หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระอธิการศรโสภณ ปภสฺสโร (นาดีมาก)
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๕ ครั้ง
บทบาทการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระครูวิมลคุณากร (ศุข เกสโร)
ชื่อผู้วิจัย : พระอธิการศรโสภณ ปภสฺสโร (นาดีมาก) ข้อมูลวันที่ : ๐๗/๑๐/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระราชวชิรเมธี, ดร. ป.ธ.๙, พธ.บ. ศษ.บ., อ.ม., กศ.ด.
  ผู้ช่วยศาสตราจารย์อานนท์ เมธีวรฉัตร ป.ธ.๖, พธ.บ., ศษ.บ., กศ.ม.
  อาจารย์รุ่งอรุณ อบเชย ป.ธ.๖, ศษ.บ., ค.ม.
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๖
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

             วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาชีวประวัติและผลงานของ
พระครูวิมลคุณากร (ศุข เกสโร) ๒) เพื่อศึกษาบทบาทในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระครูวิมลคุณากร (ศุข เกสโร) และ ๓) เพื่อศึกษาแนวทางการนำวิธีการในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของ
พระครูวิมลคุณากร (ศุข เกสโร) มาปรับใช้กับคณะสงฆ์ไทยในปัจจุบัน งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ เน้นการค้นคว้าจากเอกสาร โดยสำรวจข้อมูลขั้นปฐมภูมิ จากพระไตรปิฎก อรรถกถา สำรวจข้อมูลทุติยภูมิจากตำราวิชาการ เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

             ผลการวิจัยพบว่า

             ๑) พระครูวิมลคุณากร (ศุข เกสโร) อุปสมบท ณ วัดโพธิ์บางเขน หรือปัจจุบันชื่อว่า
วัดโพธิ์ทองล่าง ซึ่งอยู่ปากคลองบางเขนตอนล่าง ส่วนวัดโพธิ์ทองบน อยู่ตอนเหนือของปากคลองบางเขน ตอนบนบริเวณจังหวัดปทุมธานี เมื่อบวชแล้วได้ศึกษา พระธรรมวินัยจนบังเกิดศรัทธาดื่มด่ำในรสพระธรรม รอบรู้ในพระไตรปิฎก และเชี่ยวชาญทางวิปัสสนากรรมฐาน ชื่อเสียงเกียรติคุณของหลวงปู่ศุข ในความขลังและ ศักดิ์สิทธิ์ ในด้านวิชาอาคมไสยศาสตร์ต่าง ๆ เป็นที่รู้จักและศรัทธา
แก่ผู้คนในเขตท้องถิ่นต่าง ๆ ทั้งจังหวัดใกล้ และไกล และในกรุงเทพมหานคร ผลงานและเกียรติคุณด้านต่างๆ
ของพระครูวิมลคุณากร (หลวงปู่ศุข เกสโร) มีมากมาย เช่น การปลุกเสกพระเครื่อง วัตถุมงคลต่างๆ เพื่อความเป็นสิริมงคลในชีวิต

             ๒) บทบาทในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระครูวิมลคุณากร (ศุข เกสโร) การเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระครูวิมลคุณากร (ศุข เกสโร) ใช้วิธีแสดงธรรมยึดหลัก ๔ ประการได้แก่ สันทัสสนา ชี้แจงให้เห็นชัด สมาทปนา ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ สมุตเตชนา เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า และสัมปหังสนา ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง เมื่อผู้เผยแผ่สามารถปฏิบัติได้ตามข้างต้นแล้ว ผลที่จะเกิดแก่ผู้ฟังก็จะอยู่ในขอบเขต ๓ ด้านอันเป็นประโยชน์ ได้แก่ ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ คือ ประโยชน์ในปัจจุบัน สัมปรายิกัตถประโยชน์ คือ ประโยชน์ในเบื้องหน้าหรือภพหน้าและ ปรมัตถ-ประโยชน์ คือ ประโยชน์อย่างยิ่ง ได้แก่ การบรรลุธรรมตามลำดับชั้น มีพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ เป็นที่สุด

             ๓) แนวทางการนำวิธีการในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระครูวิมลคุณากร (ศุข
เกสโร) มาปรับใช้กับคณะสงฆ์ไทยในปัจจุบัน
ตลอดระยะเวลา ๕๑ ปี แห่งการครองเพศพรหมจรรย์
ในบวรพระพุทธศาสนาของ
พระครูวิมลคุณากร (ศุข เกสโร) ท่านได้ประพฤติปฏิบัติตนตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างเคร่งครัด และได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจในการเผยแผ่ ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา เป็นพระนักปฏิบัติ นักเผยแผ่ นักพัฒนาและนักสังคมสงเคราะห์ที่ควรศึกษา ผลงานของพระครูวิมลคุณากร (ศุข เกสโร) สามารถวิเคราะห์แนวทางการนำวิธีการในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระครูวิมลคุณากร (ศุข เกสโร) มาปรับใช้ โดยแบ่งออกเป็น ๔ ด้าน ได้แก่ ด้านการศึกษา ด้านการปกครอง ด้านการเผยแผ่ศาสนา ด้านสาธารณูปการ

 ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕