หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาชุตินธร โชติธมฺโม (นงค์พยัคฆ์)
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๗ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์พระอภิธรรมในฐานะที่เป็นพุทธจริยศาสตร์ (๒๕๔๖)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาชุตินธร โชติธมฺโม (นงค์พยัคฆ์) ข้อมูลวันที่ : ๒๐/๐๘/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ปรัชญา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูปลัดสุวัฒนจริยคุณ(ประสิทธิ์ พรหฺมรํสี)
  ดร.วีระชาติ นิ่มอนงค์
  ดร.สมหวัง แก้วสุฟอง
วันสำเร็จการศึกษา : ๓ เมษายน ๒๕๔๖
 
บทคัดย่อ

     งานวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อการศึกษาวิเคราะห์พระอภิธรรมซึ่งมีหลักปรมัตถธรรม ๔ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพานในทัศนะทางด้านพุทธจริยศาสตร์ เพื่อแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของระบบ
ศีลธรรมและจริยธรรม โดยผู้วิจัยได้ตั้งข้อสมมติฐานไว้ว่าพระอภิธรรมนั้นมีแนวความคิดเกี่ยวกับเรื่องคุณค่าทางจริยธรรมของความดีความชั่ว เกณฑ์การตัดสินความดีความชั่ว
และอุดมคติสูงสุดอันเป็นประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาจริยธรรมต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ในสังคม
     ในการศึกษาผู้วิจัยได้แบ่งเนื้อหาออกเป็น ๕ บท ดังนี้
     บทที่ ๑ ว่าด้วยความเป็นมาและความสำคัญของปัญหาที่นำมาวิจัย
     บทที่ ๒ ว่าด้วยแนวความคิดของพุทธจริยศาสตร์และหลักพระอภิธรรม
     บทที่ ๓ ว่าด้วยการกระทำความดีความชั่ว เกณฑ์การตัดสินคุณค่าทางจริยธรรมเกี่ยวกับความดีความชั่ว และอุดมคติสูงสุดในพระอภิธรรมตามมโนทัศน์ของพุทธจริยศาสตร์
     บทที่ ๔ ว่าด้วยการนำเสนอหลักพระอภิธรรมในฐานะที่เป็นจริยธรรมเชิงจิตวิทยาและสังคมวิทยา พร้อมด้วยทัศนะที่สนับสนุนพระอภิธรรมที่เป็นอุดมคติแห่งความดีสูงสุดเชิงจริยธรรม
     บทที่ ๕ ว่าด้วยผลสรุปของการศึกษาวิจัยและข้อเสนอแนะต่อผู้สนใจที่จะค้นคว้างานวิจัยพระอภิธรรมต่อไป
     จากการศึกษาวิจัยพบว่าทัศนะทางด้านพุทธจริยศาสตร์ พระอภิธรรมได้มีคำตอบเกี่ยวกับปัญหาจริยธรรมของมนุษย์ไว้ ๓ ประการ คือ

     ๑) แนวความเชื่อเรื่องกรรมคือการกระทำของมนุษย์มี ๒ อย่าง คือ การกระทำความดี ซึ่งมีสาเหตุมาจากความไม่โลภ ความไม่โกรธ ความไม่หลงเป็นสมุฏฐานให้เกิดขึ้นพร้อมด้วยเจตนา
อันเป็นแรงจูงใจฝ่ายดี ซึ่งปรากฏอยู่ภายในกุศลจิตที่ประกอบด้วยเจตสิกฝ่ายกุศล และการกระทำความชั่วย่อมมีสาเหตุมาจากความโลภ ความโกรธ ความหลงเป็นสมุฏฐานให้เกิดขึ้นพร้อมด้วย
เจตนาอันเป็นแรงจูงใจฝ่ายชั่ว ซึ่งปรากฏอยู่ภายในอกุศลจิตที่ประกอบเจตสิกฝ่ายด้วยอกุศล
     ในปัญหาจริยธรรมดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงกระบวนการของกรรมดีกรรมชั่วได้อย่างลึกซึ้ง เพราะเป็นสาเหตุให้มนุษย์ได้เข้าใจต่อวิถีการดำรงชีวิตที่สุจริตในระบบของศีลธรรมโดยมีความหวังว่า
จะได้รับผลสนองของกรรมดี นอกจากนั้นยังแสดงให้เห็นถึงโทษที่จะเกิดขึ้นมาจากการกระทำที่ผิดต่อระบบศีลธรรมนั้นและต้องมีผลแห่งความชั่วร้ายเกิดขึ้นอย่างแน่นอนตามกฎของกรรมนิยาม
     ๒) เกณฑ์การตัดสินปัญหาจริยธรรมในพระอภิธรรมมีอยู่ ๒ ประการ คือ (๑) ให้พิจารณาดูที่สาเหตุแห่งการกระทำพร้อมทั้งแรงจูงใจในการเลือกตัดสินใจกระทำ ซึ่งปรากฏอยู่ภายในจิต
พร้อมด้วยองค์ประกอบที่ปรุงแต่งจิต ถ้าการกระทำนั้นมาจากสาเหตุแห่งความดีและมีองค์ประกอบของความดี การกระทำนั้นย่อมจะต้องเป็นความดีอยู่เสมอ (๒) ให้พิจารณาดูที่ผลลัพธ์ของการกระทำซึ่ง
ปรากฏอยู่ในกุศลวิบากจิตและอกุศลวิบากจิตที่ประทับไว้ภายในภวังคจิต
     ๓) อุดมคติสูงสุดในพระอภิธรรมคือนิพพานที่มีแนวความคิดเรื่องคุณค่าสูงสุดอยู่ในต้วเอง เพราะมนุษย์ไม่ต้องแสวงหาความดีในนิพพานเพื่อดำเนินไปสู่จุดมุ่งหมายอื่นๆอีกต่อไปแล้ว ดังนั้น
นิพพานจึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับมนุษย์โดยที่เขาจะได้พบกับความสุขที่แท้จริงคือปรมัตถประโยชน์ และนิพพานยังเป็นเกณฑ์มาตรฐานทางด้านศีลธรรมของมนุษย์ เพราะมนุษย์ย่อมจะมีการดำเนิน
ชีวิตไปสู่การบรรลุจุดหมายโดยมีนิพพานเป็นเป้าหมายสุดท้ายซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่มีแนวโน้มไปสู่การกระทำที่ดีตามมโนคตินิยม
     ส่วนผลการศึกษาวิจัยพระอภิธรรมในทัศนะของจิตวิทยาพบว่าการรับรู้ การเรียนรู้ความคิด และจินตนาการเป็นกระบวนการทำงานของระบบวิถีจิตภายในปัญจทวารวิถีและ มโนทวารวิถี
พร้อมด้วยการทำงานของจิตใต้สำนึกคือภวังค์จิตซึ่งมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมภายนอกของมนุษย์ให้มีบุคลิกภาพที่แตกต่างกันรวมถึงสุขภาพจิตของมนุษย์ด้วย
     ส่วนในทัศนะทางด้านสังคมวิทยานั้นพบว่ามนุษย์เลือกกระทำความดีของปัจเจกบุคคลก่อนแล้วจึงมีการกระทำทางสังคม การจัดระเบียบ และการขัดเกลาสังคมโดยส่งผลไปถึงภาพรวมของสีงคม
พร้อมด้วยที่มาของสังคมอุดมคติแบบพระอรหันต์  ซึ่งมีแนวความคิดที่เป็นพื้นฐานก่อให้เกิดความมั่นคงทางการเมือง การปกครอง และด้านเศรษฐกิจโดยเน้นปัจเจกชนให้มีคุณธรรมที่ดีงาม
แล้วจึงมุ่งไปสู่สังคม เพื่อนำไปสู่สภาวะแห่งสันติภาพ และความสุขสูงสุดในชีวิต
     จะเห็นได้ว่าพระอภิธรรมได้เสนอทัศนะทางปรัชญาอันเป็นรากฐานของระบบจริยศาสตร์ในพุทธปรัชญาเถรวาทให้มีการปลูกฝังค่านิยมทางศีลธรรมและจริยธรรมอันมีคุณค่าแก่มนุษย์ต่อแนว
ความคิดในเรื่องของกรรมดีกรรมชั่วและผลลัพท์ของกรรมที่ตอบสนองอันเป็นไปตามกระบวนการทางธรรมชาติของจิตใจมนุษย์ได้เป็นอย่างดี ค่านิยมดังกล่าวนั้นยังคงมีอิทธิพลต่อระบบการศึกษา
พระอภิธรรมตั้งแต่อดีตเป็นต้นมาถึงปัจจุบันนี้

Download : 254614.pdf
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕