หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูนิสัยปริยัติกิจ (เฉลิม แขนอก)
 
เข้าชม : ๒๐๐๕๑ ครั้ง
การศึกษาเปรียบเทียบแนวการปฏิบัติกรรมฐานของหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ และหลวงพ่อจรัญ ตธมฺโม
ชื่อผู้วิจัย : พระครูนิสัยปริยัติกิจ (เฉลิม แขนอก) ข้อมูลวันที่ : ๒๔/๐๗/๒๐๑๕
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาวรัญญู วรญฺญู
  กาญจนา เงารังษี
  พระครูสมุห์ณรงค์ โฆสิตธมฺโม
วันสำเร็จการศึกษา : 2555
 
บทคัดย่อ

 วิทยานิพนธ์เรื่องการศึกษาเปรียบเทียบแนวการปฏิบัติกรรมฐาน ของหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ และหลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม นี้ มีวัตถุประสงค์  ๓ ประการ คือ  ๑) เพื่อศึกษาหลักการและวิธีการปฏิบัติกรรมฐานในคัมภีร์พระพุทธศาสนา  ๒) เพื่อศึกษาแนวคิดหลักคำสอนและวิธีการเกี่ยวกับการปฏิบัติกรรมฐาน ตามแนวหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ  และหลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม  ๓) เพื่อศึกษาเปรียบเทียบการปฏิบัติกรรมฐาน  ตามแนวหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ และหลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม

   ผู้วิจัยได้ทำการวิจัยเชิงเอกสาร (Documentary Research) โดยการศึกษาข้อมูลจากเอกสารปฐมภูมิ คือ พระไตรปิฎก และเอกสารทุติยภูมิ ได้แก่ อรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา คัมภีร์ปกรณ์วิเสส หนังสือ และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง แล้วนำมาวิเคราะห์สังเคราะห์ข้อมูลโดยลำดับ

ผลการวิจัยพบว่า

๑) กรรมฐาน หมายถึง ที่ตั้งของการงานทางจิตใจ แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ สมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน โดยในพระไตรปิฎกหมายถึงการดำเนินงานในหน้าที่ทั้งของคฤหัสถ์และบรรพชิต แต่ในคัมภีร์อรรถกถาได้ให้คำจำกัดความที่แคบเข้าโดยมุ่งเน้นไปที่การฝึกฝนจิตเพื่อให้เกิดสมาธิและปัญญา ให้เข้าถึงจุดมุ่งหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา ซึ่งหลักการและสาระสำคัญของการปฏิบัติกรรมฐานปรากฏอยู่ในมหาสติปัฏฐานสูตร อันแสดงถึงการปฏิบัติทางจิตใจโดยตรง และพระบรมศาสดาทรงสรรเสริญว่า เป็นทางสายเดียวที่จะทำให้ก้าวล่วงความโศก ทำให้สิ้นความทุกข์โทมนัส ให้บรรลุธรรมที่พึงบรรลุ  จนถึงทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน

๒) หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ และหลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม เป็นพระอาจารย์กรรมฐานที่มีจุดเริ่มของการศึกษาและปฏิบัติกรรมฐานประเภทเดียวกัน คือ อานาปานสติ แบบกำหนดลมหายใจเข้าออกและภาวนาว่า พุท-โธ ต่างกันที่หลวงพ่อเทียนได้ศึกษามาตั้งแต่เป็นเด็ก ส่วนหลวงพ่อจรัญได้ศึกษาเมื่ออุปสมบทแล้ว หลวงพ่อเทียนได้ศึกษากรรมฐานที่ใช้คำบริกรรมภาวนาว่า ติง-นิ่ง ตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นคฤหัสถ์ และภายหลังได้ละคำภาวนานั้น กำหนดรู้อาการเคลื่อนไหวอย่างเดียว บังเกิดความก้าวหน้าเป็นอย่างดี และได้สอนกรรมฐานดังกล่าวแก่พุทธศาสนิกชนตลอดชีวิตของท่าน ส่วนหลวงพ่อจรัญได้ไปศึกษากรรมฐานและวิทยาคมกับอาจารย์ผู้มีชื่อเสียงหลายรูป เช่น หลวงพ่อเดิม หลวงพ่อวัดปากน้ำ หลวงพ่อลี เป็นต้น ภายหลังได้มาศึกษาวิปัสสนากรรมฐานกับพระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ) และได้มุ่งปฏิบัติในวิปัสสนากรรมฐาน บังเกิดความก้าวหน้าในการปฏิบัติเป็นอย่างดี จึงได้สั่งสอนพุทธศาสนิกชนในการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน  มาถึงทุกวันนี้

๓) หลวงพ่อเทียนใช้ภาษาไทยท้องถิ่นเมืองเลยในการเผยแผ่และอธิบายธรรม ในขณะที่หลวงพ่อจรัญใช้ภาษาไทยภาคกลาง และภาษาธรรมที่มีรากศัพท์มาจากภาษาบาลีอย่างเป็นระบบ หลวงพ่อเทียนอธิบายสติปัฏฐานว่า ได้แก่การเจริญสติควบคู่กับการเคลื่อนไหวอิริยาบถ โดยให้กำหนดสติรู้เท่าทันการเคลื่อนไหวที่สร้างขึ้นเป็นรูปแบบ ขณะที่หลวงพ่อจรัญสอนให้กำหนดตามแนวสติปัฏฐาน คือ กำหนดกาย เวทนา จิต ธรรม เริ่มจากกำหนดสติที่อิริยาบถใหญ่ไปสู่อิริยาบถย่อย การปฏิบัติกรรมฐานตามแนวหลวงพ่อเทียนต้องมีการเคลื่อนไหวอวัยวะร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งตลอดเวลาใช้สติกำหนดรู้ตามทุกอาการโดยไม่ต้องใช้คำบริกรรมใดๆ ในขณะที่หลวงพ่อจรัญใช้วิธีกำหนดรู้อาการพองยุบของหน้าท้อง และใช้คำบริกรรมสำหรับออกชื่อตามอิริยาบถและความรู้สึกที่เป็นอยู่ในขณะนั้น 

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕