หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » พระธรรมโกศาจารย์ » เยือนสยามนิกายในศรีลังกา
 
เข้าชม : ๓๑๕๖๙ ครั้ง

''เยือนสยามนิกายในศรีลังกา''
 
พระธรรมโกศาจารย์ (2550)

          การไปศรีลังกาครั้งนี้เป็นการไปเยือนอย่างเป็นทางการโดยการเชิญของรัฐบาลศรีลังกา ผู้ลงนามในหนังสือเชิญคือ ท่าน ดิเนศ คุณวัฒนะ (Dinesh Gunawardane) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาพระนครและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งศรีลังกาที่ประสงค์จะร่วมฉลองเนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของไทยทรงเจริญพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา

ลังกาวงศ์ในประเทศไทย
           สำหรับการไปเยือนครั้งนี้ทางรัฐบาลศรีลังกาต้องการให้คณะของเราไปกัน ๘๐ ชีวิตเท่ากับพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของไทย แต่เมื่อเตรียมการเดินทางแล้ว ปรากฏว่ามีเหตุขัดข้องเรื่องทำพาสปอร์ตไม่ทันบ้างและเหตุขัดข้องอื่นๆ บ้าง จึงได้ผู้ร่วมเดินทางที่ไปกับคณะของเราจำนวน ๗๓ รูป/คน ประกอบด้วยผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยและคณะสงฆ์รวมทั้งอุบาสก อุบาสิกาจากวัดประยุรวงศาวาส ซึ่งมีอาตมาเป็นเจ้าอาวาส ช่วงเช้าของวันเดินทางคือ ๒๕ สิงหาคม มหาวิทยาลัยได้จัดปฐมนิเทศเป็นการซักซ้อมทำความเข้าใจให้กับคณะผู้ร่วมเดินทางว่าจะต้องไปดูอะไรและควรใส่ใจเรื่องอะไรเป็นพิเศษ
           พระธรรมโกศาจารย์ได้ทำหน้าที่บรรยายในการปฐมนิเทศว่า ศรีลังกาเป็นประเทศที่จิ๋วแต่แจ๋ว โดยที่มีประวัติความเป็นมากว่าสองพันปี ศรีลังกาเป็นเมืองพุทธที่เก่าแก่ที่สุดในโลก เพราะเมื่อสองพันปีที่แล้วเคยเป็น เมืองพุทธอย่างไร สมัยนี้ก็ยังเป็นเมืองพุทธอยู่อย่างนั้น ศรีลังกาในปัจจุบันมีประชากรราว ๒๐ ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นพุทธร้อยละ ๗๐ เป็นฮินดูร้อยละ ๗ เป็นมุสลิมร้อยละ ๗ และเป็นคริสต์ร้อยละ ๖
           ลองคิดดูว่า อินเดียเมื่อสองพันปีมาแล้วเคยเป็นเมืองพุทธ แต่ปัจจุบันเป็นเมืองพราหมณ์หรือฮินดู อินเดียทุกวันนี้มีประชากรหนึ่งพันล้านคน มีชาวพุทธไม่ถึงร้อยละ ๑ ดังนั้น การไปเยือนอินเดียเป็นการไปเยี่ยมชม ศาสนวัตถุศาสนสถาน แต่ขาดศาสนบุคคลที่เป็นหลัก นั่นคือ อินเดียไม่มีวิถีชีวิตแบบชาวพุทธให้ชาวโลกได้ถือเป็น แบบอย่างเหมือนที่ศรีลังกา
           ศรีลังกามีทั้งศาสนวัตถุและศาสนสถานด้านพระพุทธศาสนาที่เก่าแก่ไม่แพ้อินเดีย ทั้งยังมีพุทธศาสนบุคคลที่ยึดมั่นและสืบทอดวิถีชีวิตแบบชาวพุทธมากว่าสองพันปี การที่พวกเราไปเยือนศรีลังกาก็คือการกลับไปดูรากเหง้าทางพระพุทธศาสนาของไทยเพราะเหตุที่ว่าพระพุทธศาสนาในประเทศไทยนั้นได้รับสืบทอดมาจากศรีลังกาเมื่อครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีซึ่งเป็นเหตุให้พระพุทธศาสนาในประเทศไทยทุกวันนี้ได้ชื่อว่าลังกาวงศ์ ดังที่ศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง จังหวัดสุโขทัย บันทึกไว้ว่าเมื่อ พ.ศ. ๑๙๐๔ พญาลิไท ได้อาราธนาพระมหาสามีสังฆราชผู้เรียนจบพระไตรปิฎกในลังกาทวีปจากนครพันให้มาจำพรรษาที่กรุงสุโขทัย
           แบบแผนที่ชาวพุทธไทยถือปฏิบัติทุกวันนี้ บางเรื่องเราทำตามกันมาโดยไม่เข้าใจความหมายที่ลึกซึ้ง เช่น คนไทยน้อยคนที่จะเข้าใจนัยหรือความหมายที่แฝงไว้ในเจดีย์ทรงลังกาที่เมืองไทย ต่อเมื่อเราย้อนรอยกลับไปดูสถูปที่ศรีลังกา เราจะเข้าใจความหมายมากขึ้น เพราะหลายสิ่งหลายอย่างเราได้รับรูปแบบมาจากศรีลังกานั่นเอง
           สิ่งใดที่เรากำลังถือปฏิบัติอยู่นั้นอาจเป็นเรื่องที่เรารับจากเขานานมาแล้ว เมื่อเรากลับไปดูเขาก็เท่ากับทบทวนความทรงจำถึงที่มาหรือรากเหง้าของเรา ถ้าเขายังรักษาแบบแผนเดิมไว้ได้ดีกว่าเรา เราก็เรียนรู้เขาเพื่อนำมาพัฒนาในส่วนของเราต่อไป เพราะฉะนั้นการไปเยือนศรีลังกาครั้งนี้จึงไม่ใช่เพียงแต่ไปดูศาสนสถานที่สำคัญเท่านั้น แต่เราต้องไปดูศาสนพิธีวิถีชีวิตชาวพุทธศรีลังกา รวมทั้งวิธีปฏิบัติศาสนกิจของพระสงฆ์ศรีลังกา

สยามนิกายในศรีลังกา
           ประเทศไทยไม่ได้เป็นหนี้บุญคุณศรีลังกาเพียงฝ่ายเดียว ไทยเรายังได้มีโอกาสตอบแทนคุณศรีลังกาเมื่อ ๒๕๓ ปีที่ผ่านมาสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา ยุคนั้นคณะสงฆ์ในศรีลังกาได้สูญสลายไปเนื่องจากประเทศถูกภัยคุกคามจากโปรตุเกสเป็นเวลานาน ทั้งเกาะศรีลังกาครั้งนั้นมีแต่คณะสามเณรซึ่งมีสามเณรสรณังกรเป็นหัวหน้า สามเณรเหล่านั้นบวชเป็นพระภิกษุไม่ได้เพราะไม่มีพระอุปัชฌาย์และพระอันดับ กษัตริย์ศรีลังกาจึงส่งราชทูตมายังกรุงศรีอยุธยาเพื่อขอสมณทูตจากสยามไปฟื้นฟูสมณวงศ์ในศรีลังกา
           คณะพระธรรมทูตจากสยามในยุคนั้นนำโดยพระอุบาลีได้เดินทางไปศรีลังกาแล้วทำพิธีให้การอุปสมบทสามเณรสรณังกรและคณะเป็นพระภิกษุ พระอุบาลีฟื้นฟูสมณวงศ์ในศรีลังกาเป็นผลสำเร็จจนสามารถก่อตั้งคณะสงฆ์ที่เป็นนิกายใหญ่ที่สุดและทรงอิทธิพลที่สุดในศรีลังกาปัจจุบันมีชื่อว่าสยามนิกาย เพราะสืบเชื้อสายสมณวงศ์มาจากสยามหรือประเทศไทย
           หลังจากเกิดสยามนิกายขึ้นในศรีลังกาได้ประมาณ ๕๐ ปี ก็เกิดนิกายที่ ๒ ตามมาเรียกว่าอมรปุรนิกาย ซึ่งสืบเชื้อสายสมณวงศ์มาจากพม่า และมีนิกายที่ ๓ เกิดตามมาเป็นน้องสุดท้องเรียกว่ารามัญญนิกาย นิกายนี้สืบเชื้อสายสมณวงศ์มาจากมอญ
           คณะสงฆ์ศรีลังกาในปัจจุบันแบ่งออกเป็น ๓ นิกายหลักคือ สยามนิกาย อมรปุรนิกายและรามัญญนิกาย แต่ละนิกายต่างมีประมุขสงฆ์สูงสุดเรียกว่าพระมหานายกปกครองตนเองนิกายใครนิกายมัน
           ตำแหน่งพระมหานายกของศรีลังกานี้เทียบได้กับตำแหน่งสังฆนายกของไทยในสมัยที่ยังใช้ พ.ร.บ. คณะสงฆ์ ๒๔๘๔ ศรีลังกาเคยมีพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกเพียงรูปเดียวคือพระสรณังกรแห่งสยามนิกาย ผู้เป็นศิษย์รูปแรกของพระอุบาลี ภายหลังที่เกิดอมรปุรนิกายขึ้นมา ตำแหน่งพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกก็ถูกยกเลิกไป คงเหลือแต่ตำแหน่งพระมหานายกมาจนถึงปัจจุบัน
           ทุกวันนี้ สยามนิกายได้แบ่งออกเป็น ๒ นิกายย่อย ได้แก่ มัลวัตตะ (Malwatta) และ อัสคิริยะ (Asgiriya) และมีพระมหานายก ๒ รูป คือ พระมหานายกฝ่ายมัลวัตตะ และพระมหานายกฝ่าย อัสคิริยะ
           เนื่องจากคณะของเรามีกำหนดเข้ากราบคารวะพระมหานายกแห่งสยามนิกายทั้งสองรูปเรา จึงถือว่าการเดินทางครั้งนี้เป็นโอกาสดีที่คณะสงฆ์ลังกาวงศ์จากประเทศไทยไปเยือนคณะสงฆ์สยามนิกายในประเทศศรีลังกา

การต้อนรับแบบศรีลังกา
           คณะของเราได้เดินทางไปศรีลังกาโดยสายการบินมิหินแอร์ ซึ่งเป็นสายการบินเอกชนของศรีลังกา ใช้เวลาบินประมาณ ๓ ชั่วโมง เมื่อไปถึงสนามบินที่กรุงโคลัมโบแล้ว คณะของเราได้รับการต้อนรับจากทางคณะเจ้าภาพ คือ ท่านรัฐมนตรีดิเนศ คุณวัฒนะ พร้อมรัฐมนตรีท่านอื่น ๆ มีพระเถระที่สำคัญมาต้อนรับด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านผู้ประสานงานฝ่ายสงฆ์ คือท่านนันทะ (Akuratiye Nanda) แห่งสยามนิกาย ซึ่งมาคอยอำนวยความสะดวกตลอดการเดินทางครั้งนี้ เราได้ถ่ายภาพการต้อนรับที่สนามบินไว้เป็นที่ระลึก ปรากฏว่าภาพการต้อนรับคณะของเราได้รับการตีพิมพ์เป็นข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ศรีลังกาหลายฉบับ
           คณะเจ้าภาพได้พาคณะของเราเดินทางเข้ากรุงโคลัมโบเพื่อไปยังสถานทีเลี้ยงต้อนรับ คือร้านอาหารไทยชื่อสยามเฮาส์ ซึ่งเป็นที่ที่ฝ่ายคฤหัสถ์รับประทานอาหารค่ำและฝ่ายพระสงฆ์ฉันน้ำปานะ คุณสัจจพันธุ์ อัตถากรเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศศรีลังกาสั่งต้อนรับพวกเราด้วยขบวนแห่กลองยาวแบบศรีลังกา ซึ่งประโคมกันอึกทึกครึกโครมตั้งแต่ประตูทางเข้าปากซอยเพื่อประกาศว่าบุคคลสำคัญมาถึงแล้ว เมื่อคณะเข้าไปภายในอาคารแล้ว แขกผู้มีเกียรติส่วนใหญ่ช่วยกันจุดไส้เทียนซึ่งห้อยอยู่ที่เสาโลหะรูปหัวไก่ แขกสำคัญที่สุดในงานนี้คือประธานสภาผู้แทนราษฏร ชื่อว่า โลกุพันดร (W. J. M.-Lokubandara) ท่านผู้นี้เคยดำรงตำแหน่ง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพระพุทธศาสนาของศรีลังกา
           ศรีลังกาเป็นประเทศแรกในโลกที่กล้าประกาศตั้ง กระทรวงพระพุทธศาสนา (Ministry-of-Buddha-Sasana) แต่ศรีลังกาก็รักษากระทรวงนี้ได้ไม่นานเพราะหลังจากมีกระทรวงพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นแล้ว กระทรวงศาสนาฮินดู กระทรวงศาสนาอิสลาม และกระทรวงศาสนาคริสต์ก็เกิดตามมาในศรีลังกาตามคำเรียกร้องของศาสนาอื่น ชาวพุทธศรีลังกาไม่ต้องการให้ศาสนาอื่นมีกระทรวงด้วยจึงจำยอมให้ยุบรวมกระทรวงพระพุทธศาสนาเข้ากับกระทรวงของศาสนาอื่นๆจนเหลือกระทรวงเดียวในปัจจุบันเรียกว่า กระทรวงการศาสนา (Ministry for Religious Affairs)
           ท่านประธานสภาผู้แทนราษฏรผู้นี้เคยมาประชุมวิสาขบูชาโลกที่ประเทศไทยในสมัยที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพระพุทธศาสนาจึงคุ้นเคยกับอาตมาเป็นอย่างดี หลังจากทักทายสนทนาปราศัยกันแล้ว ท่านเอกอัครราชทูตไทยได้กล่าวต้อนรับคณะจากประเทศไทย ความตอนหนึ่งว่าคณะของเราเป็นสมณทูตและยุวทูตที่เดินตามรอยของพระอุบาลีเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับศรีลังกา ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรของศรีลังกาก็กล่าวต้อนรับด้วย จากนั้นอาตมาได้กล่าวอนุโมทนาขอบคุณและมอบของที่ระลึกให้แก่ท่านเอกอัครราชทูตไทยและแขกผู้มีเกียรติ

โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ศรีลังกา
           ในเช้าวันที่สองของการเดินทางซึ่งตรงกับวันที่ ๒๖ สิงหาคม คณะของเราได้รวมกับคนไทยอีกกลุ่มหนึ่งที่เดินทางล่วงหน้าไปก่อนแล้วทำให้จำนวนของสมาชิกคณะเราเพิ่มเป็น ๘๐ ท่านเต็มตามจำนวนพรรษาของ พวกเราทั้ง ๘๐ ชีวิตได้เดินทางร่วมกันไปตลอดเวลาที่อยู่ในศรีลังกา เนื่องจากวันนี้เป็นเช้าวันอาทิตย์ พวกเราจึงไปเยี่ยมชมโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ศรีวชิรญาณ ที่ดำเนินการโดยคณะสงฆ์อมรปุรนิกายการไปเยี่ยมชมกิจการโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ในศรีลังกา ครั้งนี้นับว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก สำหรับชาวมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยที่จะมีโอกาสเทียบเคียงดูว่าโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ที่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้เปิดสอนเป็นแห่งแรกในประเทศไทยเมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๑ โดยได้แบบอย่างไปจากศรีลังกานั้นยังจะมีอะไรที่เหมือนหรือต่างจากโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ในศรีลังกา
           โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ (Buddhist Sunday school) เปิดสอนเป็นครั้งแรกในศรีลังกาเมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๒๔ โดยการแนะนำของพันเอก เฮนรี ออลคอต (Henry S. Olcott) ซึ่งเป็นคนอเมริกันที่หันมานับถือพระพุทธศาสนาและมีบทบาทสำคัญยิ่งในการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในศรีลังกา ในยุคที่ตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษปัจจุบันชาวศรีลังกาเรียกโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ว่า Dhamma School หรือโรงเรียนธรรมะ
           เมื่อคณะของเราเดินทางถึงโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ศรีวชิรญาณก็พบว่าโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์แห่งนี้เป็นโรงเรียนใหญ่ที่สุดเพราะมีนักเรียนจำนวน ๖,๐๐๐ คน ตั้งแต่ชั้นประถมจนถึงชั้นมัธยมปลาย ทั้งครูและนักเรียนแต่งชุดขาวเหมือนกันทั้งโรงเรียน พวกเขาต้อนรับคณะของเราในห้องประชุมซึ่งจุนักเรียนได้ไม่หมด เพราะฉะนั้นคณะของเราจึงได้เห็นนักเรียนชั้นประถมเป็นส่วนใหญ่ที่กำลังสมาทานศีล สวดมนต์และเจริญจิตตภาวนานำโดยพระอาจารย์รูปหนึ่ง
           พระธรรมโกศาจารย์กล่าวธรรมกถาสั้น ๆ เป็นภาษอังกฤษแก่ที่ประชุม โดยตั้งข้อสังเกตว่า คณะของเราเดินทางตามรอยพระอุบาลีมากระชับสัมพันธไมตรีด้านพระศาสนากับชาวศรีลังกา ในสมัยพระอุบาลี ชาวไทยสนทนากับชาวศรีลังกาด้วยภาษาบาลี แต่ในสมัยนี้ พวกเราใช้ภาษาอังกฤษติดต่อกัน
           โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์แห่งนี้ตั้งมา ๓๖ ปีแล้ว มีครูประจำ ๒๕๐ รูป/คน มีเจ้าหน้าที่ ๑๕๐ คน ครูประจำการอยู่ 250 รูป/คน มีผู้ช่วยผู้สนับสนุนหรือว่าเจ้าหน้าที่อีก ๑๕๐ ครูประจำการเหล่านี่เรียนพุทธศาสนมีพระสงฆ์เพียง ๑๒ รูปเป็นครูประจำเพราะโรงเรียนกำหนดคุณวุฒิพระสงฆ์ที่จะเป็นครูสอนว่าต้องจบปริญญาโทขึ้นไป
           ครูแบ่งเป็นสามประเภทคือ ครูกิตติมศักดิ์ ครูประจำและครูช่วยสอน คณะครูส่วนใหญ่เป็นคฤหัสถ์ที่อาสาสมัครมาทำหน้าที่ มีทั้งข้าราชการครูบำนาญ อาจารย์มหาวิทยาลัย ผู้บริหารสถานศึกษา ต่างคนต่างมีศรัทธามาร่วมกันสอน ครูที่อาสาเข้ามาสอนต้องผ่านการคัดเลือกอย่างพิถีพิถัน คุณสมบัติที่สำคัญคือต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ด้านพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดี
           ในศรีลังกา ครูประจำการที่จะสอนวิชาพระพุทธศาสนาในโรงเรียนทั่วไปได้นั้นต้องจบปริญญาสาขาพระพุทธศาสนาหรือไม่ก็ต้องสอบได้ประกาศนียบัตรชั้นธรรมาจริยะ
           ทุกปี ศรีลังกาจะจัดให้มีการสอบเทียบความรู้ด้านพระพุทธ- ศาสนาในระดับชาติเรียกว่า Dhamma Exam ซึ่งพอเทียบได้กับการสอบธรรมศึกษาบ้านเรา เยาวชนศรีลังกาจะพยายามสอบผ่านธรรมศึกษานี้ก่อนจบชั้นมัธยมปลาย แต่ละปีมีเยาวชนศรีลังกาเข้าสอบธรรมศึกษานี้ประมาณ ๓ ล้านคน
           เมื่อสอบได้ธรรมศึกษาแล้ว เยาวชนศรีลังกาสามารถเรียนเรื่องการสอนพระพุทธศาสนาเพื่อสมัครสอบในระดับชาติในชั้นที่สูงขึ้นไป ใครที่สอบผ่านระดับนี้จะได้ประกาศนียบัตรธรรมาจริยะ ซึ่งเป็นใบรับรองว่าเขาสามารถเป็นครูสอนวิชาพระพุทธศาสนาในโรงเรียนใดก็ได้ ประกาศนียบัตรธรรมาจริยะเป็นเหมือนใบอนุญาต (Licence) สำหรับครูผู้ต้องการสอนวิชาพระพุทธศาสนา
           ถ้าโรงเรียนในประเทศไทยกำหนดมาตรฐานให้ครูสอนวิชาพระพุทธศาสนาในโรงเรียนต้องจบปริญญาสาขาพระพุทธศาสนาหรือสอบได้ธรรมศึกษาชั้นเอกเป็นอย่างน้อย การเรียนวิชาพระพุทธศาสนาก็จะไม่เป็นยาขมหม้อใหญ่ของเด็กไทยอีกต่อไป
           โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ศรีวชิรญาณประสบความ สำเร็จเป็นอย่างดีเพราะพิถีพิถันในการเลือกครูประจำที่ต้องจบปริญญาสาขาพระพุทธศาสนาหรือสอบได้ประกาศนียบัตรชั้น ธรรมาจริยะ
           นอกจากนี้ โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ศรีวชิรญาณยังได้กำหนดวัตถุประสงค์ในการจัดการศึกษาไว้ ๕ ข้อซึ่งง่ายต่อการประเมินผล ดังนี้
           ข้อที่ ๑ ส่งเสริมให้เด็กทุกคนรักษาเบญจศีลหรือศีล ๕ ในชีวิต ประจำวัน และรักษาศีล ๘ ในวันอุโบสถ
           ข้อที่ ๒ อบรมเด็กให้เคารพพระสงฆ์ และกตัญญูต่อบิดามารดา
           ข้อที่ ๓ ฝึกหัดเด็กให้กินอยู่อย่างเรียบง่ายแบบวิถีพุทธ
           ข้อที่ ๔ สอนให้เด็กมีระเบียบวินัยและใฝ่เรียนธรรมะ
           ข้อที่ ๕ สอนให้เด็กมีศรัทธาในพระพุทธศาสนารักชาติและภาษาของตน
           โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์และโรงเรียนวิถีพุทธในประเทศไทยน่าจะทดลองนำวัตถุประสงค์ทั้ง ๕ ข้อนี้ไปปรับใช้ดูบ้าง
           เมื่อคณะของเราได้ร่วมพิธีไหว้พระสวดมนต์ของเด็กจบลงแล้ว ทางโรงเรียนแบ่งพวกเราออกเป็น ๓ กลุ่มเพื่อแยกกันดูงานกันคนละจุด คือกลุ่มที่ ๑ ดูเรื่องการบริหารจัดการ กลุ่มที่ ๒ ดูเรื่องการจัดการเรียนการสอน กลุ่มที่ ๓ ดูเรื่องการบริการสังคมของโรงเรียน เมื่อแยกย้ายกันดูงานเสร็จแล้วให้ทุกกลุ่มกลับไปประชุมร่วมกันเพื่อฟังการสรุปผลของแต่ละกลุ่ม
           เมื่อแต่ละกลุ่มไปดูการเรียนการสอนในห้องเรียนก็ได้เห็นว่า ห้องเรียนไม่ได้แบ่งเป็นห้องแบบมีผนังกั้น เด็กอยู่รวมกันในห้องโถงใหญ่ มีครูรับผิดชอบแบ่งกลุ่มกันสอนในชั้นต้น ชั้นกลาง ชั้นปลาย และชั้นสูง มีการแบ่งเด็กเป็นกลุ่มย่อยๆ ครูแต่ละคนก็รับผิดชอบสอนเด็กประมาณ ๑๐-๑๕ คน แต่ละกลุ่มเรียนอยู่ใกล้กัน เด็กสนใจเรียนโดยไม่รบกวนกันและมีสมาธิในการเรียนอย่างน่าศรัทธา แสดงว่าเขาฝึกเด็กให้มีระเบียบวินัยเป็นอย่างดี
           นอกจากนี้ ผู้บริหารโรงเรียนบอกว่า มีการประเมินพฤติกรรมการเรียนของเด็กแต่ละคนทุกภาคการศึกษา โดยครูจะต้องกรอกแบบสอบถามเกี่ยวกับพฤติกรรมของนักเรียนทุกคน ตั้งแต่เริ่มเข้าโรงเรียนว่าเด็กมีเจตคติอย่างไร มีศรัทธาในพระศาสนามากแค่ไหน และมีพฤติกรรมเป็นอย่างไร ครูต้องบันทึกโดยละเอียด จากนั้นฝ่ายวิจัยก็จะนำข้อมูลเหล่านี้ไป บันทึกเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ โรงเรียนสามารถตรวจสอบย้อนหลังไปว่าตลอดเวลา ๕ ปีที่ผ่านมา เด็กแต่ละคนมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง จากนั้นจะได้นำผลการวิจัยไปปรับปรุงหลักสูตรและการเรียนการสอน
           โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ศรีวชิรญาณประสบความ สำเร็จเพราะไม่ได้สักแต่ว่าสอนเพียงอย่างเดียว โรงเรียนยังมีงาน วิจัย เพื่อการพัฒนาที่เรียกว่า Research and Development คือ ทำวิจัยเพื่อพัฒนาหลักสูตรและปรับปรุงกระบวนการเรียนการสอน
           ตรงนี้ทำให้นึกถึงว่าถ้าหาก พระสงฆ์ไทยทำการวิจัยผู้ฟังเทศน์ ว่าฟังแล้วได้ผลเป็นอย่างไรแล้วนำผลการวิจัยปรับปรุงการเทศน์ การเทศน์น่าจะดีขึ้นมาก
           นอกจากนี้สิ่งที่น่าสนใจก็คือ คณะครูโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ศรีวชิรญาณแบ่งเป็นกลุ่มย่อย แต่ละกลุ่มมีการประชุมประจำเดือน ใครเกิดวันไหนก็เชิญเพื่อนครูไปเลี้ยงวันนั้นแล้วจัดประชุมประจำเดือนไปในตัวมีการนิมนต์พระสงฆ์มาเทศน์สอนธรรมะ ครูทุกคนต้องท่องบทสวดมนต์ได้
           เมื่อถามว่า ทำไมโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ศรีวชิรญาณจึงเป็นที่นิยมของเด็กจำนวนมากก็ได้รับคำตอบว่า ประการแรกเพราะโรงเรียนจัดการเรียนการสอนดีมีคุณภาพ ประการที่สองเพราะผู้ปกครองมีศรัทธาต่อพระสงฆ์วัดนี้จึงพาลูกหลานมาเข้าเรียนในโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์
           เมื่อถึงวันพระ ๑๕ ค่ำ ซึ่งเป็นวันหยุดราชการของศรีลังกา คนศรีลังกาจะไปถือศีลอุโบสถที่วัด เฉพาะที่วัดศรีวชิรญาณนี้มีคนมาถือศีลอุโบสถประจำทุกวันพระ ๑๕ ค่ำประมาณ ๑๒,๐๐๐ คน คนเหล่านี้มีศรัทธาในเจ้าอาวาสและคณะสงฆ์จึงส่งลูกหลานมาเรียนในโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ศรีวชิรญาณ
           คณะสงฆ์ศรีลังกาถือเป็นภาระสำคัญร่วมกันที่จะต้องนำเยาวชนเข้ามาศึกษาพุทธธรรมด้วยวิธีการหลากหลาย เช่น โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ การจัดสอบธรรมศึกษาระดับชาติ วิธีการเหล่านี้ช่วยปลูกฝังความศรัทธาที่มั่นคงในพระพุทธศาสนาแต่เยาว์วัยให้กับชาวศรีลังกา จึงไม่แปลกที่ชาวศรีลังกาทุกวันนี้รักและหวงแหนพระพุทธศาสนายิ่งชีวิต ศรีลังกาสามารถรักษาสืบทอดพระพุทธ ศาสนามาได้จนบัดนี้ แม้ประเทศนี้จะเคยอยู่ภายใต้การปกครองของชาวต่างชาติต่างศาสนามานานหลายร้อยปีก็ตาม
           คณะสงฆ์ไทยควรจะศึกษาบทเรียนจากศรีลังกาและหันมาเร่งรักษาสืบทอดพระพุทธศาสนาด้วยการปลูกฝังศรัทธาให้กับเยาวชนผ่านโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ การสอนพระพุทธศาสนาในโรงเรียนและการจัดกิจกรรมอื่นๆ ก่อนที่จะสายเกินไป

สรรโวทัยใช้พุทธธรรมนำการพัฒนา
           หลังจากจบการเยี่ยมชมโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ศรีวชิรญาณแล้ว คณะของเราได้ไปเยี่ยมชมกิจการของสรรโวทัย สำนักสรรโวทัยนี้เป็นขบวนการพัฒนาหมู่บ้านแบบครบวงจรซึ่งมีเครือข่ายโยงใยทุกหมู่บ้านจำนวน ๑๖,๐๐๐ แห่งทั่วศรีลังกา นับเป็นองค์กรเอกชนด้านการพัฒนาที่ใหญ่ที่สุดในศรีลังกา สรรโวทัยนี้ตั้งมาได้ ๔๙ ปีแล้ว
           ประธานใหญ่ของสรรโวทัย ชื่อว่า อริยรัตนะ (A.T. Ariyaratne) คอยต้อนรับและบรรยายสรุปให้พวกเราฟัง ท่านอริยรัตนะนี้ได้รางวัลแมกไซไซ ด้านการพัฒนาชุมชนเนื่องจากผลงานที่สรรโวทัย จึงเป็นบุคคลที่มีค่ายิ่งของศรีลังกา เพราะเขาพาคนทั่วประเทศพัฒนาหมู่บ้าน สรรโวทัยมีสมาชิกที่เป็นอาสาสมัครกว่า ๑๐๐,๐๐๐ คนกระจายอยู่ทั่วประเทศ แม้กระทั่งในภาคเหนือสุดของศรีลังกาที่รัฐบาลกำลังรบกับทมิฬ เจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐบาลเข้าไปไม่ได้ แต่อาสาสมัครของสรรโวทัยเข้าไปได้
           นายอริยรัตนะบรรยายสรุปว่าเขาได้แนวคิดเรื่องสรรโวทัยมาจากมหาตมะคานธี คำว่า สรรโวทัย มาจากคำว่า “สรรพ” ที่แปลว่าทั้งปวง กับคำว่า “อุทัย” ที่แปลว่า การตื่นขึ้น ดังนั้นคำว่าสรรโวทัยจึงหมายถึงการตื่นขึ้นจากอวิชชาและความหลุดพ้นจากความทุกข์ความยากจนของคนศรีลังกาทั้งหมด ถ้าเทียบกับแนวคิดการพัฒนาชนบทไทยน่าจะหมายถึงการที่หมู่บ้านไทยหลุดพ้นจากความโง่ ความจน และความเจ็บเป้าหมายของสรรโวทัยมี ๓ ประการคือ
           (๑) ปลุกจิตสำนึกของประชาชนด้วยการใช้ธรรมะในพระพุทธศาสนา
           (๒) แนะนำให้ประชาชนใช้ระบบเศรษฐกิจพอเพียงแบบพึ่งตนเอง
           (๓) ส่งเสริมให้หมู่บ้านดำเนินการปกครองตนเอง(Gram Swaraj) ด้วยระบอบธรรมาภิบาล
           ในการดำเนินการตามเป้าหมายข้อที่ ๑ สรรโวทัยเน้นหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ๒ หัวข้อ คือพรหมวิหาร ๔ และสังคหวัตถุ ๔ ตามหลักพรหมวิหาร ๔ นั้น ประชาชนต้องยึดหลักเมตตาคือมีความรักความปรารถนาดีต่อทุกคน มีกรุณาคือความสงสารคิดช่วยเหลือชาวบ้านด้วยกันให้พ้นทุกข์ มีมุทิตาคือพลอยยินดีเมื่อพัฒนาหมู่บ้านให้เจริญก้าวหน้า และมีอุเบกขาคือมีใจเป็นกลาง ไม่ทะเลาะกันเพราะความแตกต่างทางเชื้อชาติศาสนา ไม่ถือเขาถือเรา แม้แต่คนในศาสนาอื่นสรรโวทัยก็ให้เข้ามาร่วมงานได้
           ชาวบ้านของสรรโวทัยต้องมีสังคหวัตถุ ๔ คือ
           (๑) ทาน คือการให้ ต้องเป็นผู้ที่ให้ด้วยความรู้สึกเป็นสุข คนมีต้องช่วยเหลือคนจน
           (๒) ปิยวาจา คือพูดจากันไพเราะอ่อนหวาน ประสานสามัคคี
           (๓) อัตถจริยา คือบำเพ็ญประโยชน์ต่อชุมชน อาสาสมัครสรรโวทัยที่ไม่มีเงินก็สามารถใช้กำลังกายและกำลังปัญญาให้บริการแก่ชุมชนได้
           (๔) สมานัตตตา คือวางตนพอดีใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย มุ่งความรักความสมานฉันท์ของชุมชนเป็นหลัก
           ปรากฏว่ามีคนจำนวนมากมาร่วมขบวนการสรรโวทัยพัฒนาหมู่บ้าน สรรโวทัยจัดโครงการนั่งสมาธิและเดินเพื่อสันติภาพ มีคนมาร่วมเดินกันหลายแสนคน สรรโวทัย พยายามสร้างสันติภาพขึ้นมาโดยที่ไม่ต้องไปพึ่งระบบราชการ เวลาเกิดสึนามิขึ้นมา ถ้าต่างประเทศอยากจะส่งเงินช่วยเหลือให้ถึงชาวบ้านศรีลังกา พวกเขาจะส่งผ่านองค์กรสรรโวทัย เพราะมีสมาชิกอยู่ทั่วประเทศศรีลังกา ประเทศไทยยังไม่มีองค์กรเอกชนที่ทำงาน เพื่อพัฒนาชนบทที่กว้างขวางอย่างนี้
           นายอริยรัตนะเป็นคนที่ทุ่มเทจริงจัง เพื่อสรรโวทัย แม้เขาจะมีฐานอำนาจ คือ ชาวบ้านในชนบททั่วประเทศ เขาก็ไม่คิดแสวงหาอำนาจ คือ ไม่ผันตัวเองไปเล่นการเมือง เขาไม่ฉกฉวยโอกาสที่ชาวบ้านมีศรัทธาต่อเขาเอาไปเล่นการเมือง เมื่อถามเขาว่าทำไม ไม่คิดจะแสวงหาอำนาจทางการเมือง เหมือนอย่างนักพัฒนาของไทยบางคน ที่พอมีชื่อเสียงขึ้นมาก็หันไปเล่นการเมือง จนลืมการพัฒนาไปเลย เขาตอบว่าเมื่อแรกตั้งสรรโวทัย เขาก็ถูกระแวงว่าจะแสวงหาอำนาจ แต่ตอนหลังนี้คนส่วนมากรู้แล้วว่าเขาไม่ได้คิดจะไปแก่งแย่งอำนาจกับใคร ทุกฝ่ายจึงยินดีสนับสนุนสรรโวทัย
           เมื่อถามว่าทำไมจึงไม่คิดแสวงหาอำนาจ นายอริยรัตนะตอบว่า พระพุทธเจ้าตรัสไว้ไม่ใช่หรือว่า ปฐัพยา เอกรัชเชน ซึ่งแปลว่าการเป็นพระโสดาบันดีกว่าการได้ครองราชย์ในปฐพี นายอริยรัตนะกล่าวว่าการเป็นประธานาธิบดีไม่ได้ให้ความสุขใจเท่ากับการได้ช่วยคนยากจนในนามของสรรโวทัย เข้าพบนายกรัฐมนตรีศรีลังกา
           หลังจากได้พบประธานของสรรโวทัยแล้วคณะของเราได้เดินทางไปเข้าพบกับผู้นำทางการเมืองคือนายกรัฐมนตรีของประเทศศรีลังกา ชื่อว่า รัตนศิริ วิกรมนายก ที่ทำเนียบรัฐบาล ท่านนายกรัฐมนตรีมาคอยต้อนรับพวกเราถึงบันไดชั้นล่างทีเดียว ท่านพาพวกเราขึ้นไปยังห้องประชุม ท่านยังยืนรอให้พระสงฆ์นั่งให้เรียบร้อยเสียก่อนจึงค่อยนั่งลง จากนั้นได้กล่าวต้อนรับพวกเราด้วยอัธยาศัยอันดี พวกเรารู้สึกประทับใจที่เห็นผู้นำรัฐบาลศรีลังกาแสดงความเคารพพระสงฆ์ด้วยการยืนต้อนรับและประเคนน้ำปานะเหมือนอุบาสกธรรมดาคนหนึ่ง
           นี่ก็เป็นประเพณีปฏิบัติของนักการเมืองของศรีลังกาที่ทำตัวเหมือนอุบาสกทั่วไปพวกเขาฝึกกันมาอย่างนั้น พระธรรมโกศาจารย์ได้กล่าวตอบให้กำลังใจแก่นายกรัฐมนตรีว่า พวกเราปรารถนาจะเห็นดินแดนศรีลังกามีสันติภาพ เพราะความเจริญรุ่งเรืองของศรีลังกา ซึ่งเป็นประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาก็หมายถึงความเจริญรุ่งเรืองของประเทศไทยด้วย เพราะเราต่างเป็นชาวพุทธด้วยกันที่ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ชาวไทยปรารถนาจะเห็นสันติภาพเกิดขึ้น ในศรีลังกาพวกเรา ที่มาเยี่ยมเยียนประเทศศรีลังกาขอตั้งจิตอธิษฐานให้เกิดสันติสุขในเมืองพุทธแห่งนี้โดยเร็ว
           ที่กล่าวเช่นนี้เพื่อเป็นการแสดงความเห็นใจฉันท์มิตรและให้กำลังใจแก่ท่านนายกรัฐมนตรีว่าพวกเราชาวต่างประเทศต่างมีความห่วงใยและปรารถนาจะเห็นสันติภาพในศรีลังกา
           ท่านนายกรัฐมนตรีได้ถวายของที่ระลึกแก่พระสงฆ์และมอบของที่ระลึกแก่คฤหัสถ์ คณะของเราก็ได้มอบของที่ระลึกแก่ท่านนายกรัฐมนตรี การพบกันครั้งนี้จบลงด้วยความประทับใจอันเป็น การสานต่อความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างไทยกับศรีลังกาวัดไทยในศรีลังกา
           จากนั้นคณะของเราได้เดินทางไปเยี่ยมชมวัดทีปทุตตมาราม เมื่อไปถึงที่วัดนี้พวกเรารู้สึกประหลาดใจที่ท่านรัฐมนตรีดิเนศ คุณวัฒนะ ได้ไปรอต้อนรับเราอีก คือ ท่านอยู่ร่วมกับพวกเราที่ทำเนียบรัฐบาลแล้วก็ไปรอต้อนรับที่วัดนั้น เจ้าอาวาสของวัดก็มารอต้อนรับพวกเรา มีขบวนแห่ต้อนรับพวกเราตั้งแต่หน้าวัด ตามประเพณีศรีลังกาที่ว่าเมื่อแขกบ้านแขกเมืองมาถึงต้องมีขบวนแห่ต้อนรับทุกครั้งไป
           เมื่อขบวนแห่นำพวกเราไปถึงบริเวณหน้าพระเจดีย์ พระนักศึกษาไทยที่พำนักอยู่ที่วัดนี้ทำหน้าที่กล่าวต้อนรับแทนเจ้าอาวาส โดยแนะนำประวัติของวัดว่าวัดทีปทุตตมารามนี้ถือกันว่าเป็นวัดไทยประจำกรุงโคลัมโบ เพราะมีพระไทยไปเป็นเจ้าอาวาสอยู่ในช่วง พ.ศ. ๒๔๔๗-๒๔๕๔ พระไทยรูปนี้คือพระองค์เจ้าปฤษฏางค์ที่ไปอุปสมบทในศรีลังกาและได้รับฉายาในพระพุทธศาสนาว่า พระชินวรวงศ์
           ขณะเป็นเจ้าอาวาสที่วัดนี้ พระชินวรวงศ์ได้สร้างเจดีย์ทรงผสมระหว่างไทย ศรีลังกาและพม่า ที่มีความงดงามแปลกตา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๘ เคยเสด็จมาปลูกต้นไม้เป็นที่ระลึกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันเคยเสด็จไปที่วัดนี้สองครั้ง ครั้งล่าสุดเมื่อปี ๒๔๙๓ ดังมีหลักฐานคือการปลูกต้นจันทน์ไว้ ทางวัดได้บำรุงรักษาต้นไม้เป็นอย่างดี เราต้องชมวัดวาอารามในศรีลังกาที่เก็บบันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ไว้หมด บางวัดเก็บของมีค่าทางประวัติศาสตร์ไว้เป็นพันปีแม้แต่หลักฐานสำคัญๆ ก็บันทึกเก็บไว้หมด ดังที่เราจะได้เห็นในโอกาสต่อไป
           บริเวณที่ติดกับวัดเป็นที่ตั้งของโรงเรียนเรียกว่า Prince College หรือ ราชวิทยาลัย ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อให้เด็กได้เรียนหนังสือตามความประสงค์ของท่านพระชินวรวงศ์ หรือพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ วิทยาลัยนี้สร้างเป็นที่ระลึกในนามของท่าน สมัยก่อนมีนักเรียนประมาณ ๒,๐๐๐ คน เดี๋ยวนี้เหลือ ๔๐๐ คนเนื่องจากมีการอพยพของชุมชนไปอยู่ในที่ ที่ห่างไกลออกไป ทางวิทยาลัยได้ทำพิธีต้อนรับคณะของเราด้วยการแสดงทางวัฒนธรรมของนักเรียน ซึ่งน่าชมน่าศึกษาทีเดียว
           เมื่อร้อยกว่าปีมาแล้ว วัดทีปทุตตมารามนี้เป็นที่พำนักของพระนักโต้วาทีที่ยิ่งใหญ่ของศรีลังกาชื่อว่าคุณานันทะ ท่านได้โต้วาทีกับผู้นำศาสนาคริสต์หลายครั้งจนได้ชัยชนะอย่างงดงาม การโต้วาทีของท่านได้รับการรายงานในหนังสือพิมพ์ต่างประเทศซึ่งทำให้นายเฮนรี ออลคอต ชาวอเมริกันสนใจมากจนถึงกับเดินทางมาศึกษาพระพุทธศาสนาในศรีลังกา และได้ส่งเสริมการตั้งโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ดังกล่าวมาแล้ว พระศรีลังกานับเป็นพระนักสู้เพื่อพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ดังที่ท่านคุณานันทะได้โต้วาทีเพื่อปกป้องคุ้มครองพระพุทธศาสนา

พิธีแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ
           จากนั้นคณะของเราก็ไปร่วมงานเลี้ยงรับรองของเจ้าภาพคือท่านรัฐมนตรีดิเนศ คุณวัฒนะ และมีการแถลงข่าวอีกด้วย พระธรรมโกศาจารย์ได้กล่าวในการแถลงข่าวเป็นภาษาอังกฤษว่าศรีลังกาเป็นดินแดนที่รักษาพระพุทธศาสนาสืบทอดมาเป็นเวลากว่า ๒,๐๐๐ ปี เพราะฉะนั้นถ้าใครต้องการจะศึกษาพัฒนาการของพระพุทธศาสนาเถรวาทในประวัติศาสตร์ที่ยาวนานต้องมาเยือนประเทศศรีลังกา ในสมัยสุโขทัยประเทศไทยได้รับพระพุทธศาสนาจากศรีลังกา ทุกวันนี้พระพุทธศาสนาในประเทศไทยเป็นที่รู้จักกันในนามว่าลังกาวงศ์
           ส่วนไทยก็ได้ตอบแทนคุณศรีลังกาด้วยการส่งพระอุบาลีจากประเทศไทยมาฟื้นฟู สมณวงศ์เมื่อ ๒๕๓ ปีมาแล้ว ดังที่มีการเรียกคณะสงฆ์นิกายใหญ่ที่สุดในศรีลังกาปัจจุบันว่า สยามนิกาย
           นอกจากนี้ประเทศศรีลังกาก็เป็นประเทศแนวหน้าที่รณรงค์ให้สหประชาชาติยอมรับความสำคัญของวันวิสาขบูชา ดังที่ชาวโลกได้มาฉลองวิสาขบูชาโลกที่สหประชาชาติที่เมืองไทย ๓ ปีที่ผ่านมา คำว่าวิสาขบูชา เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า vesak ทั้งๆ ที่ ประเทศไทยเรียกว่า วิสาขะ การสะกดในภาษาอังกฤษว่า vesak นั้นเป็นการสะกดแบบศรีลังกา ตราบใดที่ยังมีการฉลอง The Day of Vesak หรือวันวิสาขบูชาโลก ตราบนั้นชาวพุทธทั่วโลกก็จะนึกถึงบทบาทของศรีลังกาในการรณรงค์ให้สหประชาชาติยอมรับความสำคัญของวันนี้ นี่คือสาระสำคัญในการแถลงข่าวของ พระธรรมโกศาจารย์

เหตุที่สมณวงศ์ขาดหายในศรีลังกา
           ในวันที่ ๒๗ สิงหาคมซึ่งเป็นวันที่ ๓ ในศรีลังกา คณะของเราได้ออกเดินทางแต่เช้าออกจากกรุงโคลัมโบเพื่อไปเมืองแคนดี(Kandy) ระยะทางเพียง ๑๒๐ กิโลเมตร แต่ใช้เวลาเดินทางกว่าสองชั่วโมงเพราะรถต้องแล่นขึ้นเขาไปเรื่อยๆ เมืองแคนดีตั้งอยู่ใจกลางเกาะลังกา และมีภูเขาล้อมรอบจึงเป็นชัยภูมิที่ดีที่ใช้เป็นที่ตั้งเมืองหลวงของราชอาณาจักรสุดท้ายก่อนที่ศรีลังกาจะตกเป็นมืองขึ้นของอังกฤษ เมืองแคนดีสมัยโบราณมีชื่อว่าศรีวัฒนบุรี ในสมัยที่ศรีวัฒนบุรีเป็นเมืองหลวงนี้แหละที่พระอุบาลีจากกรุงศรีอยุธยาเดินทางมาฟื้นฟูสมณวงศ์ที่ศรีลังกาถึงตรงนี้คงต้องเล่าประวัติศาสตร์ศรีลังกากันนิดหน่อยว่าทำไมพระพุทธศาสนาในศรีลังกายุคนั้นจึงเสื่อมโทรมมากจนต้องหันมาพึ่งฝีมือพระธรรมทูตไทยจากกรุงศรีอยุธยาโปรตุเกสเป็นประเทศแรกที่แล่นเรือมาถึงเกาะลังกาเมื่อ พ.ศ. ๒๐๔๘ ในช่วงแรกก็เพียงแต่ตั้งสถานีการค้าอยู่ที่กรุงโคลัมโบ ต่อมาในสมัยที่พระเจ้า ภูวเนกพาหุที่ ๗ เป็นกษัตริย์ศรีลังกาตั้งเมืองหลวงอยู่ที่เมืองไชยวัฒนบุรีใกล้กรุงโคลัมโบ พระอนุชาทั้ง ๒ ของพระองค์ได้แยกตัวเป็นอิสระปกครองเมืองอีก ๒ แห่งโดยไม่ขึ้นต่อกันทำให้ศรีลังกาสมัยนั้นแตกออกเป็น ๓ ก๊กทั้งๆที่มีโปรตุเกสจ้องตะครุบอยู่
           พระเจ้าภูวเนกพาหุที่ ๗ เปิดฉากสงครามกับพระอนุชาของพระองค์ที่ชื่อว่ามายาทุนไนย เมื่อฝ่ายตนเพลี่ยงพล้ำ พระเจ้าภูวเนกพาหุที่ ๗ ได้ชวนโปรตุเกสมาช่วยรบซึ่งเป็นการชักศึกเข้าบ้านโดยแท้ เมื่อพระเจ้าภูวเนกพาหุที่ ๗ สวรรคต กษัตริย์องค์ต่อมาพระนามว่า พระเจ้าธรรมปาละ ครองราชย์ใน พ.ศ. ๒๐๘๕ ยิ่งตกอยู่ใต้อิทธิพลของโปรตุเกส และในที่สุดพระองค์ก็เปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ อาณาจักรไชยวัฒนบุรี ก็ตกเป็นของโปรตุเกส
           เมื่อดินแดนรอบนอกของเกาะลังกาตกเป็นอาณานิคมของโปรตุเกสหมดแล้ว พระเจ้าวิมลธรรมสุริยะที่ ๑ ได้ตั้งตัวเป็นกษัตริย์ศรีลังกาครองเมืองศรีวัฒนบุรีหรือเมืองแคนดีเมื่อ พ.ศ. ๒๑๓๕ โปรตุเกสไม่ สามารถตีเมืองแคนดีได้เพราะมีภูเขาเป็นกำแพงล้อมรอบอย่างดี
           ในยุคที่แคนดีเป็นเมืองหลวงของศรีลังกานี่แหละที่คณะสงฆ์สูญสิ้นไปจากศรีลังกาจนกษัตริย์ศรีลังกาต้องส่งราชทูตไปกรุงศรีอยุธยาเพื่ออาราธนาพระอุบาลีไปฟื้นฟูสมณวงศ์ที่ศรีลังกา
           เหตุที่พระพุทธศาสนาเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็วในศรีลังกา ยุคนั้นก็เพราะโปรตุเกสยึดถือนโยบายเผยแผ่ศาสนาคริสต์อย่างจริงจัง ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันอังกฤษและสเปนไม่ให้เข้ามาแข่งขันกับโปรตุเกสในเอเชียใต้ โดยโปรตุเกสได้รับอนุญาตจากพระสันตปาปาที่กรุงโรมให้มีสิทธิในการเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในเอเชียใต้แต่เพียงผู้เดียว ดังนั้นโปรตุเกสจึงต้องเร่งแสดงผลงานให้พระสันตปาปาเห็นด้วยการชักชวนพระเจ้าธรรมปาละไปเข้ารีตศาสนาคริสต์ดังกล่าวมาแล้ว หลังจากนั้นโปรตุเกส ก็โหมเผยแผ่ศาสนาคริสต์แก่ชาวศรีลังกาในดินแดนที่ตนยึดครองเป็นเหตุให้คณะสงฆ์ในเขตนี้สูญสิ้นไป
           ในอาณาจักรแคนดี้นั้นเล่าสถานการณ์ ก็ย่ำแย่สำหรับพระพุทธศาสนาสงครามที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง กับโปรตุเกสทำให้มีคนบวชพระน้อยลงประกอบกับพระเจ้าราชสิงหะแห่งแคนดี้หันไปนับถือศาสนาฮินดูแล้ว ทำลายพระพุทธศาสนาจนกระทั่งต่อมาในสมัยที่พระเจ้าวิมลธรรมสุริยะที่ ๒ ขึ้นครองราชย์ในพ.ศ. ๒๒๒๘ พระพุทธ ศาสนาได้เสื่อมโทรมหนักจนกระทั่งไม่มีพระสงฆ์เหลืออยู่ในศรีลังกา แม้กษัตริย์ศรีลังกาองค์ต่อมาจะได้ส่งราชทูตไปนิมนต์พระสงฆ์จากเมืองยะไข่มาฟื้นฟูสมณวงศ์ที่ศรีลังกา สถานการณ์พระพุทธศาสนาก็ไม่กระเตื้องขึ้นแต่อย่างใด จนกระทั่งสมัยที่พระเจ้าศรีวิชัยราชสิงหะขึ้นครองราชย์ในพ.ศ. ๒๒๘๒ ทั้งเกาะลังกาหาพระสงฆ์ไม่ได้คงมีแต่คณะสามเณรที่มีหัวหน้าชื่อสามเณรสรณังกร
           สามเณรสรณังกรรูปนี้แหละที่เป็นผู้ถวายพระพรพระเจ้าศรีวิชัยราชสิงหะให้ส่งราชทูตไปนิมนต์พระสงฆ์ไทยไปฟื้นฟูสมณวงศ์ในศรีลังกา เราจะกลับมาพูดถึงสามเณรรูปนี้เมื่อคณะของเราเดินทางถึงวัดสุริยโกฎที่สามเณรเคยอยู่พำนักเป็นเวลานาน

บูชาพระธาตุเขี้ยวแก้ว
           สถานที่แห่งแรกที่คณะของเราเดินทางไปเยี่ยมชมในเมืองแคนดีคือวัดพระธาตุเขี้ยวแก้วซึ่งเป็นวัดสำคัญที่สุดในศรีลังกา คณะของเราทั้งฝ่ายบรรพชิตและฝ่ายคฤหัสถ์ได้ทยอยกันไปมนัสการสักการะพระธาตุเขี้ยวแก้วแล้วเกิดความปลื้มปีติเหมือนกับได้เข้าเฝ้าเฉพาะพระพักตร์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทีเดียว
           พระธาตุเขี้ยวแก้วองค์นี้ถือว่าเป็นสิ่งสักการะบูชาสูงสุดของชาวศรีลังกาถึงขนาดที่ว่าเจ้าชายองค์ใดของศรีลังกาสมัยโบราณได้ครอบครองพระธาตุเขี้ยวแก้ว เจ้าชายองค์นั้นก็จะได้ให้เป็นกษัตริย์ของศรีลังกาทั้งประเทศทีเดียว แม้ในปัจจุบันนี้ พระธาตุเขี้ยวแก้วก็เป็นศูนย์รวมใจของชาวพุทธศรีลังกาทั้งประเทศ
           พระธาตุเขี้ยวแก้ว(พระทาฐธาตุ)คือพระธาตุส่วนที่เป็นเขี้ยวของพระพุทธเจ้ามีทั้งหมด ๔ องค์ มหาปริพพานสูตรระบุที่ประดิษฐานของพระธาตุเขี้ยวแก้วทั้ง ๔ องค์ไว้ว่า องค์หนึ่งประดิษฐานอยู่ที่พระเจดีย์จุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ องค์หนึ่งประดิษฐานอยู่ที่พิภพพญานาค องค์หนึ่งประดิษฐานอยู่ที่แคว้น คันธาระ องค์หนึ่งประดิษฐานอยู่ที่แคว้นกาลิงคะ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดีย
           สรุปว่า พระธาตุเขี้ยวแก้วในโลกมนุษย์มีเพียง ๒ องค์ องค์หนึ่งเคยอยู่ที่แคว้นคันธาระและปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัด หลิงกวง กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน อีกองค์หนึ่งเคยอยู่ที่แคว้นกาลิงคะและปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดพระธาตุเขี้ยวแก้ว เมืองแคนดี้ ประเทศศรีลังกา
           คัมภีร์ดาลดาวงศ์ของศรีลังการะบุว่า ในรัชสมัยของพระเจ้าคุหสีวะ แคว้นกาลิงคะเกิดศึกสงคราม ก่อนออกรบ พระเจ้าคุหสีวะตรัสสั่งพระราชธิดาพระนามว่าเหมมาลาว่าถ้าพระองค์สวรรคตในสนามรบให้นำ พระธาตุเขี้ยวแก้วไปที่ลังกา เมื่อพระราชบิดาสวรรคตในสนามรบ พระนางเหมมาลาพร้อมด้วยพระสวามีได้ปลอมพระองค์อัญเชิญพระธาตุเขี้ยวแก้วลงเรือไปศรีลังกา พระธาตุเขี้ยวแก้วถึงเมืองอนุราธบุรีในศรีลังกาในรัชสมัยของพระเจ้ากีรติศิริเมฆวรรณผู้ขึ้นครองราชย์ในพ.ศ. ๘๔๕
           กษัตริย์ศรีลังกาในอดีตรักและหวงแหนพระธาตุเขี้ยวแก้วมาก เมื่อย้ายเมืองหลวงไปที่ใดก็จะอัญเชิญพระธาตุเขี้ยวแก้วไปประดิษฐานไว้ที่นั้นด้วย เมื่อราชอาณาจักรสุดท้ายของศรีลังกาที่เมืองแคนดีสูญเสียเอกราชให้กับอังกฤษเมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๘ ชาวพุทธศรีลังกาได้สร้างวัดพระธาตุเขี้ยวแก้ว ณ ที่ปัจจุบันแล้วตั้งคณะกรรม การรักษาพระธาตุเขี้ยวแก้วกันเองโดยไม่ยอมให้อังกฤษเข้ายุ่งเกี่ยวซึ่งฝ่ายอังกฤษก็ยินยอมโดยดี
           คณะของเราและคนทั่วไปที่ไปนมัสการพระธาตุเขี้ยวแก้วจะได้เห็นเฉพาะสถูปทองคำสูงสองศอกเศษที่บรรจุพระธาตุเขี้ยวแก้วไว้ภายในเท่านั้น คนทั่วไปจะไม่มีโอกาสได้เห็นพระธาตุเขี้ยวแก้วองค์จริง เขา จะเปิดให้แขกบ้านแขกเมือง คนสำคัญระดับนายก รัฐมนตรีเท่านั้นได้ชมพระธาตุเขี้ยวแก้วองค์จริง

พิธีเปิดพระธาตุเขี้ยวแก้ว
           พระธรรมโกศาจารย์เคยได้ชมพระธาตุเขี้ยวแก้วกับตาตนเองเมื่อเดินทางไปประชุมร่วมกับผู้นำชาวพุทธทั่วโลกที่เมืองแคนดีเนื่องในโอกาสฉลองวิสาขบูชาเมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๙
           ศรีลังกา พม่า และอินเดียนับพุทธศักราชเร็วกว่าไทยเพราะประเทศทั้งสามนี้ถือเอาวันวิสาขบูชาของทุกปีเป็นวันเปลี่ยนพุทธศักราชใหม่ ดังนั้นวันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ ของไทยก็กลายเป็นพ.ศ. ๒๕๕๐ ของศรีลังกาไปแล้ว
           ในการประชุมผู้นำชาวพุทธทั่วโลกครั้งนี้ ทางวัดพระธาตุเขี้ยวแก้วได้เปิดโอกาสให้ผู้นำชาวพุทธได้ชมพระธาตุเขี้ยวแก้วองค์จริง เมื่อถึงเวลาเปิดแสดงพระธาตุเขี้ยวแก้วในวันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ พระธรรมโกศาจารย์เป็นหนึ่งในพระสงฆ์ชาวต่างชาติเพียงสองรูปที่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปอยู่ภายในห้องกระจกนิรภัยเพื่อจะได้เห็นทุกขั้นตอนของการเปิดพระธาตุเขี้ยวแก้ว พระสงฆ์ชาวต่างชาติอีกรูปหนึ่งนั้น เป็นรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยที่ตามเข้าไปด้วยกัน
           พระธาตุเขี้ยวแก้วได้รับการบรรจุไว้ในสถูปทองคำ ๗ ชั้น สำหรับสถูป ๓ ชั้นนอกสุดต้องมีกุญแจไขจึงจะเปิดได้ บุคคลสำคัญ ๓ คนเป็นผู้รักษากุญแจกันคนละดอกเพื่อเปิดกันคนละชั้น ผู้รักษากุญแจสำหรับไขสถูปทองคำชั้นนอกสุดคือชั้นที่ ๗ เป็นคฤหัสถ์ที่ได้รับการคัดเลือกมาให้เป็นผู้รักษากุญแจคราวละ ๑๐ ปี คนปัจจุบันมีชื่อว่านิลังคะ เดละ พันดร (Nilanga Dela Bandara) ผู้รักษากุญแจสำหรับไขสถูปทองคำชั้นถัดไปคือชั้นที่ ๖ ได้แก่พระมหานายกฝ่ายอัสคิริยะ ผู้รักษากุญแจสำหรับไขสถูปทองคำชั้นถัดไปคือชั้นที่ ๕ ได้แก่พระมหานายกฝ่ายมัลวัต
           เมื่อทั้งสามท่านมาพร้อมกันแล้ว แต่ละท่านได้ส่งกุญแจให้เจ้าหน้าที่ใช้ไขเปิดสถูปทองคำที่ละชั้น ตั้งแต่ชั้นที่ ๔ จนถึงชั้นในสุดไม่ต้องติดกุญแจ เจ้าหน้าที่เพียงใช้ผ้าบางๆคลุมสถูปแล้วยกออกมาทีละชั้น พวกเขาแสดงความเคารพด้วยการไม่ใช้มือจับต้องสถูปหรือพระธาตุโดยตรง สถูปชั้นในสุดคือชั้นที่ ๗ มีขนาดเท่าไข่ไก่และมีรูปลักษณ์เหมือนไข่ไก่ซึ่งมีเกลียวสำหรับเปิดปิดอยู่ตรงกลาง เมื่อเจ้าหน้าที่เปิดที่บรรจุชั้นในสุดออกมาแล้ว เขาได้ใช้ผ้าผืนบางคลุมพระธาตุเขี้ยวแก้วแล้วใช้มือจับผ้าคลุมนั้นหยิบพระธาตุขึ้นไปวางไว้ในโถแก้วที่เตรียมไว้สำหรับแสดงแก่ผู้นำชาวพุทธอื่นๆ ที่รอชมอยู่ด้านนอก
           พระธาตุเขี้ยวแก้วที่ปรากฎแก่สายตามีขนาดเท่าปลายนิ้วก้อย มีรูปลักษณ์หรือสัณฐานกลมที่โคนแต่ปลายมน มีรูเล็กตรงกลางฐานล่างและมีสีเทาซีดเหมือนสีควันบุหรี่ซึ่งแสดงถึงความจางลงของสีเนื่องจากพระธาตุองค์นี้มีอายุมากกว่า ๒,๕๐๐ ปี
           สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงนิพนธ์ไว้ใน “เรื่องประดิษฐานพระสงฆ์สยามวงศ์ในลังกาทวีป” ตอนหนึ่งกล่าวถึงบันทึกของราชทูตไทยที่ติดตามพระอุบาลีไปนมัสการพระธาตุเขี้ยวแก้วที่ศรีลังกา เมื่อ ๒๕๔ ปีมาแล้วว่า “ข้าพเจ้านมัสการใกล้ประมาณศอกคืบ แลสัณฐานพระทันตธาตุนั้นเหมือนดอกจำปาตูม พระรัศมีต้นเหลือง ปลายแดงอ่อนๆ”
           การเปิดสถูปบรรจุพระธาตุเขี้ยวแก้วตั้งแต่ชั้นนอกจนถึงชั้นในสุดใช้เวลาประมาณ ๔๕ นาที ซึ่งรวมเวลาที่เจ้าหน้าที่ทำการถอดเครื่องเพชรนิลจินดาชิ้นต่างๆ ที่กษัตริย์ศรีลังกาในอดีตได้คล้องบูชาไว้ที่พระสถูปชั้นนอกสุดออกมาวางไว้จนเต็มถาดใหญ่ พระมหานายกชี้ให้ดูสร้อยสังวาลย์ที่พระเจ้ากีรติศรีราชสิงหะทรงสวมใส่ในวันขึ้นครองราชย์เมื่อ พ.ศ. ๒๒๙๐ แล้วทรงถอดมาบูชาพระธาตุเขี้ยวแก้ว
           เมื่อพระธาตุเขี้ยวแก้วประดิษฐานในโถแก้วนิทรรศการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ประธานาธิบดีมหินทะราชปักษาแห่งศรีลังกาได้เดินทางมาถึงแล้วคุกเข่าลงพร้อมกับยกโถแก้วบรรจุพระธาตุเขี้ยวแก้วนั้นทูลศีรษะ พระมหานายกทั้งสองรูปเริ่มสวดชยันโต พระธรรมโกศาจารย์ได้ร่วมสวดชยันโตให้พรท่านประธานาธิบดีศรีลังกาไปพร้อมกันด้วย
           ที่เล่ามานั้นเป็นเรื่องการเปิดให้ชมพระธาตุเขี้ยวแก้วในปี ๒๕๔๙ สำหรับการไปเยือนศรีลังกาครั้งนี้ใน พ.ศ. ๒๕๕๐ ไม่มีการเปิดให้ชมพระธาตุเขี้ยวแก้วแต่อย่างใด สามเณรสรณังกร
           หลังจากคณะของเราอิ่มบุญจากการบูชาพระธาตุเขี้ยวแก้วแล้วก็ได้เดินทางไปสมทบกับท่านรัฐมนตรี ดิเนศ คุณวัฒนะและเอกอัครราชทูตไทยประจำศรีลังกาทำพิธีเปิดศูนย์พระพุทธ- ศาสนานานาชาติ พระสังฆราชสรณังกร ศูนย์นี้เป็นอาคารสร้างใหม่สูง ๔ ชั้นอยู่ในพื้นที่ของวัดสุริยโกฎเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระสังฆราชสรณังกร
           เมื่อ ๒๕๔ ปีมาแล้ว พระอุบาลีจากประเทศไทยไปบวชสามเณรสรณังกรเป็นพระภิกษุ ต่อมาพระสรณังกรรูปนี้ได้เป็นพระสังฆราชรูปแรกและรูปสุดท้ายของศรีลังกา จึงถือว่าท่านเป็นต้นกำเนิดของสยาม นิกาย
           เมื่อเสร็จพิธีเปิดศูนย์แล้ว คณะสงฆ์ไปฉันภัตตาหารเพลที่วัดสุริยโกฎ ญาติโยมศรีลังกาทำพิธีถวายทานโดยอังคาสพระสงฆ์ด้วยมือของตน พระสงฆ์นั่งประจำอาสนะมีจานเปล่าวางอยู่ข้างหน้าแต่ละรูป ญาติ โยมเวียนกันมาตักอาหารใส่จานกันคนละช้อนสองช้อน คนนี้ตักข้าว คนนี้ตักผัก คนนี้ตักแกง เวียนมากันตักอยู่เรื่อยไม่ให้อาหารขาด พระสงฆ์ก็ฉันไปจนกว่าจะอิ่มแล้วก็ยกมือแสดงว่าพอๆ ที่เรียกว่าห้ามภัตรตามภาษาพระนี่แหละเป็นวิธีอังคาส คือ เลี้ยงพระสงฆ์ด้วยมือของทายกซึ่งเรายังคงพบเห็นที่ศรีลังกา
           เมื่อฉันภัตตาหารเพลและรับประทานอาหารเสร็จแล้ว คณะของเราไปร่วมพิธีฉลองการเปิดศูนย์พระพุทธศาสนานานาชาติพระสังฆราชสรณังกรในบริเวณวัดสุริยโกฎ พระมหาเถระศรีลังกากล่าวสัมโมทนียกถา ท่านรัฐมนตรีและนักการเมืองท้องถิ่นกล่าวปราศรัยต่อประชาชน ไม่ว่าใครจะพูดอะไรก็ต้องพาดพิงถึงคุณูป- การของพระอุบาลีและพระสรณังกรที่มีต่อพระพุทธศาสนาในศรีลังกา บางท่านถึงกับเปรียบเทียบบทบาท ของพระสรณังกรว่าสำคัญเท่าเทียมกับพระมหินทเถระผู้นำพระพุทธศาสนามาเผยแผ่ในศรีลังกาเป็นครั้งแรก
           เมื่อ พ.ศ. ๒๒๔๒ เด็กชายกุลตุงคะ พันดร (Kulatunga Bandara) ถือกำเนิดขึ้นมาในหมู่บ้านเวฬิวิตะ เขาเริ่มเรียนหนังสือเมื่ออายุได้ ๕ ขวบ ชอบอ่านหนังสือทั้งกลางวันและกลางคืนจนเป็นผู้คงแก่เรียน เมื่อเขามีอายุได้ ๑๖ ปี เจ้าอาวาสวัดสุริยโกฎในขณะ นั้น ได้ทำพิธีบรรพชาเด็กหนุ่มคนนี้เป็นสามเณรมีฉายาว่า เวฬิวิตะ สรณังกร
           ตั้งแต่ได้บรรพชาแล้ว สามเณรสรณังกรได้ศึกษาพระปริยัติธรรมจนมีความรู้ภาษาบาลีเป็นอย่างดี แม้ท่านจะชอบเที่ยวจาริกสอนธรรมไปในที่ต่างๆจนมีศิษย์มากมาย วัดสุริยโกฎยังคงเป็นต้นสังกัดของท่านนานถึง ๓๖ ปี สามเณรสรณังกรไม่ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ เพราะหาพระอุปัชฌาย์ไม่ได้เนื่องจากในปลายรัชกาลพระเจ้านเรนทรสิงหะซึ่งครองราชย์ระหว่างพ.ศ. ๒๒๕๐-๒๒๘๒ ศรีลังกาไม่มีพระภิกษุเหลืออยู่เลย
           หนังสือเรื่องสยามูปสัมปทา เรียบเรียงโดยพระสิทธารถ พุทธรักขิตเถระเมื่อ พ.ศ.๒๓๑๙ เล่าว่า สามเณรสรณังกรเป็นนักเทศน์ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ศรัทธาของพระเจ้าศรีวิชัยราชสิงหะผู้ครองราชย์ใน พ.ศ.๒๒๘๒ กษัตริย์พระองค์นี้ทรงให้สร้างกุฏิสงฆ์ขึ้นที่วัดบุปผารามถวายสามเณรสรณังกรผู้เป็นประธานคณะสามเณรในวัดเมื่อพระอุบาลีไปศรีลังกา
           พระเจ้าศรีวิชัยราชสิงหะทรงประสงค์จะอาราธนาคณะสงฆ์จากกรุงศรีอยุธยาไปทำพิธีให้การอุปสมบทแก่สามเณรสรณังกรจึงได้ส่งราชทูตพร้อมด้วยพระราชสาส์นไปยังกรุงศรีอยุธยา พวกราชทูตอาศัยเรือสำเภาของฮอลันดาหรือเนเธอร์แลนด์ไปแวะที่เมืองปัตตาเวีย เกาะชวา
           ก่อนหน้านี้ กษัตริย์ศรีลังกาแห่งเมืองแคนดีได้ร่วมมือกับฝรั่งฮอลันดาขับไล่โปรตุเกสออกไปจากเกาะลังกาเมื่อพ.ศ.๒๒๐๓ โดยฮอลันดาได้เข้าครอบครองพื้นที่ในเกาะที่เคยเป็นของโปรตุเกส ราชอาณาจักรแคนดียังคงมีอิสรภาพ ฮอลันดาไม่มีนโยบายในการเผยแผ่ศาสนาคริสต์จึงยินดีรับราชทูตศรีลังกาลงเรือสำเภาไปกรุงศรีอยุธยา
           พวกราชทูตศรีลังกาฝากพระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการไว้ที่เกาะชวาแล้วเดินทางต่อไปยังกรุงศรีอยุธยาเพื่อดูลู่ทางความเป็นไปได้ในการขอสมณทูตจากสยาม พวกราชทูตได้เข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินสยามและได้ความมั่นใจว่าทางสยามพร้อมที่จะส่งสมณทูตไปศรีลังกา แต่เนื่องจากพวกราชทูตไม่ได้นำพระราชสาส์นจากศรีลังกาติดตัวไปเข้าเฝ้า พวกเขาจึงต้องเดินทางกลับเกาะชวาเพื่อนำพระราชสาส์นไปถวายพระเจ้าแผ่นดินสยาม ในระหว่างที่เดินทางกลับไปเกาะชวานั้นเอง พวกราชทูตก็ได้ข่าวการสวรรคตของพระเจ้าศรีวิชัยราชสิงหะจึงพากันเปลี่ยนใจเดินทางกลับศรีลังกา
           พระเจ้ากีรติศรีราชสิงหะขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลต่อมาเมื่อพ.ศ.๒๒๙๐ หลังจากครองราชย์ได้ ๓ ปี พระองค์ได้ส่งราชทูตอีกคณะหนึ่งไปอาราธนาพระสมณทูตจากกรุงศรีอยุธยา พวกราชทูตเดินทางโดยเรือสำเภาของฮอลันดาถึงกรุงศรีอยุธยา เมื่อพ.ศ.๒๒๙๔ เข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ซึ่งทรงส่งคณะสมณทูตไปศรีลังกา
           คณะสมณทูตนี้ประกอบด้วยพระราชาคณะ ๒ รูปคือพระอุบาลีและพระอริยมุนี มีพระมหาเปรียญเป็นกรรมวาจาจารย์ ๕ รูปและพระอันดับอีก ๑๑ รูป รวมพระสงฆ์ทั้งสิ้นจำนวน ๑๘ รูป มีสามเณรติดตามไปด้วยจำนวนหนึ่ง
           สมณทูตคณะนี้ซึ่งมีพระอุบาลีเป็นหัวหน้าเดินทางโดยเรือสำเภาถึงเมืองแคนดี้ ในพ.ศ.๒๒๙๖ ภาษาที่ใช้ในการสื่อสารสมัยนั้นคือภาษาบาลี แม้แต่พระราชสาส์นที่ส่งถึงกันก็ใช้ภาษาบาลี พระราชสาส์นภาษาบาลีฉบับหนึ่งถูกเก็บรักษาไว้อย่างดีจนถึงปัจจุบันโดยพระมหานายกแห่งมัลวัต
           ท่านมหานายกเคยนำพระราชสาส์นออกมาให้พระธรรมโกศาจารย์ได้ชมเป็นขวัญตา กล่องใส่พระราชสาส์นยาวประมาณ ๑ ศอกทำด้วยเงิน มีจารึกภาษาบาลีอยู่ด้านนอก ภายในกล่องเป็นงาช้างมีช่องตรงกลางสำหรับบรรจุพระราชสาส์นซึ่งจารึกด้วยสีดำลงบนผ้าไหมสีขาว เราต้องชมว่าของล้ำค่าทางประวัติศาสตร์อย่างนี้หาไม่ได้ในประเทศไทย แต่วัดในศรีลังกาเก็บรักษาได้ดีเหลือเกิน
           ในพระราชสาส์นภาษาบาลี ฝ่ายศรีลังกาเรียกพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศว่า ธมฺมิกราชา (พระเจ้าธรรมิกราช) ฝ่ายไทยเรียกศรีลังกาว่า สิริลงฺกาทีป (เกาะศรีลังกา) และเรียกเมืองแคนดีว่า สิริวฑฺฒนปุร (ศรีวัฒนบุรี)

กำเนิดสยามนิกายในศรีลังกา
           พระอุบาลีได้เป็นพระอุปัชฌาย์ให้การอุปสมบทสามเณรสรณังกรพร้อมกับสามเณรระดับเจ้าอาวาสอื่นๆ อีก ๕ รูปที่วัด บุปผาราม ขณะได้รับการอุปสมบท สามเณรสรณังกรมีอายุได้ ๕๔ ปี พระเจ้ากีรติศรีราชสิงหะเสด็จไปทอดพระเนตรพิธีอุปสมบทครั้งประวัติศาสตร์นี้ด้วย
           สมณทูตคณะนี้อยู่ที่ศรีลังกา ๓ ปีให้การบรรพชาอุปสมบทแก่ชาวศรีลังกาเป็นพระภิกษุ ๗๐๐ รูป เป็นสามเณร ๓,๐๐๐ รูป จากนั้นได้มีสมณทูตคณะที่สองจำนวน ๔๒ รูปซึ่งมีพระวิสุทธาจารย์เป็นหัวหน้าเดินทางไปทำหน้าที่ต่อจากคณะของพระอุบาลีเมื่อ พ.ศ.๒๒๙๘
           เมื่ออยู่ศรีลังกาได้เกือบ ๓ ปี พระอุบาลีได้ถึงมรณภาพ ควรบันทึกไว้ว่าสมณทูตคณะที่หนึ่งซึ่งมีพระอุบาลีเป็นหัวหน้าได้เอาชีวิตไปทิ้งไว้ที่ศรีลังกาเสียเป็นส่วนมาก ภายในเวลา ๓ ปีนั้นอาหารและอากาศที่แปลกไปของศรีลังกาสมัยนั้นได้คร่าชีวิตพระภิกษุจากสยาม ๑๐ รูป สามเณรจากสยามถึงมรณภาพ ๒ รูป สมณทูตเหลือรอดชีวิตกลับกรุงศรีอยุธยาเพียง ๗ รูป หนึ่งในนั้น คือ พระอริยมุนี
           พระอุบาลีเป็นพระธรรมทูตที่ยิ่งใหญ่เพราะได้ปฏิบัติหน้าที่แบบมอบกายถวายชีวิตเพื่อพระพุทธศาสนา มรดกที่ท่านฝากไว้ล้ำค่าเหลือคณนานับ การปฏิบัติหน้าที่ของท่านได้ช่วยฟื้นฟูสมณวงศ์และต่อชีวิตพระพุทธศาสนาในศรีลังกามาจนถึงปัจจุบัน เมื่อพระอุบาลีถึงมรณภาพลง พระเจ้ากีรติศรีราชสิงหะได้สถาปนาศิษย์เอกของท่านคือพระสรณังกรเป็นพระสังฆราชแห่งศรีลังกา นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ศรีลังกาที่มี ตำแหน่งพระสังฆราช นี่คงเอาแบบอย่างไปจากสยาม
           ต่อมาเมื่อพระสรณังกรบวชเป็นพระภิกษุได้ ๑๒ พรรษาท่านก็ได้เป็นพระอุปัชฌาย์ให้การบรรพชาอุปสมบทแก่กุลบุตรศรีลังกาสืบมา ระยะนี้ท่านพำนักอยู่ที่วัดบุปผาราม คณะสงฆ์ที่สืบทอดมาจากสายของพระสังฆราชสรณังกรนั้นได้กลายเป็นนิกายใหญ่ที่สุดในศรีลังกาปัจจุบันเรียกว่าสยามนิกาย มีชื่อเต็มว่า สยาโมปาลีมหานิกาย หมายถึงนิกายใหญ่ของพระอุบาลีจากประเทศสยาม ไม่มีพระธรรมทูตไทยอื่นใดอีกแล้วที่สามารถฝากชื่อตัวและชื่อประเทศให้เป็นชื่อนิกายสงฆ์ในต่างแดนได้เหมือนพระอุบาลี เพราะเหตุนี้แหละพระอุบาลีจึงเป็นพระธรรมทูตที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งสยาม
           เมื่อเสร็จพิธีปราศรัยที่วัดสุริยโกฏ คณะของเราได้เดินทางไปยังวัดบุปผารามที่ท่านพระอุบาลีและพระสังฆราชสรณังกรเคยพำนักอยู่ วัดบุปผารามในปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสำนักพระมหานายกแห่งสยามนิกายฝ่ายมัลวัตตะ พวกเราได้เข้ากราบนมัสการพระมหานายกรูปปัจจุบันซึ่งมีนามว่าศรีสิทธารถ สุมังคลมหาเถร (Sri Siddhartha Sumangala) ท่านนับเป็นมหานายกฝ่ายมัลวัตตะรูปที่ ๒๕ นับตั้งแต่มีการแต่งตั้งพระมหานายกฝ่ายมัลวัตตะรูปที่ ๑ เมื่อ พ.ศ. ๒๒๙๖ เป็นต้นมา
           พระมหานายกรูปนี้เคยไปร่วมงานวิสาขบูชาโลกที่ประเทศไทยและได้ไปเยี่ยมวัดประยุรวงศาวาสเมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ท่านจึงคุ้นเคยกับพวกเราเป็นอย่างดีและได้ให้การต้อนรับปฏิสันถารด้วยความเมตตา ท่านมอบของที่ระลึกแก่พวกเราทุกคน
           ดังที่กล่าวไว้ในตอนต้นแล้วว่า คณะสงฆ์สยามนิกายเป็นนิกายใหญ่ที่สุดในศรีลังกาปัจจุบัน โดยมีวัดในสังกัดทั้งสิ้น ๖,๐๑๘ วัด มีพระสงฆ์ ๑๘,๗๘๐ รูป จำนวนพระสงฆ์ศรีลังกาอาจดูไม่มากนักเมื่อเทียบกับคณะสงฆ์ไทย ทั้งนี้เพราะพระสงฆ์ศรีลังกานิยมบวชไม่สึก กุลบุตรผู้ไม่แน่ใจว่าจะบวชพระได้ตลอดชีวิตมักจะทดลองบวชเป็นสามเณรอยู่หลายปี วัดในศรีลังกาบางแห่งเริ่มเอาอย่างไทยคือส่งเสริมการบวชพระชั่วคราว เป็นเวลา ๓ เดือนในพรรษาเพราะเห็นว่าส่วนดีของประเพณีบวชพระชั่วคราวของไทยคือช่วยดึงคนเข้าวัดแต่ต้องมีระบบการจัดการศึกษาอบรมอย่างดีสำหรับพระบวชใหม่
           คณะสงฆ์สยามนิกายในศรีลังกาแบ่งเป็น ๒ นิกายย่อยคือฝ่ายมัลวัตตะและฝ่ายอัสคิริยะทั้งสองฝ่ายต่างสืบต่อมาจากพระอุบาลี โดยที่ฝ่ายมัลวัตตะจัดเป็นคามวาสีขณะที่ฝ่ายอัสคิริยะจัดเป็นวนวาสีหรืออรัญวาสี แต่ละฝ่ายต่างปกครองตนเองเป็นอิสระจากกัน ทั้งฝ่ายมัลวัตตะและฝ่ายอัสคิริยะต่างมีคณะกรรมการบริหารคณะสงฆ์เป็นของตนเองเรียกว่าการกสภา คณะกรรมการสภาเลือกกรรมการด้วยกันเองเป็นมหานายกและอนุนายก ผู้ดำรงตำแหน่งพระมหานายกในสยามนิกายจึงมี ๒ รูป คือพระมหานายกฝ่ายมัลวัตตะรูปหนึ่งและพระมหานายกฝ่ายอัสคิริยะอีกรูปหนึ่ง พระมหานายกทั้งสองรูปผลัดเปลี่ยนกันทำหน้าที่กันเฝ้าพระธาตุเขี้ยวแก้วกันคนละปี การผลัดเปลี่ยนวาระนับจากวันอาสาฬหบูชาเป็นต้นไป พระมหานายกนิกายอื่นไม่ได้รับสิทธิในการดูแลรักษาพระธาตุเขี้ยวแก้ว อย่างนี้ จึงมีอิทธิพลในสังคมน้อยกว่าพระมหานายกสยามนิกาย
           หลังจากกราบลาพระมหานายกฝ่ายมัลวัตตะแล้ว คณะของเราได้เดินทางไปยังที่ตั้งของสถาบันพระพุทธศาสนาเพื่อการศึกษาชั้นสูงแห่งแคนดี้ หรือ KBI (Kandy Buddhist Institute for Advanced Studies) เพื่อร่วมพิธีมอบใบประกาศแต่งตั้งสถาบันแห่งนี้เป็นสถาบันสมทบของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในศรีลังกา พระธรรมโกศาจารย์ในฐานะอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้ทำพิธีมอบใบประกาศแก่ผู้อำนวยการสถาบันสมทบซึ่งเป็นพระสงฆ์สยามนิกาย นับจากนี้ไป สถาบันสมทบแห่งนี้สามารถจัดการศึกษาแก่ชาวศรีลังกาตามหลักสูตรของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
           สถาบันนี้ได้รับอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยให้เป็นสถาบันสมทบของมหาวิทยาลัยหลังจากที่ส่งเรื่องขออนุมัติมา ๓ ปีแล้ว สถาบันเพิ่งได้รับการอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัยในปีนี้ ทางฝ่ายอธิการบดีและคณะจึงได้ไปทำพิธีมอบใบประกาศของมหาวิทยาลัยที่แต่งตั้งให้เป็นสถาบันสมทบ นั่นหมายความว่า สถาบันนี้แห่งนี้สามารถเปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยสำหรับพระสงฆ์และฆราวาสในศรีลังกา เมื่อเรียนจบแล้ว บัณฑิตสามารถไปร่วมพิธีประสาทปริญญาของมหาวิทยาลัยที่ประเทศไทยเช่นเดียวกับบัณฑิตจากสถาบันสมทบของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยที่เกาหลีใต้และไต้หวัน สถาบันแห่งนี้เป็นสถาบันสมทบแห่งที่ ๓ ในต่างประเทศ ต่อไปภายหน้าถ้าพระสงฆ์ไทยอยากจะเรียนภาษาอังกฤษให้เก่ง เราก็จะส่งมาเรียนที่นี่ พระสงฆ์ที่นี่อยากจะเรียนในประเทศไทย สถาบันก็ส่งไปที่เรา มีการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและครูบาอาจารย์ เข้าพบประธานาธิบดีศรีลังกา
           ต่อจากนั้นคณะของเราได้เดินทางไปทำเนียบประธานาธิบดีที่เมืองแคนดี เพื่อเข้าพบประธานาธิบดีศรีลังกา ประเทศศรีลังกาเคยเป็นราชอาณาจักรที่มีกษัตริย์ปกครองต่อเนื่องกันมา ๑๖๕ รัชกาล จนกระทั่งสถาบันกษัตริย์ถูกยกเลิกไปเมื่อศรีลังกาตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษใน พ.ศ.๒๓๕๘ เมื่อได้อิสรภาพกลับคืนมาในพ.ศ. ๒๔๙๑ ศรีลังกายังไม่มีตำแหน่งประธานาธิบดี แต่มีข้าหลวงใหญ่เป็นประมุขของประเทศจนกระทั่งรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.๒๕๑๕ กำหนดให้มีตำแหน่งประธานาธิบดีแทนที่ตำแหน่งข้าหลวงใหญ่ ในระยะแรกประธานาธิบดีเป็นประมุขของประเทศที่ไม่มีอำนาจบริหาร จนกระทั่งพ.ศ. ๒๕๒๑ ประธานาธิบดีศรีลังกาจึงอำนาจบริหารแบบเดียวกับประธานาธิบดีฝรั่งเศส ประชาชนสามารถออกเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีได้โดยตรง ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของศรีลังกาที่ชื่อว่ามหินทะ ราชปักษานี้ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีตั้งแต่พ.ศ. ๒๕๔๘
           การเข้าพบประธานาธิบดีศรีลังกาต้องผ่านระบบรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวด ทำเนียบประธานาธิบดีที่แคนดี้เป็นอาคารทรงยุโรปที่สร้างมาตั้งแต่สมัยอังกฤษปกครองศรีลังกา มีต้นไม้ใหญ่โตยืนตระหง่านอยู่หน้าทำเนียบ บริเวณใต้ต้นไม้นี้เป็นที่ถวายน้ำปานะพระสงฆ์และเลี้ยงต้อนรับคฤหัสถ์ญาติโยมของเรา พระธรรมโกศาจารย์ ได้รับนิมนต์เข้าไปในทำเนียบพร้อมกับพระสงฆ์อีก ๔ รูปเพื่อพบท่านประธานาธิบดีมหินทะ ราชปักษาเป็นการภายในก่อนที่ท่านจะออกมาพบคณะคนไทยทั้งหมดที่ด้านนอก เราได้สนทนาโอภาปราศรัยระลึกถึงความหลังครั้งที่เคยมามาพบกันที่ทำเนียบนี้ในงานวิสาขบูชาของศรีลังกาปีที่ผ่านมา เมื่อสนทนากันเป็นอันดีแล้ว เราพาประธานาธิบดีเดินออกมาพบกับคณะของไทยในบริเวณเลี้ยงต้อนรับ พระธรรมโกศาจารย์ พาไปทักทายพวกเราทุกคนแล้วเชิญท่านนั่งสนทนากันต่อไป
           ท่านประธานาธิบดีบอกฝากให้พวกเรากลับไปชักชวนคนไทยไปเยือนศรีลังกาให้มากขึ้นในฐานะเป็นประเทศพุทธศาสนาด้วยกัน พระธรรมโกศาจารย์ตอบว่าศรีลังกามีโบราณสถานทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญและเก่าแก่ไม่แพ้ที่อินเดีย และที่สำคัญก็คือว่า พระพุทธศาสนาในศรีลังกาไม่เคยขาดหายไปจากดินแดนนี้ตลอด ๒,๐๐๐ ปีที่ผ่านมา วิถีชีวิตของชาวพุทธศรีลังกาสะท้อนถึงวัฒนธรรมชาวพุทธที่แท้จริงซึ่งต่างจากอินเดียที่พระพุทธศาสนาเคยสูญหายไปแล้ว คนไทยที่อยากเรียนรู้วัฒนธรรมชาวพุทธที่เป็นต้นแบบของพระพุทธศาสนาในประเทศไทยควรไปศรีลังกา ท่านประธานาธิบดีบอกว่าศรีลังกายินดีต้อนรับคนไทยทุกคนและขอให้ชาวพุทธไทยไปเยี่ยมศรีลังกากันมาก ๆ เมื่อการสนทนาจบลงก็เป็นพิธีมอบของที่ระลึกแก่กันและกัน

กราบพระมหานายกและชมเปราเฮรา
           เมื่อออกจากทำเนียบประธานาธิบดีศรีลังกาแล้ว คณะของเราได้เดินทางไปกราบนมัสการพระมหานายกของสยามนิกายฝ่ายอัสคิริยะ ท่านรูปนี้มีนามว่า ศรีธัมมทัสสี รัตนปาละ พุทธรักขิตมหาเถร (Sri Dhammadassi Ratanapala Buddharakkhita) ท่านนับเป็นมหานายกฝ่ายอัสคิริยะรูปที่ ๒๐ นับแต่มีการแต่งตั้งพระมหานายกฝ่ายอัสคิริยะรูปที่ ๑ เมื่อ พ.ศ. ๒๒๙๖ เป็นต้นมา
           ชาวมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยคงจำกันได้ดีว่าพระมหานายกรูปนี้แหละเป็นผู้นำพระบรมสารีริกธาตุไปมอบถวายมหาวิทยาลัย ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่หอพระไตรปิฎกให้คนกราบไหว้บูชาที่สำนักงานใหม่วังน้อยจนทุกวันนี้ ในการพบกันในศรีลังกาครั้งนี้ พระมหานายกได้ให้ศีลให้พรแก่คณะของเราเป็นอันดี เรารับรู้ถึงความเมตตาที่ท่านมีต่อพวกเราเสมอมา
           จากนั้นคณะของเราได้เร่งเดินทางไปชมขบวนแห่พระธาตุเขี้ยวแก้ว ที่เรียกว่า เปราเฮรา (Perahera) เปราเฮร่านี้ปีหนึ่งจะจัดใหญ่เพียงครั้งเดียวในช่วงเข้าพรรษา โดยจัดติดต่อกันเป็นเวลา ๑๐ วัน วันสุดท้ายก็คือวันพระขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๙ ซึ่งตรงกับวันที่ ๒๘ สิงหาคมปีนี้ ขบวนเปราเฮราเริ่มเคลื่อนในเวลาตะวันลับฟ้าใช้เวลาประมาณ ๓ ชั่วโมง พวกเราได้เก้าอี้นั่งชมกันสบายขณะที่ประชาชนนอกรั้วฝั่งตรงข้ามยืนบ้างนั่งบ้างหรือปีนต้นไม้บ้างรอชมเปราเฮราด้วยใจจดจ่อ ได้ทราบว่าพวกเขามารอกันตั้งแต่เช้า
           งานวัดศรีลังกาไม่มีมหรสพมอมเมาประชาชน รูปแบบความบันเทิงในวัดก็คือการแสดงแบบเปราเฮรา คือขบวนแห่ที่มีดนตรีประโคมนำหน้าตามด้วยการแสดงชุดต่างๆสลับกับดนตรีและการแสดงนับไม่ถ้วน ผู้แสดงส่วนใหญ่เป็นผู้ชายมีทุกวัยตั้งแต่เด็กจนแก่ พวกเขาจุดคบเพลิงกาบมะพร้าวสว่างไสวไปในขบวน มีช้างร่วมพิธีอัญเชิญพระธาตุคืนนี้มากถึง ๗๓ เชือกเท่ากับจำนวนคนในคณะของเราที่ไปจากเมืองไทยพอดี ช้างบางเชือกมีงายาวมากจนไขว้กัน ผู้แสดงทุกคนมีสีหน้าอิ่มเอิบเบิกบานเพราะพวกเขาทำถวายเป็นพุทธบูชาด้วยความศรัทธาในพระพุทธศาสนา แม้เวลาจะล่วงเลยไปมากเด็กๆที่ร่วมแสดงในขบวนก็ไม่ได้แสดงอาการ เบื่อหน่ายแต่อย่างใด ที่น่าแปลกก็คือฝูงคนที่รอชมอยู่นอกรั้วฝั่งตรงข้ามกับเรา ไม่ยอมถอย บางกลุ่มนั่ง บางกลุ่มยืน บางคนปีนต้นไม้ดู ตลอดเวลา ๓ ชั่วโมงพวกเขาไม่เคยถอยเลยทั้งที่การแสดงบางชุดอาจจะซ้ำกัน พวกเขามาชมด้วยความศรัทธาในพระธาตุเขี้ยวแก้ว
           ผู้แสดงและนักดนตรีนับพันชีวิตที่มาร่วมขบวนเปราเฮราครั้งนี้ล้วนผ่านการฝึกฝนทักษะมาอย่างดีมิฉะนั้นจะไม่สามารถเคลื่อนไหวหรือประโคมดนตรีได้พร้อมเพรียงกัน ความพร้อมเพรียงเป็นความงามที่ชวนติดตาม แม้แต่ช้างที่ร่วมขบวนก็ถูกประดับตกแต่งด้วยผ้าคลุมหลากสีมีไฟดวงเล็กกระพริบบนผ้าคลุม ช้างไม่ตื่นกลัวผู้คนจำนวนมากแต่อย่างใด ทั้งนี้เพราะทางวัดพระธาตุเขี้ยวแก้วตั้งกองทุนอุดหนุนให้ชาวบ้านเลี้ยงช้างและฝึกช้างเพื่อการนี้โดยเฉพาะและยังมีเงินสนุบสนุนแต่ละ หมู่บ้านที่เป็นสมาชิกให้ฝึกฝนการแสดงหรือเล่นดนตรีตามที่กำหนดว่าหมู่บ้านไหนต้องทำอะไร ชาวบ้านใช้เวลาว่างจากการทำนาหรืองานอาชีพมาฝึกแสดงให้พร้อมเพรียงกันตามที่ทางวัดต้องการ เมื่อถึงเวลาแสดงอย่างครั้งนี้ ทางวัดพระธาตุเขี้ยวแก้วก็จะระดมทุกหมู่บ้านที่เข้าร่วมโครงการมาเข้าขบวนแห่เปราเฮรา

วัดอาโลกวิหารสถานที่จารึกพระไตรปิฎก
           รุ่งขึ้นวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๐ ซึ่งเป็นวันพระ ๑๕ ค่ำ คณะของเราออกเดินทางแต่เช้าไปแวะเยี่ยมชมหอประชุมพระพุทธศาสนานานาชาติ (International Buddhist Conference Hall) อันเป็นสถานที่จัดประชุมวิสาขบูชานานาชาติของศรีลังกาเมื่อปีที่แล้ว ภายในหอประชุมมีห้องพระเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ใหญ่จากประเทศไทย พวกเราจึงไหว้พระและถือโอกาสทำวัตรสวดมนต์เช้ากันที่นี่
           ต่อจากนั้นคณะของเราเดินทางไปชมวัดอาโลกวิหาร วัดนี้เป็นสถานที่ทำสังคายนาครั้งที่ ๕ เมื่อประมาณพ.ศ. ๔๕๐ สมัยพระเจ้าวัฏคามินีอภัยผู้ขึ้นครองราชย์ที่เมืองอนุราธบุรีเมื่อ พ.ศ. ๔๓๙ พระองค์ครองราชย์ได้ ๗ เดือนก็ถูกกองทัพทมิฬชิงบัลลังก์ไป พระเจ้าวัฏคามินีอภัยหนีจากเมืองไปซ่องสุมกำลังพลอยู่ ๑๔ ปีจึงตีเมืองอนุราธบุรีคืนได้แล้วขึ้นครองราชย์เป็นครั้งที่ ๒ ในพ.ศ. ๔๕๕
           ในช่วงที่พระเจ้าวัฏคามินีอภัยกำลังเตรียมชิงบัลลังก์คืนจากพวกทมิฬอยู่นั้น พระสงฆ์ ๕๐๐ รูปที่เข้าร่วมการสังคายนาในถ้ำของวัดนี้เมื่อราวพ.ศ. ๔๕๐ ผลของการสังคายนาคือการจารึกพระไตรปิฎกเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นครั้งแรกลงในใบลาน ก่อนหน้านั้นไม่เคยมีการบันทึกพระไตรปิฎกลงเป็นลายลักษณ์อักษรแต่อย่างใด คณะสงฆ์รักษาคำสอนของพระพุทธเจ้าด้วยการท่องจำแล้วบอกต่อให้ศิษยานุศิษย์ท่องจำสืบๆกันมา เราเรียกวิธีการรักษาสืบทอดคำสอนของพระพุทธเจ้าแบบนี้ว่ามุขปาฐะแปลว่าการบอกจากปากต่อปาก
           คณะสงฆ์ท่องจำพระไตรปิฎกแล้วบอกต่อกันจากปากต่อปากตั้งแต่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วเรื่อยมาจนถึงประมาณพ.ศ. ๔๕๐ จึงได้จารึกลงใบลานเป็นครั้งแรกในการทำสังคายนาวัดอาโลกวิหารแห่งนี้ การทำสังคายนาครั้งนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในพระพุทธศาสนา ถ้าหากไม่มีการจารึกพระไตรปิฎกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร พระไตรปิฎกอาจจะเสื่อมหายไปเป็นส่วนมาก แต่เพราะได้มีการจารึกพระไตรปิฎกเป็นลายลักษณ์อักษรในครั้งนี้จึงเป็นการรักษาพระพุทธศาสนาไว้เป็นอย่างดี เชื่อกันว่า พระพุทธโฆสาจารย์พระอรรถกถาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่จากอินเดียก็เคยมาพำนักอยู่ที่วัดอาโลกวิหารนี้ตอนรวบรวมต้นฉบับอรรถกถาภาษาสิงหลเพื่อแปลเป็นภาษาบาลี
           ในปัจจุบัน พระสงฆ์ที่วัดอาโลกวิหารยังรักษาประเพณีการจารหนังสือลงใบลาน ชาวบ้านไปตัดใบลานมาต้มจนกระทั่งมีสีขาว จากนั้นพระสงฆ์ก็ใช้เหล็กจารปลายแหลมเขียนลงใบลาน เมื่อเขียนแล้วคนยังมองไม่เห็นตัวหนังสือ ผู้จารเอาผงหมึกมาลูบลงบนใบลาน ผงหมึกก็ตกลงไปในรอยที่เขียนด้วยเหล็กจารจนทำให้เห็นตัวหนังสือสีดำเด่นขึ้นมา คัมภีร์ใบลานเก็บไว้ได้นาน ๕๐๐ ปี สีดำของผงหมึกจึงจะจางลง วิธีซ่อมคัมภีร์ก็ไม่ยาก เพียงเรานำผงหมึกมาลูบทับรอยที่เคยจารไว้ ตัวหนังสือจึงจะเด่นขึ้นมาให้อ่านได้
           จากนั้นคณะของเราได้ไปเยี่ยมชมดัมบุลละซึ่งเป็นวัดถ้ำที่ใหญ่ที่สุดของศรีลังกา วัดนี้อยู่บนยอดเขาสูงพอควร เป็นถ้ำใหญ่โตมาก มีพระพุทธรูปที่สลักจากหินสร้างโดยพระเจ้าวัฏคามินีอภัย กษัตริย์พระองค์นี้ในสมัยที่ทรงลี้ภัยหลบหนีพวกทมิฬอยู่ ๑๔ ปีได้ซ่อนพระองค์อยู่ในถ้ำนี้ด้วยความอนุเคราะห์ของพระกรรมฐานรูปหนึ่ง หลังจากชิงบัลลังก์คืนกลับมาแล้ว พระเจ้าวัฏคามินีอภัยได้สร้างวัดถ้ำดัมบุลละถวายพระภิกษุรูปนั้น
           บริเวณรอบวัดดัมบุลละมีถ้ำอยู่มากกว่า ๘๐ แห่ง ถ้ำที่น่าสนใจมี ๕ ถ้ำ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปที่แกะสลักจากหินและมีภาพวาดที่ผนังถ้ำ พระพุทธรูปมีทั้งสิ้น ๑๕๓ องค์ มีหินแกะสลักเป็นกษัตริย์ ๓ องค์ หนึ่งในนั้นคือพระเจ้ากีรติศรีราชสิงหะผู้ที่นิมนต์พระอุบาลีจากประเทศไทยเมื่อ ๒๕๔ ปีที่ผ่านมา เราสังเกตพบว่าพระพุทธรูปปางไสยาสน์ในถ้ำนี้นอนลืมตา ไม่ได้หลับตา กลีบจีวรพระพุทธรูปงดงามมาก เขาออกแบบกลีบจีวรให้เหมือนคลื่นพลิ้วในสระน้ำ

รับมอบพระบรมสารีริกธาตุ
           ออกจากวัดดัมบุลละ คณะของเราได้เดินทางต่อไปร่วมพิธีเปิดพระเจดีย์ใหม่ที่วัด สรวัสติปุระหรือสาวัตถีบุรี ท่านรัฐมนตรี ดิเนศ คุณวัฒนะได้บริจาคปัจจัยร่วมสร้างเจดีย์นี้ ท่านรัฐมนตรีพร้อมนักการเมืองและข้าราชการท้องถิ่นคอยต้อนรับพวกเราพร้อมด้วยขบวนแห่ต้อนรับเหมือนเดิม ชาวบ้านศรีลังกามาร่วมงานกันคับคั่งแม้จะไม่ได้มีมหรสพสมโภช คนมาอยู่รอฟังพระเถระกล่าวสัมโมทนียกถาและฟังนักการเมือง ปราศรัย คนศรีลังกาเป็นนักพูดและนักฟังที่ดี พวกเขาอยู่กันจนมืดค่ำก็ไม่หนีไปไหน พระศรีลังกาก็ช่างพูดกันดีเหลือเกิน สุดท้ายเจ้าภาพนิมนต์ให้พระธรรมโกศาจารย์กล่าวสัมโมทนียกถาเป็นภาษาอังกฤษ เมื่อกล่าวจบแล้ว พระสงฆ์ไทยพร้อมกันเจริญชัยมงคลคาถาเป็นที่ประทับใจของท่านรัฐมนตรี
           พอเสร็จพิธี คณะได้เดินทางต่อไปยังวัดถูปารามซึ่งเป็น ๑ ใน ๘ ของสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของเมืองอนุราธบุรี รองเจ้าอาวาสวัดถูปารามกระซิบบอกพระธรรมโกศาจารย์ขณะอยู่ในพิธีเปิดเจดีย์ที่ วัดสาวัตถีบุรีว่าทางวัดถูปารามเตรียมพระบรมสารีริกธาตุไว้ถวาย พระธรรมโกศาจารย์
           วัดถูปารามเป็นวัดแห่งแรกของศรีลังกาที่พระเจ้า เทวานัมปิยติสสะผู้ครองราชย์ใน พ.ศ. ๒๓๖ ทรงสร้างถวายพระ มหินทเถระ พระสถูปหรือเจดีย์ของวัดนี้เก่าแก่ที่สุดในศรีลังกา เป็นที่ประดิษฐานพระธาตุรากขวัญหรือไหปลาร้าของพุทธเจ้า พระสถูปสูง ๖๕ ฟุต มีเสาหินโบราณล้อมรอบ ๔๘ ต้น
           พอพวกเราเดินทางถึงวัดถูปารามก็ได้เห็นขบวนแห่สถูปจำลองที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุจากกุฏิเจ้าอาวาสไปยังบริเวณหน้าพระสถูปที่เก่าแก่ที่สุดของศรีลังกาคือมีอายุมากกว่า ๒,๓๐๐ ปี ท่านรัฐมนตรีประคองเครื่องสักการะนำหน้าขบวนจนถึงพระสถูป จากนั้นท่านเจ้าอาวาสได้ทำพิธีมอบถวายพระบรมสารีริกธาตุแก่พระธรรมโกศาจารย์ต่อหน้าคณะจากประเทศไทย โดยมีท่านรัฐมนตรี ดิเนศ คุณวัฒนะเป็นสักขีพยานบูชาต้นศรีมหาโพธิ์
           ออกจากวัดถูปาราม คณะของเราได้เดินทางไปนมัสการต้นศรีมหาโพธิ์ซึ่งเป็นสุดยอดแห่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์เมืองอนุราธบุรี พระนางสังฆมิตตาเถรีผู้เป็นพระธิดาของพระเจ้าอโศกได้นำกิ่งตอนจากต้นศรีมหาโพธิ์ ต้นแรกที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้มาปลูกไว้ที่นี่ในสมัยพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะผู้ครองราชย์ใน พ.ศ. ๒๓๖ ปรากฏว่าโพธิ์ตรัสรู้ต้นแรกที่พุทธคยาประเทศอินเดียตายไปแล้ว มีหน่อเกิดขึ้นใหม่มาแทนที่ ปัจจุบันโพธิ์ตรัสรู้ที่ พุทธคยาเป็นรุ่นที่ ๔
           ถ้าใครประสงค์จะไหว้ต้นศรีมหาโพธิ์ต้นแรกที่พระพุทธ เจ้าตรัสรู้ เขาต้องมาไหว้ต้นนี้ที่เมืองอนุราธบุรี เพราะปลูกจากกิ่งตอนของโพธิ์ตรัสรู้ต้นแรกจึงเป็นต้นไม้เก่าแก่ที่สุดสำหรับชาวพุทธ พระสงฆ์ในคณะได้รับอนุญาตจากเจ้าอาวาสวัดศรีมหาโพธิ์ให้ขึ้นไปไหว้ถึงชั้นบน ส่วนพระธรรมโกศาจาย์ ได้ขึ้นไปไหว้ถึงโคนโพธิ์
           เมื่อไหว้ต้นศรีมหาโพธิ์เสร็จแล้ว คณะของเราไปทำวัตรสวดมนต์เย็น ณ บริเวณลานพระสถูปที่ชื่อว่าสุวรรณมาลีของสำนักมหาวิหาร สำนักมหาวิหารแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะต่อมาได้ เป็นฐานที่มั่นของพระพุทธศาสนาเถรวาท สถูปสุวรรณมาลีนี้มีความสูง ๓๐๐ ฟุต
           พระธรรมโกศาจารย์พาคณะสงฆ์ที่ไปจากไทยทำวัตรสวดมนต์เย็นต้อนรับพระบรมสารีริกธาตุที่ได้มาจากวัดถูปาราม ณ ลานพระสถูปสุวรรณมาลี ญาติโยมชาวศรีลังกาที่แต่งชุดขาวมาถือศีลอุโบสถอยู่แถว นั้นได้พากันมาร่วมกับพวกเราสวดมนต์กันมากขึ้นๆ เมื่อเราสวดมนต์จบแต่ละบทพวกเขาจะกล่าวพร้อมกันว่าสาธุ
           ตอนที่เราเดินเท้าเปล่าจากต้นศรีมหาโพธิ์ไปยังสถูปสุวรรณมาลี เราพบคนแต่งชุดขาวถือศีลอุโบสถนั่งเป็นกลุ่มๆใต้แสงจันทร์ตามริมทางเดิน เราเห็นภาพนี้ประทับใจมาก คนศรีลังกาอยู่อย่างเรียบง่ายใช้ชีวิตด้วยระบบเศรษฐกิจพอเพียง แสวงหาความสุขสงบที่เกิดจากการปฏิบัติธรรม ทุกวันพระ ๑๕ ค่ำเป็นวันหยุด ราชการของศรีลังกาเพื่อส่งเสริมให้คนไปถือศีลอุโบสถตามวัดต่างๆ มหาวิหารและอภัยคีรีวิหาร
           รุ่งเช้าของวันที่ ๒๙ สิงหาคม คณะของเราได้ไปที่อภัยคีรีวิหารซึ่งสร้างโดยพระเจ้าวัฎคามินีอภัยหลังจากพระองค์กลับมาครองราชย์เป็นครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๔๕๕ ทั้งนี้เพื่อเป็นการตอบแทนน้ำใจของคณะสงฆ์มีพระมหาติสสะเป็นหัวหน้าที่คอยช่วยเหลือพระองค์ขณะกำลังกอบกู้บ้านเมืองจากพวกทมิฬ เมื่ออภัยคีรีวิหารเกิดขึ้นแล้ว คณะสงฆ์ศรีลังกาสมัยนั้นได้แตกออกเป็น ๒ นิกาย คือสำนักมหาวิหาร กับสำนักอภัยคิรีวิหาร
           อภัยคีรีวิหารมีคำสอนโน้มเอียงในฝ่ายมหายานและถือว่าเป็นสำนักคู่แข่งของมหาวิหารที่ยึดหลักของเถรวาทอย่างเคร่งครัด ควรทราบว่า พระอุปติสสเถระแต่งวิมุตติมรรคที่อภัยคีรีวิหารก่อนที่พระพุทธโฆสาจารย์จะแต่งวิสุทธิมรรคที่มหาวิหาร
           ทั้งมหาวิหารและอภัยคีรีวิหารในปัจจุบันเหลือแต่ซากปรักหักพัง สำนักทั้งสองเคยเจริญรุ่งเรืองอยู่นับพันปีแต่ก็ต้องถูกทิ้งให้รกร้างว่างเปล่าเมื่อพระเจ้าอัคคโพธิที่ ๓ สละเมืองอนุราธบุรีไปตั้งเมืองหลวงใหม่ชื่อว่าโปโลนนาลุวะในพ.ศ. ๑๒๗๒ คณะสงฆ์และประชาชนย้ายตามกษัตริย์ไปอยู่ที่เมืองหลวงใหม่กันหมด
           ขณะเมืองหลวงที่ ๑ ของศรีลังกาคืออนุราธบุรีถูกทิ้งให้เป็นเมืองร้างนั้น อาณาจักรขอมที่นครวัดนครธมยังไม่เกิดด้วยซ้ำ ในปัจจุบันอภัยคีรีวิหารเหลือแต่พระสถูปองค์ใหญ่สูง ๓๗๐ ฟุต กำลังบูรณะอยู่ในระหว่างการบูรณปฏิสังขรณ์ พระธรรมโกศาจารย์กำลังซ่อมเจดีย์วัดประยุรวงศาวาสจึงอยากดูวิธีซ่อมของศรีลังกา ท่านเจ้าอาวาสวัดอภัยคีรีรูปปัจจุบันได้พาพระธรรมโกศาจารย์พร้อมคณะของเราบางคนที่ใจถึงขึ้นลิฟต์คนงานไปดูการซ่อมแซมด้านบนพระสถูป เมื่อมองลงไปก็ห็นญาติโยมศรีลังกาทั้งคนหนุ่มสาวและแก่เฒ่ามาต่อแถวกันส่งอุปกรณ์สำหรับบูรณะขึ้นข้างบนพระสถูป บางคนช่วยกันแบกหามอยู่ด้านล่าง คนเหล่านี้อาสามาช่วยงานเพราะอยากทำบุญ
           จากนั้นคณะของเราได้ไปที่วัดเชตวนาราม ซึ่งมีพระสถูปสูงที่สุดในศรีลังกา คือสูงถึง ๔๐๐ ฟุต ในระหว่างทางเราได้แวะกราบพระพุทธรูปปางสมาธิอายุ ๑,๖๐๐ ปี เก่าแก่มากๆ ทำด้วยศิลาชนิดแตกลายงาทีเดียว หลังจากนั้นคณะของเราก็ได้ไปฉันภัตตาหารเพลที่วัดมิริสาเวติยะ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ของไทยเคยเสด็จมาที่วัดนี้และทรงบริจาคพระราชทรัพย์ช่วยบูรณะพระสถูปแต่ยังไม่แล้วเสร็จ จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ทรงบริจาคพระราชทรัพย์อีกจำนวนหนึ่ง การบูรณะพระสถูปจึงแล้วเสร็จสวยงาม
           หลังเพล คณะของเราได้กลับไปที่ต้นศรีมหาโพธิ์อีกเพราะพระธรรมโกศาจารย์ห่วงว่าคณะคฤหัสถ์ยังไม่ได้บูชาต้นศรีมหาโพธิ์อย่างใกล้ชิด พวกเราร่วมกันปลูกต้นไม้เป็นที่ระลึกในบริเวณใกล้ต้นศรีมหาโพธิ์ และแล้วด้วยความเมตตาเป็นพิเศษของท่านเจ้าอาวาสวัดศรีมหาโพธิ์ คณะคฤหัสถ์ของเราได้ขึ้นไปบูชาต้นศรีมหาโพธิ์อย่างใกล้ชิดถึงชั้นบนสมความตั้งใจของทุกคน
           จากนั้นคณะของเราไปที่วัดอิสรมุนีได้ชมหินสลักเป็นรูปช้างและพิพิธภัณฑ์ของวัด ที่วัดนี้คณะของเราแยกเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มคฤหัสถ์กับกลุ่มพระสงฆ์ กลุ่มคฤหัสถ์ยังอยู่ชมเมืองอนุราธบุรีต่อจนกว่าจะกลับไทยในวันที่ ๑ กันยายน ส่วนพระสงฆ์เดินทางกลับกรุงโคลัมโบเพื่อบินกลับไทยก่อนในวันที่ ๓๐ สิงหาคม กราบพระพุทธรูปที่อวุคณะ
           ในระหว่างเดินทางกลับกรุงโคลัมโบ กลุ่มพระสงฆ์ได้แวะที่วัดอวุคณะเพื่อกราบพระพุทธรูปสลักจากหินแกรนิตองค์ใหญ่สูง ๓๘ ฟุต จุดเด่นคือกลีบจีวรที่เป็นระเบียบสวยงามมาก เป็นแบบคลื่นน้ำในทะเลสาบซึ่งอยู่ใกล้กับวัดทีเดียว พระพุทธรูปองค์นี้ตั้งอยู่กลางแจ้งติดกับเนินขา สร้างโดยพระเจ้าธาตุเสนผู้ครองราชย์เมื่อพ.ศ. ๑๐๐๒ ฐานพระพุทธรูปทำเป็นลิ้นชักหินเปิดปิดได้ เคยพบของโบราณเก็บไว้ในนั้น
           เมื่อกลุ่มพระสงฆ์เดินทางถึงกรุงโคลัมโบ ท่านรัฐมนตรีดิเนศ คุณวัฒนะมาถวายน้ำปานะเป็นการเลี้ยงส่งก่อนกลับไทย คณะสงฆ์เดินทางกลับประเทศไทยในวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๐ ในขณะที่คณะคฤหัสถ์ไปเยี่ยมชมสิคิริยะ มิหินตเล อวุคณะ วัดกัลยาณี ท่านรัฐมนตรีดิเนศ คุณวัฒนะ ได้เลี้ยงส่งที่สภาชาวพุทธศรีลังกา กรุงโคลัมโบ คณะคฤหัสถ์นี้กลับถึงประเทศไทยในวันที่ ๑ กันยายน
           รวมความว่าพวกเราทุกคนกลับถึงไทยโดยสวัสดิภาพ นำความทรงจำที่งดงาม เกี่ยวกับพุทธศาสนาและประชาชนในศรีลังกาติดใจกลับมา การเดินทางเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้พระพุทธศาสนาครั้งนี้ประผลสำเร็จในการสานต่อความสัมพันธ์ทางศาสนาระหว่างประเทศศรีลังกาและประเทศไทยที่พระอุบาลีได้เริ่มไว้เมื่อ ๒๕๔ ปีมาแล้ว พวกเราเพียงแต่เดินตามรอยของพระธรรมทูตไทยผู้ยิ่งใหญ่รูปนี้ ของขวัญล้ำค่าที่คณะของเราได้นำกลับมาคือพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจาก วัดถูปาราม ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ที่สุดในศรีลังกา
           คณะของเราได้ช่วยกันอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุด้วยการประคองส่งต่อๆ กันมาจนถึงเมืองไทย ขณะเดินทางกลับประเทศไทยพวกเราได้ปรึกษากันก่อนลงจากเครื่องบินว่าเราควรจะประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุไว้ในที่ใดจึงจะเหมาะสม เมื่อปรึกษากันแล้วพวกเราเห็นว่า เนื่องจากวัดประยุรวงศาวาสกำลังบูรณะพระเจดีย์ของวัดอายุ ๑๘๐ ปีสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นพระเจดีย์สูงที่สุดในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นจึงสมควรที่พวกเราจะอัญเชิญ พระบรมสารีริกธาตุไปประดิษฐานในพระบรมธาตุมหาเจดีย์วัดประยุรวงศาวาส

คติธรรมในองค์พระเจดีย์
           การไปเยือนศรีลังกาครั้งนี้ทำให้ได้ความรู้ว่ารูปทรงของเจดีย์หรือสถูปทั้งในศรีลังกาและในไทยมีหลายรูปแบบ เช่น รูปทรงระฆัง รูปทรงกองฟาง รูปทรงโอคว่ำ รูปทรงดอกบัว รูปทรงฟองน้ำ ตัวอย่างเช่น พระสถูปสุวรรณมาลีของศรีลังกามีรูปทรงเหมือนฟองน้ำ ส่วนพระบรมธาตุมหาเจดีย์วัดประยุรวงศาวาสมีรูปทรงเหมือนระฆังคว่ำ
           เมื่อช่างศรีลังกาและช่างไทยสมัยโบราณสร้างสถูปหรือเจดีย์ถวายเป็นพุทธบูชา พวกเขาได้ฝากคติธรรมทางพระพุทธศาสนาไว้กับองค์สถูปหรือเจดีย์ ซึ่งพอตีความได้ดังนี้
           (๑) ฐานรากใต้ดินหมายถึงธรรม ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
           (๒) ส่วนที่เป็นฐานสถูปหรือเจดีย์เหนือพื้นดินขึ้นมามี ๓ ชั้นหมายถึงพระรัตนตรัย
           (๓) ถัดจากนั้นเป็นรูปโดมทรงฟองน้ำหรือระฆังคว่ำเป็นต้นหมายถึงโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ
           (๔) ต่อจากนั้นเป็นบัลลังก์สี่เหลี่ยมหมายถึงอริยสัจ ๔
           (๕) ถัดจากนั้นไปเป็นปล้องไฉนหมายถึงนวังคสัตถุศาสน์
           (๖) ต่อจากนั้นเป็นปลียอดหมายถึงมรรค ๔ ผล ๔
           (๗) ยอดบนสุดเป็นรูปทรงกลมหมายถึงพระนิพพาน

           วัดประยุรวงศาวาสได้ทำพิธีประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่อัญเชิญมาจากศรีลังกา ณ วิหารพระพุทธนาคเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนมากราบไหว้บูชาเป็นเวลา ๑ ปี ก่อนที่นำไปประดิษฐานในพระบรมธาตุ มหาเจดีย์หรือสถานที่อันควรต่อไป


           ขอจบบันทึกการเดินทางเยือนสยามนิกายในศรีลังกาด้วยคำอวยพรแบบศรีลังกาว่า อายุบวร แปลว่า ขอให้ทุกท่านมีอายุยิ่งยืนนาน
(ที่มา: บันทึกการเดินทางเยือนประเทศศรีลังกา)
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕