หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาทองพูน สติสมฺปนฺโน (เสือขาว)
 
เข้าชม : ๒๐๐๔๔ ครั้ง
การคบมิตรในพระพุทธศาสนา (๒๕๔๗)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาทองพูน สติสมฺปนฺโน (เสือขาว) ข้อมูลวันที่ : ๒๑/๐๘/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระปลัดเสน่ห์ ธมฺมวโร
  ดร.พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์
  ดร.เทพประวิณ จันทร์แรง
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๒ มีนาคม ๒๕๔๗
 
บทคัดย่อ


     งานวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาหลักการคบมิตรในทางพระพุทธศาสนา ตามที่ปรากฏในคัมภีร์พระไตรปิฎกและอรรถกถา รวมทั้งตำราทางพระพุทธศาสนาที่เขียนโดยนักปราชญ์ยุคปัจจุบัน ประเด็นในการศึกษาวิจัยเป็นการศึกษาเกี่ยวกับความหาย ประเภทและลักษณะของมิตร หลักการคบมิตร หลักธรรมที่เสริมสร้างความสัมพันธ์ในการคบมิตร สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจากการคบมิตรตามคัมภีร์พระพุทธศาสนา พร้อมทั้งวิเคราะห์นำมาประยุกต์ใช้ในสังคมปัจจุบัน
     ผลของการศึกษาวิจัยพบว่า มิตรในทางพระพุทธศาสนามีความหมาย ๓ ประการ คือ
     ๑. ความหมายตามศัพท์ ได้แก่ มิตตะ หมายถึง ผู้มีความเมตตา เพราะคำว่ามิตตะมีรากศัพท์เดียวกันกับเมตตา มีความรักใคร่ สนิทสนมกัน สุขหรือทุกข์ก็ไม่ทิ้งกัน คบกันด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์
     ๒. ความหมายที่คนทั่วไปเข้าใจ มีหลายคำคือ มิตร เกลอ สหาย หมายถึงเพื่อน เกลอ หรือสหาย ผู้ที่ทำอะไรถูกใจตน ผู้ที่คบกันนานเท่าใดก็ยังมีความรักต่อกันไม่เปลี่ยนแปลง ผู้ที่คบกันโดยไม่เลือกชาติ ศาสนา เพศ หรือชั้นวรรณะ เป็นต้น
     ๓. ความหมายขยาย เป็นความหมายที่ไม่เกี่ยวข้องด้วยตัวบุคคล แต่ขยายไปถึงการสื่อสารข้อมูล สิ่งแวดล้อม องค์ความรู้ต่างๆ เป็นต้น ที่คนจะต้องเกี่ยวข้อง ศึกษาเรียนรู้ในชีวิตประจำวัน ถ้าเลือกสื่อหรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมไม่ดี จะทำให้ตนเองเสื่อมเสียได้ง่าย แต่ถ้าเลือกสิ่งที่ดีก็จะทำให้ชีวิตพัฒนาการไปในทางที่ดีได้
     มิตรมีความสำคัญต่อทุกคน ในทางพระพุทธศาสนาจึงตระหนักถึงเรื่องนี้เป็นอย่างมากเพราะมนุษย์ไม่สามารถจะอยู่ได้โดยลำพัง จำเป็นจะต้องมีการคบหาสมาคมกันเป็นมิตร เพื่อช่วยเหลือการงาน หรือปรึกษาปัญหาต่างๆ ร่วมกัน ถ้าเลือกคบคมดีก็จะทำให้เรามีชีวิตที่พัฒนาไปในทางที่ดี มีความเจริญก้าวหน้าในชีวิต ถ้าคบกับคนไม่ดีก็จะทำให้ชีวิตมีแต่ความตกต่ำเสียหาย ในด้านประเภทของมิตร เมื่อกล่าวโดยสรุปแบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ
     มิตรแท้ เป็นมิตรที่มีความจริงใจ เป็นมิตรที่ควรคบหาสมาคม พระพุทธศาสนาสรรเสริญให้คบมิตรประเภทนี้ เพื่อความสุขความเจริญในชีวิตตน
     มิตรเทียม เป็นมิตรที่ไม่ควรคบหาสมาคม ไม่มีความบริสุทธิ์ใจ คบกันเพื่อหวังแต่ประโยชน์ส่วนตัว ใครคบจะทำให้ตนเองไม่มีความเจริญ ทั้งยังทำให้ผู้อื่นติเตียน
     คนในปัจจุบัน มีการคบทั้งคนดีและไม่ดี อย่างไรก็ตาม ผู้ที่หวังความเจริญก้าวหน้าจะต้องรู้หลักและวิธีการเลือกคบมิตรที่ดี พระพุทธศาสนากล่าวหลักการคบมิตรมากมาย เช่น การคบมิตรตามหลักมงคลสูตร มีการไม่คบคนพาล การคบแต่บัณฑิต การคบมิตรตามหลักจักร ๔ มีการเลือกคบแต่บัณฑิต และการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี การคบมิตรตามหลักทิศ ๖ เป็นการประพฤติปฏิบัติตนต่อมิตรด้วยความถูกต้องสมบูรณ์ตามหน้าที่ และบทบาทของตน พระพุทธศาสนายังแสดงหลักธรรมส่วนเสริมที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในสังคมและสอดคล้องกับชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี คือ การปฏิบัติตามสังคหวัตถุ ๔ พรหมวิหาร ๔ และอคติ ๔ เป็นต้น หลักธรรมเหล่านี้ สามารถสนับสนุน เกื้อกูล ส่งเสริมให้มิตรคบกันด้วยดียิ่งขึ้น

Download : 254708.pdf
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕