หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พีระพงษ์ กลิ่นละออ
 
เข้าชม : ๒๐๐๒๗ ครั้ง
รูปแบบนวัตกรรมการสื่อสารแนวพุทธเพื่อการพัฒนาเกษตรกรสู่เศรษฐกิจพอเพียง
ชื่อผู้วิจัย : พีระพงษ์ กลิ่นละออ ข้อมูลวันที่ : ๐๓/๐๒/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระสุธีธรรมานุวัตร (เทียบ สิริญาโณ)
  พระมหาสุทิตย์ อาภากโร
  พิพัฒน์ ยอดพฤติการ
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๘
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

            งานวิจัยฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ข้อ () เพื่อศึกษาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และกระบวนการสื่อสารแนวพุทธเพื่อการพัฒนาเกษตรกรสู่เศรษฐกิจพอเพียง () เพื่อสร้างและพัฒนานวัตกรรมการสื่อสารแนวพุทธ เพื่อการพัฒนาเกษตรกรสู่เศรษฐกิจพอเพียง และ () เพื่อนำเสนอ รูปแบบนวัตกรรมการสื่อสารแนวพุทธ เพื่อการพัฒนาเกษตรกรสู่เศรษฐกิจพอเพียง โดยรากฐานของปัญหาเกิดจากผลของการพัฒนาเกษตรกรตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทั้ง ๑๐ ฉบับ ที่ส่งผ่านวิธีการสื่อสารด้วยรูปแบบการอบรม และกิจกรรมเพื่อการพัฒนานั้น ยังไม่สามารถทำให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามแผนงานสื่อสารที่วางไว้ เกษตรกรยังคงมีหนี้สินมากขึ้น ทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิด ไม่มีการพัฒนาที่ต่อเนื่อง ทั้งการผลิต ตลาด และส่งผลถึงผู้บริโภค ไม่ได้รับสินค้าและบริการที่ดุลยภาพ การศึกษาใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพเป็นหลักโดยนำการวิจัยเชิงปริมาณมาประกอบ เพื่อวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อความ หรือกิจกรรมที่สื่อสารสู่เกษตรกรว่าต้องประกอบไปด้วยหลักวิชาการที่ผ่านกระบวนการสื่อสารอย่างไรจึงจะประสบผลสำเร็จ สามารถสร้างศรัทธา ความน่าเชื่อถือให้เกิดแก่ผู้รับสาร จนถึงเกณฑ์ที่ยอมปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ด้วยกระบวนการที่สมดุลระหว่างการสื่อสารรูปแบบเดิมและประยุกต์เทคโนโลยีการสื่อสารปัจจุบัน เพื่อทำให้ผลงานตรงตามเป้าหมายการพัฒนาสู่ความยั่งยืน งานวิจัยได้นำทฤษฎีการยอมรับและการใช้เทคโนโลยี (TAM & UTAUT Model) ประยุกต์เข้ากับ 5 ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก พุทธเศรษฐศาสตร์ การเสริมสร้างและความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (CSR) บนฐานหลักธรรม โดยมีหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นกรอบความคิด

            ผลการวิวิจัยพบว่า รูปแบบนวัตกรรมการสื่อสารแนวพุทธ เพื่อการพัฒนาเกษตรกรสู่เศรษฐกิจพอเพียง คือ กระบวนการสื่อสารที่สร้างการตอบสนองระหว่างความต้องการพัฒนาของเกษตรกร ให้สอดคล้องกับปัจจัยเพื่อการพัฒนาได้อย่างมีดุลยภาพ ซึ่งผลสำเร็จจะเกิดจากวิธีการนำธรรมะมากำกับ  ซึ่งผลของวิธีการนี้สามารถนำเกษตรกรพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจพอเพียงได้ โดยมีดัชนีที่ใช้ในการตรวจสอบผลที่เกิดขึ้นต่อตนเองในด้านเศรษฐกิจ การศึกษาต่อเนื่อง ศรัทธา ความเชื่อมั่น การมีส่วนร่วมทางสังคม และคุณภาพชีวิตเป็นเครื่องมือวัดผล โดยมีการสื่อสารแนวพุทธเป็นจุดเชื่อมความสมดุลที่ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเกษตรกรไปในทิศทางที่ทำให้เกิดปัญญาและความสุขที่ยั่งยืน     เมื่อความรู้ที่ถูกส่งไปให้เกษตรกรปฏิบัติเพื่อก่อเกิดปัญญารู้แจ้งในการพัฒนานั้น อยู่ภายใต้กรอบปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยประยุกต์ความพอประมาณเข้ากับทฤษฎีการผลิต การตลาด และการบริโภคของเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก กำกับด้วยหลักพุทธเศรษฐศาสตร์และหลักธรรมมัชฌิมาปฏิปทา, อริยมรรคมีองค์ ๘, ไตรสิกขา, ปฏิจจสมุปบาท, สัปปุริสธรรม ๗, เบญจศีล – เบญจธรรม ส่วนความมีเหตุและผลนั้นกำกับด้วยหลักธรรมโยนิโสมนสิการ, ไตรลักษณ์, อริยสัจ ๔, อิทธิบาท ๔, สังคหวัตถุ ๔, พรหมวิหาร ๔ ด้วยภูมิคุ้มกันที่มีสติ-อัปมาทธรรม และกัลยาณมิตรธรรม กำกับบนฐานความรู้คู่คุณธรรมที่เข้มแข็งได้ด้วยพหูสูตร, อายตนะ ๖ ที่มีหิริ โอตัปปะ ความละอายและเกรงกลัวต่อบาปต่อการทุจริต เป็นธรรมะจุดเริ่มต้นของฐาน ทำให้การบริหารเป็นไปอย่างมีความรับผิดชอบจากศาสตร์ของ CSR และจากการสังเคราะห์พบว่า รูปแบบ (Model) ที่สมบูรณ์ ของการตอบสนองปัจจัยการพัฒนา และความต้องการในการพัฒนาคือ จุดดุลยภาพของความต้องการและการตอบสนองที่ถูกเชื่อมต่อเนื่องกันไปจนเป็นกราฟเส้นตรงเส้นเดียวกัน ดังนั้นรูปแบบนวัตกรรมการสื่อสารแนวพุทธ เพื่อการพัฒนาเกษตรกรสู่เศรษฐกิจพอเพียง จึงประกอบไปด้วย ๕ ทฤษฎีหลัก ๑๕ หลักธรรมกำกับและวัดผลด้วย ๑๕ ดัชนี ซึ่งรูปแบบนวัตกรรมในงานวิจัยครั้งนี้ยังสามารถปรับใช้ในประเทศที่แตกต่างทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม เพราะสังเคราะห์จากหลักของธรรมชาติคือ หลักธรรม

 

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕