หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาอนันต์ ชยเสโน (บรรจบพุดซา)
 
เข้าชม : ๒๐๐๑๗ ครั้ง
การศึกษางานเผยแผ่ของสมเด็จพระธีรญาณมุนี (ธีร์ ปุณฺณกมหาเถร) (๒๕๔๗)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาอนันต์ ชยเสโน (บรรจบพุดซา) ข้อมูลวันที่ : ๒๑/๐๘/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ธรรมนิเทศ)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระเมธีรัตนดิลก
  ดร.สุทธิพงษ์ ศรีวิชัย
  อาจารย์สุเทพ พรมเลิศ
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๗ มีนาคม ๒๕๔๗
 
บทคัดย่อ

     วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีจุดประสงค์ เพื่อศึกษางานการเผยแผ่ของสมเด็จพระธีรญาณมุนี (ธีร์ ปุณฺณกมหาเถร) อดีตเจ้าอาวาสวัดจักรวรรดิราชาวาส รูปที่ ๑๑ ว่ามีความสอดคล้องกับหลักนิเทศศาสตร์และพุทธวิธีการสื่อสารมากน้องเพียงใด ซึ่งผู้วิจัยได้แบ่งการศึกษาออกเป็น ๕ บท คือ
     บทที่ ๑ ว่าด้วยความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา วัตถุประสงค์ชองการวิจัยขอบเขตของการวิจัย คำจำกัดความของศัพท์ที่ใช้ในการวิจัย ทบทวนเอกสารและรายงานการวิจัยที่เกี่ยวข้อง วิธีดำเนินการวิจัยและประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
     บทที่ ๒ กล่าวถึงหลักนิเทศศาสตร์และพุทธวิธีการสื่อสาร เพื่อเป็นบรรทัดฐานหรือมาตรฐานในการเปรียบเทียบงานการเผยแผ่ของสมเด็จพระธีรญาณมุนี (ธีร์ ปุณฺณกมหาเถร)
     บทที่ ๓ ศึกษางานการเผยแผ่ของสมเด็จพระธีรญาณมุนี (ธีร์ ปุณฺณกมหาเถร) โดยกำหนดด้วยองค์ประกอบของกระบวนการการสื่อสารเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา
     บทที่ ๔ เปรียบเทียบงานการเผยแผ่ของสมเด็จพระธีรญาณมุนี (ธีร์ ปุณฺณกมหาเถร) กับหลักนิเทศศาสตร์และพุทธวิธี-การสื่อสาร เพื่อให้เห็นว่ามีความสอดคล้องมากน้อยเพียงใด
     บทที่ ๕ สรุปผลการวิจัย และข้อเสนอแนะ
     ผลการวิจัยพบว่า มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่นิยมอยู่ร่วมกันเป็นบ้านเป็นเมือง เมื่ออยู่ร่วมกันมาก หากไม่มีกฎเกณฑ์กติกามนุษย์จะเบียดเบียนกัน ศาสนาคือคำสอนไม่ให้เบียดเบียนกันเป็นกฎของสังคม ทำให้มนุษย์อยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข การที่จะให้มนุษย์รู้จักศาสนาจึงจำเป็นต้องอาศัยการสื่อสารเป็นเครื่องมือ พระพุทธองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณที่จะช่วยเหลือมนุษย์ ก็ทรงนำการสื่อสารมาเป็นเครื่องมือประกาศพระศาสนา จึงเรียกว่า พุทธวิธีการสื่อสาร
     การสื่อสาร เป็นกระบวนการถ่ายทอดสารของบุคคลสองฝ่าย ซึ่งมีหลักการเป็นสากลการประกาศพระศาสนาหรือการเผยแผ่แท้จริงแล้ว ก็คือ การสื่อสารเพื่อการพัฒนามนุษย์นั่นเอง
     งานการเผยแผ่ของเจ้าประคุณสมเด็จฯ เกิดจากจิตสำนึกที่จะสร้างบ้านเกิดให้มีความสุขความเจริญ และขยายไปสู่ความคิดหาทางช่วยเหลือปลดเปลื้องความทุกข์ยากและความยากจนของพลเมืองในชาติเดียวกัน งานการเผยแผ่ของท่านว่าโดยเนื้อหามี ๓ ด้าน คือการพัฒนา วิชาการและการอนุรักษ์, การพัฒนา มีทั้งพัฒนาบุคคลและพัฒนาวัตถุ, งานวิชาการ มีทั้งประวัติศาสตร์นิรุกติศาสตร์ และศาสนา, การอนุรักษ์ มีทั้งการอรุรักษ์ภาษา ศาสนาและวัฒนธรรมประเพณี, ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อสมเด็จฯในฐานะผู้ส่งสาร มี ๒ ประการ คือปัจจัยภายใน ได้แก่ คุณธรรมและความรู้, ปัจจัยภายนอก ได้แก่ บุคลิกภาพหรือปฎิปทาและคุณประโยชน์ต่อผู้อื่น, เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นการนำหลักพุทธธรรมมาพัฒนายุคคลทั้งสองส่วน คือ ส่วนร่างกายและจิตใจ, ส่วนร่างกาย เน้นพัฒนาความสัมพันธ์กับปัจจัยสี่ ส่วนจิตใจ เน้นพัฒนาให้มีความรู้ มีศีลธรรม, การนำเสนอจะมี ๔ แบบ คือ แบบอุปมาอุปไมย แบบใช้นิทานสาธก แบบยกพระบาลีและแบบกวีนิพนธ์, สื่อที่ใช้เผยแผ่จัดตามการเข้ารหัสและถอดรหัสมี ๒ ประการ คือสื่อวจนะ (Verbal) ได้แก่ คำพูดและตัวหนังสือ, และสื่ออวจนะ (Non-Verbal) ได้แก่ ปฏิปทาและจริยาวัตร, ผู้รับสารของสมเด็จฯ มีอยู่หลายระดับตั้งแต่เยาวชนจนถึงผู้นำระดับประเทศ
     แนวคิดพื้นฐานของเจ้าประคุณสมเด็จฯ จะมีความสอดคล้องกับหลักนิเทศศาสตร์ในด้านความจำเป็น เพราะการสื่อสารจะมีความสำคัญต่อมนุษย์ ก็ต่อเมื่อมนุษย์จำเป็นต้องสื่อสารกันสอดคล้องกับพุทธวิธีการสื่อสารในด้านคุณธรรม คือมีความกรุณาช่วยเหลือ ส่วนด้านวัตถุประสงค์ผู้ส่งสาร สอดคล้องกับทั้งหลักนิเทศศาสตร์และพุทธวิธีการสื่อสาร ยกเว้นฝ่ายผู้รับสาร ประเภทงานจะสอดคล้องกับหลักนิเทศศาสตร์ประเภทการใช้ภาษาเป็นเกณฑ์ และสอดคล้องพุทธวิธีการสื่อสารประเภทพัฒนาบุคคล ด้านองค์ประกอบของกระบวนการการสื่อสารหรือการเผยแผ่ สอดคล้องกับหลักนิเทศศาสตร์ทุกองค์ประกอบ เพราะงานการเผยแผ่ของเจ้าประคุณสมเด็จฯ สามารถยกตัวอย่างมาประกอบได้ทุกประเด็น ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อสมเด็จฯในฐานะผู้ส่งสาร สาร สื่อและผู้รับสารของสมเด็จฯ ล้วนเข้าข่ายองค์ประกอบของกระบวนการการสื่อสารทั้งสิ้น ส่วนความสอดคล้องกับพุทธวิธีการสื่อสาร จะเห็นได้ชัดเจนในด้านคุณสมบัติ ด้านเนื้อหา ด้านการนำเสนอและสื่อล้วนแต่มีความสอดคล้องกับพุทธวิธีการสื่อสารอย่างชัดเจน

Download : 254712.pdf
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕