Mahachulalongkornrajavidyalaya University
MCU Home Search Contacts Study Events Site Map Thai/Eng
 
MCU

First Page » พระมหาบรรจง สิริจนฺโท (สมนา)
 
Counter : 20097 time
การวิเคราะห์เชิงปรัชญาเรื่อง ปรัชญาการศึกษา ในทัศนะของพระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) (๒๕๓๗)
Researcher : พระมหาบรรจง สิริจนฺโท (สมนา) date : 17/08/2010
Degree : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ปรัชญา)
Committee :
  พระมหาต่วน สิริธมฺโม
  อาจารย์วัชระ งามจิตรเจริญ
  -
Graduate : ๒๙ ตุลาคม ๒๕๓๙
 
Abstract

งานวิจัยนี้ประสงค์ที่จะศึกษาทัศนะทางปรัชญาการศึกษาของพระธรรมปิฎก ในการศึกษา ผู้วิจัยได้แบ่งเนื้อหาออกไปเป็น ๓ ส่วนหลัก ๆ ด้วยกัน คือ

          ส่วนแรก  : เป็นการศึกษาวิเคราะห์ทั่วไปเกี่ยวกับปรัชญาแม่บท ได้แก่ อภิปรัชญา ญาณวิทยา  ปรัชญาชีวิตและปรัชญาสังคม

          ส่วนที่สอง :   เป็นการวิเคราะห์ปรัชญาการศึกษาในทัศนะของพระธรรมปิฎก อันประกอบด้วยองค์ประกอบทางการศึกษา ได้แก่ โรงเรียน ครูและนักเรียน หลักสูตร และวิธีการเรียนการสอน

          ส่วนที่สาม :  เป็นการชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างปรัชญาแม่บทกับปรัชญาการศึกษาในทัศนะของพระธรรมปิฎกตลอดถึงการนำแนวความคิดไปประยุกต์ใช้กับการศึกษาไทย
 ผลจากการศึกษาสรุปได้ว่า

          ๑) ในส่วนแรก : ตามแนวพุทธธรรม อภิปรัชญาเป็นการศึกษาเรื่องความจริงของสิ่งทั้งหลายมีกฎไตรลักษณ์ ปฏิจจสมุปบาท เป็นต้น ญาณวิทยาศึกษาเรื่องการปฏิบัติสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อที่จะปฏิบัติให้บรรลุถึงความจริงสูงสุด ส่วนจริยศาสตร์นั้นเป็นการดำเนินชีวิตโดยการศึกษาและปฏิบัติให้สอดคล้องกับกฎธรรมชาติ

          ๒) ในส่วนที่สอง : เป้าหมายของการศึกษา คือ ความมีอิสรภาพทั้งภายในและภายนอกอย่างแท้จริงไม่ถูกครอบงำด้วยอวิชชา การศึกษาจึงเป็นการพัฒนาชีวิตให้เจริญงอกงามเพื่อความพ้นทุกข์ องค์ประกอบทางการศึกษานั้นโรงเรียน ครูและนักเรียน หลักสูตร และวิธีการเรียนการสอน ต้องมีความสอดคล้องเกี่ยวพันกันอยู่เสมอ โดยเฉพาะครูและนักเรียนต้องสร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด

          ๓) ในส่วนที่สาม : ทัศนะทางการศึกษาของพระธรรมปิฎกมีความคล้ายคลึงกับลัทธิสารัตถนิยมและพิพัฒนาการนิยม จุดเด่นก็คือ พระธรรมปิฎกให้ความสำคัญต่อครูและนักเรียนเท่าเทียมกันในด้านหน้าที่ อีกทั้งการศึกษาในทัศนะของพระธรรมปิฎกมิได้แยกออกไปจากศาสนา การนำพุทธธรรมไปประยุกต์ใช้จึงทำให้การศึกษาคือการพัฒนาชีวิตและสามารถแก้ปัญหาชีวิตได้ แนวคิดทางการศึกษาของพระธรรมปิฎกจึงมีพุทธธรรมเป็นพื้นฐาน ซึ่งมีลักษณะประยุกต์เข้าได้กับทุกสถานการณ์

Download : 253904.pdf
 
 
Copyright © Mahachulalongkornrajavidyalaya University All rights reserved 
Maintained by: webmaster@mcu.ac.th 
Last Update : Thursday February 9, 2012