หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระสมุห์สนทยา มหพฺพโล (มณีตัน)
 
เข้าชม : ๑๙๙๘๕ ครั้ง
การประสิทธิภาพการบริหารจัดการวัดในอำเภอเมืองเพชรบุรีจังหวัดเพชรบุรี
ชื่อผู้วิจัย : พระสมุห์สนทยา มหพฺพโล (มณีตัน) ข้อมูลวันที่ : ๒๕/๐๙/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  อาจารย์ ดร.พิเชฐ ทั่งโต, พ.ม.ช., พธ.บ., M.A., Ph.D. (Pub. Admin.)
  ผศ.ดร. เติมศักดิ์ ทองอินทร์ พธ.บ., M.A., Ph D. (Pol. Sc.)
  อาจารย์ ดร. ยุทธนา ปราณีต พธ.บ., ร.บ., M.A., Ph.D. (Pol. Sc.)
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๕
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

                   การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (๑) ศึกษาประสิทธิภาพการบริหารจัดการวัดของพระสงฆ์ในอำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี (๒) เปรียบเทียบระดับประสิทธิภาพการบริหารจัดการวัดของพระสงฆ์ในอำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี จำแนกตามสถานภาพส่วนบุคคล และ (๓) ศึกษาปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอแนะแนวทางในการพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการวัดของพระสงฆ์ในอำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี โดยในการศึกษาครั้งนี้ เป็นการวิจัยแบบผสมผสาน (Mixed Research) ระหว่างการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) เก็บข้อมูลภาคสนาม (Field Study) จากพระสงฆ์มหานิกายที่พำนักอยู่ในวัดสังกัดคณะสงฆ์อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี จำนวน ๒๖๗ รูป โดยใช้แบบสอบถาม (Questionnaire) ลักษณะของแบบสอบถามเป็นทั้งปลายปิดและปลายเปิด ผู้วิจัยได้วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้ โดยหาค่าความถี่ (Frequency) ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation : S.D.) ทดสอบสมมติฐานโดยการทดสอบค่าเอฟ (F-test) วิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-Way Analysis of Variance) เมื่อพบความแตกต่าง จึงทำการเปรียบเทียบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยเป็นคู่ ด้วยวิธีผลต่างนัยสำคัญน้อยที่สุด (Least Significant Difference: LSD) และเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) คือ การวิเคราะห์เอกสารและการสัมภาษณ์ (Interview)

ผลการวิจัยพบว่า

                   ๑. ประสิทธิภาพการบริหารจัดการวัดในอำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี โดยภาพรวม อยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๓.๕๔ เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า อยู่ในระดับมากทุกด้าน โดยด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด ได้แก่ ด้านการปกครอง มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๓.๕๙ ส่วนด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด มี ๒ ด้าน ได้แก่ ด้านการศึกษาสงเคราะห์ มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๓.๕๐ และด้านการสาธารณูปการ มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๓.๕๐ เช่นกัน

                   ๒. ผลการเปรียบเทียบระดับประสิทธิภาพการบริหารจัดการวัดในอำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี จำแนกตามสถานภาพส่วนบุคคล ทดสอบสมมติฐานโดยการวิเคราะห์ความแตกต่างระหว่างตัวแปร ได้แก่ อายุ พรรษา วุฒิการศึกษาสามัญ วุฒิการศึกษานักธรรม และวุฒิการศึกษาเปรียญธรรม ของพระสงฆ์ที่ตอบแบบสอบถาม พบว่า สถานภาพส่วนบุคคลในด้าน อายุ พรรษา วุฒิการศึกษาสามัญ และวุฒิการศึกษานักธรรม มีผลทำให้ความคิดเห็นของพระสงฆ์ที่มีต่อประสิทธิภาพการบริหารจัดการวัดในอำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี โดยภาพรวม ไม่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นการปฏิเสธสมมติฐานที่ตั้งไว้ ส่วนสถานภาพส่วนบุคคลในวุฒิการศึกษาเปรียญธรรม มีผลทำให้ความคิดเห็นของพระสงฆ์ที่มีต่อประสิทธิภาพการบริหารจัดการวัดในอำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี โดยภาพรวม แตกต่างกัน แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕ ซึ่งเป็นการยอมรับสมมติฐานที่ตั้งไว้

                   ๓. ข้อเสนอแนะแนวทางในการพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการวัดในอำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี จำแนกตามรายด้านของการวิจัย ดังนี้ (๑) ด้านการปกครอง มีแนวทางการพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการวัด โดยการจัดอบรมเพื่อพัฒนาทักษะ ความรู้ด้านการบริหารจัดการแก่พระสังฆาธิการทุกระดับ, ประสานความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อร่วมมือกันพัฒนาวัดในชุมชน และเปิดโอกาสให้พระสงฆ์ผู้มีความรู้ความสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการวัด โดยแต่งตั้งเป็นพระสังฆาธิการในระดับต่างๆ ตามสมควร (๒) ด้านการศาสนศึกษา มีแนวทางการพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการวัด โดยปรับปรุงรูปแบบการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมแผนกธรรมเพื่อให้ผู้เรียนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง, สรรหาบุคลากรครูสอนพระปริยัติธรรมให้เพียงพอและมีประจำอยู่ในทุกสำนักเรียน และจัดอุปกรณ์การสอนที่ทันสมัยเพื่อช่วยประหยัดเวลาในการเรียนการสอนที่สูญเสียไปโดยไม่จำเป็น (๓) ด้านการศึกษาสงเคราะห์ มีแนวทางการพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการวัด โดยมีการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง โดยนำจากส่วนที่เป็นงานก่อสร้างเสนาสนะที่เกินความจำเป็น หรือเกิน ปริมาณของความต้องการในการใช้งานจริง, มีการประสานงานกันระหว่างวัด เพื่อกระจายการสนับสนุนทุนการศึกษาไปในทุกๆ สถานศึกษา และวัดควรประสานงานกับภาครัฐและเอกชนที่ให้การอุปถัมภ์หรือมีหน้าที่ในการสนับสนุนการศึกษาแก่สถานศึกษาในพื้นที่ เพื่อมิให้การสงเคราะห์นั้นทับซ้อนกัน (๔) ด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนา มีแนวทางการพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการวัด โดยผู้ปกครองสงฆ์ควรให้การสนับสนุน พระภิกษุที่ทำงานด้านการสงเคราะห์จิตใจแก่ประชาชน ด้วยการพัฒนาศักยภาพด้านการศึกษา เพื่อให้มีความรู้ความสามารถในการให้การอบรมสั่งสอน พัฒนาคุณธรรม จริยธรรม แก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพกับคนทุกเพศทุกวัย, สอดแทรกเนื้อหาของหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนาที่สามารถพัฒนาตนเอง เข้าไปในกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นประเพณีประจำถิ่น และทำงานในเชิงรุก คือ ไม่รอให้คนเข้าไปหาถึงวัด แต่เป็นฝ่ายนำธรรมะมาให้ประชาชนถึงบ้าน (๕) ด้านการสาธารณูปการ มีแนวทางการพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการวัด โดยประสานงานและขอความช่วยเหลือจากส่วนราชการหรือองค์กร การปกครองส่วนท้องถิ่น ได้เข้ามาให้การสนับสนุนเงินทุนในการก่อสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะแก่วัดในสังกัดพื้นที่, รณณรงค์การดูแลรักษาเสนาสนะที่มีอยู่ มากกว่าการก่อสร้างขึ้นมาใหม่ และควรก่อสร้างเสนาสนะที่มีเอกลักษณ์ของศิลปะประจำถิ่น (๖) ด้านการสาธารณสงเคราะห์ มีแนวทางการพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการวัด โดยประสานงานและร่วมมือกับส่วนราชการหรือองค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อป้องกันปัญหาการสงเคราะห์ที่ซ้ำซ้อน เกิดประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ และควรกำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนก่อนลงมือปฏิบัติงาน

 ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕