หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU
Mahachulalongkornrajavidyalaya University


ข้อมูลเรื่อง


มหาวิทยาลัย


การบริหาร

วิชาการ

การวิจัย

หลักสูตรมหาวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย

วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ

คณะและส่วนงาน

ทำบุญกับมหาจุฬาฯ

งานบริการวิชาการแก่สังคม

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

กฎระเบียบและประกาศ


ข้อมูลสำหรับ

อาจารย์/บุคลากร

นิสิต

สมาคมศิษย์เก่า



  สถิติเข้าชมส่วนงาน  
ของวิทยาเขต
คลิ๊กเพื่อเลือกส่วนงาน
กรุงเทพ ฯ
คณะ/บัณฑิตวิทยาลัย
วิทยาเขต
วิทยาลัยสงฆ์
ห้องเรียน

 ประเพณีวัฒนธรรมในพุทธศาสนา

     พุทธศาสนากับวัฒนธรรมไทย

            ประเทศไทยเป็นประเทศพระพุทธศาสนา คนไทยส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนาและนับถือมานานนับเป็นพันปี คน
ไทยสมัยโบราณหันหน้าเข้าวัดใกล้ชิดสนิทกับวัดมาก และวัดก็ทำหน้าที่ที่สำคัญเพื่อชาวบ้านไม่น้อย เช่น
 
          ๑. เป็นสถานศึกษา ชาวบ้านส่งลูกหลานอยู่วัดเพื่อรับใช้พระและรับการอบรมศีลธรรม เล่าเรียนวิชาการต่างๆ จากพระ
            ๒. เป็นสถานสงเคราะห์ บุตรหลานชาวบ้านที่ยากจนได้มาอาศัยอยู่ในวัด อาศัยเล่าเรียนและดำรงชีพ แม้ผู้ใหญ่ที่ยาก
                 จนก็อาศัยวัดดำรงชีพ
            ๓. เป็นสถานพยาบาล รักษาผู้เจ็บป่วยตามความรู้ความสามารถในสมัยนั้น
            ๔. เป็นที่พักคนเดินทาง
            ๕. เป็นสโมสร ชาวบ้านมาพบปะสังสรรค์ พักผ่อนหย่อนใจ หาความรู้
            ๖. เป็นสถานบันเทิง ที่จัดงานเทศกาลและมหรสพต่าง ๆ
            ๗. เป็นที่ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท (ชาวบ้านไปหาความยุติธรรมที่วัด)
            ๘. เป็นที่ปรึกษาการครองตน การครองชีพ แก้ปัญหาชีวิตครอบครัวและความทุกข์ต่างๆ
            ๙. เป็นศูนย์กลางศิลปวัฒนธรรม ที่รวมรวมศิลปกรรมต่างๆ ของชาติ
            ๑๐. เป็นคลังพัสดุ เก็บของใช้ต่าง ๆ ที่ชาวบ้านจะได้ใช้ร่วมกันเมื่อมีงานที่วัด หรือเอาไปใช้เมื่อตนมีงาน
            ๑๑. เป็นศูนย์กลางการปกครองท้องถิ่น ที่กำนันผู้ใหญ่บ้านเรียกประชุมลูกบ้านชี้แจงข้อราชการต่างๆ
            ๑๒.เป็นที่บำเพ็ญกุศลกิจ หรือประกอบพิธีกรรมตามประเพณี


             เพราะคนไทยใกล้ชิดวัด มีชีวิตแนบแน่นกับพระพุทธศาสนามากเช่นนี้ พระพุทธศาสนาจึงมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรม
ไทยมากมายเช่น

             ๑. อิทธิพลต่อลักษณะนิสัยจิตใจ คนไทยมีนิสัยเยือกเย็น โอบอ้อมอารี เมตตากรุณา เคารพ อ่อนน้อม ถ่อมตน กตัญญ
กตเวที ขยัน อดทน สุภาพ และไม่เห็นแก่ตัว เป็นต้น เพราะหลักธรรมทางพุทธศาสนา
             ๒. อิทธิพลต่อศิลปกรรมและสถาปัตยกรรม ศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมของไทยเจริญก้าวหน้า เพราะพระพุทธศาส
นา เช่น ภาพเขียนฝาผนังโบสถ์ แบบก่อสร้างโบสถ์วิหาร การหล่อพระพุทธรูป เจดีย์ รูปทรงต่างๆ ศิลปกรรมและสถาปัตยกรรม
ของไทยวิจิตรงดงาม เพราะพระพุทธศาสนาเป็นแรงบันดาลใจ
             ๓. อิทธิพลต่อภาษา คนไทยรับพระพุทธศาสนาทั้งเถรวาทและมหายานจากอินเดีย เราจึงรับเอาภาษาบาลีหรือมคธ
และภาษาสันสกฤตมาใช้ในภาษาไทยมากมาย เช่น บุปผา - บุษบา, ปัญญา - ปรัชญา, บุญ – บุณย์, กิตติ – เกียรติ, วิเชียร –
เพชร, วิชา – วิทยา, รุกขชาติ – พฤกษาชาติ, มนุษย์ – บุคคล มณฑป บัณฑิต รถยนต์ สุข ผาสุก เกษตร ศาสตร์ ธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ เป็นต้น
             ๔. อิทธิพลต่อวรรณกรรม วรรณกรรมต่าง ๆ ของไทยที่สำคัญและดีเด่นเข้าขั้นวรรณคดี ส่วนมากมาจากเรื่องทาง
พระพุทธศาสนา เช่น ไตรภูมิพระร่วง มหาชาติคำหลวง สมุทรโฆษคำฉันท์ ปุณโณวาท คำฉันท์ พระมาลัยคำหลวง ปฐมสม
โพธิกถา สามัคคีเภทคำฉันท์ และกาพย์เห่เรือ พระกฐินหลวง เป็นต้น แม้เรื่องของไทยแท้ ๆ เช่น ลิลิตพระลอ ก็ยังมีหลักธรรม
ทางพระพุทธศาสนาแทรกอยู่ เช่น


                                      สิ่งใดในโลกล้วน      อนิจจัง
                                คงแต่บาปบุญยัง            เที่ยงแท้
                                คือเงาติดตัวตรัง            ตรึงแน่น อยู่นา
                                ตามแต่บุญบาปแล้           ก่อเกื้อรักษา
                                                          ฯลฯ

              ๕. อิทธิพลต่อจารีตประเพณี ประเพณีที่สำคัญ ๆ ของไทย ส่วนมาสืบเนื่องมาจากพระพุทธศาสนา เช่น มาฆบูชา วิสาขบูชา อาสาฬหบูชา เข้าพรรษา แห่เทียนพรรษา ตักบาตรเทโว ทำขวัญนาค ลอยกระทง และพิธีแห่ต่างๆ ของภาคเหนือและ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
              ๖. อิทธิพลต่อขนบธรรมเนียม ขนบธรรมเนียมต่าง ๆ ของไทยสืบเนื่องมาจากพระพุทธศาสนา ได้อาศัยหลักธรรม
ทางพระพุทธศาสนาเป็นแนวปฏิบัติ เช่น การต้อนรับแขก การเข้าพบผู้ควรเคารพ การให้เกียรติแก่ผู้อื่น มารยาทสุภาพ อ่อนโยน ไม่ลุอำนาจฝ่ายต่ำ เช่น โลภ โกรธ หลง
              ๗. อิทธิพลต่อการศึกษาเล่าเรียน สมัยโบราณวัดเป็นศูนย์กลางการศึกษา พระเป็นครูสอนศีลธรรมและอบรมจรรยา
มารยาทแล้วยังสอนวิชาการต่างๆ เช่น คณิตศาสตร์ แพทย์ศาสตร์ ดาราศาสตร์ โหราศาสตร์ แม้กระทั่งวิชากระบี่กระบอง ฟัน
ดาบ มวย พระก็เป็นครูสอน ปัจจุบันวัดยังเป็นสถานศึกษาและอบรมจิตใจ
              ๘. อิทธิพลต่อดุริยางคศิลป์ ในพิธีทางพระพุทธศาสนา เช่น ทำบุญเลี้ยงพระในโอกาสต่างๆ บวชนาค เทศน์ ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า มักจะมีการบรรเลงเพลงเสมอ เช่น เพลงสาธุการ เพลงเห่เรือพระกฐิน เพลงพญาโศก เป็นต้น

 
        ศาสนพิธี

               ความรู้เรื่องศาสนพิธีย่อมมีกว้างขวางลึกซึ้งประณีตขึ้นเป็นชั้นๆ ยิ่งรู้กว้างและประณีตเพียงไร ก็ย่อมเป็นประโยชน์
อันไพศาลแก่การพระศาสนาเพียงนั้น เพราะพิธีแต่ละอย่างที่เกิดเป็นความนิยมในพระศาสนานี้ ย่อมเกิดมีโดยเหตุผล และมีจุด
หมายทั้งในบั้นต้นและในบั้นปลาย ทุกพิธีไม่ใช่เกิดมีนิยมกันขึ้นลอยๆ โดยไร้เหตุผล ถ้านักศึกษาไม่ศึกษาให้รู้เหตุผลต้นปลาย และ
จุดมุ่งหมายลึกซึ้งแล้ว อาจจะไม่เข้าใจเรื่องของพิธีบางประการก็ได้และอาจเห็นเป็นความรุ่มร่ามไร้สาระไปเลยหรือไม่ก็อาจงม
งายในการปฏิบัติผิดเพี้ยนจนเกินกว่าเหตุได้ ทั้งนี้เพราะกาลเวลาที่เกิดพิธีนิยมบางอย่างนั้นล่วงเลยมานาน ฉะนั้น จึงจำต้องศึกษา
ให้ละเอียดเป็นชั้นๆ สูงขึ้นโดยลำดับ จะได้เป็นประโยชน์แก่การพระศาสนาอย่างแท้จริง


 
             ศาสนพิธีในชั้นนี้ แบ่งออกเป็น ๔ หมวด คือ
               ๑. หมวดกุศลพิธี ว่าด้วยพิธีบำเพ็ญกุศล
               ๒. หมวดบุญพิธี ว่าด้วยพิธีทำบุญ
               ๓. หมวดทานพิธี ว่าด้วยพิธีถวายทาน
               ๔. หมวดปกิณณกะ ว่าด้วยพิธีเบ็ดเตล็ด

          กุศลพิธี
              
      พิธีเข้าพรรษา
            พระพุทธองค์ทรงบัญญัติให้ภิกษุจำพรรษาในฤดูฝนตลอด ๓ เดือน คือ ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑


      พิธีถือนิสสัย
            เป็นธรรมเนียมในพระวินัย ที่ภิกษุผู้ยังอยู่ในเกณฑ์เป็นพระนวกะคือ พรรษายังไม่พ้น ๕ หรือพ้น ๕ แล้ว แต่ยังไม่
่สามารถรักษาตนด้วยการประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยได้ถูกต้องดี หมายความว่า เป็นผู้ที่ยังไม่มีความรู้ว่าอะไรควรไม่ควร
แก่ภาวะของตน จำเป็นจะต้องถือนิสสัย คือ อยู่ในการปกครองดูแลของพระผู้ใหญ่ในวัดหรือสำนักสงฆ์ที่ตนอาศัยอยู่

      พิธีทำสามีจิกรรม
            เป็นธรรมเนียมของสงฆ์อย่างหนึ่งที่ภิกษุสามเณรจะพึงทำความชอบต่อกันเพื่อความสมานสามัคคีกันอยู่ร่วมกันโดยสงบ
สุข การทำความชอบต่อกันนี้ เรียกว่า สามีจิกรรม หมายถึงการแสดงความเคารพ การขอขมาโทษกัน การให้อภัยกัน

 
    พิธีทำวัตรสวดมนต์
            การทำวัตร หมายถึง การทำกิจวัตรของพระภิกษุสามเณร และอุบาสกอุบาสิกา ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำกิจที่จะต้องทำ
เป็นประจำจนเกิดเป็นวัตรปฏิบัติ เรียกสั้นๆ ว่า ‘ทำวัตร’ ในแต่ละวันมีการทำวัตร ๒ เวลา คือ เช้ากับเย็น

            การสวดมนต์ หมายถึง การสาธยายบทพระพุทธมนต์ต่างๆ ที่เป็นส่วนของพระสูตรก็มี ที่เป็นส่วนของพระปริตรก็มี ที่
ี่เป็นส่วนเฉพาะคาถาอันนิยมกำหนดให้นำมาสวดประกอบในการสวดมนต์เป็นประจำนอกเหนือจากบทสวดทำวัตรก็มี เมื่อเรียก
รวมการสวดทั้งสองนี้เข้าด้วยกัน ก็เรียกว่า ‘ทำวัตรสวดมนต์’
            จุดมุ่งหมายของการทำวัตรสวดมนต์นี้ บัณฑิตถือว่าเป็นอุบายสงบจิตไม่ให้คิดวุ่นวายไปตามอารมณ์ได้ชั่วขณะที่ทำการ
สวดมนต์ เมื่อทำเป็นประจำ วันละ ๒ เวลา ทั้งเช้าและเย็น เวลาประมาณครั้งละครึ่งชั่วโมง หรือชั่วโมงหนึ่งเป็นอย่างน้อย ก็เท่า
กับได้ใช้เวลาสงบจิตได้วันละไม่ต่ำกว่า ๑ ใน ๒๔ ชั่วโมง จิตใจที่ได้สงบแล้ว แม้เป็นเวลาเพียงเล็กน้อย ก็มีผลทำให้เยือกเย็นสุขุม
ไปหลายชั่วโมง เหมือนถ่านไฟที่ลุกโชน เมื่อจุ่มลงน้ำดับสนิทกว่าจะติดไฟลุกโชนขึ้นใหม่ได้ต้องใช้เวลานาน

      พิธีกรรมวันธรรมสวนะ
            วันธรรมสวนะ คือ วันกำหนดประชุมฟังธรรม ที่เรียกเป็นคำสามัญทั่วไปว่า “วันพระ” เป็นประเพณีนิยมของพุทธบริษัท
ที่ได้ถือปฏิบัติสืบเนื่องกันมาแล้วแต่ครั้งพุทธกาล โดยถือว่า การฟังธรรมตามกาลที่กำหนดไว้เป็นประจำย่อมก่อให้เกิดสติปัญญา
และสิริมงคลแก่ผู้ฟัง อย่างน้อยก็ได้รับธรรมสวนานิสงส์อยู่เสมอ วันกำหนดฟังธรรมนี้ พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ ๔ วัน ใน
เดือนหนึ่งๆ คือ วันขึ้น ๘ ค่ำ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ วันแรม ๘ ค่ำ และวันแรม ๑๔ ค่ำ หรือ ๑๕ ค่ำ ของปักษ์ทั้งข้างขึ้นและข้างแรมโดย
จันทรคติ วันทั้ง ๔ นี้จึงถือกันว่าเป็นวันกำหนดประชุมฟังธรรมโดยปกติ และเป็นวันนิยมรักษาศีลอุโบสถสำหรับอุบาสกอุบาสิกาผู้
ต้องการบำเพ็ญกุศลอีกด้วย


 
    พิธีทำสังฆอุโบสถ
            สังฆอุโบสถ เป็นธรรมเนียมของพระภิกษุตามพุทธบัญญัติ กล่าวคือ พระภิกษุจะต้องทำอุโบสถกรรมทุกรูปและทุกกึ่ง
เดือน ไม่มีเหตุจำเป็นตามที่มีพระบรมพุทธานุญาตไว้จะเว้น หรือขาดการกระทำเสียมิได้

 
    พิธีออกพรรษา
            ออกพรรษา เป็นคำเรียกที่เข้าใจกันทั่วไป หมายถึงกาลสิ้นสุดแห่งกำหนดอยู่จำพรรษาของพระภิกษุตามพระวินัยบัญญัติ มีพิธีเป็นสังฆกรรมพิเศษโดยเฉพาะเรียกโดยภาษาพระวินัยว่า ปวารณากรรม คือการทำปวารณาของพระภิกษุผู้อยู่ร่วมกันมา
ตลอด ๓ เดือน บัญญัติให้พระสงฆ์ทำปวารณา คือ ยินดีให้ว่ากล่าวตักเตือนกันได้ทุกกรณี ไม่ต้องเกรงกันว่า เป็นผู้ใหญ่หรือผู้น้อย เมื่อใครมีข้อข้องใจใครในเรื่องการรักษาพระวินัยแล้ว ไม่พึงนิ่งไว้ พึงเปิดเผยชี้แจงกันได้ และในการว่ากล่าวตักเตือนกันตามที่
ปวารณานี้ จะถือมาเป็นโทษขุ่นแค้นกันไม่ได้เลย ปวารณากรรมนี้ ต้องทำในวันสุดท้ายที่ครบ ๓ เดือน นับแต่วันเข้าพรรษามาจน
ถึงวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ของทุกๆ ปี วันนี้พระสงฆ์ไม่ต้องทำอุโบสถกรรม คือไม่ต้องสวดพระปาติโมกข์อย่างวันเพ็ญ หรือวันสิ้นเดือนอื่นๆ แต่มีพระวินัยบัญญัติให้ทำปวารณากรรมแทนการสวดพระปาติโมกข์ ปีหนึ่งๆ ในวัดหนึ่งจะมีปวารณา
กรรมได้เพียงครั้งเดียว ฉะนั้น ปวารณากรรมจึงนับเป็นสังฆกรรมพิเศษ เป็นหน้าที่ที่บังคับให้พระภิกษุทุกรูปต้องทำ เพราะเหตุ
ที่พระภิกษุผู้ทำปวารณากรรมแล้ว พ้นข้อผูกพันที่ต้องอยู่ประจำ อาจไปไหนมาไหนตามความปรารถนา ฉะนั้น จึงนิยมเรียก
ปวารณากรรมนี้อย่างเข้าใจง่ายๆ ว่า ออกพรรษา


         บุญพิธี

       พิธีทำบุญตักบาตรเทโวโรหณะ
             วันเทโวโรหณะ คือวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากเทวโลก หลังจากที่เสด็จขึ้นไปจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อ
ตรัสพระอภิธรรมเทศนาโปรดพระพุทธมารดาจนครบ ๓ เดือน พอออกพรรษาแล้วก็เสด็จกลับมามนุษยโลกโดยเสด็จลงมาทาง
บันไดแก้วที่ประตูเมืองสังกัสสนคร วันเสด็จลงจากเทวโลกนั้นตรงกับขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ (วันมหาปวารณา) ถือเป็นวันบุญวัน
กุศลของพุทธบริษัท วันนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วันพระเจ้าเปิดโลก เช้าวันรุ่งขึ้นตรงกับแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ พุทธบริษัทจำนวน
มากจึงพร้อมใจกันตักบาตรแด่พระพุทธองค์พร้อมด้วยพระสงฆ์ด้วยภัตตาหาร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเสบียงกรัง (อาหารแห้ง) ของ
ตนๆ ผู้ที่เข้าไม่ถึงจึงเอาข้าวสาลีห่อเป็นมัดๆ บ้าง ทำเป็นปั้นๆ บ้าง แล้วโยนลงในบาตร จุดนี้เองจึงเป็นเหตุนิยมทำข้าวต้มลูกโยน
ในการตักบาตรเทโวโรหณะในภายหลัง จนกลายเป็นประเพณีสืบเนื่องมาจนถึงบัดนี้

       พิธีเจริญพระพุทธมนต์
             การเจริญพระพุทธมนต์ หมายถึง การที่พระสงฆ์จำนวนหนึ่งร่วมกันสาธยายมนต์ในพิธีต่างๆ ซึ่งมนต์เหล่านี้เป็นคาถา
พุทธภาษิตบ้าง เถรภาษิตบ้าง เทวดาภาษิตบ้าง และของเกจิอาจารย์บ้าง การสาธยายมนต์ดังกล่าวถ้าเป็นงานมงคล เช่น งานทำ
บุญวันเกิด ทำบุญแต่งงาน ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น เรียกว่า เจริญพระพุทธมนต์ แต่ถ้าเป็นงานอวมงคล เช่นงานทำบุญงานศพ
ประเภทต่างๆ เรียกว่า สวดพระพุทธมนต์ แต่ชาวบ้านทั่วไปนิยมเรียกรวม ๆ ว่า สวดมนต์ ทั้งงานมงคลและงานอวมงคล


 
     พิธีสวดพระพุทธมนต์
             การสวดพระพุทธมนต์ ก็คือ การที่พระสงฆ์สวดมนต์ในงานอวมงคลหรืองานปรารภเหตุอันเป็นอวมงคล ซึ่งระเบียบ
พิธีนี้ฝ่ายเจ้าภาพพึงจัดเหมือนงานบุญทั่วไป แต่ถ้าเป็นงานทำบุญหน้าศพ หมายถึงมีศพตั้งอยู่ในพิธีนั้นด้วยไม่ต้องวงสายสิญจน์
และไม่ต้องตั้งขันน้ำมนต์ ถ้าเป็นงานที่ปรารภถึงศพ แต่ไม่มีศพตั้งอยู่ในบริเวณพิธี จะวงสายสิญจน์โดยถือว่าเป็นการทำบุญบ้าน
ไปในตัวด้วยก็ได้ แม้ขันน้ำมนต์จะตั้งด้วยท่านก็ไม่ห้าม

 
     พิธีสวดพระอภิธรรม
            งานทำบุญเกี่ยวกับศพ นับตั้งแต่มีการมรณกรรมเกิดขึ้นถึงวันปลงศพด้วยวิธีฌาปนกิจ ซึ่งญาติของผู้มรณะจัดขึ้น และ
มักนิยมจัดให้มีพิธีสวดพระอภิธรรมประกอบงานทำบุญศพนั้นด้วย พิธีสวดพระอภิธรรมนี้มี ๒ อย่าง คือ สวดหน้าศพอย่างหนึ่ง สวดหน้าไฟในขณะฌาปนกิจอย่างหนึ่ง

       พิธีสวดมาติกา
            การสวดมาติกา คือ การสวดบทมาติกาของพระอภิธรรมเจ็ดคัมภีร์ หรือที่เรียกว่า สัตตัปปกรณาภิธรรม ซึ่งมีการบังสุกุล
เป็นพิธีสุดท้าย เป็นประเพณีที่นิยมจัดให้พระสงฆ์สวดในงานทำบุญหน้าศพอย่างหนึ่ง เรียกโดยโวหารทางราชการในงานหลวง
ว่า สดับปกรณ์ แต่ราษฎรสามัญทั่วไปเรียกว่า สวดมาติกา โดยจัดเป็นพิธีต่อจากสวดพระพุทธมนต์เย็นบ้าง ถ้ามีเทศน์ต่อจากสวด
พระพุทธมนต์เย็นก็จัดพิธีสวดมาติกาต่อจากพิธีเทศน์ และจัดให้มีต่อจากพิธีถวายภัตตาหารพระในวันรุ่งขึ้นบ้าง จัดให้มีก่อนพิธี
ฌาปนกิจบ้าง นับว่าเป็นพิธีทำบุญแทรกอยู่ในงานทำบุญหน้าศพช่วงใดช่วงหนึ่ง จะจัดให้มีในช่วงระยะไหนก็แล้วแต่ความ
ศรัทธาของเจ้าภาพ

       พิธีสวดแจง
            ในงานฌาปนกิจศพ มีประเพณีนิยมของพุทธบริษัทอย่างหนึ่ง คือ จัดให้มีเทศน์สังคีติกถา หรือที่เรียกกันสามัญว่า เทศน์
์แจง จะเทศน์ธรรมาสน์เดียว หรือเทศน์ ๓ ธรรมาสน์โดยปุจฉา – วิสัชนา ก็ขึ้นอยู่กับศรัทธาของเจ้าภาพและในการเทศน์สังคีติ
กถานี้ นิยมให้มีพิธีสวดแจงเป็นทำนองการกสงฆ์ในคราวปฐมสังคายนาด้วย จำนวนพระสงฆ์สวดแจงนี้ รวมทั้งพระเทศน์ด้วย
เต็มจำนวน ๕๐๐ รูป จำนวนเท่ากับคราวทำปฐมสังคายนาเป็นอย่างมาก แต่ผู้ที่มีกำลังน้อย หรือในที่ซึ่งหาพระสงฆ์จำนวน
๕๐๐ รูปได้ยาก จะนิมนต์เพียง ๕๐ รูปหรือ ๒๕ รูปก็ได้ หรือน้อยกว่ากำหนดนี้ก็ได้ซึ่งถือกันว่า เป็นบุญพิธีพิเศษที่ได้อุปถัมภ์ให้
พระสงฆ์ได้ทำสังคายนาครั้งหนึ่งแม้เป็นการสังคายนาพระธรรมวินัยจำลองมาจากปฐมสังคายนาก็ตาม นับได้ว่าเป็นบุญพิเศษ
ชนิดหนึ่ง ซึ่งยากที่จะสามารถทำได้ทั่วไป เป็นอุบายประชุมสงฆ์ เพื่อให้งานปลงศพนั้นๆ คึกคักขึ้นเป็นพิเศษนั่นเอง ที่เรียกว่า
เทศน์แจง หรือสวดแจง ในกรณีนี้คงหมายถึงการแสดงธรรมแจกแจงวัตถุและหัวข้อในพระไตรปิฎกออกมาให้ที่ประชุมได้ทราบ
และสวดหัวข้อที่ตกลงแจกแจงละเอียดนั้นๆ เพื่อเป็นหลักท่องบ่นทรงจำกันต่อไป

       พิธีสวดถวายพรพระ
             ในงานทำบุญถวายภัตตาหารพระ ต่อเนื่องจากพิธีเจริญพระพุทธมนต์หรือสวดพระพุทธมนต์ที่ได้กล่าวมาแล้ว ไม่ว่าจะ
เป็นงานวันเดียวหรือ ๒ วัน คือมีสวดมนต์เย็นก่อนหนึ่งวัน แล้วในตอนเช้าของวันใหม่ก็ถวายภัตตาหารพระ ก่อนจะถวายในตอน
เช้านิยมสวดถวายพรพระเป็นพิธีสงฆ์ด้วย ถ้าเป็นงานวันเดียว สวดถวายพรพระต่อจากพิธีเจริญพระพุทธมนต์ แต่หากมีพิธีสวด
พระพุทธมนต์หลังจากถวายภัตตาหารพระ ก่อนฉัน พระสงฆ์จะต้องทำพิธีสวดถวายพรพระก่อนเสมอ ซึ่งถือว่าเป็นธรรมเนียม
ในงานบุญถวายภัตตาหารพระ จะเว้นเสียมิได้

       พิธีอนุโมทนากรณีต่างๆ
             ธรรมเนียมของพระภิกษุสามเณร เมื่อได้รับถวายปัจจัยสี่ ไม่ว่าจะเป็นภัตตาหารหรือทานวัตถุใดๆ ก็ตามจากทายกทายิกา จะต้องทำพิธีอนุโมทนาทานนั้น ไม่ว่าจะได้รับรูปเดียวหรือหลายรูปก็ตาม ต้องอนุโทนาทุกครั้ง จะละเว้นเสียมิได้ ถือว่าผิดพระ
พุทธานุญาต ต่างแต่ว่าอนุโมทนาต่อหน้าหรือลับหลังเท่านั้น ธรรมเนียมนี้ปฏิบัติกันมาแต่ครั้งพุทธกาลแล้ว ฉะนั้น การอนุโมทนา
ทานจึงเป็นประเพณีมานานในหมู่สงฆ์ การประกอบพิธีอนุโมทนาลับหลังทายกทายิกามีวิธีเดียวคือ การบิณฑบาต ต้องออกรับใน
สถานที่ต่างๆ ทั่วไปไม่จำกัด กรณีเช่นนี้ไม่ต้องอนุโมทนาต่อหน้าในขณะที่รับบิณฑบาต แต่กลับมาถึงวัดฉันอาหารเรียบร้อยแล้ว
จึงอนุโมทนา หรือยกไปอนุโมทนาในช่วงทำวัตรสวดมนต์เช้า-เย็นก็ได้

       พิธีมีพระธรรมเทศนา
             ในการจัดงานที่มีพิธีต่างๆ บางครั้งจะจัดให้มีพระธรรมเทศนา หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่า มีเทศน์ คือมีการแสดงพระ
ธรรมเทศนาในที่ประชุมตามโอกาสอันสมควร ซึ่งถือว่าเป็นบุญพิธีที่นิยมจัดกันขึ้นมาก และเป็นสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง ส่วน
มากจะนิยมผนวกกันเข้าในโอกาสทำบุญงานต่างๆ มีทั้งในการทำบุญงานมงคลและอวมงคล เช่น งานฉลองครบรอบอายุ ฉลอง
พระบวชใหม่ และฉลองวัตถุมงคลต่างๆ ที่สร้างขึ้นเป็นถาวรวัตถุเพื่ออุทิศเป็นบุญกุศล ตลอดถึงในการจัดงานศพ งานทำบุญอัฐิ
เป็นต้น ถึงแม้ไม่มีการจัดงานทำบุญต่างๆ ดังกล่าวมาแล้วแต่ก็นิยมจัดให้มีขึ้น เพื่อฟังเป็นคติเตือนใจตามโอกาสที่เหมาะสม เช่น
จัดให้มีภายในวัด หรือตามศาลาโรงธรรมประจำในวันธรรมสวนะ และวันอุโบสถ เป็นต้น เพื่อให้เกิดสติปัญญาและเกิดบุญทาง
ด้านจิตใจแก่ผู้ฟัง เมื่อได้รับฟังธรรมอยู่เสมอ จะทำให้บุคคลนั้นมีจิตใจผ่องใส ไม่กระด้างและเกิดความรู้ความเฉลียวฉลาด และ
เป็นการช่วยให้สังคมมนุษย์ได้อยู่ร่วมกันอย่างปกติสุขปราศจากกการเอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกัน ฉะนั้น การมีพระธรรมเทศนา
นี้จึงถือว่าเป็นประเพณีนิยมของพระพุทธศาสนา ที่ปฏิบัติสืบเนื่องกันมานานแต่ครั้งพุทธกาล พระพุทธศาสนาจะตั้งมั่นอยู่ได้นาน จะต้องมีการเผยแผ่พุทธธรรม การมีพระธรรมเทศนาก็เป็นการประกาศเผยแผ่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอีกส่วนหนึ่ง การมีพระ
ธรรมเทศนามี ๒ อย่าง คือ ๑) เทศน์แบบธรรมดา โดยผู้เทศก์แสดงรูปเดียว ๒) เทศน์แบบปุจฉาวิสัชนา โดยผู้เทศก์มีตั้งแต่ ๒
รูปขึ้นไป แสดงร่วมกันเป็นธรรมสากัจฉา

              การเทศน์ที่นิยมทำกันมี ๔ ลักษณะ ดังนี้
              ๑. เทศน์ในงานทำบุญ คือ เทศน์ในงานมงคล เช่น งานฉลองพระบวชใหม่ เป็นต้น
              ๒. เทศน์ตามกาลนิยม คือ เทศน์ในวันธรรมสวนะ และวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
              ๓. เทศน์พิเศษ คือ เทศน์อบรมประชาชนเป็นหมู่คณะ
              ๔. เทศน์มหาชาติ คือ เทศน์เวสสันดรชาดก

           ทานพิธี
       
       พิธีถวายสังฆทาน
              สังฆทาน คือ ทานที่อุทิศแก่สงฆ์ มิได้เจาะจงแก่บุคคล โดยนิยมที่เข้าใจกันทั่วไปในเรื่องการถวายสังฆทานนี้ ก็คือการ
จัดภัตตาหารถวายพระสงฆ์ ไม่เกี่ยวกับการถวายทานวัตถุอย่างอื่นๆ การจัดภัตตาหารถวายพระสงฆ์อย่างนี้เรียกกันว่าถวาย
สังฆทาน มีแบบแผนมาแต่ครั้งพุทธกาลแต่ในครั้งนั้นท่านแบ่งสังฆทานไว้ถึง ๗ ประการ คือ

              ๑. ถวายแก่หมู่ภิกษุ และภิกษุณี มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน
              ๒. ถวายแก่หมู่ภิกษุ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน
              ๓. ถวายแก่หมู่ภิกษุณี มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน
              ๔. ถวายแก่หมู่ภิกษุและภิกษุณี ไม่มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน
              ๕. ถวายแก่หมู่ภิกษุ ไม่มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน
              ๖. ถวายแก่หมู่ภิกษุณี ไม่มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน
              ๗. ร้องขอต่อสงฆ์ให้ส่งใครผู้ใดผู้หนึ่ง ไปรับแล้วถวายแก่ผู้นั้น

 
     พิธีถวายสลากภัต
              สลากภัต คือภัตตาหารที่ทายกทายิกาถวายตามสลาก การถวายสลากภัต เมื่อพระสงฆ์รับและฉันเสร็จแล้ว พระสงฆ์จะ
อนุโมทนาด้วย ยะถา.. สัพพีติโย… จบแล้ว เป็นอันเสร็จพิธี

       พิธีตักบาตรข้าวสาร
              การถวายข้าวสารเป็นประเพณีที่เกิดขึ้นในยุคหลัง เห็นจะเป็นที่นิยมของนักปราชญ์พวกหนึ่ง ซึ่งเห็นว่าการถวายอาหาร
ที่สุกแล้วเป็นของเก็บไว้ไม่ได้นาน ครั้นเวลามีบริบูรณ์ก็เหลือเฟือ แต่เวลาขาดแคลนก็ไม่พอ จึงคิดถวายสิ่งของประเภทข้าวสารที่
ี่เป็นของเก็บไว้ได้นานๆ ถวายมอบไว้กับทายกหรือกับกัปปิยการก เพื่อหุงต้มถวายในเวลาขาดแคลน ถึงคราวบริบูรณ์ก็งดเสีย การ
ถวายข้าวสารนั้นไม่จำกัดกาล ถวายในพิธีต่างๆ เช่นติดกัณฑ์เทศน์ก็มี ถวายสงฆ์หรือเฉพาะบุคคลก็มี และที่ทำกันจนเป็นประเพณี
ีเช่นตักบาตรข้าวสารในเทศกาลเข้าพรรษาก็มี แต่ประเพณีตักบาตรข้าวสารไม่ปรากฏหลักฐานแน่นอนว่าเริ่มทำกันมาแต่สมัยใด เข้าใจว่าเพิ่งทำกันแพร่หลายในสมัยรัชกาลที่ ๕ เพราะมีพระบรมราชาธิบายของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรง
พระราชนิพนธ์ไว้ในหนังสือพระราชพิธี ๑๒ เดือน ว่าด้วยการตักบาตรน้ำผึ้ง ความตอนหนึ่งว่า “การตักบาตรน้ำผึ้งในสยามเรา มีประโยชน์สู้ตักบาตรข้าวสารไม่ได้” คงจะมีผู้เห็นชอบตามพระบรมราชาธิบายนี้ จึงเปลี่ยนการตักบาตรน้ำผึ้งซึ่งเคยทำเป็นประ
เพณีในพิธีสรทกาลมาเป็นตักบาตรข้าวสารแทน
             แต่ถึงอย่างไรก็ตาม การตักบาตรข้าวสารก็นับเป็นส่วนหนึ่งที่จัดเข้าในทานมัยบุญกิริยาวัตถุ ซึ่งทำกันเป็นสังฆทานบ้าง ปาฏิปุคคลิกทานบ้าง ตามเจตนาของบุคคล การตักบาตรข้าวสารที่นิยมทำกันในระหว่างเข้าพรรษานั้นจัดเข้าในประเภทสังฆ
ทาน สำหรับการถวายข้าวสารเป็นปาฏิบุคคลิกทานนั้น โดยทั่วไปจะถวายเวลาใดก็ได้ ไม่จำต้องมีพิธี

 
     พิธีตักบาตรน้ำผึ้ง
             การตักบาตรน้ำผึ้ง นับเข้าในเภสัชทาน เป็นกาลทาน ส่วนหนึ่งทำกันในสารทกาล ส่วนมากกำหนดทำในวันพระแรม ๘ ค่ำ เดือน ๑๐ โดยพระบรมพุทธานุญาตมีปฐมเหตุมาแต่ครั้งพุทธกาล คือ ครั้งหนึ่งในระหว่างเดือน ๑๐ ภิกษุทั้งหลายมีกายชุ่ม
ด้วยน้ำฝนเหยียบย่ำเปือกตม เกิดอาพาธฉันจังหันอาเจียน กายซูบผอมเศร้าหมองลง พระพุทธองค์ทรงทราบ จึงทรงอนุญาต
เภสัชทั้ง ๕ อย่าง คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ให้ภิกษุรับและฉันได้ในเวลาวิกาล เพื่อระงับโรคและบำรุงกำลังจึงเป็น
ประเพณีที่ทายกทายิกานิยมถวายเภสัชทานขึ้นในกาลนี้มาจนถึงทุกวันนี้


       พิธีถวายเสนาสนะ กุฎี วิหาร
             เสนาสนะ กุฎี วิหาร เป็นที่อยู่อาศัยของภิกษุสามเณรที่สร้างไว้ในวัดมีกำหนดให้สร้างขึ้นเป็นของสงฆ์ ใครจะถือเป็น
กรรมสิทธิ์ของตนโดยเฉพาะไม่ได้ ถือเพียงอยู่อาศัยใช้สอยได้เฉพาะกาลเท่าที่สงฆ์มอบหมายเท่านั้น เพราะเหตุนี้เอง การสร้าง
เสนาสนะไม่ว่าจะเป็นกุฎีหรือวิหารขึ้นในวัด จึงนิยมให้ผู้สร้างทำพิธีถวายให้เป็นของสงฆ์ด้วย เพื่อจัดเข้าในเสนาสนทานอันเป็น
ทานพิเศษที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสรรเสริญว่าเป็นทานอันเลิศ เพราะเสนาสนะนั้น สามารถป้องกันหนาวร้อน อันตรายจาก
สัตว์ร้าย มีเหลือบ ยุง บุ้ง ริ้น เป็นต้น และกันแดดกันฝนได้ ใช้เป็นที่พักอาศัยอันเป็นสัปปายสำหรับผู้บำเพ็ญสมถะและวิปัสสนา ซึ่งนิยมสร้างกันจนเป็นประเพณีมาแต่ครั้งพุทธกาลแล้ว

 
     พิธีถวายศาลาโรงธรรม
             ศาลาโรงธรรม คือศาลาที่แสดงธรรม หรือสวดพระธรรม ใช้เป็นที่สำหรับศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยเป็นต้นก็ได้ เพราะเหตุนี้เองในปัจจุบันจึงมักนิยมเรียกว่า ศาลาการเปรียญ ทั้งนี้ รวมถึงโรงเรียนพระปริยัติธรรมและโรงเรียนสำหรับให้เด็ก
เรียนหนังสือที่สร้างไว้ในวัดด้วย ส่วนมากศาลาโรงธรรมนี้มักสร้างกันไว้ตามวัด แต่ที่สร้างไว้ในละแวกบ้านที่เรียกว่าศาลากลาง
บ้านก็มี ศาลาโรงธรรมมีประโยชน์ในการสั่งสอนกุลบุตรกุลธิดาให้เกิดความรู้ในสิ่งที่ควรเว้นและสิ่งควรประพฤติที่จะให้ดำเนิน
ไปสู่ความสุข ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ทั้งในโลกนี้และโลกหน้าต่อไป ผู้สร้างชื่อว่าได้บำเพ็ญสาธารณะประโยชน์อันยิ่งใหญ่ แต่
่เมื่อสร้างแล้วควรอุทิศถวายเป็นของสงฆ์เช่นเดียวกับเสนาสนะ มีกุฎี วิหาร เป็นต้นดังกล่าวแล้ว จะได้เกิดประโยชน์เป็นสังฆทาน
อีกประการหนึ่ง

 
     พิธีถวายผ้าวัสสิกสาฎก
             ผ้าวัสสิกสาฎก เป็นผ้าสำหรับใช้นุ่งในเวลาอาบน้ำ เรียกว่า ผ้าอาบน้ำฝน หรือผ้าอาบ ภิกษุจะต้องแสวงหาตั้งแต่แรม ๑
ค่ำ เดือน ๗ ถึงวันเพ็ญเดือน ๘ แต่ทายกนิยมถวายกันเป็นหมู่ ๆ ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ก่อนเข้าพรรษา ๑ วัน


 
     พิธีถวายผ้าจำนำพรรษา
            ผ้าจำนำพรรษา เป็นผ้าที่ถวายแก่ภิกษุผู้อยู่จำพรรษา ครบ ๓ เดือน กำหนดกาลสำหรับถวาย คือตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงกลางเดือน ๑๒ เท่านั้น


       พิธีถวายผ้าอัจเจกจีวร
            ผ้าอัจเจกจีวร เป็นผ้าจำนำพรรษาที่ทายกรีบด่วนถวายก่อนกำหนดกาล นิยมถวายก่อนวันออกพรรษา ทรงอนุญาตให้ภิกษุ
รับได้ภายในกำหนด ๑๐ วัน ก่อนออกพรรษา คือ ตั้งแต่วันขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงกลางเดือน ๑๑

       พิธีถวายผ้าป่า
            ผ้าป่า เรียกว่า ผ้าบังสุกุลจีวร คือ ผ้าเปื้อนฝุ่นที่ไม่มีเจ้าของหวงแหน ทิ้งอยู่ตามป่าดงบ้าง ป่าช้าบ้าง การทอดผ้าป่านี้ ไม่
กำหนดกาล ทอดได้ทุกฤดูกาล

       พิธีถวายผ้ากฐิน
            ผ้ากฐิน คือ ผ้าที่ถวายตามกาล (กาลทาน) แก่ภิกษุผู้จำพรรษาครบไตรมาสแล้ว ภายในเขตกฐิน ๑ เดือน คือ ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒

 
     พิธีถวายธูปเทียนดอกไม้
            การถวายธูปเทียนดอกไม้ เพื่อให้พระสงฆ์นำไปบูชาพระ อีกต่อหนึ่ง โดยทั่วไปนิยมถวายกันในวันเข้าพรรษา นิยมถวาย
กัน ๒ แบบ คือ
            ๑. แบบถวายโดยประเคน
            ๒. แบบนำมาตั้งต่อหน้าพระสงฆ์แล้วกล่าวคำถวาย

       พิธีลอยกระทงตามประทีป
            การลอยกระทงตามประทีป เพื่อบูชารอยพระบาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งประดิษฐานอยู่ ณ ฝั่งแม่น้ำนัมมทา ใน
ชมพูทวีป นิยมทำกันตั้งแต่กรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ลอยกันในวันเพ็ญเดือน ๑๒

 
     พิธีถวายธงเพื่อบูชา
            ธงใช้สำหรับยกขึ้นเป็นเครื่องหมายบอกให้รู้ว่า ที่ตรงนั้นเป็นที่ตั้งวัด ปัจจุบันนี้ เขียนกลางผืนธงเป็นรูปเสมาธรรมจักร เรียกว่า ธงธรรมจักร นิยมถวายธงยกขึ้นไว้หน้าวัด ในคราวที่วัดมีการถวายผ้ากฐินเป็นต้น


 
     พิธีถวายเวจกุฎี
            เวจกุฎี เป็นที่ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะของพระภิกษุสามเณร ได้แก่ห้องส้วม มีวิธีในการถวายเหมือนพิธีถวายเสนาสนะ กุฎี วิหาร ซึ่งได้กล่าวมาแล้ว


       พิธีถวายสะพาน
            สะพาน สำหรับใช้เดินข้ามลำธาร คลอง และคู การถวายจะประกอบขึ้นในสถานที่ตั้งสะพานนั้น หรือจะถวายที่ศาลาการ
เปรียญก็ได้ ถวายต่อหน้าพระสงฆ์เช่นเดียวกับการถวายเสนาสนะอื่นๆ

            ทานทั้ง ๑๖ ชนิดที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ จัดเป็นสังฆทานมีพิธีการถวายที่เหมือนกันบ้างแตกต่างกันบ้าง ทานบางอย่าง
กำหนดกาลที่จะถวาย บางอย่างไม่กำหนดกาลถวาย เมื่อสรุปแล้วก็จัดเป็นสังฆทานเหมือนกัน

       พิธีถวายทานพิเศษ
            ทานพิธีพิเศษอีก ๕ อย่าง คือ
            ๑. พิธีถวายปราสาทผึ้ง
            ๒. พิธีถวายโรงอุโบสถ
            ๓. พิธีถวายยานพาหนะ
            ๔. พิธีถวายคัมภีร์พระไตรปิฎก
            ๕. พิธีถวายคัมภีร์พระธรรม

         ปกิณกพิธี

       วิธีสวดมนต์ไหว้พระของนักเรียน
             เพื่อเป็นการส่งเสริมจริยศึกษาแก่นักเรียนที่เป็นพุทธศาสนิกชน กระทรวงศึกษาธิการจึงได้วางระเบียบว่าด้วยการสวด
มนต์ไหว้พระของนักเรียนที่อยู่ในความควบคุมของกระทรวงศึกษาธิการ โดยได้ปรับปรุงให้รัดกุมเหมาะแก่เวลาที่ทางโรงเรียน
จัดให้นักเรียนได้สวดมนต์ไหว้พระเป็นประจำ

 
     วิธีไหว้ครูสำหรับนักเรียน
             การไหว้ครู เป็นประเพณีอย่างหนึ่งที่นิยมทำกันมาแต่สมัยโบราณ ถือว่าเมื่อจะเริ่มกิจการใดๆ เช่น เริ่มศึกษาเล่าเรียน
เป็นต้น ต้องเริ่มไหว้ครูก่อน เรียกว่า ขึ้นครู เพื่อการงานที่ริเริ่มนั้นๆ จะสำเร็จด้วยดี ในเรื่องการเรียนหนังสือของโรงเรียนต่างๆ
นั้น กระทรวงศึกษาธิการก็มิได้ทอดทิ้งประเพณีโบราณ ได้วางระเบียบปฏิบัติในการนี้ไว้เพื่อให้โรงเรียนต่างๆ ปฏิบัติเป็นแบบ
เดียวกัน


       วิธีจับด้ายสายสิญจน์
            การจับด้ายสายสิญจน์ ต้องจับเส้นสายสิญจน์สาวชักออกให้สัมพันธ์เป็นสายเดียวกัน จากด้ายในเข็ด ออกครั้งแรก ๓ เส้น ถ้าต้องการให้เป็นสายใหญ่ก็จับอีกครั้ง จะกลายเป็น ๙ เส้น ในงานมงคลใช้สายสิญจน์ ๙ เส้น


 
     วิธีบังสุกุลเป็น
            การบังสุกุลเป็น หมายถึงบุญกิริยาที่เจ้าภาพประสงค์จะบริจาควัตถุเนื่องด้วยกายตน นิยมทำเมื่อป่วยหนัก ปกติไม่มีทอด
ผ้าเหมือนบังสุกุลศพ ใช้ผ้าขาวคลุมตัวคนป่วยหรือผู้ต้องการ ใช้สายสิญจน์ผูกผ้าขาวแล้วโยงไปให้พระสงฆ์บังสุกุล


 
     วิธีบอกศักราช
           วิธีบอกศักราช คือ บอกวัน เดือน ปี ก่อนเริ่มเทศน์เพื่อให้พุทธบริษัททราบว่า เป็นวัน เดือน และปีอะไร บอกเป็นภาษาบาลี
แล้วจึงแปลเป็นภาษาไทย

 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕