Mahachulalongkornrajavidyalaya University
|
|
University News |
|
มหาบัณฑิต'สมานฉันท์'รุ่น1 ผู้นำแห่งสันติวิธี ชี้นำสังคมสงบสุข |
Date12/02/2013 |
|
Counter : 7868 time |
มหาบัณฑิต'สมานฉันท์'รุ่น1 ผู้นำแห่งสันติวิธี ชี้นำสังคมสงบสุข : โดย...ผกามาศ ใจฉลาด
"เมื่อเสร็จจากสงครามเย็นก็คิดว่าโลกจะสงบสุข แต่ก็ไม่เป็นเช่นนั้น ก็เกิดการปะทะทางอารยธรรมขึ้น เช่นเดียวกับประเทศไทย ที่เกิดปัญหาแบ่งสี แบ่งฝ่าย สถานการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้น ก็ถูกอ้างอิงไปในเชิงการปะทะกันแห่งอารยธรรม ซึ่งไม่ใช่สงครามอุดมการณ์ทางการเมือง แต่เรากลับเอาการเมืองไปแก้ จึงแก้ยาก นี่ไม่ใช่ยุคสงครามเย็น ปัจจุบันเราต้องสลายความขัดแย้งด้วยองค์ประกอบทางอารยธรรม วัฒนธรรม และการศึกษา มิฉะนั้น เราก็จะอยู่ในวังวนความขัดแย้งมิรู้จบ"
พระพรหมบัณฑิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา เปิดใจในพิธีลงนามความร่วมมือในการพัฒนาโครงการปริญญาโท สาขาวิชาสันติศึกษา กับเครือข่ายมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษากว่า 80 แห่ง เป็นปีแรก เพื่อร่วมกันส่งเสริมบุคลากรด้านสันติวิธี ลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นต่อสังคมและประเทศชาติ เมื่อเร็วๆ นี้ พร้อมกับประกาศเจตนารมณ์ต่อไปว่า
"ในฐานะผู้นำศาสนาขอประกาศ อย่าได้อ้างศาสนาไปก่อสงคราม เราไม่ต้องการให้ศาสนา ถูกใช้อ้างอิงในทางที่ผิด เช่น การสร้างความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธกับชาวมุสลิม ทั้งๆ ที่ผู้นำทั้งสองศาสนามีความเข้าใจอันดีต่อกัน จึงเห็นว่า การศึกษาทางศาสนาควรออกมาทำหลักสูตรเรื่องสันติศึกษาขึ้น เพื่อผลิตวิศวกรทางด้านสันติภาพ ต้องการผู้สร้างสันติภาพ เจรจาให้เกิดความปรองดอง ผ่านองค์ความรู้ และประสบการณ์ ผลักดันสังคมไปสู่แนวทางสันติภาพ" พระพรหมบัณฑิต กล่าว
ด้าน รศ.ดร.พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มจร. บอกว่า จุดเด่นของหลักสูตรสันติศึกษาเน้นบูรณาการพัฒนาสันติภาพแบบผสมผสานทั้งภายในและภายนอก เริ่มต้นพัฒนาผู้เรียนให้เกิดสันติภาพภายในใจ โดยใช้หลัก "สมาธิ" มาเป็นเครื่องมือพัฒนากล่อมเกลาสติและปัญญาให้แข็งแกร่ง ทนต่อกระแสอคติ มีใจกว้าง อดทนและยอมรับต่อความแตกต่างอย่างมีสติ อยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุขมากยิ่งขึ้น ส่วนสำนักงานศาลยุติธรรมและสถาบันพระปกเกล้า สนับสนุนให้มีการพัฒนานักสันติภาพ นักประนีประนอมโดยฝึกภาคปฏิบัติในศาล ชุมชนและองค์กรต่างๆ
มีคณาจารย์และอาจารย์พิเศษ ประกอบด้วยนักวิชาการ นักปฏิบัติด้านสันติภาพทั้งในและต่างประเทศจำนวนมาก โดยมีผู้เชี่ยวชาญประจำหลักสูตร อาทิ พระพรหมบัณฑิต อธิการบดี มจร. พระสุธีธรรมานุวัตร คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี) สถาบันวิมุตตาลัย แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต เสถียรธรรมสถาน ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ศ.ดร.คณิต ณ นคร อดีตประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ รศ.ดร.โคทม อารียา ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล รศ.ดร.มารค ตามไท นักสันติภาพ ฯลฯ
สำหรับคุณสมบัติของผู้สมัคร เป็นพระภิกษุ แม่ชี นักบวช หรือนักพรต นักการเมืองระดับชาติและระดับท้องถิ่น เช่น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการ พนักงานองค์กรภาครัฐ ผู้นำชุมชน นักวิชาการมหาวิทยาลัย องค์กรระหว่างประเทศและสื่อมวลชน รับนักศึกษา 40 คน ระบบการศึกษาแบ่งเป็นภาคการศึกษา ภาคละ 3 วิชา โดยเรียนครั้งละ 1 วิชา วิชาละ 6 สัปดาห์ ต่อเนื่องกันจนจบหลักสูตร เรียนวันเสาร์ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. รวมทั้งหมดหลักสูตร 15 รายวิชาภายใน 2 ปี ค่าธรรมเนียมสำหรับคฤหัสถ์ 145,000 บาท และสำหรับนักบวช 120,000 บาท
นานาทัศนะ
ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราสอนแต่ความรู้สันติวิธีเพียงแค่ทฤษฎี แต่เราไม่สามารถปลูกฝังสิ่งที่เรียกว่า ทัศนคติเชิงบวกต่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้ ดังนั้น การจัดหลักสูตรสันติวิธี เป็นความจำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองขณะนี้มากที่สุด เหมาะสำหรับผู้นำประเทศ นักการเมือง ผู้นำทางทหาร ผู้นำทางตำรวจ โดยเฉพาะผู้นำที่อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้มีโอกาสเข้ามาศึกษา เพราะจะทำให้เกิดมุมมอง และความคิดที่รอบด้านมากขึ้น
อดุลย์ ขันทอง ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ กล่าวว่า ศาลได้ขึ้นบัญชีผู้ประนีประนอมประจำศาลกว่า 2,000 ท่าน เห็นควรที่ให้ท่านเหล่านั้นมีโอกาสเข้ามาพัฒนาตัวเองเพิ่มมากยิ่งขึ้น หลักสูตรนี้ถือว่าเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยศาลผลิตบุคลากรด้านการไกล่เกลี่ยให้แก่ศาลเพื่อช่วยแบ่งเบาคดีความต่างๆ ที่เข้าสู่ศาลเป็นจำนวนมาก
|

source : information technology Division |
|
|

|
|