หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระกาญจนะ ธมฺมธโร (ศรีทรงเมือง)
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๖ ครั้ง
การประยุกต์หลักพุทธธรรมเพื่อใช้แก้ปัญหายาเสพติดในสังคมไทยยุคปัจจุบัน
ชื่อผู้วิจัย : พระกาญจนะ ธมฺมธโร (ศรีทรงเมือง) ข้อมูลวันที่ : ๒๙/๐๘/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูภาวนาโพธิคุณ พธ.บ. (ศาสนา), M.A., (Phil.), M.A., (Pol).,M.Phil., Ph.D. (Phil).
  ดร. ประยูร แสงใส ป.ธ.๔, พ.ม., พธ.บ. (สังคมศึกษา), M.A.in Ed, P.G.DIP IN JOURNALISM, Ph.D.(Ed.)
  ผศ.ดร.โสวิทย์ บำรุงภักดิ์ ป.ธ.๗, พ.ม., พธ.บ. (ปรัชญา), M.A. (Bud), พธ.ด. (พระพุทธศาสนา)
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๕
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

                        วิทยานิพนธ์เรื่องการประยุกต์หลักพุทธธรรมเพื่อใช้แก้ปัญหายาเสพติดในสังคมไทยยุคปัจจุบันมีวัตถุประสงค์หลัก ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาสภาพปัญหายาเสพติดในสังคมไทยในปัจจุบัน ๒) เพื่อศึกษาวิธีการแก้ปัญหายาเสพติดของภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรทางพระพุทธศาสนา ๓) เพื่อประยุกต์หลักพุทธธรรมไปใช้ในการแก้ไขปัญหายาเสพติดในสังคมไทยของกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้อง งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพเน้นการศึกษาเอกสารและการสัมภาษณ์โดยนำเสนอด้วยวิธีการพรรณนาวิเคราะห์

                        ผลจากการวิจัยพบว่า ยาเสพติดชนิดต่างๆ เช่น ฝิ่น มอร์ฟีน เฮโรอีน กัญชา ยาอี เป็นต้น ยังคงแพร่กระจายอยู่ในสังคมปัจจุบัน ผู้เสพยาเสพติดจะมีตั้งแต่เยาวชนจนถึงผู้สูงอายุและมีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งสามารถ สังเกตผู้ติดยาเสพติดได้จากการมีสุขภาพที่ทรุดโทรม อารมณ์ฉุนเฉียว สวมแว่น สวมเสื้อแขนยาว มีเพื่อนแปลกหน้า มีลับลมคมใน ขโมยสิ่งของ หากเป็นนักเรียนจะขอเงินผู้ปกครองเพิ่มขึ้น และมีผลการเรียนที่ต่ำลง สาเหตุมาจากการเข้าไปคลุกคลีกับกลุ่มผู้เสพยาเสพติด มีสภาพอารมณ์และจิตใจที่อ่อนไหวง่าย ถูกเพื่อนชักชวนและมีสภาพแวดล้อมรอบข้างที่ไม่ดี ส่วนแนวโน้มการแพร่กระจายยาเสพติดจะยังไม่ผ่อนคลายลง ทั้งนี้เพราะกระแส “วัตถุนิยมและบริโภคนิยม” ยังแพร่ระบาดกลายเป็น “ค่านิยม” สำคัญของสังคมไทยจนถึงทุกวันนี้

                        หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรทางพระพุทธศาสนา ได้มีวิธีการแก้ปัญหายาเสพติดด้วยวิธีการต่างๆ โดยภาครัฐ ได้กำหนดกรอบแนวทางการแก้ปัญหา ด้วยการเฝ้าระวังสารตั้งต้นเป็นวัตถุดิบในการผลิตยาเสพติด สกัดกั้นยาเสพติดตามแนวชายแดน ป้องปรามไม่ให้กระทำผิด การบำบัดยา มีความเด็ดขาดภายใต้กรอบกฎหมาย ภาคเอกชนได้ใช้วิธีการลดความต้องการยาเสพติดด้วย ๓ วิธีการคือ วิธีการทางกฎหมาย วิธีการทางสุขภาพอนามัยและวิธีการทางสังคม และองค์กรทางพระพุทธศาสนา ได้กล่าวถึงวิธีแก้ปัญหายาเสพติดด้วยการปลูกจิตสำนึก คือ มองกว้าง คิดไกลและใฝ่สูง

                        ส่วนการนำหลักพุทธธรรมไปประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหายาเสพติดในสังคมไทยนั้นเริ่มต้นด้วยพัฒนากายตามหลักของศีล ซึ่งจะช่วยให้เป็นคนรู้ระเบียบชีวิตของตนเอง รู้จักการอยู่ร่วมกับคนอื่นด้วยการไม่เบียดเบียน ไม่ทำความเดือดร้อน ประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูล มีความรับผิดชอบในหน้าที่ มีความขยันหมั่นเพียรอบรมกาย เป็นคนมีอาจาระงาม การพัฒนาจิตใจด้วยการเฝ้าระวังความโลภ ความโกรธ ความหลงใหลได้ปลื้มกับคำเชิญชวนของเพื่อนหรือคนที่คุ้นเคยให้ไปมีชีวิตยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด จนเป็นคนมีจิตใจเข้มแข็ง มั่งคง ไม่หวั่นไหว และการพัฒนาปัญญาได้แก่ การรู้เท่าทันคำพูดชักชวนเชิญชวนให้เสพยาเสพติด ตลอดทั้งอารมณ์ต่างๆ ที่มากระทบ และเมื่อนำหลักพุทธธรรมไปประยุกต์ใช้แล้วผลคือ เยาวชนและคนในชุมชนมองเห็นโทษของการติดยาเสพติด และคุณของการไม่ติดยาเสพติด รู้จักแยกแยะการคบเพื่อนตามหลักมิตรแท้มิตรเทียม มีสติสัมปชัญญะคือระลึกได้และตื่นตัวรู้ตัวทั่วพร้อมกับสิ่งมากระทบ และมีความจริงใจที่จะลดละและเลิกการเสพยาเสพติดตลอดไ

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕