หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » พระพุทธศาสนา » มองกรณีพระนักจัดรายการธรรมะทางวิทยุ : จงเปลี่ยนปัญหาให้เป็นปัญญาเถิด
 
เข้าชม : ๑๑๘๙๘ ครั้ง

''มองกรณีพระนักจัดรายการธรรมะทางวิทยุ : จงเปลี่ยนปัญหาให้เป็นปัญญาเถิด''
 
พระศรีปริยัติโมลี (สมชัย กุสลจิตฺโต) (2546)

          เมื่อ ๒-๓ วันก่อน ผู้เขียนได้อ่านพบข่าวเรื่องพระภิกษุ นักจัดรายการธรรมะทางวิทยุ ที่สื่อมวลชนเรียกว่า "พระดีเจ" ถูกชาวบ้านกลุ่มหนึ่งเข้าร้องเรียนผ่านท่านรองนายกฯ ดร.วิษณุ เครืองาม จากหนังสือพิมพ์ว่า พระภิกษุนักจัดรายการธรรมะทางวิทยุบางท่านมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม แก่เพศสมณะหลายประการ เช่น ประกาศเรี่ยไรเงินทอง และขอรับบริจาคจากผู้ฟังมากเกินไป ประกาศให้เช่าซื้อเครื่องรางของขลัง บริขารเครื่องใช้ของสงฆ์ วัสดุ-ที่ดินก่อสร้างศาสนวัตถุ ขายบัตรทัวร์ไปเที่ยวไหว้พระและทอดผ้าป่า-กฐิน จาบจ้วงบุคคลอื่น ศาสนาอื่น ตลอดจนพูดจาทำนองเกี้ยวพาราสีกับสีกาออกอากาศกลางดึกอยู่เสมอ กลุ่มผู้กล่าวหายังระบุอีกว่า พระนักจัดรายการธรรมะเหล่านี้ ต่างก็มีชีวิตสะดวกสบาย ร่ำรวย มียานพาหนะใช้สอยราคาแพง ๆ ฯลฯ ด้วย

                    ท่านรองนายกฯ วิษณุ ซึ่งกำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ออกมาบอกว่า จะจัดระเบียบพระนักจัดรายการฯ ทางวิทยุ โดยให้สัมภาษณ์ว่า "ผมมีรายชื่อพระนักจัดรายการทางวิทยุอยู่ในมือนับสิบ ๆ ราย ที่มีพฤติกรรมต้องระวัง ทั้งการชอบเรี่ยไรเงินทางอากาศ และการจาบจ้วงศาสนาอื่น ๆ ซึ่งส่งผลกระทบ ต่อความมั่นคงระหว่างศาสนา ตอนนี้ได้ส่งตัวแทนลงพื้นที่ตามวัดที่มีพระนักจัดรายการวิทยุ เพื่อดูความเคลื่อนไหวของพระเหล่านี้แล้ว รวมทั้งตั้งศูนย์มอนิเตอร์ข่าวสารรายการธรรมะ ที่มีรายชื่ออยู่ในแบล็กลิสด์ไว้ทำการตรวจสอบอย่างใกล้ชิด โดยให้ส่งเนื้อหามาให้ผมตรวจสอบทุกวัน" (ข่าวสด ๒๖ ม.ค. ๒๕๔๖)

                    พร้อมกันนี้ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ คือ คุณสุทธิวงศ์ ตันตยาพิศาลสุทธิ์ ก็ได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นว่า "ทางออกในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ ในเบื้องต้นได้หารือกับคณะกรรมการเพื่อพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศด้านพระพุทธศาสนาว่า บางทีอาจจะรื้อฟื้นโครงการทีวีเพื่อพุทธศาสนา... เพื่อสร้างเครือข่ายในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาผ่านทางโทรทัศน์ล้วน ๆ เป็นช่องหนึ่งที่ว่าด้วยเรื่องศาสนาอย่างเดียว ซึ่งถ้าหากทำได้ก็จะเป็นการง่ายต่อการควบคุมพฤติกรรม ของพระนักจัดรายการ" (ข่าวสด ๒๖ ม.ค. ๒๕๔๖)

                    ขณะที่เขียนบทความนี้อยู่ ได้ข่าวว่า สำนักงาน พระพุทธศาสนาแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ สำนักข่าวไทย อ.ส.ม.ท. และมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จะร่วมมือกัน จัดสัมมนาหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวในเร็ววันนี้ ณ หอประชุมกรมประชาสัมพันธ์ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และมาตรการต่าง ๆ ออกมาจัดระเบียบพระนักจัดรายการวิทยุดังกล่าว ในฐานะที่เป็นพระภิกษุผู้บรรยายธรรมะทางวิทยุอยู่ด้วย พอทราบข่าวนี้ ก็รู้สึกเป็นห่วงและไม่สบายใจเหมือนกันเรื่องนี้หากเราแก้ปัญหาไม่ถูกต้นตอบ่อเกิดของเหตุที่แท้จริงแล้ว ก็อาจจะเป็นผลเสียต่อพระพุทธศาสนาได้จึงใคร่ขอถือโอกาสแสดงทัศนะไว้ประกอบ การพิจารณาปัญหาดังกล่าว ดังต่อไปนี้

พระสงฆ์ในยุคข่าวสารข้อมูล

                 ในช่วง ๗-๘ ปีมานี้ เรามักได้ยินคำพูดแปลก ๆ อยู่สองสามคำ เช่น คำว่า "โลกาภิวัตน์ (Globalization)" "ไอที (Information Technology) หรือ "สารสนเทศ (Information)"

                    คำดังกล่าวข้างต้นต่างบอกเราว่า ขณะนี้สังคมไทยกำลังเปลี่ยนไปสู่สังคมแบบใหม่ มิใช่สังคมเกษตรกรรมดังโบราณกาลอีกต่อไปแล้ว ในสังคมที่เรากำลังอยู่ร่วมกันมาก ๆ นี้ ดูเหมือนสื่อสารมวลชน คือ หนังสือพิมพ์ วิทยุ และวิทยุโทรทัศน์ (รวมทั้งคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต) ได้เข้ามามีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อความเชื่อ ต่อความรู้สึกนึกคิด และต่อวิถีชีวิตของเรามากขึ้น หนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ กลายมาเป็นสิ่งที่น่าเชื่อถือ (หรือทำให้ผู้คนเชื่อถือ) ได้มากกว่าพระสงฆ์ นักบวช และสถาบันศาสนาเสียอีก กล่าวให้สั้นเข้ามาก็ว่า ในสังคมปัจจุบัน ฐานความเชื่อได้เคลื่อนย้ายจากพระสงฆ์ และวัดวาอาราม ไปอยู่กับสื่อมวลชนแล้ว อาจเป็นไปได้ว่า มีพระสงฆ์รุ่นกลางกลุ่มหนึ่งจับประเด็นนี้ได้ อย่างน้อยก็บางส่วน จึงได้กระเสือกกระสนเข้าไป จับสื่อมวลชนที่พอจะเข้าถึงได้ สิ่งนั้นคือวิทยุ ซึ่งปัจจุบันก็มีการซื้อขายเวลาเพื่อหากำไรกันอยู่แล้ว พระสงฆ์กลุ่มนี้อาจมีทั้งผู้มีกุศลเจตนาเป็นฐานอยู่ในใจ ใคร่จะประกาศพระสัทธรรมที่แท้จริง เพื่อแก้ไขและลดความสับสนของชาวพุทธไทยในปัจจุบัน ในขณะเดียวกัน ก็อาจจะมีบางกลุ่ม หรือบางรูปแฝงกายเข้ามาด้วยความกระเหี้ยนกระหือหรืออยากมีชื่อเสียงโด่งดัง ซึ่งจะนำไปสู่การได้ลาภ ยศ สุข สรรเสริญ และเงินทอง ต้องยอมรับว่า พระสงฆ์ไทยหลายรูป มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดี ทั่วประเทศได้ ก็เพราะการบรรยายธรรมะทางสถานีวิทยุ ทั้งที่เช่าเวลาเองและได้รับนิมนต์ให้ไปบรรยาย ขออนุญาตเอ่ยนามบางรูปไว้ ณ ที่นี้ เช่น พระธรรมโกศาจารย์ (หลวงพ่อปัญญานันทะ) พระพิสาลพัฒนาทร วัดปทุมวนาราม พระพิจิตรธรรมพาที วัดประยุรวงศาวาส และพระอาจารย์เสงี่ยม กตปุฺโ (หลวงพ่อน้อย) วัดอมรินทราราม หรือ จากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ก็เช่น ดร.พระมหาต่วน สิริธมฺโม พระมหาบุญถึง ชุตินฺธโร พระมหาโชว์ ทสฺสนีโย ฯลฯ ส่วนชื่อรายการธรรมะก็ได้ตั้งชื่อกันอย่างไพเราะเพราะพริ้งมาก เช่น เจริญธรรม เจริญศรัทธา, เสียงธรรมจาก..., ธรรมะพุทธบารมี, ธรรมะจากพระโอษฐ์ เป็นต้น

                    พระคุณท่านนักบรรยายธรรมเหล่านี้ บางรูปพูดธรรมะดี บรรยายแจ่มแจ้ง หรือพูดไพเราะ มีคารมคมคาย มีมุขชวนขันน่ารับฟัง แล้วก็มีผู้ฟังเลื่อมใสศรัทธา จึงสามารถ ขยายเวลาบรรยายธรรมได้วันละหลาย ๆ ชั่วโมงและหลายสถานี ส่วนมากก็จะเป็นคลื่น เอ.เอ็ม. ซึ่งมีกำลังส่งสูง รับฟังได้ไกล ๆ และครอบคลุมพื้นที่ได้มากด้วย สำหรับสนุนราคาค่าเช่าเวลาสถานี ก็ตกชั่วโมงละ ๑,๐๐๐ ถึง ๑,๕๐๐ บาท ต่อครั้ง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่ออกอากาศ ถ้าวันละ ๑ ชั่วโมง เมื่อคิดเป็นเดือน ค่าเช่าเวลาก็ตกเดือนละสามถึงสี่-ห้าหมื่นบาท บางรูปบารมีมากหน่อย ก็เช่าเวลา ออกอากาศวันละหลาย ๆ ชั่วโมงบวกค่าอุปกรณ์และเงินเดือนคนขับรถเข้าไปอีก ก็ตกเดือนละ นับแสนบาทขึ้นไป มองในแง่บริหารก็ต้องนับว่า พระนักจัดรายการเหล่านี้ ท่านเป็นนักบริหาร ชั้นเยี่ยมเหมือนกัน หลายท่านสามารถยืนหยัดจัดรายการ อยู่ได้เป็นเวลา ๗-๘ ปี หรือ ๑๐ ปีก็มี ทำให้ทักษะหรือความชำนิชำนาญ ของพระนักจัดรายการ เหล่านี้ก็มีมากขึ้นตามลำดับ ประกอบกับสร้างชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป แถมยังมีลูกศิษย์ ลูกหาบริวารมากมาย ดังเราจะเห็นได้จากกรณีของหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ เป็นต้น

เพื่อนคู่คิด มิตรยามดึก (ของคนนอนไม่หลับ)

คงต้องยอมรับความจริงข้อหนึ่งว่า รายการบรรยายธรรมะทางสถานีวิทยุเหล่านี้ ได้ช่วยเผยแผ่พระพุทธศาสนา และช่วยสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ให้แก่ประชาชนได้ส่วนหนึ่ง ถ้าผู้ฟังมีสติปัญญารู้จักเลือกรับฟัง
                    อย่างรายการเสียงธรรมจากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งบรรยายโดยคณาจารย์ของมหา วิทยาลัยสงฆ์นั้น อาจเป็นที่พึ่งของชาวบ้านที่ชอบหลักธรรมและการอธิบายธรรมอย่างมีเหตุผลได้
                    ส่วนผู้ที่ชอบเรื่องของจิตภาวนา-การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ก็จะมีรายการ ของ สำนักวิปัสสนากัมมัฏฐาน และหากประชาชนทั่วไปชอบทำทานหรือไปทัวร์บุญตามวัดต่าง ๆ ก็จะมีรายการประเภทนี้สนองตอบต่อความต้องการอยู่ ซึ่งออกจะมีมากกว่าประเภทอื่น ๆ เสียด้วยซ้ำไป กลุ่มเป้าหมายของธรรมะภาคดึก คงมิใช่คนนอนดึกหรือคนทำงานกลางคืนเท่านั้น แต่เป็นคุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย ผู้สูงอายุ ผู้อยู่ระหว่างพักฟื้นจากการเจ็บไข้ได้ป่วย และผู้อยู่ระหว่างความทุกข์ ความหม่นหมอง และความสูญเสีย รายการธรรมะที่เปิดสายให้ผู้ฟังได้ไต่ถามปัญหา ทางโทรศัพท์นับว่าเ ป็นการให้คำปรึกษา (Counseling) แก่บุคคลผู้กำลังจมอยู่กับความสงสัย และความทุกข์ทน จนหาทางออกไม่พบ หลายท่านทุกข์หนักจนขนาดคิดฆ่าตัวตาย แต่พอได้ฟังธรรมะแล้ว ก็ได้ข้อคิด กลับใจหันหน้าเข้าวัดเข้าหาธรรมะก็มีเป็นจำนวนมาก ส่วนรายการเรี่ยไรบอกบุญทางวิทยุนั้น ว่าโดย หลักการหรือดูตามความจำเป็นแล้ว ก็คงจะต้องมี เพราะพระภิกษุเหล่านั้นจะต้องจ่ายค่าเช่าเวลาให้
แก่ทางสถานีกันครั้งละหลาย ๆ หมื่นบาทต่อเดือน หากไม่บอกบุญเรี่ยไรแล้วจะได้แหล่งทุนจากที่ใด แต่ก็คงจะมีหลายรายการอีกเหมือนกัน ที่ถือโอกาสเรี่ยไร-ขายวัตถุมงคล ขายหน้าดิน ขายหินปูน สร้างโบสถ์ สร้างศาลา และขายบัตรพาไปเที่ยวแสวงบุญมากมายจนเกินจำเป็นไปหน่อย จนกระทั่ง ท่านผู้ที่ประสงค์จะฟังธรรมะเกิดความงุ่นง่านรำคาญใจ ส่วนผู้ที่มีศรัทธาจ้องแต่จะทำบุญ แล้วก็รอฟังรายชื่อ ของตัวเองทางวิทยุก็คงมีอยู่บ้างเหมือนกัน ผู้เขียนคิดว่า ส่วนมากคงเป็น เรื่องความศรัทธา และเต็มใจจะบริจาคมากกว่าจะเป็นเรื่องหลอกลวงกัน เพราะหลายรายที่จัดทำอย่างนี้มา นานนับสิบปี แต่ก็เห็นยังมีผู้ทำบุญอยู่อย่างต่อเนื่อง พูดอย่างเป็นกลางก็คงต้องยอมรับว่า มีพระภิกษุนักจัดรายการธรรมะบางรูปไม่มีวุฒิฯ ทางพระปริยัติธรรมและประสบการณ์ ทางการปฏิบัติเพียงพอที่จะเป็นผู้บรรยายธรรมะได้ เพียงแต่มุ่งหวังในลาภ ยศ ชื่อเสียง และเงินทองเท่านั้น ก็ใช้กโลบาย (กลอุบาย = เล่ห์เหลี่ยม) ซื้อขายบุญอย่างน่ารังเกียจ หรือไม่บางท่านก็แทนที่จะช่วยเผยแผ่พระธรรมคำสอน ของพระพุทธเจ้า แต่กลับไปสร้างความเข้าใจ ไขว้เขวในหลักการของพระพุทธศาสนาให้มากขึ้นเสียอีกก็มี

ปัญหาและทางออก

พุทธศาสนิกชนทั้งหลายผู้รักและห่วงใยในพระพุทธศาสนา (รวมทั้งผู้เขียนด้วย) คงไม่เห็นด้วย อย่างยิ่ง หากท่านรองนายกฯ วิษณุ และท่าน ผอ.สุทธิวงศ์ จะผลักดันให้ออกคำสั่งห้าม พระภิกษุจัดรายการบรรยายธรรมทางวิทยุ อย่างไม่มีเงื่อนไข และไม่มีแผนงานการเผยแผ่ที่ถูกต้อง ผู้เขียนคิดว่า มันน่าจะเกิดผลเสียแก่ทั้งสองฝ่าย คือ ทั้งแก่พระภิกษุผู้จัดรายการฯ และฝ่ายญาติโยม ผู้ฟังรายการธรรมะเป็นเพื่อนคู่ทุกข์ในยามค่ำคืนด้วย

                    บรรดาพระภิกษุ (ที่บรรยายธรรมทางสถานีวิทยุ) ท่านก็จะขาดโอกาสในการเรียนรู้ เรื่องการใช้สื่อสารมวลชน และไม่มีช่องทางที่จะสื่อธรรมะกับชาวบ้านทั่วไปได้ แล้วจะทำให้พระสงฆ์เหล่านี้ ท่านต้องย้อนกลับไปสู่สังคมเกษตร เรียกว่า อาจจะเป็นพระตกยุคไปเลยก็ได้ อีกประการหนึ่ง การแก้ปัญหาแบบปลายเหตุหรือกำปั้นทุบดิน เช่น มีอะไรก็ออกกฎ-ออกคำสั่งมาห้ามกัน อย่างไม่มีเหตุผล และไม่มีแนวคิดสร้างสรรค์นั้น อาจเกิดผลเสียมากกว่าผลดี เรื่องคงสงบได้เพียง ชั่วครั้งชั่วคราว ต่อไปก็จะไม่มีผู้เคารพและเชื่อฟังกฎหรือคำสั่งนั้นอีก เช่น กรณีห้ามพระสงฆ์ เรียนพิมพ์ดีดและห้ามพระสงฆ์ศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (ปัจจุบันอนุญาตให้เรียนแล้ว) นาน ๆ เข้า กฎคำสั่งเหล่านั้นก็จะเป็นเพียงเสือกระดาษเท่านั้น แล้วมันจะเข้าทำนองที่ท่านเล่าจื๊อ พูดว่า "ถ้ามีข้อห้ามจุกจิกมากเกินไป ประชาชนก็ยากจนลง กฎหมายยิ่งมีมาก โจรก็กลับจะยิ่งชุกชุม" ดังนั้น จึงใคร่เสนอขั้นตอนทางออกหรือการแก้ปัญหา ดังนี้

                    ๑. แผนระยะสั้น คณะสงฆ์โดยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยสงฆ์ ร่วมกับกรมประชาสัมพันธ์ ควรจัดหลักสูตรอบรมพระภิกษุ นักเผยแผ่ธรรมะทางสื่อมวลชนระยะสั้นขึ้นมา (มหาจุฬาฯ ร่วมกับกรมประชาสัมพันธ์ได้ทำอยู่บ้างแล้ว) ทั้งนักจัดรายการวิทยุหรือแม้แต่วิทยุโทรทัศน์ เพื่อให้พระภิกษุเหล่านั้น มีความรู้ ความสามารถ และมีเทคนิควิธีในการเผยแผ่อย่างถูกต้องตามหลักการของพระพุทธศาสนาและวิชาการสมัยใหม่ อาจจะเน้นให้เกิดจิตใจคิดเสียสละ มีอุดมการณ์ มีจริยาวัตรน่าเลื่อมใสศรัทธา และการใช้ภาษาไทย ภาษาพระอย่างถูกต้องเหมาะสม เมื่อสิ้นสุดการอบรมแล้ว ก็มีการออกวุฒิบัตร-สัมฤทธิบัตร ซึ่งมีฐานะดังใบอนุญาตให้พูดบรรยายธรรมะทางวิทยุและวิทยุโทรทัศน์ได้ ถ้าหากไม่ผ่านการอบรมก่อน ทางสถานีก็จะไม่ขายเวลาให้ หรือไม่นิมนต์ไปพูดไปบรรยายธรรมะ ในขณะเดียวกัน สำนักงานพระพุทธ-ศาสนาแห่งชาติก็ควรจับงานนี้ให้จริงจังมากขึ้น โดยจัดสรรงบประมาณ งบอุดหนุนรายการธรรมะดี ๆ เหล่านี้ไว้ ถึงขนาดที่ผู้จัดรายการไม่ต้องไปโฆษณาเรี่ยไรขอรับบริจาคค่าสถานีจากผู้ฟังอีกต่อไป

                    ๒. แผนระยะยาว คณะสงฆ์ต้องจัดเตรียมหลักสูตรอบรมพระภิกษุนักเผยแผ่ธรรมะทาง สื่อมวลชนระยะยาวขึ้นมา เพื่อสร้างพระนักเผยแผ่จริง ๆ โดยผู้เขียนคิดว่า น่าจะแตกต่างไปจากพระธรรมทูตฯ หรือจะเสริมเติมต่อ ยอดจากพระธรรม-ทูตฯ ก็ได้ และก็เห็นสอดคล้องกับ ท่าน ผอ.สุทธิวงศ์ ว่า ควรจัดตั้งสถานีวิทย ุและวิทยุโทรทัศน์ของ พระพุทธ- ศาสนาขึ้นมา ในกรณีของ สถานีวิทยุนี้ น่าจะมีประจำ อยู่ทุกภาค ตามเขตการปกครองของคณะสงฆ์หรือทุกจังหวัด กล่าวคือ เมื่อมีอยู่ ๑๘ ภาค (เขตการปกครองของคณะสงฆ์) ก็น่าจะมี ๑๘ สถานี หรือมีอยู่ ๗๖ จังหวัด ก็น่าจะมี ๗๖ สถานี อะไรทำนองนี้ สถานีวิทยุเหล่านี้จะเป็นกระบอกเสียง เผยแผ่ธรรมะและ กิจการของคณะสงฆ์ ตลอดคืนและวัน เพื่อพระพุทธศาสนาจะได้เป็นที่พึ่งของ ชาวบ้านในยุคโลกาภิวัตน์นี้ อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

สรุป

      คงถึงเวลาแล้วที่พระสงฆ์จะหันมาศึกษาวิธีเผยแผ่พระพุทธศาสนาผ่านสื่อสารมวลชน และเทคโนโลยีทางสื่อสารเหล่านี้ คณะพระภิกษุนักจัดรายการวิทยุดังกล่าว ชื่อว่า เป็นผู้บุกเบิกนำร่องให้เรา หากจะมีปัญหาความไม่ดีไม่งามอยู่บ้าง ก็ต้องปรับปรุงแก้ไขอย่างนุ่มนวล และเหมาะสมต่อไป การออกคำสั่งห้ามเด็ดขาด แม้จะทำได้ง่าย แต่ก็จะเป็นผลเสียแก่หลายฝ่าย ทั้งพระผู้จัด ชาวบ้านผู้ฟังรวมทั้งพระพุทธศาสนาอีกด้วย และในระยะยาวก็จะบังคับใช้ไม่ได้ ดังกรณีของการลดอาย ุหนังสือเดินทาง (Passport) ของพระภิกษุจาก ๕ ปี มาเป็น ๒ ปี และการตั้งเงื่อนไขเข้าเรียน ในมหาวิทยาลัยสุโขทัย ธรรมาธิราชของพระภิกษุเป็นตัวอย่าง

                    ทางออกของปัญหาก็อยู่ที่ "การเปลี่ยนปัญหาให้เป็นปัญญา" ทั้งฝ่ายที่มองว่า เป็นปัญหาและฝ่ายที่ถูกต้องมองว่ามีปัญหา โดยต้องให้การศึกษาอบรมและตั้งกองทุน เพื่อการเผยแผ่สนับสนุนอย่างเพียงพอ ตลอดจนมีแผนงาน จัดตั้งสถานีวิทยุและวิทยุโทรทัศน ์ของคณะสงฆ์ขึ้น แล้วเอาบุคลากรคือพระภิกษุนักจัดรายการธรรมะทางวิทยุเหล่านี้จัดเข้ารวมกันเป็นคณะ ทำงานการเผยแผ่ของคณะสงฆ์ไทยเสียเลย

                    ถึงเวลานั้นการเผยแผ่หรือการให้การศึกษาพระพุทธศาสนาจะก้าวไกลไปขนาดไหนลองช่วย กันคิดดูเถิดและสิ่งนี้รับรองมิใช่ความฝัน ถ้าหากเรามีความเสียสละ ทุ่มเทและจริงใจต่อกิจการของพระพุทธศาสนาด้วยความรักและศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่งกว่าชีวิตของเราเอง

(ที่มา: เว็บเดิมของมหาจุฬาฯ)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕