Mahachulalongkornrajavidyalaya University
MCU Home Search Contacts Study Events Site Map Thai/Eng
 
MCU

First Page » พระมหาสมปอง จนฺทวํโส (ยุงรัมย์)
 
Counter : 20050 time
ศึกษาเปรียบเทียบ ธรรมชาติของมนุษย์ในพุทธปรัชญาเถรวาทกับปรัชญาของอริสโตเติลผู้วิจัย : (๒๕๔๘)
Researcher : พระมหาสมปอง จนฺทวํโส (ยุงรัมย์) date : 21/08/2010
Degree : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ปรัชญา)
Committee :
  พระมหาธีรพันธ์ วชิรญาโณ
  พระมหากฤษณะ ตรุโณ
  ดร.วีระชาติ นิ่มอนงค์
Graduate : ๑๙ มีนาคม ๒๕๔๘
 
Abstract

      การศึกษาวิจัยนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ในพุทธปรัชญาเถรวาท กับปรัชญาของอริสโตเติล ว่าเป็นอย่างไร และมีลักษณะที่เหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร โดยเฉพาะประเด็นเรื่องศักยภาพหรือภาวะแฝงและภาวะจริงของมนุษย์
จากการศึกษาวิจัยพบว่า แนวคิดเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ในพุทธปรัชญาเถรวาทตั้งอยู่บนพื้นฐานของทฤษฎี อนัตตา ซึ่งเป็นผลให้ความเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ในด้านต่าง ๆ ถึงขั้นเลยความเป็นตัวตนหรือเลยความเห็นแก่ตัวอย่างแท้จริง ส่วนแนวคิดเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ในปรัชญาของอริสโตเติลตั้งอยู่บนพื้นฐาน ของทฤษฎีอัตตา ซึ่งเป็นผลให้ความเข้าใจเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ในทุกด้านยังพัวพันเชื่อม โยงกับอัตตา และยังไม่ถึงขั้นเลยความเป็นตัวตน เมื่อนำแนวคิดเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ของทั้งสองแนวคิดมาวิเคราะห์เปรียบ เทียบ พบว่า แนวคิดของอริสโตเติลมีทั้งประเด็นที่เหมือนกันและแตกต่างกันกับแนวคิดของ พุทธปรัชญาเถรวาท สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
     ทั้งอริสโตเติลและพุทธปรัชญาเถรวาทเห็นเหมือนกันว่า (๑) มนุษย์เป็นสัตว์ที่เกิดจากองค์ประกอบ ๒ ส่วนคือ ส่วนที่เป็นสสารหรือรูป (กาย) และส่วนที่เป็นอสสารหรือนาม (จิตหรือวิญญาณ) (๒) กายของมนุษย์ประกอบขึ้นจากหน่วยพื้นฐานที่เรียกว่า ธาตุ ๔ ค ดิน น้ำ ไฟ ลม (๓) มนุษย์รับรู้โลกภายนอกผ่านประสาทสัมผัส ประสาทสัมผัสแต่ละอย่างจะมีอารมณ์หรือวัตถุที่เป็นของเฉพาะตน (๔) จิตหรือวิญญาณของมนุษย์มีอยู่จริง โดยอาศัยร่างกายเป็นที่อยู่ เป็นธรรมชาติที่ไม่มีรูปร่าง เป็นนามธรรม มีความสัมพันธ์กับร่างกาย และมีความสำคัญกว่าร่างกาย (๕) มนุษย์มีจิตหรือวิญญาณเป็นธรรมชาติพิเศษประจำชีวิต และมีศักยภาพสูงในการฝึกฝนพัฒนาตนเอง (๖) มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีปัญญาหรือมีเหตุผลในการดำเนินชีวิต (๗) ธรรมชาติของร่างกายมนุษย์มีการเปลี่ยนแปลง ไม่สามารถดำรงอยู่ในภาวะเดิมตลอดไปได้ (อนิจจตา) และถูกบีบคั้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในอยู่ตลอดเวลา (ทุกขตา) (๘) มนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องเกี่ยวข้องกับสังคม มีสังคมมาแต่กำเนิด เพราะมนุษย์เป็นสัตว์ที่มีสัญชาตญาณทั้งฝ่ายสูงและฝ่ายต่ำคอยเป็นแรงผลักดัน ให้ต้องเกี่ยวข้องกับสังคม (๙) มนุษย์ควรแสดงพฤติกรรมที่ดีต่อผู้อื่นและสังคม ควรมีมิตรภาพต่อคนรอบข้าง ทั้งนี้เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข
ส่วนประเด็นที่อริสโตเติลและพุทธปรัชญาเถรวาทเห็นต่างกัน กล่าวโดยย่อมีดังนี้ (๑) ทั้งสองแนวคิดวิเคราะห์องค์ประกอบของชีวิตส่วนที่เป็นรูปหรือสสารไว้มีราย ละเอียดที่ลึกซึ้งและมากน้อยต่างกัน (๒) อริสโตเติลแสดงเรื่องธาตุ ๔ เพื่ออธิบายความสัมพันธ์ระหว่างชีวิต โลก และจักรวาลเท่านั้น แต่พุทธปรัชญาเถรวาทแสดงเรื่องธาตุ ๔ นอกจากเพื่ออธิบายความสัมพันธ์ของชีวิตแล้วยังแสดงไว้เพื่อคุณค่าทาง จริยธรรมด้วย เช่น ให้เข้าใจความเป็นอนัตตาของชีวิต ใช้เป็นอารมณ์กรรมฐานสำหรับฝึกจิตให้สงบจากกิเลส เป็นต้น (๓) อริสโตเติลไม่เชื่อว่ามนุษย์มีสัมผัสที่ ๖ แต่พุทธปรัชญาเถรวาทเชื่อว่ามนุษย์มีมโนสัมผัสเป็นสัมผัสที่ ๖ (๔) วิญญาณในทรรศนะของอริสโตเติล เป็นอมตะ เป็นแบบของชีวิต ไม่ตกอยู่ภายใต้กฎธรรมนิยาม แต่วิญญาณในทรรศนะของพุทธปรัชญาเถรวาท มีการเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปเป็นกระแสตลอดเวลา และตกอยู่ภายใต้กฎธรรมนิยาม (๕) อริสโตเติลเชื่อว่า จุดหมายสูงสุดของวิญญาณคือการรวมตัวเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับวิญญาณสมบูรณ์ของ ผู้เคลื่อนแรก(First Mover) แต่พุทธปรัชญาเถรวาทเชื่อว่า จุดหมายสูงสุดของวิญญาณ คือ ความเป็นอิสระและบริสุทธิ์จากกิเลสตัณหา (๖) ศักยภาพสูงสุดในทรรศนะของอริสโตเติล คือ ความสามารถในการเข้าถึงภาวะสูงสุดของความเป็นมนุษย์ซึ่งได้แก่ การมีความสุขในฐานะนักคิดและนักปรัชญา แต่ศักยภาพสูงสุดในทรรศนะของพุทธปรัชญาเถรวาท คือ “โพธิหรือปัญญาตรัสรู้” (๗) ธรรมชาติคือ “ความเป็นอนัตตาของชีวิต” ไม่มีในปรัชญาของอริสโตเติล แต่ในพุทธปรัชญาเถรวาท หลักอนัตตาถือเป็นหลักการที่สำคัญอย่างยิ่ง (๘)รายละเอียดของธรรมชาติฝ่ายต่ำและฝ่ายสูงของมนุษย์ในปรัชญาของอริสโตเติล ไม่ได้มีจำนวนมากและถูกจัดเป็นระบบเท่ากับในพุทธปรัชญาเถรวาท (๙) แนวคิดเรื่องธรรมชาติเชิงสังคมของมนุษย์ในพุทธปรัชญาเถรวาทมีทั้งส่วนที่ เป็นโลกียะและโลกุตตระ แต่ในปรัชญาของอริสโตเติลมีเฉพาะส่วนที่เป็นโลกิยะอย่างเดียว
Download : 254816.pdf

Download :
 
 
Copyright © Mahachulalongkornrajavidyalaya University All rights reserved 
Maintained by: webmaster@mcu.ac.th 
Last Update : Thursday February 9, 2012