หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระสุรินทร์ อินฺทวํโส (อาจินลพัฒน์)
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๙ ครั้ง
การทำแท้งในสังคมไทย : ปัญหาและทางออกตามทัศนะของพระพุทธศาสนา
ชื่อผู้วิจัย : พระสุรินทร์ อินฺทวํโส (อาจินลพัฒน์) ข้อมูลวันที่ : ๐๗/๑๐/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระใบฎีกาเสน่ห์ ญาณเมธี, ดร.พธ.บ., M.A. Ph.D. (Philosophy)
  ผศ.ดร.พูนชัย ปันธิยะ นธ.เอก, พธ.บ., ศศ.ม., Ph.D. (Buddhist Studies)
  ดร.พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์ ป.ธ. ๙, พธ.บ., M.A., Ph.D. (Philosophy)
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๖
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

 

                 วิทยานิพนธ์ เรื่อง “การทำแท้งในสังคมไทย : ปัญหาและทางออกตามทัศนะของพระพุทธศาสนา” มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑. เพื่อศึกษาการเกิดชีวิต และการฆ่ามนุษย์ตามทัศนะของพระพุทธศาสนา ๒. เพื่อศึกษาปัญหาการทำแท้งในสังคมไทย ๓. เพื่อศึกษาแนวทางการแก้ปัญหาการทำแท้งตามทัศนะของพระพุทธศาสนา การดำเนินการวิจัยในครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงเอกสาร (Documentary Research) และการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-Depth Interview)

                 ผลการวิจัยพบว่า การกำเนิดชีวิตตามทัศนะของพระพุทธศาสนา เริ่มต้นด้วยองค์ประกอบ ๓ ประการ มาบรรจบกัน คือ  มารดาบิดาอยู่ร่วมกัน  มารดามีฤดูเป็นปกติ  และมีคันธัพพะเข้าไปตั้งอยู่ (ปฏิสนธิวิญญาณเกิดขึ้น) ถ้าใครมีเจตนาทำลายชีวิต คนนั้นจะมีความผิด ตามหลักปาณาติบาต ซึ่งมีองค์ประกอบของการฆ่า ๕ ประการ คือ ๑) สัตว์นั้นมีชีวิต ๒) รู้ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต ๓) มีจิตคิดจะฆ่า ๔) ทำความเพียรเพื่อให้ตาย ๕) สัตว์นั้นตายลงด้วยความเพียรนั้น

                 ปัญหาการทำแท้งในสังคมไทย พบว่าเกิดจาก ความอ่อนแอทางศีลธรรม  มารดาบิดาขาดความรู้ ขาดความรับผิดชอบ  ความผิดพลาดจากการวางแผนครอบครัว  ปัญหาสุขภาพของมารดา ความผิดปกติของทารก  สภาพเศรษฐกิจ สังคม  ข้อบกพร่องทางการแพทย์  และการบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่มีประสิทธิภาพ เป็นต้น ดังนั้นปัญหาการทำแท้งจึงเป็นปัญหาด้านจริยธรรม สุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม

                 แนวทางแก้ปัญหาการทำแท้งในทัศนะของพระพุทธศาสนา พบว่า ควรสร้างสถาบันครอบครัวให้อบอุ่น  ควรส่งเสริมการศึกษา เรื่องเพศศึกษาให้ถูกต้องตามวัย  ควบคุมสื่อที่ยั่วยุทางกามารมณ์  และควรส่งเสริมการปฏิบัติตามศีลธรรมจริยธรรม โดยนำหลักธรรมในพระพุทธศาสนามาเป็นหลักปฏิบัติ เช่น หลักเบญจศีลเบญจธรรม เว้นจากฆ่าสัตว์ เว้นจากประพฤติผิดในกาม มีเมตตา มีสัจจะในคู่ครอง รวมถึงหลักไตรสิกขา ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นต้น 

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕