หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
ภายในระบบ
หลักสูตร
รายละเอียดประจำวิชา
เอกสารประกอบการสอน
ตำราวิชาการ
บทความวิชาการ

หน้าหลัก » พระพุทธศาสนา » พระพุทธศาสนาในสถานการณ์โลกปัจจุบัน
 
เข้าชม : ๒๐๔๒๔ ครั้ง

''พระพุทธศาสนาในสถานการณ์โลกปัจจุบัน''
 
พระเทพโสภณ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) (2544)

 

 
สหประชาชาติยอมรับวันวิสาขบูชาตามแบบเถรวาท
            วันวิสาขบูชาเป็นวันของพระพุทธศาสนา แต่ได้เป็นวันที่สหประชาชาติยอมรับให้เป็นวันสำคัญสากลของโลก พระพุทธศาสนาในประเทศต่าง ๆ ก็ฉลองวันวิสาขบูชา รัฐบาลอินเดียซึ่งเป็นรัฐบาลที่นับถือศาสนาฮินดู ได้ประกาศวันวิสาขบูชา เป็นวันหยุดราชการ เรียกว่าวันพุทธชยันตี (Buddha Jayanti) แปลว่าวันเกิดของพระพุทธเจ้า ชาวพุทธในอินเดียส่งบัตรอวยพรกันในวันนี้
            วิสาขะเป็นภาษาบาลีแปลว่าเดือนหก ภาษาสันสกฤตเรียกว่าไวศาขะ วิสาขบูชา คือการบูชาในเดือนหก ศรีลังกาเรียกว่า เวสัค หรือ วีสัค (Vesak) สหประชาชาติใช้คำว่า Vesak ตามชาวศรีลังกา ซึ่งมีการเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชามานานก่อนประเทศไทย
            ประเทศพม่า และประเทศอื่น ๆ ในเอเซียอาคเนย์ รวมทั้งประเทศไทย จะมีการเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชาในวันเพ็ญกลางเดือนหก คือเดือนวิสาข แต่ในประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน เช่น ญี่ปุ่น ได้กำหนดวันวิสาขบูชาตรงกับวันที่ ๘ เมษายนของทุกปี บางนิกายในบางประเทศไม่ได้กำหนดวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้าในวันเดียวกัน ประเทศที่นับถือมหายานถือว่า พระพุทธเจ้าประสูติวันหนึ่ง ตรัสรู้วันหนึ่ง และปรินิพพานอีกวันหนึ่ง เช่นประสูติวันที่ ๘ เมษายน ตรัสรู้วันที่ ๘ ธันวาคม และปรินิพพานวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์
            การที่สหประชาชาติได้กำหนดวันวิสาขบูชาตรงกับวันเพ็ญกลางเดือนหก จึงเป็นการกำหนดตามแบบพระพุทธศาสนาเถรวาท สหประชาชาติใช้คำว่าวันเพ็ญกลางเดือนพฤษภาคม การที่พระพุทธศาสนาได้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของโลกเป็นพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท และฝ่ายมหายานก็ยอมรับข้อกำหนดนี้
            การที่สหประชาชาติกำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของโลก เพราะพระพุทธศาสนาเป็นบ่อเกิดแห่งอารยธรรมของโลก ทางสหประชาชาติเรียกว่า Spirituality หมายความว่าได้หล่อหลอมจิตวิญญาณของมวลมนุษยชาติ ตามแนวทางแห่งสันติภาพ ตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนาเป็นเวลากว่า ๒,๐๐๐ ปี ในคำประกาศของที่ประชุมใหญ่สมัชชาสหประชาชาติ ครั้งที่ ๕๔ เมื่อ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๔๒ มีการระบุว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดศาสนาหนึ่งของโลก ที่ได้หล่อหลอมจิตวิญญาณ ของมนุษยชาติมานาน ควรที่จะยกย่องกันทั่วโลก จึงประกาศให้วันวิสาขบูชาคือ วันเพ็ญเดือนพฤษภาคม เป็นวันสำคัญสากลนานาชาติ (International Day) เมื่อถึงวันดังกล่าวให้สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ สำนักงานย่อยทั่วโลก รวมถึงสำนักงานในประเทศไทย ต้องจัดพิธีวันวิสาขบูชา สำหรับชาวพุทธที่ทำงานอยู่ในสำนักงาน
พระพุทธศาสนา ในฐานะเป็นแหล่งอารยธรรมของโลก
            การที่ทั่วโลกยอมรับวันวิสาขะเป็นเพราะคุณค่าของพระพุทธศาสนาว่าเป็นบ่อเกิดแห่งอารยธรรมของโลก พระพุทธศาสนาเป็นมรดกที่สำคัญของโลก และพระพุทธเจ้าเป็นเอกอัครบุรุษที่ยิ่งใหญ่ของโลก
            ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ไม่เคยมีสงครามระหว่างประเทศโดยการอ้างพระพุทธศาสนามาเป็นต้นเหตุ ชาวพุทธไม่เคยก่อสงครามศาสนา ฉะนั้นจึงขอให้วันวิสาขบูชาเป็นวันที่รำลึกถึงสันติภาพของโลก พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งความรัก ศาสนาแห่งสันติภาพ ฝ่ายชาวพุทธต่างหากที่อาจจะรักสันติภาพมากเกินไปจนกลายเป็นม้าอารี ที่กล่าวเช่นนี้ ไม่ใช่หมายเอาเฉพาะประเทศไทย รัฐบาลทะลิบัน ในประเทศอัฟกานิสถานทำลายพระพุทธรูปเก่าแก่ที่สุดของโลก มีอายุมากกว่า ๒,๐๐๐ ปี จำนวน ๒ องค์ โดยได้ใช้ระเบิดทำลายไปจนไม่มีเหลือแม้แต่ซาก เป็นเรื่องที่ไม่คาดคิดว่าในขณะที่ชาวโลกยอมรับวันวิสาขบูชา ให้เป็นวันสำคัญสากล แต่ชาวโลกรักษาพระพุทธรูปเก่าแก่ที่สุดนั้นไม่ได้ แม้ยูเนสโก (UNESCO) หรือกลุ่มประเทศ จี ๗ จะยื่นมือเข้ามาแทรกแซงก็ไม่เป็นผลสำเร็จ
            เรื่องนี้เป็นประเด็นที่ขอให้ชาวพุทธทั้งหลายช่วยกันคิดว่า วันวิสาขบูชา เราจะทำอะไรถวายพระพุทธเจ้า ในระดับประเทศ ในระดับโลก ให้เป็นพุทธบูชา เราควรทำอะไรให้สมกับเป็นชาวพุทธหรือไม่ ในระดับประเทศที่คนส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ ประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ รัฐบาลก็เป็นชาวพุทธ มีนโยบายอะไรที่จะส่งเสริมในลักษณะที่บ่งบอกว่าประเทศนี้เป็นประเทศพระพุทธศาสนา ถ้าจะเรียกร้องว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ นอกจากจะเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว เราจะทำอะไรให้ปรากฏ ในแนวนโยบายหลักของรัฐบาล นโยบายหลักของกระทรวง ที่แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยนี้ดินแดนนี้เป็นดินแดนแห่งพระพุทธศาสนา
            พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งสันติภาพ ในความหมายที่ว่าเมื่อเผยแผ่ไปถึงไหนก็ไปอย่างสันติ ไปที่ไหนเจ้าของบ้านเขาต้อนรับ เพราะเราไม่ได้ไปทำลายสิ่งที่เขาเคารพนับถือ เราอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เมื่อพระพุทธเจ้าได้ส่งพระอรหันต์ ๖๐ รูป ไปประกาศพระพุทธศาสนาเป็นรุ่นแรก จนกระทั่งถึงวันเพ็ญกลางเดือนสาม หลังจากตรัสรู้ได้เก้าเดือน มีการมาประชุมกัน ณ วัดเวฬุวัน ในวันมาฆบูชา เป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้นจำนวน ๑,๒๕๐ รูป ในวันนั้นได้ประกาศธรรมนูญการเผยแผ่พระพุทธศาสนาว่า
            ขนฺตี ปรม ํ ตโป ตีติกฺขา        ขันติคือความอดกลั้นอย่างยิ่ง
            อนูปวาโท อนูปฆาโต            เผยแผ่พระศาสนาโดยไม่ว่าร้ายใคร ไม่เบียดเบียนใครไม่เข่นฆ่าประหัตประหารใคร ไปอย่างสันติ
พระพุทธเจ้าได้ประกาศสันติภาพไว้ในธรรมนูญ พุทธศาสนาเรียกว่า โอวาทปาฏิโมกข์ คือคำสอนหลักที่เป็นประธาน
พุทธธรรมกับเศรษฐกิจพอเพียง
            พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทจัดเป็นภูมิปัญญาตะวันออก ตอนนี้โลกตะวันตกกำลังสับสน เกิดความอับจนในเรื่องภูมิปัญญา มีปัญหาเศรษฐกิจ เศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกากำลังชะลอตัว เศรษฐกิจของโลกก็ซบเซาตามที่เป็นเช่นนี้ เพราะคิดแบบวัตถุนิยม หรือบริโภคนิยม แต่ละประเทศผลิตสินค้าเพื่อกระตุ้นตัณหา ไม่มีคำว่าพอเพียงในระบบทุนเศรษฐกิจนิยม
            พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีแนวพระราชดำริเรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง (Self - Subficiency Economy) ซึ่งมีฐานมาจากหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ที่สอนในเรื่องการพึ่งตน อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนแลเป็นที่พึ่งของตน เศรษฐกิจพอเพียงสอนเรื่องการพึ่งตนเอง สภาพที่เป็นอยู่ปัจจุบันเป็นเพราะไม่รู้จักพอเพียง คือ
                - ไม่รู้จักพึ่งตนเอง ไปกู้เงินต่างประเทศมากเกินไป
                - ไม่รู้จักคำว่าพอใจตามมี ยินดีตามได้ คือไม่สันโดษ ตามหลักพระพุทธศาสนา
                - ไม่รู้จักคำว่าพอดี คือ มัตตัญญุตา หรือทางสายกลาง มัชฌิมาปฏิปทา
            เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมีฐานมาจากภูมิปัญญา ทางพุทธศาสนาคือ
                - เรื่อง อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ การพึ่งตนเอง พยายามใช้ทรัพยากรในประเทศของเราเอง
                - รู้จักคำว่าพอเพียง คือ พอใจตามมี ยินดีตามได้ ตามหลักสันโดษ
                - รู้จักคำว่าพอดี มัชฌิมาปฏิปทา คือ ทางสายกลาง โดยให้มีความสุขกาย และสุขใจไปด้วยกัน
หลักธรรมดังกล่าวนี้มีอยู่ในเศรษฐกิจพอเพียง ชาวพุทธต้องช่วยขยายแนวพระราชดำรินี้ไปทั่วโลก ให้เป็นภูมิปัญญาของโลก สามารถส่งออกทางความคิด เป็นทรัพย์สินทางปัญญาไปช่วยชาวโลกได้
            เมื่อไปดูภูมิปัญญาชาวตะวันตก ไอสไตน์ได้กล่าวไว้ว่า ถ้าจะมีศาสนาของโลกที่สอดคล้องกับจิตวิญญาณทางวิทยาศาสตร์ ไม่พูดเรื่องพระเจ้าให้นักวิทยาศาสตร์เสียความรู้สึก พูดถึงปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ และพัฒนาการทางจิตวิญญาณของมนุษย์ ถ้ามีศาสนาเช่นนั้น นักวิทยาศาสตร์จะยอมรับได้ทั่วโลกและถูกใจนักวิทยาศาสตร์ ไอสไตน์พิจารณาเห็นว่าศาสนาที่ว่านั้นคือพระพุทธศาสนา
อนัตตาแห่งฟิสิกส์
            พระพุทธเจ้าทรงสอนเรื่องอนัตตามานานแล้ว อนัตตาคือความไม่มีแก่นสาร ไม่มีตัวตน พระพุทธเจ้าทรงใช้คำว่า สัพเพ ธัมมา อนัตตา ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา
            สิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นจากอาศัยปัจจัยปรุงแต่งประกอบเข้า สิ่งต่าง ๆ เป็น Non - Atom แบ่งแยกได้นี่เป็น อนัตตา แบบพระพุทธศาสนา ทางตะวันตกเพิ่งมายอมรับเมื่อศตวรรษที่ ๒๐ ว่า อะตอมแบ่งแยกได้ เรียกว่า ทฤษฎีควอนตัม (Quantum Theory)
พระพุทธรูปถูกทำลายที่อัฟกานิสถาน
            การที่ว่าเป็นแหล่งอารยธรรมของโลก ไม่ใช่เป็นเรื่องศาสนบุคคล หรือศาสนธรรมอย่างเดียว เรายังมีศาสนวัตถุ ศาสนพิธี ศาสนวัตถุในพระพุทธศาสนาอันเป็นแหล่งอารยธรรมของโลกที่ดี เราต้องยกเป็นมรดกโลกหมด เพื่อป้องกันการถูกทำลาย ลงไปอย่างพระพุทธรูปในอัฟกานิสถาน
            วิธีแรก ชาวพุทธทั่วโลกต้องแสดงพลังโดยมีการประชุมกัน มีการสำรวจและทำบัญชีว่ามีศาสนสถาน และศาสนวัตถุ อยู่ในดินแดนศาสนาอื่นที่ใดบ้าง แล้วขึ้นบัญชี ยูเนสโก (Unesco) เป็นมรดกโลกให้หมด
            วิธีที่สอง ชาวพุทธรวมตัวกัน ระดับโลกกับศาสนาอื่น เพื่อรักษาศาสนสถาน และศาสนวัตถุของทุกศาสนา เพื่อไม่ให้มีการทำลายจากฝ่ายใดก็ตาม
            ข่าวการทำลายพระพุทธรูปที่บามิยันของรัฐบาลทะลิบัน ประเทศอัฟกานิสถาน อิสลามทั่วโลกตำหนิอัฟกานิสถานว่าอย่าทำลาย ยูเนสโก ก็ขอร้องไม่ให้ทำลาย การทำลายพระพุทธรูปที่บามิยันเหมือนทำลายจิตวิญญาณชาวพุทธ เป็นบทเรียนราคาแพง เหมือนการเผาทำลาย นาลันทามหาวิหาร ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยยิ่งใหญ่ในอินเดียโบราณ เป็นมหาวิทยาลัยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก มีนิสิตนักศึกษา ๑๕,๐๐๐ รูป มีครูอาจารย์ ๑,๕๐๐ คน มีห้องสมุด ๓ หลัง มหาวิทยาลัยถูกเผาโดยมุสลิมจนหมดสิ้น ห้องสมุดขนาดใหญ่ต้องใช้เวลาเผาอยู่ ๒ เดือน
ทำอย่างไรในยุคเศรษฐกิจชะลอตัว
            ทาน ศีล ภาวนา เราคงปฏิบัติได้ถูกต้องตามสถานการณ์ พระพุทธเจ้าตรัสว่า วิเจยฺย ทานํ พาตพฺพํ ยตฺถ ทินฺนํ มหปฺผลํ ต้องพิจารณาให้ดีแล้วจึงให้ทาน ในที่ที่มีผลมาก คำว่าพิจารณาคือ เลือกของถวาย และเลือกผู้รับ
            ประการแรก เลือกของถวายให้เหมาะกับผู้รับ ใส่บาตรพระเพื่อให้พระท่านมีกำลังเผยแผ่พระพุทธศาสนา เรียกว่ามี ปุพฺพเจตนา เจตนาเบื้องต้นก่อนถวาย ของที่ถวายเป็นของบริสุทธิ์ เรียกว่าเป็นทักษิณาที่บริสุทธิ์
            วันสำคัญทางศาสนาขอให้มีเจตนาที่ดี บูชาพระด้วยเจตนาที่เป็นกุศล ให้จิตเกิดโสมนัสดีใจชื่นใจ ถ้าเจตนาก่อนทำ กำลังทำ และทำแล้วผ่องใสทานก็มีผลมาก มีอานิสงส์มาก อีกประการหนึ่งขึ้นอยู่กับผู้รับด้วย ถ้าผู้รับเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ เพิ่งออกจากกัมมัฏฐานเจโตสมาบัติ ทานยิ่งให้ผลมาก อีกอย่างหนึ่งคือถวายสงฆ์ เรียกว่าสังฆทานเป็นวิธีที่ปลอดภัยอย่างหนึ่ง เมื่อใดพระอริยเจ้ามาใช้ประโยชน์จากทานนั้น ผู้บริจาคก็จะได้บุญใหญ่
การพัฒนาปัญญาเป็นหัวใจของเศรษฐกิจใหม่
            เศรษฐกิจใหม่ (New Economy) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทางใช้คำว่าเศรษฐกิจพอเพียง พระพุทธศาสนาจะไปเสริมเศรษฐกิจใหม่ หรือเศรษฐกิจพอเพียง การเพิ่มทรัพย์สินทางปัญญา ใช้วัตถุดิบในประเทศเมื่อเรานำมาผลิตด้วยปัญญา จำทำให้มูลค่าเพิ่มขึ้น ด้วยภูมิปัญญาไทย ใช้ของไทย ผลิตในประเทศไทย
            สังคมชาวพุทธต้องช่วยกันลดแหล่งอบายมุข ซึ่งเป็นแหล่งรั่วในสังคมไทยอันได้แก่ ดื่มสุรา เที่ยวกลางคืน ดูการละเล่น เล่นการพนัน คบคนชั่วเป็นมิตร และเกียจคร้าน
            การปฏิบัติการศึกษาต้องช่วยยกระดับความสามารถของเราในการแข่งขันระดับโลก
พระพุทธศาสนากับการปฏิรูปการศึกษา
            คณะสงฆ์กำลังตื่นตัวเรื่องการจัดการศึกษาให้พระภิกษุ สามเณร ผู้เข้ามาบวชจะต้องได้รับการศึกษา เล่าเรียนพระธรรมวินัยอย่างทั่วหน้า และมีคุณภาพ ชาวบ้านต้องช่วยอุปถัมภ์การศึกษาแก่ท่าน พระสงฆ์จะได้เป็นกำลังสำคัญ ในการสอนพระศาสนา เป็นฐานที่มั่นของการเผยแผ่พระศาสนาทั่วโลก วัดต่าง ๆ ให้หันมาสร้างโรงเรียน หรือศูนย์การเรียนให้มากขึ้น
            ขอให้ใช้วิจารณญาณประกอบการให้ทาน วิเจยฺย ทานํ คือ พิจารณาก่อนให้ทานที่จะมีผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง การสนับสนุนการศึกษาสงฆ์ ช่วยโรงพยาบาลสงฆ์ การถวายทานอย่างนี้จะเป็นการสร้างรากฐานทางปัญญาที่มั่นคงให้แก่ประเทศชาติได้ เป็นการให้ทานอย่างถูกสถานการณ์
            การรักษาศีลในสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน ให้พยายาม ลด ละ เลิก อบายมุข และใช้ของที่ผลิตในประเทศอย่างประหยัด ไม่ฟุ่มเฟือย ตั้งใจรักษาศีล ๕ หรือศีล ๘ การประหยัดแบบนี้เรียกว่านโยบายเก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน คือหาเงินตามบ้านของตนเอง ถ้าเรารักษาศีลข้อที่ ๖ คือไม่ทานอาหารเย็นในวันพระหรือวันสำคัญทางศาสนา แล้วนำเงินที่ประหยัดได้นั้น ไปทำบุญที่วัดส่งเสริมการศึกษาของพระภิกษุ สามเณร ถ้าทำอย่างนี้ได้จะลดความเห็นแก่ตัว และทำให้ชาวพุทธพึ่งกันและกันมากขึ้น ศรัทธากับปัญญาต้องมาคู่กัน ศรัทธามากเกินไปจนขาดปัญญา จะงมงายกลายเป็นไสยศาสตร์ ปัญญามากเกินไปจนขาดศรัทธาจะเกิดความสงสัยไม่ปฏิบัติ
            ปัญญาภาวนาต้องทำให้มาก ศาสนพิธีไม่ใช่ทำตาม ๆ กัน พอเป็นพิธี แต่ให้ทำด้วยความรู้ การบูชาพระมีการจุดธูปเทียน ต้องรู้ว่าจุดอะไรก่อน ต้องรู้ว่าเราจุดธูปสามดอกเพื่อบูชาพระพุทธ จุดเทียน ๒ เล่ม เพื่อบูชาพระธรรม และดอกไม้สำหรับบูชาพระสงฆ์ การสวดมนต์มีเพื่ออะไร เราควรต้องรู้ความหมายของบทสวดมนต์ วิธีสวดมนต์ภาษาบาลี การเรียนพระอภิธรรมต้องเรียนภาษาบาลีก่อน มหาวิทยาลัยสงฆ์เป็นของกลาง ไม่ใช่ของวัดใดวันหนึ่ง ชาวพุทธทั่วประเทศมีสิทธิ์มาใช้บริการ เป็นการลงทุนทางปัญญา เมื่อสร้างมหาวิทยาลัยสงฆ์แล้วให้ใช้ประโยชน์ได้นานเหมือนมหาวิทยาลัยนาลันทา ให้เป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนาระดับโลก จะทำให้ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นผู้นำในด้านพระพุทธศาสนา และเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาอย่างเต็มภาคภูมิ
            ที่กล่าวมาแล้วเป็นการทำบุญให้ถูกวิธี ปรับวิธีการให้ทาน รักษาศีลและเจริญภาวนาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของโลก คือปรับการทำทาน การรักษาศีลให้สัมพันธ์กับหลักเศรษฐกิจพอเพียง เจริญภาวนาด้วยการปฏิรูปการศึกษาให้มีปัญญาพึ่งพาตนเองได้ ในที่สุดทาน ศีล ภาวนา จะช่วยพัฒนาประเทศไทยให้เข้มแข็ง เป็นสังคมชาวพุทธที่นอกจากจะพึ่งตนเองได้แล้ว ยังสามารถนำอารยธรรมของพระพุทธศาสนาไปเผยแผ่ในสังคมโลก
 
----------------------------
หมายเหตุ : เก็บความจาก ปาฐกถาธรรมของ พระเทพโสภณ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) เจ้าคณะภาค ๒, อธิการบดีมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ ต่อมาได้ถอดเทปตีพิมน์เป็นหนังสือขนาด ๑๖ หน้าหนา ๔๓ หน้า
 
(ที่มา: มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย )
 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕