หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูโพธิชยธรรม (บุปผาสังข์)
 
เข้าชม : ๒๐๐๓๑ ครั้ง
การศึกษาเปรียบเทียบการให้ทานสมัยพุทธกาลกับการให้ทานของชาวตำบลนาเลิง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด
ชื่อผู้วิจัย : พระครูโพธิชยธรรม (บุปผาสังข์) ข้อมูลวันที่ : ๒๕/๐๗/๒๐๑๕
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาประมวล ฐานทตฺโต
  โสวิทย์ บำรุงภักดิ์
  ประยูร แสงใส
วันสำเร็จการศึกษา : 2556
 
บทคัดย่อ

           วิทยานิพนธ์เรื่อง การศึกษาเปรียบเทียบการให้ทานสมัยพุทธกาลกับการให้ทานของชาวตำบลนาเลิง  อำเภอเสลภูมิ  จังหวัดร้อยเอ็ด มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาการให้ทานในสมัยพุทธกาล  เพื่อศึกษาการให้ทานของชาวตำบลนาเลิง  อำเภอเสลภูมิ   จังหวัดร้อยเอ็ด และเพื่อศึกษาเปรียบเทียบการให้ทานในสมัยพุทธกาลกับการให้ทานของชาวตำบลนาเลิง   อำเภอเสลภูมิ   จังหวัดร้อยเอ็ด

ผลการศึกษาพบว่า ทาน หมายถึง การให้ การบริจาคสิ่งของภายนอกคือปัจจัย ๔ ตลอดถึงการให้ชีวิตเป็นทาน โดยสรุปมี ๒ ประเภทคือ อามิสทาน และธรรมทาน วัตถุทาน ๑๐ ประการ จัดเป็นอามิสทาน ส่วนธรรมทานคือการสั่งสอนธรรมตลอดจนแนะนำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ วัตถุสิ่งของที่ชาวพุทธตำบลนาเลิงได้ถวายทานที่เป็นอาหารบิณฑบาต เช่น ข้าว ผลไม้ ผัก ปลา เนื้อ เป็นต้น  เครื่องนุ่งห่ม ได้แก่ ไตรจีวร  ที่อยู่อาศัย เช่น กุฏิ ที่นอน เตียง เป็นต้น  ยารักษาโรค ได้แก่ ผาแผนปัจจุบัน รวมทั้งน้ำผึ้ง น้ำอ้อย เป็นต้น

วัตถุประสงค์ของการให้ทานที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนา เช่น ให้เพราะประสบผู้รับ หากไม่ให้ก็จะเก้อเขิน, ให้เพราะกลัวถูกติเตียนว่าเป็นคนตระหนี่ ไม่รู้จักให้ทาน จึงต้องฝืนใจให้, ให้เพราะคิดว่าเป็นการตอบแทนที่เขาเคยได้ให้แก่ตน, ให้เพราะหวังผลตอบแทนจากเขา คือเมื่อตนให้เขา เขาก็ต้องให้คืน, ให้เพราะคิดว่าการให้ทานเป็นการดี, ให้เพราะเห็นว่าพระสงฆ์หุงข้าวฉันเองไม่ได้ หากจะไม่ให้ก็เป็นการไม่ควร, ให้เพราะหวังชื่อเสียง, ให้เพื่อพัฒนาจิต นอกจากนี้ยังให้เพื่อปรารถนาสมบัติในชาตินี้คือความเป็นอยู่สุขสบาย และปรารถนาการได้เกิดเป็นเทวดา ส่วนชาวตำบลนาเลิงให้เพื่อต้องการเกิดในสวรรค์ กำจัดความเห็นแก่ตัว ช่วยเหลือสังคม ต้องการบำรุงพระศาสนา ต้องการความสุข อนุเคราะห์และตอบแทนบุญคุณ ต้อการร่ำรวย สงเคราะห์เพื่อนมนุษย์ ช่วยเหลือคนพิการ และผู้ประสบภัยต่าง ๆ เมื่อเปรียบเทียบแล้วจะเห็นว่า การให้ของชาวตำบลนาเลิงนอกจากจะให้ทานเพื่อประโยชน์ตนแล้วยังให้ทานเพื่อประโยชน์คนส่วนมากด้วย

แรงจูงใจในการให้ทานในคัมภีร์พระพุทธศาสนา เช่น เห็นคนอื่นลำบาก จึงให้เพื่ออนุเคราะห์เขา ให้เขามีความเป็นอยู่ที่สบาย, ให้เพื่อบูชาคุณ เป็นการได้ตอบแทนคุณงามความดีของบุพพการีชน, ให้เพราะเชื่อว่าอานิสงส์ของทานทำให้ได้ทิพยสมบัติ ที่เป็นด้านลบ เช่น ให้เพราะหวังความมีชื่อเสียง ส่วนแรงจูงใจในการให้ทานของชาวตำบลนาเลิงคือ ปรารถนาได้ไปเกิดในสวรรค์ หวังตอบแทนคุณพระศาสนา เชื่อว่าการให้ทานทำให้มีโชคลาภ ร่ำรวย และต้องการช่วยเหลือเพื่อมนุษย์ผู้เดือดร้อน โดยสรุปคือให้เพราะแรงจูงใจด้านลบและด้านบวก และให้เพราะถูกความปรารถนาสมบัติในชาติปัจจุบันกระตุ้นและความปรารถนาสมบัติในชาติหน้ากระตุ้น

อานิสงส์ของการให้ทานตามหลักพระพุทธศาสนาในคัมภีร์อังคุตตรนิกายคือ ผู้ให้ทานย่อมเป็นที่รักที่พอใจของคนทั้งหลาย สัตบุรุษหรือคนดีก็คบหาผู้ให้ทานนั้น ทำให้มีชื่อเสียงดีงาม ไม่เหินห่างจากธรรมของคฤหัสถ์ และหลังจากตายแล้วย่อมเกิดในสุคติโลกสวรรค์ ส่วนชาวตำบลสีแก้วเห็นว่า เป็นการได้กำจัดความตระหนี่ให้หมดสิ้นไป เป็นเหตุให้ได้บรรลุนิพพาน ทำให้ใจสบาย ได้รับการยกย่องจากสังคม เป็นที่นับถือของชุมชน เป็นบุญกุศลแก่ตนเอง และทำให้ประสบโชคในบางโอกาส ซึ่งความเข้าใจประการสุดท้ายของชาวบ้านนี้อาจทำให้ถวายทานเพราะความเห็นผิดหรือตกเป็นเหยื่อของผู้แสวงหาประโยชน์จากคนทำบุญได้ ดังนั้น จึงควรได้ยึดตามหลักพระพุทธศาสนา

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕