หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » รัฐศาสตร์การเมืองการปกครอง » พระราชอำนาจ
 
เข้าชม : ๑๒๑๖๘ ครั้ง

''พระราชอำนาจ''
 
ศ.ดร.อมร รักษาสัตย์ (2548)

พระราชอำนาจตามกฎหมาย

ศ.ดร.อมร   รักษาสัตย์  , ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

 

ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระมหากษัตริย์ก็คือกฎหมาย กล่าวคือ ที่มาของกฎหมายทั้งปวงอยู่ที่องค์พระมหากษัตริย์ พระราชดำรัส พระราชประสงค์ต่าง ๆ ล้วนมีผลเป็นกฎหมาย ดังคำที่กล่าวว่า

"พระบรมราชานุภาพของพระเจ้าแผ่นดิน กรุงสยามนี้ไม่ได้ปรากฏในกฎหมายอันหนึ่งอันใด ด้วยเหตุที่ถือว่าเป็นที่ล้นพ้น ไม่มีข้อสั่งอันใดจะเป็นผู้บังคับขัดขวางได้"

เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 แล้วในทางนิตินัยทำให้พระราชอำนาจที่เคยมีมาอย่างล้นพ้นถูกจำกัดลงให้อยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญซึ่งจะต้องศึกษาทำความเข้าใจอย่างระมัดระวัง

เฉพาะพระองค์

พระราชอำนาจเฉพาะพระองค์นี้ยังคงมีตามกฎหมายรัฐธรรมนูญทุกฉบับ ที่ไม่ได้ก้าวล่วงไปถึงกับกำหนดขั้นตอนการใช้พระราชอำนาจขึ้นมาใหม่ ทรงใช้พระราชอำนาจเหล่านี้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัยอย่างแท้จริง คือ

1. พระราชอำนาจในการเลือก แต่งตั้ง ถอดถอนองคมนตรีตามมาตรา 12, 13 และ 16 แห่งรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2540 อันเป็นมรดกตกทอดมาจากในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงตั้งสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินเป็น The Privy Council แบบของอังกฤษ เป็นองค์กรที่ใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์ ทำหน้าที่ถวายความเห็นต่อพระมหากษัตริย์ในพระราชกรณียกิจทั้งปวงที่ทรงปรึกษาและหน้าที่อื่น ๆ คณะองคมนตรีจะถวายคำปรึกษาเป็นเรื่องเกี่ยวกับการบริหารราชการ แผ่นดิน เช่น เรื่องร่างกฎหมายที่นายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯ เสนอฎีการ้องทุกข์ของราษฎร ฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษในคดีอาญา การแต่งตั้งข้าราชการ การพระราชทานฐานันดรศักดิ์ ทำหน้าที่เหมือนคณะกลั่นกรองงานถวายพระมหากษัตริย์ รวมทั้งเป็นคณะทำงานใน โครงการต่าง ๆ อันเนื่องมาจากพระราชดำริด้วย

ในการใช้พระราชอำนาจนี้ ก็ต้องมีการลงนามรับสนองพระบรมราชโองการคือ ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งหรือถอดถอนประธานองคมนตรี ประธานองคมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งหรือถอดถอนองคมนตรีอื่น ๆ

2. พระราชอำนาจแต่งตั้งหรือถอดถอนข้าราชการในพระองค์และสมุหราช องครักษ์ (รัฐธรรมนูญฯ มาตรา 17) ซึ่งเป็นตำแหน่งในราชสำนัก มีองคมนตรีท่านใดท่านหนึ่งเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการฯ

3. พระราชอำนาจในการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน (รัฐธรรมนูญฯ มาตรา 18) ในกรณีที่ไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักรหรือทรงประชวร ทรงผนวช ยังไม่บรรลุนิติภาวะหรือราชบัลลังก์ว่างลงโดยที่ยังไม่มีการประกาศผู้สืบราชสันตติวงศ์ โดยให้คณะองคมนตรีเสนอชื่อให้รัฐสภาเห็นชอบ ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

4. พระราชอำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 (รัฐธรรมนูญฯ มาตรา 22 วรรค 2) โดยให้คณะองคมนตรีจัดทำร่างกฎมณเฑียรบาลแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลเดิมตามพระราชดำริ นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้วแจ้งไปยังประธานรัฐสภาเพื่อให้นำแจ้ง รัฐสภาทราบ ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ และประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อไป

5. พระราชอำนาจในการแต่งตั้งพระรัชทายาท (รัฐธรรมนูญฯ มาตรา 23 วรรคแรก) ซึ่งเป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 แล้วแจ้งรัฐสภาทราบ

ทางนิติบัญญัติ

รัฐธรรมนูญทุกฉบับกำหนดให้พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจอธิปไตยด้านนิติบัญญัติทางรัฐสภา โดยได้กำหนดพระราชอำนาจไว้ดังนี้

1. ทรงแต่งตั้งประธาน - รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธาน - รองประธานวุฒิสภา จากสมาชิกแห่งสถาบันนั้น ๆ ตามมติของสภา (รัฐธรรมนูญฯ มาตรา 151) โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

2. ทรงแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร (รัฐธรรมนูญฯ มาตรา 120) โดยมีประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

3. ทรงเรียกประชุมรัฐสภา ทรงเปิดและทรงปิดประชุม (รัฐธรรมนูญฯ มาตรา 161)

4. ทรงตรากฎหมายรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ ที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับเป็นกฎหมาย (รัฐธรรมนูญฯ มาตรา 93)

5. ทรงสามารถยับยั้งร่างรัฐธรรมนูญและร่างพระราชบัญญัติต่าง ๆ ที่รัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบแล้วได้ (รัฐธรรมนูญฯ มาตรา 94 และ 313 (7) ) ดังที่รัฐธรรมนูญฯ กำหนดไว้ว่า

"ร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญโดยพระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยและพระราชทานคืนมายังรัฐสภาหรือเมื่อพ้นเก้าสิบวันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา รัฐสภาจะต้องปรึกษาร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ นั้นใหม่ ถ้ารัฐสภามีมติยืนยันตามนั้นด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบ ทูลกระหม่อมถวายอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระมหากษัตริย์มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานคืนมาภายในสามสิบวัน ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราช บัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับเป็นกฎหมาย เสมือนหนึ่งว่าพระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว"

(ที่มา: พระมหาสมควร มธุภาณี)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕