หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูเกษมธรรมสุนทร (กฤษณพล เขมธมฺโม))
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๑ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์กระบวนการพัฒนาพระภิกษุสงฆ์ตามหลักปุคคลัญญุตา
ชื่อผู้วิจัย : พระครูเกษมธรรมสุนทร (กฤษณพล เขมธมฺโม)) ข้อมูลวันที่ : ๐๗/๐๙/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาประมวล ฐานทตฺโต, ดร. ป.ธ.๖, พธ.บ. (ภาษาไทย),M.A. (Ling), M.A., Ph.D. (Pali& Bud).
  พระมหาดาวสยาม วชิรปญฺโญ, ดร. ป.ธ.๖, พธ.บ. (ศาสนา),M.A. (Sanskrit), Ph.D. (Pali and Thesarãda)
  ผศ.ดร. โสวิทย์ บำรุงภักดิ์, ป.ธ.๗, พธ.บ. (ปรัชญา), M.A. (Bud.), พธ.ด. (พระพุทธศาสนา)
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๖
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

 

วิทยานิพนธ์ เรื่อง “การศึกษาวิเคราะห์กระบวนการพัฒนาพระภิกษุสงฆ์ตามหลัก
ปุคคลัญญุตา” มีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อศึกษากระบวนการพัฒนาพระภิกษุสงฆ์ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท ๒) เพื่อศึกษากระบวนการพัฒนาพระภิกษุสงฆ์ตามหลักปุคคลัญญุตา     ๓) เพื่อศึกษาวิเคราะห์กระบวนการพัฒนาพระภิกษุสงฆ์ในปัจจุบันตามหลักปุคคลัญญุตา
การศึกษาวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยศึกษาจากเอกสารและนำเสนอ ด้วยวิธีการพรรณนา

ผลการศึกษาพบว่า กระบวนการพัฒนาพระภิกษุสงฆ์ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท มีจุดมุ่งหมาย ๔ ด้าน คือ ๑) ด้านกายภาพทางวัตถุ เพื่อเป็นคุณต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยกายภาวนา ๒) ด้านสังคมกับเพื่อนมนุษย์ เพื่ออยู่ร่วมกับสังคม ด้วยสีลภาวนา ๓) ด้านจิตใจ ให้มีสมรรถภาพดี ด้วยจิตตภาวนา และ ๔) ด้านปัญญา ให้เห็นแจ้งและรู้เท่าทันตามความเป็นจริง ด้วยปัญญาภาวนา ทั้งนี้ การพัฒนาตามแนวโอวาทปาติโมกข์ ต้องรู้อุดมการณ์ ๔ ประการคือ ๑) การดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ๒) มีพระนิพพานเป็นเป้าหมายสูงสุด ๓) บรรพชิตไม่ฆ่า ๔) สมณะไม่เบียดเบียน รู้หลักปฏิบัติ ๓ ประการ คือ ๑) ละเว้นความชั่ว ๒) ทำความดี ๓) ทำใจให้ผ่องใส และรู้วิธีปฏิบัติ ๖ ขั้นตอน คือ ๑) สำรวมกาย ๒) สำรวมวาจา เพื่อรู้จักควบคุมพฤติกรรม ๓) สำรวมในปาติโมกข์ เพื่อเคารพกฎระเบียบของสังคม ๔) รู้จักประมาณในการบริโภค เพื่อบริโภคใช้สอยสิ่งต่างๆ อย่างรู้คุณค่า ๕) อยู่ในเสนาสนะอันสงัด เพื่อฝึกนิสัยรักสงบและเกื้อกูลต่อการฝึกจิตได้ง่าย ๖) หมั่นฝึกอบรมจิตอยู่เสมอ เพื่อฝึกจิตให้มีสมรรถภาพดี และรู้เท่าทันต่อความเป็นจริงของสิ่งทั้งปวง เมื่อกล่าวโดยย่อเป็นการพัฒนาพร้อมทั้ง ๔ ด้านคือ กาย ศีล จิต และปัญญา  

กระบวนการพัฒนาพระภิกษุสงฆ์ตามหลักปุคคลัญญุตา เป็นการพัฒนาด้านปัญญาให้มีสัมมาทิฏฐิ โดยใช้หลักโยนิโสมนสิการเป็นเครื่องมือพิจารณาแยกแยะพฤติกรรมของบุคคลต่าง ๆ ไปตามลำดับ ๗ ขั้นตอน คือ ๑.การแสวงหาบัณฑิต ๒.การฟังคำสอน ๓.การเงี่ยโสตฟังคำสอน     ๔.การจำคำสอน ๕.การพิจารณาคำสอน ๖.การปฏิบัติตามคำสอน ๗.การเผยแผ่คำสอน ซึ่งเมื่อฝึกอบรมไปตามลำดับดังกล่าวแล้ว ย่อมรู้และเข้าใจความแตกต่างแห่งบุคคลทั้งหลาย  และสามารถเกี่ยวข้องปฏิสัมพันธ์กับบุคคลทั้งหลายได้อย่างมีประสิทธิภาพ  

กระบวนการพัฒนาพระภิกษุสงฆ์ในปัจจุบันตามหลักปุคคลัญญุตา  สามารถดำเนินตามขั้นตอนทั้ง ๗ คือ ๑) การแสวงหาบัณฑิต คือ อุปัชฌาย์หรืออาจารย์ เพื่อช่วยแนะนำพร่ำสอน และเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต ๒) การฟังคำสอน เพื่อรู้จักรับความรู้จากบัณฑิตทางอายตนะทั้งหก ๓) การเงี่ยโสตฟังคำสอน เพื่อศักยภาพในการรับความรู้ ด้วยการตั้งเจตนาไว้ดี มีใจเป็นกุศล หวังประโยชน์จากการฟังด้วยดี มีใจจดจ่อ จับใจความเป็น ความเคารพต่อผู้สอน และมีมารยาทที่ดี  ๔) การจำคำสอน เพื่อบันทึกความรู้ให้ดำรงไว้ ด้วยการท่องจำ สาธยาย และจดบันทึก ๕) การพิจารณาคำสอน เพื่อกลั่นกรองความรู้  ด้วยการใช้หลักกาลามสูตร และ หลักโยนิโสมนสิการ ๖) การปฏิบัติตามคำสอน เพื่อพิสูจน์ความรู้ โดยดำเนินตามหลักอิทธิบาทสี่ ๗) การเผยแผ่คำสอน เพื่อนำความรู้ไปขยายผล ด้วยการกระทำเป็นตัวอย่าง สอนด้วยปาก ใช้สื่ออุปกรณ์ และบูรณาการทั้ง ๓ อย่างเข้าด้วยกัน ซึ่งเมื่อดำเนินตามขั้นตอนทั้ง ๗ แล้ว จักเป็นเหตุให้พระภิกษุสงฆ์มีคุณภาพ รู้และเข้าใจสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง และสามารถเกี่ยวข้องปฏิสัมพันธ์กับบุคคลทั้งหลายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดาวน์โหลด 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕