หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระอธิการคำภา อติพโล (ปินะกะเส)
 
เข้าชม : ๒๐๐๑๑ ครั้ง
ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเทวดาในมุมมอง ของพระพุทธศาสนาเถรวาท
ชื่อผู้วิจัย : พระอธิการคำภา อติพโล (ปินะกะเส) ข้อมูลวันที่ : ๐๘/๐๘/๒๐๑๕
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูภาวนาโพธิคุณ
  ประยูร แสงใส
  -
วันสำเร็จการศึกษา : 2557
 
บทคัดย่อ

                       งานวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ข้อคือ (๑) เพื่อศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับเทวดาในมุมมองพระพุทธศาสนาเถรวาท (๒) เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเทวดาในมุมมองพระพุทธศาสนาเถรวาท (๓) เพื่อศึกษาประโยชน์ จากความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเทวดาในมุมมองพระพุทธศาสนาเถรวาท

                 ผลของการวิจัยพบว่า มุมมองพระไตรปิฎกได้ระบุถึงแนวคิดเกี่ยวกับเทวดาปรากฏทั้งในพระวินัย พระสูตร และพระอภิธรรม โดยเฉพาะในพระสูตรนั้น ได้กล่าวถึงเทวดาไว้เป็นจำนวนมาก ประมวลเรื่องเทวดาเอาไว้เรียกว่า เทวตาสังยุต พระพุทธศาสนาให้การยอมรับว่า เทวดามีอยู่จริง เทวดาเป็นผู้มีความพิเศษในตัวคือ มีกายทิพย์ มีรัศมีงดงาม มีอายุยืนยาว เป็นประชากรชาวสวรรค์ เล่นสนุกสนานด้วยกามคุณ ๕ และด้วยคุณพิเศษมีฌานและอภิญญาเป็นต้น เทวดามาจากมนุษย์ คือมนุษย์ประพฤติสุจริตทางกาย วาจา และใจ จะมีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า พระพุทธ ศาสนา ได้แสดงถึงหลักปฏิบัติที่จะทำให้มนุษย์เป็นเทวดา โดยให้ปฏิบัติในหลักบุญกิริยาวัตถุ ๓ บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ หลักสัมปทา ๕  วัตตบท ๗ และหลักเทวธรรม หลักปฏิบัติเหล่านี้เป็นประโยชน์เกื้อกูลอย่างยิ่งแก่ผู้ปฏิบัติ เพราะเป็นหลักที่ช่วยเสริมสร้างกำลังใจ ให้ความหวัง ทำให้ผู้ปฏิบัติตามได้ดำเนินชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท เมื่อตายแล้วจะได้ไปเกิดที่สวรรค์

                 บทบาทของเทวดา จะเห็นว่ามีทั้งบทบาทในด้านบวก เช่น การให้ความ ช่วยเหลือหรือดูแลผู้ทรงศีลทรงธรรม การมาเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อฟังธรรมหรือทูลถามปัญหา และบทบาทในด้านลบ เช่น เกิดความอิจฉาริษยา ทำการขัดขวางหรือรบกวนผู้ที่ใจอ่อน ไม่เข้มแข็งให้ตกอยู่ใต้อำนาจและชักนำไปในทางที่ไม่ดี มนุษย์ควรวางท่าทีหรือปฏิบัติให้ถูกต้องต่อเทวดาใน ๔ แนวทาง คือ () เทวตาพลี ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่เทวดา () เทวตานุสติ หมั่นระลึกนึกถึงคุณธรรมหรือคุณสมบัติที่ทำ ให้เป็นเทวดา เช่น มีศรัทธา มีศีล () แผ่เมตตาจิตไปยังเทวดา เป็นการแสดงถึงความ ปรารถนาดีต่อเทวดาในที่นั้นๆ และ () อัญเชิญเทวดามาร่วมทำความดี เช่น อัญเชิญมาร่วม ฟังธรรม ดังที่ชาวพุทธนิยมสวดชุมนุมเทวดาในการประกอบพิธีทำบุญก่อนที่จะมีการเจริญพระพุทธมนต์

                 ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเทวดา  จึงเป็นข้อที่ควรพิจารณาให้ถ่องแท้  กล่าวคือ  คนส่วนใหญ่มักเข้าไปเกี่ยวข้องกับเทวดาด้วยผลในทางปฏิบัติ  คือ  หวังพึ่งพาอาศัยและขออำนาจดลบันดาลต่างๆ  และหลักการดังกล่าวมาแล้ว  เทวดาทั่วไปก็จะเป็นผู้มีฤทธิ์   เรื่องเทวดาจัดเข้าในประเภทสิ่งลึกลับ  เป็นเรื่องเหนือสามัญวิสัย  กล่าวคือ  ไม่สามารถพิสูจน์ได้  คือเอามาแสดงให้เห็นจริงจนต้องยอมรับโดยเด็ดขาดไม่ได้  ฝ่ายที่เชื่อก็ไม่อาจพิสูจน์ให้คนทั่วไปเห็นได้ชัดแจ้งจนหมดความสงสัยจนกระทั่งต้องยอมรับกันทั่วทั้งหมด  ฝ่ายที่ไม่เชื่อก็ไม่สามารถที่จะชี้แจงให้เห็นจริงโดยเด็ดขาดลงไปได้  การมัววุ่นวายกับการพิสูจน์สิ่งเหล่านั้น  ย่อมก่อให้เกิดโทษหลายอย่างทั้งแก่บุคคลและสังคม  นอกจากเสียเวลาและเสียกิจการเพราะความหมกมุ่นวุ่นวายแล้วจะต้องมัวรอกันอยู่จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามีจริงหรือไม่มี ดังนั้นประโยชน์อย่างยอดยิ่ง หรือประโยชน์ที่เป็นสาระแท้ของชีวิต เป็นจุดหมายสูงสุดหรือที่หมายขั้นสุดท้าย ได้แก่ การรู้แจ้งสภาวะของสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง รู้เท่าทันคติธรรมดาของสังขารธรรม ไม่ตกเป็นทาสของโลกและชีวิต มีจิตเป็นอิสระปลอดโปร่งผ่องใสไม่ถูกบีบคั้นคับข้องจำกัดด้วยความยึดถือมั่นหวั่นหวาดของตนเอง ปราศจากกิเลสเผาลนที่ทำให้เศร้าหมองขุ่นมัว อยู่อย่างไร้ทุกข์ประจักษ์แจ้งความสุขประณีตภายในที่สะอาดบริสุทธิ์สิ้นเชิงอันประกอบพร้อมด้วยความสงบเยือกเย็นสว่างไสวเบิกบานโดยสมบูรณ์ เรียกว่า วิมุตติและนิพพาน

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕