถาปัตยกรรมของสถาบันนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปะยุคอโศกมหาราช มีสัญลักษณ์สำคัญคือ สิงห์ หมายถึง กล้าหาญ ช้าง หมายถึง แข็งแรง วัว หมายถึง บึกบึนอดทน และม้า หมายถึง รวดเร็ว

สะกายน์ หรือสะแคง เป็นเมืองสิงห์ ที่มีความกล้าหาญดังพญาราชสีห์ จึงมีสิงห์พม่าตั้งอยู่ทั่วไป

เมื่อถึงสถาบันสีตะคู เขาให้การต้อนรับภายในห้องประชุม มีท่านประธาน (Chairman) ของสถาบันคอยถวายการต้อนรับ เพราะท่านญาณิสสระติดภารกิจสอนหนังสือที่กรุงย่างกุ้ง ภายในห้องประชุมประทับใจกับรูปภาพพระเจดีย์สำคัญที่ท่านญาณิสสระถ่ายภาพไว้

ชาวพม่าผู้มีศรัทธารายหนึ่งเป็นเจ้าภาพถวายพระพุทธรูปหยกขาว เป็นที่ระลึกแก่ผู้มาเยือนทุกท่าน เราได้พระพุทธรูปหยกขาว พระพักตร์เป็นปางอมรปุระ หน้าหนุ่ม

สถาบันสีตะคูมีครู ๑๑ ท่าน นักศึกษาที่พักอยู่ในสถาบันประมาณ ๕๐ ท่าน หากนับข้างนอกที่มาเรียนด้วยก็ตกประมาณ ๓๐๐ ท่าน ในบริเวณเนื้อที่ ๑๖ เอเคอร์ (ประมาณ ๔๐ ไร่) กำลังก่อสร้างสถูปสาญจิจำลอง โครงการแล้วเสร็จในปี ๒๕๕๐

ในยามเย็นได้เดินรอบนอกกำแพงบริเวณสถาบัน พบว่ามีวัดล้อมรอบสถาบันสีตะคูเกือบทั้งสิ้น บางจุดไม่มีไฟฟ้าใช้ เห็นเด็กนั่งท่องหนังสือ ทำให้นึกถึงบรรยากาศสมัยก่อนโน้น ได้เข้าไปยังวัดแห่งหนึ่ง มีพระเณรถึง ๑๗๐ รูป เข้าไปดูที่พักรวม เห็นบาตรกองวางรวมกันอย่างเป็นระเบียบ สามเณรอยู่รวมกัน ทำให้ย้อนนึกถึงสมัยเป็นสามเณรบ้านนอกสมัยก่อน

สถาบันสีตะคูอยู่ห่างจากย่านธุรกิจ (downtown) ของเมืองสะแคงเพียงรัศมี ๑ ไมล์ครึ่ง แต่ต้องปั่นไฟฟ้าใช้เอง ตามปรกติสถาบันสีตะคูจะเปิดบริการปั่นไฟฟ้าในระหว่างเวลา ๑๘.๐๐ – ๒๒.๐๐ น.

 

พระธาตุเจดีย์ปุญญชิน (Ponnyashin Pagoda) เมืองสะแคง

พม่าออกเสียงพูดว่า เมืองสะกายน์ แต่ไทยเรียกว่า เมืองจักกาย ในเอกสารนี้จะใช้ชื่อว่าเมืองสะแคง ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกของลุ่มน้ำอิระวดี คณะเราเข้าเยี่ยมชมพระธาตุเจดีย์ปุญญชิน ตั้งอยู่บนเนินเขาของเมือง มีพระพุทธรูปขาวใหญ่โตที่สุดในเมืองนี้ เป็นวัดที่มีชื่อเสียงมากมาแต่อดีต สร้างโดย อู ปุญญะ เสนาบดีของพระเจ้าอาชิน คยา ซอยุน ผู้สถาปนาเมืองเมื่อครั้ง พ.ศ. ๑๘๕๘ (ค.ศ. ๑๓๑๕)  มีตำนานเล่าถึงความศักดิ์สิทธิ์ของพระธาตุเจดีย์นี้ว่า จะไม่มีใครเป็นผู้ถวายข้าวที่หุงเสร็จเป็นคนแรกแก่พระพุทธเจ้าในพระธาตุเจดีย์นี้ได้ในทุกวันเพ็ญ เพราะจะมีผู้อื่นมาถวายก่อนทุกครั้ง

ศาสนสถานแห่งนี้มีศิลปะงดงามมากแห่งหนึ่ง ถอดแบบมาจากเจดีย์พุกาม

ที่ราวระเบียงมีรูปภาพคำทำนายพระสุบิน ๑๖ ประการของพระเจ้าโกศล เช่น น้ำเต้าจะจม กระเบื้องจะเฟื้องฟู เด็กจะต้องทำงานหนัก ผู้ใหญ่จะนั่งนิ่งดูดาย เป็นต้น ล้อมรอบพระธาตุยังมีพระพุทธรูปประจำทิศต่าง ๆ ใกล้ก่อนจะถึงทางออกมีเรื่องทศชาติ พระมโหสถ และภูริทัต ที่น่าประทับใจคือแผ่นสลักบนหินอ่อนบอกขั้นตอนการปฏิบัติกัมมัฏฐาน มีใจความโดยย่อว่า

“ทุกคนมีความทุกข์ เพื่อให้พ้นจากทุกข์ ต้องปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน เมื่อพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น จึงเป็นไปได้ที่จะปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานกัน ผู้ต้องการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน เบื้องแรกต้องรักษาศีลให้หมดจด เมื่อศีลหมดจดดีแล้ว จึงจะเป็นไปได้ที่จะทำให้จิตมีสมาธิ เมื่อมีสมาธิแล้ว จึงจะเกิดปัญญาขึ้น .....................”

ท่านญาณิสสระเป็นกรรมการ (trustee) คนหนึ่งของพระธาตุเจดีย์แห่งนี้ วัดทั่วไปในพม่าได้รับอุปถัมภ์บำรุงจากประชาชนทั่วไป รัฐไม่ได้ให้ความอุปถัมภ์แต่อย่างไร วัดนี้เป็นตัวอย่างอีกวัดหนึ่งที่ไม่มีพระสงฆ์อยู่ประจำ ให้สังเกตว่าถ้าเป็นปะโกดา (Pagoda) จะเป็นวัดที่มีพระธาตุบรรจุอยู่ ไม่มีพระสงฆ์อยู่ วัดที่มีพระสงฆ์จะลงท้ายด้วยคำว่าโมนาสเตอรี (Monastery) หรือเทมเปิล (Temple)

 

พระพุทธรูปในพระธาตุเจดีย์ปุญญชินเป็นปางนั่งขัดสมาธิขนาดใหญ่โตสีขาว สอบถามได้ความแน่ชัดว่า เป็นพระธาตุที่มีพระพุทธรูปใหญ่ที่สุดในเมืองสะแคง เป็นแหล่งพุทธทัศนศึกษา

 

วันอังคารที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๙

ยลเมืองสะแคง

พม่ามีเนื้อที่มากกว่าไทย แต่คนน้อยกว่าไทย มี ๑๔ รัฐ/ภาค ถ้าเป็นรัฐ (State) แสดงว่าไม่มีชาวพม่าอยู่อาศัย แต่ถ้าเป็นภาค (Division) ถือว่าเป็นรัฐของชาวพม่า มีเจ้าคณะภาค ๑๔ รูป ส่วนจังหวัดมีประมาณ ๔๐ รูป ไม่มีเจ้าคณะหน

มีกรรมการมหาเถรสมาคม ๔๕ บวก ๒ ซึ่งบังคับว่าต้องเป็นสมเด็จพระสังฆราชและเลขานุการ

สมาชิกที่มีสิทธิคัดเลือกสมเด็จพระสังฆราชได้จากทั่วประเทศมีประมาณ ๓๐๐ รูป

เฉพาะในเมืองสะแคงมีวัด ๙๐๐ วัด วัดใหญ่ที่สุดคือพระธาตุเจดีย์ปุญญชิน ชินะในพม่า แปลว่า เจ้าของ เจ้านาย สวามี นายอู ปุญญะเสนาบดีเป็นผู้สร้างถวายไว้ในพระพุทธศาสนา

ในพม่านิยมสัญลักษณ์ธรรมจักร ๒๔ ซี่ ซึ่งหมายถึงมหาปัฏฐาน ๒๔ ชาวพม่ามีความเชื่ออย่างแน่นแฟ้นว่า เมื่อพระพุทธศาสนาจะเสื่อมหรืออันตรธานหายไปนั้น พระอภิธรรมจะสูญหายไปก่อน ในบรรดาพระอภิธรรมนั้น คัมภีร์มหาปัฏฐานจะสูญหายไปก่อน ฉะนั้น จึงพยายามสร้างสัญลักษณ์สำคัญคือมหาปัฏฐาน ในประเทศพม่ามีประเพณีการสวดมหาปัฏฐานเป็นพิธีใหญ่โต ใช้เวลาสวดถึง ๕ วัน สวดเป็นทำนอง ช้าและชัดเจน

จากเมืองสะแคง สามารถมองเห็นเทือกเขารัฐฉาน ถัดจากเทือกเขานั้นไปก็คือประเทศไทย

สถาบันสีตะคู มี ๔ โครงการใหญ่ ดังนี้

๑.      ปั๊มน้ำ (water pump) จากลุ่มน้ำอิระวดีขึ้นไปเก็บไป แล้วส่งน้ำไปทั่วจังหวัดสะแคง มีโรงกลั่นน้ำให้บริสุทธิ์

๒.      โรงพยาบาลชื่อ “อายุทาน” มีแผนกที่มีชื่อเสียงคือการตรวจเช็คและรักษาสายตา มีหมออาสาสมัครจากทั่วโลกหมุนเวียนมาอาสาทำงาน รักษาพยาบาลให้ฟรี มีพระพุทธพจน์เป็นบาลีเขียนกำกับไว้ว่า โย ภิกฺขเว มํ อุปฏฺฐเหยฺย โส คิลานํ อุปฏฺฐเหยฺย who ever, monks, would attend me, he should tend the sick แปลความว่า ผู้ใคร่บำรุงซึ่งเราพระตถาคต พึงบำรุงภิกษุไข้เถิด

๓.      พระธาตุเจดีย์สาญจิจำลอง โดยสร้างเป็นห้องประชุมบรรจุคนนั่งได้ ๖๑๐ ที่ เมื่อสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว จะทำพิธีผูกพัทธสีมา และเป็นสถานที่จัดประชุมผู้นำศาสนาพุทธทั่วโลก เขาบอกว่าได้รับแรงบันดาลใจจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

๔.      สีตะคูมิชชั่น (Sitagu Mission) ศูนย์ฝึกฝนและส่งพระธรรมทูตที่จบปริญญาเอก หรือผ่านการอบรมอย่างดีแล้วไปอยู่ในต่างประเทศทั่วโลก ตามศูนย์ปฏิบัติกัมมัฏฐานต่าง ๆ

สีตะคู ยังหมายถึง พระจันทร์ หรือ ความเย็น (coolness) เป็นสถานที่นำความร่มเย็นมาสู่โลก (peace to the world) สีตะคู ตามตัวอักษรหมายถึง ถ้ำของสันติภาพ (cave of peace)

แผนผังจักรวาลของสถาบันสีตะคู เป็นแบบตึกสี่เหลี่ยมจตุรัส มีลักษณะ ๒๔ อาคารรอบล้อม

 

 

พระเจดีย์ซินพิวอุเม (Hsinby ume)

เป็นวัดที่สร้างอุทิศให้ตะละแม่ซินพิว โดยพระเจ้าบัคยิดอ หรือพระเจ้าช้างเผือก ซึ่งไทยเรียกว่าพระเจ้ามังระ ขณะที่ดำรงตำแหน่งเป็นมกุฎราชกุมาร เมื่อปี ๒๓๕๙ (ค.ศ. ๑๘๑๖) เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแด่พระมเหสีของพระองค์ คือ เจ้าหญิงซินพิวอุเม เป็นพระเจดีย์ที่มีชื่อเสียงมากแห่งหนึ่งในแถบชนบทมินกุนนี้ เมื่อขึ้นพระเจดีย์ไปข้างบน สามารถมองเห็นภูมิทัศน์เมืองสะแคงได้ดีอีกจุดหนึ่ง

 

อนุสรณ์สถานพระไตรปิฎกธรรูปแรก

ในบริเวณใกล้เคียงกัน เข้าเยี่ยมชมอนุสรณ์สถานพระไตรปิฎกธรรูปแรก (First Tipitakathara) ชื่อท่านภัททันตะ วิจิตตะ สาราภิวังสะ ด้านล่างสุดเขียนหลักธรรมว่า “สังขารทั้งหลาย – ทั้งกายและจิต ไม่เที่ยง เป็นของชั่วคราว” ท่านวิจิตตะเป็นชาวมินกุน เมืองสะแคง เป็นพระทรงพระไตรปิฎกที่ยิ่งใหญ่มากรูปหนึ่ง หนังสือกินเนสบุ๊ค พ.ศ. ๒๕๒๘ (ค.ศ. ๑๙๘๕) ตีพิมพ์ในสหราชอาณาจักรอังกฤษ ได้บันทึกความทรงจำที่น่ามหัศจรรย์ของท่านไว้ว่า “ท่านภัททันตะวิจิตตสาร ประเทศพม่า มีความทรงจำท่องพระไตรปิฎก ๑๖,๐๐๐ หน้าได้ เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๗ (ค.ศ.๑๙๕๔) ซึ่งเป็นตัวอย่างของความทรงจำมนุษย์ที่หาได้ยากมาก”

 

พระมหาเจดีย์มินกุน (Mingun)

พระเจ้าโบดอพญา ไทยเรียกว่า พระเจ้าปะดุง ได้สร้างพระมหาเจดีย์มินกุนไว้เมื่อครั้ง พ.ศ. ๒๔๓๓ (ค.ศ. ๑๗๙๐)  แต่พระองค์สิ้นพระชนม์ไปก่อน สิ่งก่อสร้างใหญ่โตกลายเป็นพระมหาเจดีย์ร้างที่สร้างไม่เสร็จ (Never completed) ถ้าสร้างเสร็จจะมีความสูงถึง ๕๐๐ ฟุต จะเป็นเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศพม่าและใช้ก้อนกองอิฐมากที่สุดในโลกเช่นกัน ฐานรอบพระเจดีย์ยาว ๔๕๐ ตารางฟุต ตั้งอยู่ใกล้หมู่บ้านมินกุน ด้านเหนือของเมืองสะแคง

ในบริเวณเดียวกัน ชมระฆังสำริดมินกุน สร้างโดยพระเจ้าโบดอพญา เป็นระฆังใหญ่ที่สุดอันดับสองในโลก (รองจากระฆังที่รัสเซีย) แต่ถ้านับเป็นระฆังชนิดแขวนแล้ว พม่าคุยว่าเป็นระฆังแขวนที่ใหญ่ที่สุดในโลก สูง ๑๒ ฟุต และวัดปากขอบยาว ๑๖ ฟุต ๓ นิ้ว หนัก ๙๐ ตัน มองออกไปทางฝั่งแม่น้ำอิระวดี เห็นรูปปั้นสิงห์คู่ตั้งตระหง่านอยู่ริมน้ำ แต่หัวสิงห์ถูกกระแสน้ำพัดพาหายไปแล้ว

ท่านญาณิสสระ ผู้ก่อตั้งสถาบันสีตะคูมีประวัติน่าสนใจมาก ยังหนุ่มแน่น แต่มีปณิธานแน่วแน่ที่ทำงานอุทิศตนเองให้แก่พระพุทธศาสนา เป็นแรงบันดาลใจให้แก่พระหนุ่มเณรน้อยในพม่า ท่านได้บุกเบิกสถาบันพระพุทธศาสนาสีตะคูแห่งนี้

ตรงปากทางเข้าสถาบัน มีรูปเทวดาพนมมือถือดอกไม้ ๕ ดอก บาน ๔ ดอก แสดงถึงพระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติแล้ว ๔ พระองค์ ส่วนดอกตูมหมายถึงศรีพระอริยเมตไตรย ที่จะมาอุบัติเป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่ ๕ มีรูปปั้นท้าวจตุโลกบาลตั้งอยู่ด้านหน้าประจำทิศทั้งสี่ด้วย

ในบริเวณสถาบัน ท่านสร้างเสนาสนะรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ตั้งกุฏิชื่อเมืองในสมัยพุทธกาลและยุคศิลปะที่มีชื่อเสียง เช่น ราชคฤห์ สาวัตถี อมราวดี..... เช่น กุฏิราชคฤห์ จะมีรูปภาพเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าโปรดพระเจ้าพิมพิสาร ณ สวนตาลหนุ่ม, พระเจ้าพิมพิสารถวายเวฬุวัน พระวิหารแห่งแรกในพระพุทธศาสนา, รูปภาพพระเจ้าพิมพิสาร พระราชาแห่งกรุงราชคฤห์, พระสารีบุตรและโมคคัลลานะ คู่แห่งอัครสาวก, รูปภาพพระเทวทัตกลิ้งหินทำร้ายพระพุทธเจ้า, หมอชีวกโกมารภัจจ์รักษาบาดแผลถวายพระพุทธเจ้า และช้างนาฬาคีรีหมอบลงด้วยพลังเมตตาบารมีของพระพุทธองค์, และภาพสุดท้ายเป็นเหตุการณ์ที่หมอชีวกนำพระเจ้าอชาตศัตรูเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าที่สวนมะม่วง (อัมพวัน) ตามเนื้อความในสามัญญผลสูตร

กุฏิราชคฤห์นี้มีความสัมพันธ์กับประเทศไทย เพราะมีอักษรไทยเขียนจารึกไว้ว่า “พระเมธีวรญาณ, ครูบา... และคณะศิษยานุศิษย์ สร้างถวาย ราคา ๑,๐๖๒,๐๐๐ บาท”

ช่วงบ่ายเวลา ๑๒.๓๓ น. คณะเราออกเดินทางออกจากสถาบันสีตะคู ข้ามสะพานแม่น้ำอิระวดี มองเห็นเมืองอังวะอยู่ด้านขวามือฝั่งตรงข้าม เมืองตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำเช่นกัน รถวิ่งผ่านเข้าเขตอมรปุระและเมืองมัณฑเลย์

สี่เมืองสำคัญ คือ สะแคง อังวะ อมรปุระ และมัณฑเลย์ ตั้งอยู่ในรัศมีใกล้เคียงกัน ถ้าต้องการศึกษาให้ดี ชมให้ทั่วถึง ต้องใช้เวลาประมาณ ๗ วัน จึงจะพอดีในการทัศนศึกษา

คำว่า อิระวดี หมายถึง possession of the great คือมหานทีนั่นเอง อิระ หมายถึง great และ วดี หมายถึง possession

วิถีชีวิตพม่า มีหม้อน้ำและขันน้ำวางไว้หน้าบ้าน แสดงถึงความมีน้ำใจไมตรี เข้าเรือนเรียกให้กินน้ำก่อน มีพระธาตุเจดีย์มากมาย ทำให้จิตใจอ่อนโยน ยิ่งกราบไหว้ยิ่งได้บุญได้กุศลอยู่ตลอดเวลา

 

วัดมหามุนีพญาจี เมืองมัณฑเลย์

อีกชื่อหนึ่งคือวัดมหามัยมุนี หรือวัดมหามุนี เป็นวัดที่มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์นำมาจากเมืองยักไข่ รัฐอาระกัน ทุก ๆ เช้าจะมีพิธีล้างพระพักตร์พระพุทธรูป ได้ปฏิบัติติดต่อกันมาเป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า ๒๐๐ ปีมาแล้ว

พระพุทธรูปมหามุนีมีประวัติเล่าว่า พระพุทธเจ้าได้ประทานให้แก่พระเจ้าจันทสุริยะ กษัตริย์แห่งยักไข่ พระพุทธรูปนำมาจากเมืองยักไข่โดยพระมหาอุปราช พระสีหสุรมหาธรรมราชา ข้ามป่าเขาลำเนาไพร ตามคำสั่งของพระราชบิดาพระเจ้าโบดอ (พระเจ้าปะดุง) และนำมาประดิษฐานที่เมืองมัณฑเลย์นี้เมื่อครั้ง พ.ศ. ๒๓๐๘ (ค.ศ. ๑๗๖๕)  มีรูปภาพเล่าเรื่องราวประวัติความเป็นมาอยู่ในพิพิธภัณฑ์ภาพเขียนประวัติศาสตร์

ภายในบริเวณมีรูปปั้นหล่อสำริดของพระมหาอุปราช พระสีหสุรมหาธรรมราชา ผู้บัญชาการนำพระพุทธรูปมหามุนีมายังเมืองมัณฑเลย์

ตึกถัดมาเป็นที่เก็บเทวรูปสำริดเขมร สิงห์ และช้าง ซึ่งพม่านำมาจากอยุธยา ประเทศไทย โดยที่ไทยนำมาจากนครวัดนครธม ประเทศกัมพูชา พม่านำมาจากอยุธยามาไว้ที่เมืองยักไข่ และชาวพม่าเองได้นำจากเมืองยักไข่มาพร้อมกับพระพุทธรูปมหามุนี ทำให้นึกถึงคติธรรมที่ว่า “สมบัติผลัดกันชม”

 

พระเจดีย์กุโสดอ

พระเจดีย์สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้ามินดง เป็นอนุสรณ์สถานที่ทรงสั่งย้ายราชสำนักไปยังเมืองมัณฑเลย์ใหม่ ในคราวฉลองพุทธศตวรรษที่ ๒๔๐๐ พระเจ้ามินดงทรงอุปถัมภ์การทำสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๕ และให้จารพระไตรปิฏกไว้ในศิลาจารึกจำนวน ๗๒๙ หลัก ถือว่าเป็นหนังสือจารึกที่ใหญ่ที่สุดในโลก เขาสร้างเป็นสถูปเจดีย์ครอบหลักจารึกพระไตรปิฎกไว้ พระองค์ยังได้โปรดให้ถ่ายแบบเจดีย์ชเวซิกอง เมืองพุกามมาสร้างพระเจดีย์หลัก พร้อม ๆ กับสร้างพระราชวัง

ตรงข้ามกับฟากฝั่งพระเจดีย์กุโสดอ เป็นที่ตั้งมหาวิทยาลัยปริยัติศาสนา มัณฑเลย์ (State pariyatti Sasana University Mandalay)

ที่น่าชมมาก คือพระตำหนักไม้สักของพระเจ้ามินดง ซึ่งมีภาพไม้แกะสลักเรื่องทศชาติและชาดกอื่น ๆ ประกอบ ข้าพเจ้าบอกให้เจ้าหน้าที่ถ่ายภาพเก็บไว้ทั้งหมด ภาพแกะสลักมีความสวยงามประณีตมากชิ้นหนึ่ง ถือว่าเป็นผลงานชิ้นเอกของศิลปกรรมในยุคสมัย ๑๐๐ ปีย้อนหลังก็ว่าได้

เพราะเวลามีจำกัด จึงไม่มีโอกาสเข้าชมพระราชวังมัณฑเลย์ ต้องมุ่งหน้าไปยังสนามบินพุกามยองอู (Pagan Nyaung oo Airport) และใช้เวลาบินประมาณ ๒๐ นาทีเข้าสู่เมืองพุกาม เห็นลุ่มน้ำอิระวดีอยู่ข้างล่าง ศึกษาจากแผนที่จึงทำให้ทราบว่า เมืองปะเทิงคือเมืองพะสิม และสิตเวก็คืออาระกัน เครื่องบินที่พาคณะเรามาถึงพุกามเป็นสายการบินพุกามบินภายในประเทศ มีที่นั่งประมาณ ๗๐ ที่นั่ง

ประวัติเมืองพุกามโดยย่อ ระบุว่า เป็นเมืองพระเจดีย์ ๕ พันองค์หรือเป็นทะเลเจดีย์ ในปัจจุบันมีพระเจดีย์ที่ขึ้นทะเบียนไว้ที่มีสภาพสมบูรณ์ ๒๐๐ องค์ ในเขตมรดกวัฒนธรรม (Cultural Heritage) บนพื้นที่ ๑๖ ตารางไมล์ ค่าเข้าชมเก็บโดยคณะสำรวจโบราณคดีพม่า เป็นธรรมเนียมสนามบินทั้งขาเข้าและออกคือ ๑๐ เหรียญสหรัฐ ส่วนพระสงฆ์เข้าชมฟรี

คณะเราพักที่ทาราบาร์เก็ท (Tharabar gate Old Bagan) ชื่อของประตูเก่าด้านทิศตะวันออกของเมืองเก่าพุกามที่ผ่านเข้ามา ตั้งอยู่ห่างจากสนานบินประมาณ ๑๕ นาที ชื่อประตูมาจากภาษาบาลีว่า สรพหงฺค แปลว่า โล่กันลูกศร เป็นประตูเดียวที่ยังเหลืออยู่ มองเห็นกำแพงใหญ่โตมาก

ถนนสวยงามที่เดินทางเข้ามา สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๗ ทำให้สะดวกแก่นักท่องเที่ยวยิ่งขึ้น

มัคคุเทศก์บรรยายให้ฟังว่า เมื่อมาถึงเมืองพุกาม ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำอิระวดี ควรเข้าชมพระเจดีย์ศิปละต้นแบบชื่อชเวซิกอง พระเจดีย์ที่มีฝีมือสร้างดีสวยงามดีเยี่ยมที่สุดชื่ออนันตมหาวิหาร พระเจดีย์ที่มีกำแพงหนาที่สุดชื่อธรรมยางจี (ธรรมาราม) และพระเจดีย์สูงที่สุดชื่อสัพพัญญู

 

วันพุธที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๙

เมืองพุกาม ดินแดนแห่งพระเจดีย์ห้าพันองค์

๑. พระมหาเจดีย์ชเวซิกอง

ชเวซิกอง หรือในเอกสารบางแห่ง คนไทยเรียกว่าพระเจดีย์ชเวชีคน เป็นพระเจดีย์สำคัญมากที่สุดในพุกาม ซิกองมาจากบาลีว่า ชัยภูมิ สถานที่แห่งชัยชนะ สร้างโดยพระเจ้าอนุรุธมหาราชเมื่อ พ.ศ. ๑๕๘๗ – ๑๖๕๖ (ค.ศ. ๑๐๔๔ – ๑๑๑๓) สร้างเสร็จสมบูรณ์ในสมัยของพระเจ้าจันสิตตา หรือจันสิทธะ ในเอกสารไทยบางแห่งเรียกว่าพระเจ้าครรชิต

ประวัติบันทึกไว้ว่า พระเจ้าอนุรุธได้พบชินระหันชาวมอญจากเมืองสะเทิมรูปหนึ่ง ชิน แปลว่า พระ และระหัน หมายถึง พระอรหันต์ ไทยเรียกว่า พระอรหันต์ แต่พม่าเรียกว่า ชินระหัน ซึ่งนายพรานเนื้อคนหนึ่งได้นิมนต์เข้ามา พระเจ้าอนุรุธนิมนต์ให้เข้าไปเฝ้าและให้นั่ง แต่ปรากฏว่าชินระหันเลือกที่นั่งสูงที่สุดและแสดงธรรมโปรด จนพระองค์เลื่อมใสมาก หันมานับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท และแนะนำให้ส่งสาส์นไปขอพระไตรปิฎก ๓๐ คัมภีร์จากเมืองสะเทิมของพวกมอญ แต่พระเจ้ามอญพระนามว่ามนุหาไม่ทรงยินยอม เป็นเหตุให้พระเจ้าอนุรุธยกกองทัพไปรบตีชนะเมืองมอญ ได้อัญเชิญพระไตรปิฎกมาเมืองพุกาม และกวาดต้อนชาวมอญรวมทั้งกษัตริย์มอญเชลยศึกมาอยู่ที่พุกาม รับเอาวัฒนธรรมมอญมาใช้ อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นมาด้วย บรรจุบนหลังช้าง ช้างหมอบลงที่ใดก็ทรงให้สร้างพระเจดีย์ที่ตรงนั้น สถานที่แห่งแรกที่ช้างหมอบคือพระเจดีย์ชเวซิกอง แห่งที่สองคือวัดโลกานันทะ

พระเจดีย์ซิกองเป็นที่บรรจุพระธาตุสำคัญ ๓ ส่วน คือ พระเขี้ยวแก้ว ที่กษัตริย์แห่งศรีลังกาได้นำมาถวาย พระธาตุกระดูกไหล่ ที่นำมาจากเมืองศรีเกษตร (ใกล้เมืองแปร) และพระธาตุพระนลาฏ (หน้าผาก)

พระธาตุพระนลาฏเป็นพระธาตุที่พระเจ้าอนุรุธทรงรับสั่งให้บรรทุกใส่หลังเศวตกุญชร และกล่าวคำอธิษฐานว่า ถ้าช้างหมอบลง ณ ตรงที่ใด ก็จะบรรจุพระธาตุไว้ ณ ที่ตรงนั้น

สิ่งมหัศจรรย์ ๗ ประการของพระมหาเจดีย์ชเวซิกอง คือ พระเจดีย์สร้างเหมือนฉัตรไม่มีเชือกดึง กระดาษที่ตกจะไม่ปลิวออกนอกบริเวณ เสียงกลองตีด้านหนึ่งจะไม่ดังไปถึงอีกด้านหนึ่ง ข้าวที่ถวายจะต้องเป็นคนที่สอง (เหมือนกับวัดปุญญชิน เมืองสะแคง) น้ำไม่ท่วม และอีก ๒ ข้อ จำไม่ได้

มีแอ่งน้ำแอ่งเล็ก ๆ ศักดิ์สิทธิ์ ประชาชนชอบมานั่งสมาธิปฏิบัติกัมมัฏฐานเพ่งมองดูพระเจดีย์ในแอ่งน้ำกัน แม้แต่พระเจ้าบุเรงนองก็เคยมานั่งสมาธิเพ่งพระเจดีย์ ณ จุดแอ่งน้ำน้อยนี้ ในบริเวณวัดนี้มีพระพุทธรูปที่งดงามมากหลายองค์ เช่น พระพุทธรูปยืน ศิลปะยุคปาละ ๔ องค์ จีวรแนบเนื้อมีความงดงามมากที่สุดในพุกามประดิษฐานอยู่ในวิหารทิศซึ่งเข้าใจว่าเป็นทิศเหนือและพระพุทธเจ้ายืนประจำทิศคือพระกกุสันธะสูง ๑๓ ฟุต เป็นต้น

ภายในระเบียงเดินทิศใต้มีภาพเขียนพุทธประวัติ เริ่มเรื่องแต่พระเจ้าสุทโธทนะ, เจ้าชายยกศร, เสด็จประพาสพบเทวทูตทั้ง ๔ พร้อมด้วยกองทัพ .... ภาพสุดท้ายชำรุดขาดหายไป ๒ – ๓ ภาพอย่างน่าเสียดาย

อีกด้านหนึ่งเป็นภาพเขียนบอกเล่าประวัติการสร้างพระเจดีย์ชเวซิกอง

พระเจดีย์ชเวซิกองถือว่าเป็นศิลปะพุกาม ต้นแบบแม่แบบของศิลปะพม่า

ในบริเวณพระเจดีย์นี้มีพระพุทธรูปหยกศิลาขาว มีศิลาจารึกภาษามอญ และภาพเขียนเก่าแก่มาก

 

๒. วัดอนันตมหาวิหาร

วัดอนันตมหาวิหาร คนไทยเรียกว่า วัดอานันดาวิหาร ถือกันว่าเป็นผลงานชิ้นเอกในบรรดาวัดโบราณสำคัญในพุกามสวยงามมาก ภายในพระวิหารทั้งสี่ทิศ มีพระพุทธรูปไม้ยืน ๔ พระองค์ประดิษฐานตั้งอยู่

พุกาม มาจากภาษาบาลีว่า พิวฺคาม แปลว่า หมู่บ้านพวกพิวหรือพยู ภาษาเขียนเป็นพะกาม (Bagan) คนไทยเรียกว่า เมืองพุกาม ฝรั่งเรียกว่า ปะกัน ปะกาน หรือบากัน

อนันตะมาจากศัพท์บาลีว่า อนันตปัญญา แปลว่า มีพระปัญญาไม่มีที่สิ้นสุด

มีประวัติเล่าว่า พระอรหันต์ ๘ องค์ เดินทางมาจากภูเขาคันธมาทน์ ได้พรรณนาถึงถิ่นที่เดินทางมา จนพระเจ้าจันสิตตา (พ.ศ.๑๖๒๗ - ๑๖๕๖ = ค.ศ. ๑๐๘๔ - ๑๑๑๓) ทรงเลื่อมใสมากได้สร้างวัดถวายตามคำพรรณนานั้น ทั้งได้อุปัฏฐากพระอรหันต์ช่วงระหว่างเข้าพรรษาตลอด ๓ เดือน รูปแบบของวัดอนันตะเป็นลักษณะไม้กางเขนกรีกมีพระพุทธรูปไม้ยืนประจำทิศ ซึ่งเป็นท่อนไม้ท่อนเดียวประดิษฐานอยู่ วัดสร้างเสร็จเมื่อครั้ง พ.ศ. ๑๖๓๓ (ค.ศ. ๑๐๙๐)

พระพุทธรูป ๔ ทิศนั้น ตามตำราโบราณคดีพม่าบอกไว้ว่า ทิศเหนือคือพระกกุสันธะ  ตะวันออกคือพระโกนาคมนะ ทิศใต้คือพระกัสสปะ และทิศตะวันตกคือพระโคดม สภาพที่เห็นในปัจจุบันนี้ พระกกุสันธะและพระกัสสปะเป็นพระพุทธรูปไม้ยืนดั้งเดิม ส่วนพระโกนาคมนะกับพระโคดมสร้างจำลองขึ้นมาใหม่ เนื่องเพราะถูกอัคคีภัยเผาทำลาย

คณะเราเดินทางเข้าไปทางทิศตะวันตก ก่อนถึงพระพุทธรูปไม้ยืน พบรอยพระพุทธบาท ๑๐๘ ประการ ลางเลือนมองแทบไม่ออก เขาอธิบายว่า พระพุทธรูปทิศนี้คือพระโคดมถูกไฟไหม้จึงจำลองสร้างขึ้นมาใหม่ เมื่อเดินเวียนขวาไปก็พบพระกกุสันธะ (ทิศเหนือ) อยู่ในสภาพสมบูรณ์และดีที่สุด ได้หยุดสวดมนต์ไหว้พระตรงนี้นานทีเดียว มองด้านหลังมีภาพลายวิจิตรตระการตา เป็นพระพุทธรูปไม้ยืนยังสมบูรณ์ดีกว่าทุกทิศ มองดูตามซุ้มล้อมรอบพระเจดีย์มีพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ประมาณ           ๑,๘๐๐ องค์ ซุ้มด้านล่างต้องใส่กรงไว้ ส่วนที่สร้างใหม่ทดแทนของเก่าไม่ต้องใส่กรง

อนันตมหาวิหารสร้างโดยพระเจ้าจันสิตตา เมื่อ พ.ศ. ๑๖๓๓ (ค.ศ. ๑๐๙๐) มีรูปปั้นชินระหัน และพระเจ้าจันสิตตาตั้งอยู่ด้านข้างพระพุทธรูปยืนพระพุทธเจ้าโคดม ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก ทางระเบียงด้านเข้ามีภาพจิตรกรรมเล่าเรื่องพระเจ้าจันสิตตาตั้งแต่สมัยยังทรงพระเยาว์

 

๓. พระมหาเจดีย์สัพพัญญู (That Byin Nyu Phaya)

พระมหาเจดีย์สัพพัญญูเป็นพระธาตุสูงที่สุดในพุกาม สูงถึง ๒๐๑ ฟุต สร้างโดยพระเจ้าอลองสิทธุเมื่อ พ.ศ. ๑๖๘๗ (ค.ศ. ๑๑๔๔) ทางเดินเข้าข้างบนเพื่อขึ้นไปกราบไหว้พระพุทธรูปประธานถูกปิดโดยคณะสำรวจโบราณคดี ตรงปากทางเข้ามีรูปปั้นนายทวารบาล ๒ รูปตั้งเฝ้าอยู่ คณะเราได้นั่งสวดมนต์ภาวนาข้างล่าง มองดูหน้าพระพุทธรูปประธานที่ตั้งอยู่เป็นตัวแทน มีเปลวเพลิงรัศมีบนพระเศียร มัคคุเทศก์อธิบายว่าเป็นพระพุทธรูปศิลปะของไทยรัฐฉาน เมื่อเดินเวียนขวาไปพบพระพุทธรูป ๔ ทิศ ก่อนจะวนกลับมาที่เดิมพบพระพุทธรูปปางหนึ่งที่ไม่ได้พบเห็นโดยทั่วไป พระหัตถ์ประสานนิ้วไว้ที่อก เหมือนปางรำพึง

 

๔. พระมหาเจดีย์ธรรมาราม

พระมหาเจดีย์ธรรมาราม หรือวัดธรรมายางจี (ชาวพม่าออกเสียงตัว ร เป็นตัว ย) เป็นพระมหาเจดีย์ที่มีกำแพงหนามากที่สุด พระเจ้านรธูสร้างขึ้นมาเมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๗๐๖ – ๑๗๐๙ (ค.ศ. ๑๑๖๓ – ๑๑๖๕) เป็นพระเจดีย์ใหญ่ที่สุดในพุกาม การก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ดี เพราะสร้างไปได้ ๓ ปี พระเจ้านรธูได้ถูกลอบปลงพระชนม์โดยพระญาติของฝ่ายมเหสีชาวอินเดียจากจิตตะกอง (ปัจจุบันบังคลาเทศ) กษัตริย์อินเดียส่งมือสังหาร ๘ คน มาสังหารพระเจ้านรธูเพื่อแก้แค้นแทนพระราชธิดาซึ่งเป็นพระมเหสีของพระเจ้านรธูที่ถูกลอบปลงพระชนม์ก่อน

การจัดวางอิฐในพระเจดีย์นี้แน่นหนามาก ใช้ยางสะเดาผสมกับน้ำอ้อยและผงไม้แดง หมักไว้ ๖ เดือน เป็นตัวประสานกันระหว่างรอยอิฐแต่ละก้อน จนเข็มหมุดแทรกเข้าไปไม่ได้

ภายในพระวิหาร ปรากฏมีพระกาฬมุขศิลปะขอมผสมอยู่ด้วย สันนิษฐานจะได้รับอิทธิพลของฮินดูจากดินแดนเขมร

ณ ที่นี้ พบเด็กหญิงพี่น้อง ๒ คน อายุราว ๓ – ๔ ขวบ แต่สวดมนต์ได้คล่องแคล่ว เดินทางมาจากกรุงย่างกุ้งเพื่อไหว้พระกับพ่อแม่และยาย

 

๕. พระมหาเจดีย์ชเวซันดอ (Shwe San Daw)

พระมหาเจดีย์ชเวซันดอสร้างโดยพระเจ้าอนุรุธมหาราช หมายถึง “พระเกศธาตุทองคำ” เป็นที่บรรจุของพระธาตุส่วนพระเกศา

มีประวัติเล่าว่า พระเจ้าแห่งเมืองพะโคได้ถวายพระเกศธาตุแด่พระเจ้าอนุรุธมหาราชตอบแทนบุญคุณที่ได้ช่วยขับไล่พวกเขมรให้หนีออกไป พระเกศธาตุ ๘ เส้นดั้งเดิมแล้วพ่อค้า ๒ คนพี่น้องชื่อตปุสสะและภัลลิกะได้นำมาบูชาที่เมืองศรีเกษตร เมื่อเมืองศรีเกษตรล่มสลายลง พระเจ้าแห่งเมืองพะโคได้รับพระเกศธาตุมา ๔ เส้น ซึ่ง ๓ เส้นบรรจุอยู่ ณ เมืองพะโค และมอบถวายพระเกศธาตุเส้นที่ ๔ แก่พระเจ้าอนุรุธมหาราช  

พระเจดีย์นี้ถือว่าเป็นตัวอย่างแม่แบบเจดีย์ดั้งเดิมแบบพุกาม ที่บรรลุถึงจุดสุดยอดเชิงศิลปะในแบบเจดีย์ชเวซิกอง ส่วนมากผู้คนจะเดินทางมาดูพระอาทิตย์ตกดินกัน ณ พระเจดีย์นี้ แต่คณะเรามาตอนเช้า ยังไม่มีผู้คนมากนัก ได้ปีนไต่บันไดนับได้ ๕๐ ขั้นขึ้นไปข้างบน มีฐานบน ๕ ชั้น เมื่อไปถึงแล้วก็หายเหน็ดเหนื่อย เพราะมองออกไปรอบทิศ มองไปทางไหนก็เห็นพระเจดีย์เต็มไปหมด สวยงามมาก พระเจดีย์ซานดอเองล้อมรอบด้วยพระวิหาร ๔ ทิศ ซึ่งสันนิษฐานว่าต้องมีพระพุทธรูป ๔ ทิศเช่นกัน ได้เดินไปพิสูจน์ทิศหนึ่ง ซึ่งก็ตรงกับที่คาดคิดไว้

พบเห็นเด็กหญิงตัวน้อย ที่ได้เจอที่วัดธรรมารามอีกครั้งหนึ่ง เธอปีนไต่ขึ้นมากับพ่อแม่ ส่วนน้องคนเล็กและยายกลัวความสูง ไม่กล้าปีนไต่ขึ้นมา

 

๖. พระวิหารฉินพินสนยอง (Shinbinthalyuang)

พระวิหารฉินพินสนยองตั้งอยู่ใกล้ติดกันกับพระมหาเจดีย์ชเวซันดอ ในพระวิหารมีพระพุทธไสยาสใหญ่ที่สุดในเมืองพุกาม ความยาวขนาด ๖๐ ฟุต สร้างในพุทธศตวรรษที่ ๑๖ พระพุทธรูปอยู่ในปางเสด็จปรินิพพาน ทรงบรรทมตะแคงขวา แก้มวางอยู่บนพระหัตถ์ขวา ที่แปลกคือพระเศียรหันไปทางทิศใต้ ซึ่งตามปรกติส่วนมากจะพบพระไสยาสหันพระเศียรไปทางทิศเหนือ เพราะถือคติโบราณที่ว่าพระพุทธเจ้าหันพระเศียรไปทางทิศเหนือขณะจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน

คำอธิบายที่พอจะฟังได้และมีน้ำหนักว่า สาเหตุที่พระเศียรหันไปทางทิศใต้ เพราะพระองค์หันพระพักตร์ไปทางเจดีย์ชเวซันดอ ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก

 

๗. พระมหาเจดีย์โลกนันทะ

พระเจ้าอนุรุธมหาราชทรงสร้างพระมหาเจดีย์โลกนันทะเป็นอันดับที่สองต่อจากพระมหาเจดีย์ชเวซิกอง เมื่อปี พ.ศ. ๑๖๐๒ (ค.ศ. ๑๐๕๙) แต่พระมหาเจดีย์เสียหายมาก เพราะถูกภัยธรรมชาติจากแผ่นดินไหว เขาจึงสร้างจำลองขึ้นใหม่หมด

โลกนันทะ แปลว่า สิ่งยินดีของโลก (Joy of the world) มีพระธาตุจำลองพระเขี้ยวแก้ว (Replica) บรรจุอยู่ภายใน พระเจดีย์ตั้งอยู่ปากน้ำซึ่งในอดีตมีเรือขึ้นล่องมาจากประเทศศรีลังกา ยักไข่ และมอญ ล้วนขึ้นที่ท่าน้ำนี้ทั้งนั้น

หลังแผ่นดินไหว ได้พบพระบาทมงคล ๑๐๘ ประการ ปัจจุบันนำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์เมืองพุกาม

 

๘. เครื่องเขินพุกาม

ณ บริเวณโรงงานเครื่องเขิน ได้ซื้อภาพพระเจดีย์ชเวซิกอง เครื่องเขินพุกาม ราคา ๑๐๐ ดอลล่าร์สหรัฐฯ เป็นที่ระลึก

ตรงกันกับโรงงานมีพระเจดีย์ ๘ ทิศ มีพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ประจำทิศ เป็นพระพุทธรูปประจำทิศวันเกิดทั้ง ๗ วัน บวกวันพุธกลางคืน คตินี้ถือต่างจากบ้านเรา

ในพม่าเด็กเรียนจบชั้นประถมศึกษา สามารถสวดมนต์ไหว้พระเป็นแล้ว กล่าวคำอาราธนาศีล ๕ สวดขอศีล ๕ สวดพระพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ บทสัมพุทเธ และกรวดน้ำได้ และตั้งจิตอธิษฐานขอเข้าถึงพระนิพพาน (นิพฺพานสฺส ปจฺจโย โหตุ) ทุกครั้งเมื่อทำบุญสร้างกุศล ไม่ขออะไรเรื่อยเฉื่อย เขาถือว่าจะเกิดวันไหนก็ไหว้พระพุทธเจ้าประจำวันเกิดของตนเหมือนกัน

เด็กทุกคนทราบดีว่า พระพุทธเจ้าเสด็จออกบวชวันจันทร์ ปรินิพพานวันอังคาร ตรัสรู้วันพุธ จุติลงมาเกิดวันพฤหัส ประสูติวันศุกร์ ทรงแสดงพระธรรมเทศนาวันเสาร์ และถวายพระเพลิงวันอาทิตย์ เด็กพม่าเขามีความรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาดีถึงเพียงนี้ทีเดียว

 

๙. พระมหาเจดีย์มนุหา (Manuha Guphaya)

พระมหาเจดีย์มนุหาเป็นแหล่งทัศนศึกษาสุดท้าย ที่คณะเรามีเวลาเหลือเข้าเยี่ยมชม พระเจดีย์เป็นแบบศิลปะมอญ พระพุทธรูปในพระวิหารเป็นศิลปะมอญมี ๓ องค์ใหญ่ในท่าประทับนั่ง สูง ๑๔ เมตร และมีพระพุทธไสยาสองค์ใหญ่อยู่ด้านหลัง ในวิหารแคบ ๆ

ประวัติเล่าไว้ว่าเมื่อพระเจ้าอนุรุธมหาราชตียึดเมืองสะเทิมได้แล้ว ได้กวาดต้อนชาวมอญรวมทั้งกษัตริย์เชลยศึกมาอยู่ด้วย กษัตริย์มอญพระนามว่ามนูหาได้สร้างพระเจดีย์นี้โดยใช้เวลาก่อสร้างถึง ๖ ปี สร้างพระพุทธรูปศิลปะมอญไว้เมื่อปี ค.ศ.๑๐๕๙  แต่วิหารสร้างเล็กมาก จนเรียกว่าวิหารพระเจ้าอึดอัด เพราะพระองค์ถูกจับมาเป็นเชลยศึก

เมื่อเพ่งมองพระพุทธรูปศิลปะมอญ คลับคล้ายกับหลวงพ่อโตวัดป่าเลไลยก์ จังหวัดสุพรรณบุรี เพียงแต่พระพักตร์ของไทยเราดูสวยงามอ่อนโอนกว่า

ได้เดินเข้าไปทางขวามือกราบไหว้พระพุทธรูปลักษณะเช่นเดียวกัน ยังไม่ได้ปิดทองคำเปลว แต่มีโครงการปิดทอง

ด้านหน้าวิหารมีเสาธงปักอยู่ข้างหน้า มองไม่เห็นรูปหงส์สัญลักษณ์มอญ แต่มีช่องบรรจุพระพุทธรูป ๔ ทิศ เสาธงปัจจุบันแขวนธงพม่าไว้

 

ลาก่อนพม่า

ตอนบ่ายเดินทางกลับจากเมืองพุกามสู่กรุงย่างกุ้งโดยเครื่องบิน ยังมีเวลาเหลืออยู่บ้างในย่างกุ้ง จึงเดินทางไปเยี่ยมวัดมหาสีสยาดอ เพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีกับแหล่งวิปัสสนาจารย์สำคัญในพม่า เสร็จแล้วได้เดินทางไปกราบนมัสการลาพระเกศธาตุเจดีย์ชเวดากองอีกครั้งหนึ่งในเวลากลางวันใกล้ยามสนธยา

ได้ถ่ายภาพพระเจดีย์ เดินเวียนรอบพระมหาเจติยสถาน สำรวจบริเวณรอบ ๆ อย่างละเอียด มีโอกาสได้ขึ้นไปบนพระเจดีย์ที่ห้ามสตรีขึ้น โดยมีภาษาอังกฤษเขียนบอกว่า do not attend ladies มีพระพม่ารูปหนึ่งพาขึ้นไป และมีโอกาสได้กราบไหว้พระพุทธรูปมงคล ๑๐๘ ประการในบริเวณรอบพระมหาเจดีย์ชเวดากอง

หลังจากนั้นได้ถ่ายรูปภาพชาดก พระประจำวันเกิดมีช้าง เสือ งู เป็นสัญลักษณ์ เสร็จสิ้นการปฏิบัติศาสนกิจต่างประเทศอีกครั้งหนึ่ง

สิ่งน่าคิดเป็นบทเรียนก็คือ ชาวพม่ารักษาโบราณสถาน โบราณวัตถุได้ดี ควรเป็นเยี่ยงอย่างให้อนุชนชาวไทยได้ถือปฏิบัติตาม เขาไม่นิยมนำพระพุทธรูปมากราบไหว้ที่บ้านเรือน พระต้องอยู่ที่วัดหรือตามพระเจดีย์ การทำลายพระเจดีย์เป็นบาปมหันต์ ฉะนั้น การไปวัดเพื่อสวดมนต์ไหว้พระเป็นวิถีชีวิต เพื่อความสุขของครอบครัว สังคม ประเทศชาติ และโลก

ลาก่อน.... พม่า สายใยสัมพันธ์ระหว่างสายโลหิต สายกระแสวัฒนธรรมพระพุทธศาสนา สายแห่งศรัทธา ขอก้มกราบวันทาพระเจดีย์พันองค์ ....

 

 

หนังสืออ้างอิง

๑.      วินย. ๕/๓๖๕/๑๖๖

๒.      วินย. ๗/๔๕๗ – ๔๖๔/๒๘๘ – ๒๙๒

๓.      เฉลิม ยงบุญเกิด (แปล). บันทึกว่าด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีของเจินละ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งที่ ๒, ๒๕๔๓

๔.      ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. เที่ยวเมืองพม่า. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งแรก, ๒๕๔๕

๕.      ไพรัตน์ สูงกิจบูลย์. เที่ยวเมียนมาร์. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์อทิตตา, พิมพ์ครั้งที่ ๒, ๒๕๔๖

๖.      ส. พลายน้อย. เล่าเรื่องพม่ารามัญ.  กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์พิมพ์คำ, พิมพ์ครั้งที่ ๒, ๒๕๔๔

๗.      สุภัทรดิศ ดิศกุล, ศ. หม่อมเจ้า. ประวัติศาสตร์ศิลปะประเทศใกล้เคียง. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งที่ ๓, ๒๕๔๓

๘.      Glimpses of Glorious Pagan. Department of History, University of Rangoon, Burma: the University Press, 1986

๙.   Than Oo. The Spirit of Bagan. Yangoon: Asia Publishing House, 2004



[1] เฉลิม ยงบุญเกิด (แปล). บันทึกว่าด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีของเจินละ. สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งที่ ๒, ๒๕๔๓ หน้า ๑๙ - ๒๑

(Source: -)
 
 
 
Copyright © Mahachulalongkornrajavidyalaya University All rights reserved 
Maintained by: webmaster@mcu.ac.th 
Last Update : Thursday February 9, 2012