หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » อรอุมา อสัมภินวัฒน์
 
เข้าชม : ๒๐๐๔๙ ครั้ง
พุทธวิธีการสอนสตรีในคัมภีร์พระพุทธศาสนา
ชื่อผู้วิจัย : อรอุมา อสัมภินวัฒน์ ข้อมูลวันที่ : ๐๘/๐๒/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร
  แม่ชีกฤษณา รักษาโฉม
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๙
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

 

งานวิจัยนี้ ผู้วิจัยมีจุดมุ่งหมาย ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาสถานภาพของสตรีในพระพุทธศาสนา ๒) เพื่อศึกษาธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนสตรีในคัมภีร์พระพุทธศาสนาและ ๓) เพื่อศึกษาวิเคราะห์พุทธวิธีการสอนสตรีในคัมภีร์พระพุทธศาสนา

ผลการวิจัยพบว่า ทัศนะต่อสตรีในบริบทสังคมอินเดียในช่วงก่อนพุทธกาลและสมัยพุทธการนั้นแตกต่างกัน ในสมัยก่อนพุทธกาลสตรีอยู่ในฐานะที่ตกต่ำ  การดำเนินชีวิตต้องอยู่ภายใต้กรอบความเชื่อของสังคม วัฒนธรรมและประเพณีของพราหมณ์ที่สืบต่อกันมา บทบาทที่มีความสำคัญอยู่บ้าง คือ บทบาทภรรยาและมารดา ในเรื่องความเกี่ยวข้องกับศาสนา สตรีจะเข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนาเพียงยุคพระเวท ต่อมาถึงยุคพราหมณ์ไม่มีปรากฏว่าสตรีได้เข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนา แต่เมื่อพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น ผู้คนในสังคมอินเดียมีทัศนะต่อสตรีในทิศทางที่ดีขึ้น การดำรงชีวิต สถานภาพ และบทบาท เปลี่ยนแปลงไป สตรีได้รับอิสรภาพในเรื่องของความคิดและจิตวิญญาณ โดยประเด็นความสามารถในการบรรลุธรรมถือเป็นจุดเด่น (Highlight) ของพระพุทธศาสนา

พระพุทธองค์ตรัสสอนธรรมแก่สตรีไว้โดยมาก อย่างไรก็ตาม ผู้วิจัยได้ศึกษาเรื่องราวและพุทธวิธีการสอนธรรมแก่สตรีจำนวน ๖ ท่าน ได้แก่ พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี  พระภัททากัจจานาเถรี พระปฏาจาราเถรี พระกีสาโคตมีเถรี นางวิสาขา และพระนางสามาวดี ซึ่งเป็นสตรีที่มีโอกาสเกี่ยวข้องและได้รับฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า ยกเว้นพระนางสามาวดีแม้ว่าไม่ได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์โดยตรงแต่สาวใช้ชื่อขุชชุตตราเป็นผู้ฟังธรรมและนำมาสอนต่อ และธรรมอันประเสริฐนั้นสามารถนำท่านทั้งหลายไปสู่หนทางแห่งความสุขทั้งในระดับโลกิยธรรมและโลกุตรธรรม จากการศึกษาชีวประวัติและภูมิหลังเราจะพบว่าสตรีทั้ง ๖ ท่านประสบความทุกข์ในเรื่องที่คล้ายคลึงกัน คือ การพลัดพรากจากสิ่งที่รักและสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไป พระพุทธองค์ทรงใช้พุทธวิธีการสอนที่แตกต่างกันไปตามบุคคลที่แตกต่างกัน ซึ่งคำว่า ลักษณะบุคคลที่แตกต่างกัน คือ ตามจริตทั้ง ๖  ความพร้อม ความสุกงอม ความแก่รอบแห่งอินทรีย์ญาณ (ตรงกับภาษาบาลี ว่า ปริปากะ) พระองค์จะพิจารณาว่าผู้ฟังแต่ละคนควรจะเรียนอะไร เรียนได้แค่ไหน หรือว่าสิ่งที่ต้องการให้เขารู้นั้น ควรสอนได้หรือยัง  พุทธวิธีการสอนที่พระพุทธองค์ทรงใช้นั้นมีปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก กล่าวคือ มีทั้งแบบสากัจฉาหรือแบบสนทนา แบบบรรยาย และ แบบวางกฎข้อบังคับ แล้วแต่สถานการณ์ที่พระองค์ทรงเผชิญ และทรงใช้พุทธลีลาประกอบทั้ง ๔ วิธี คือ สันทัสสนาวิธี คือ ทรงอธิบายให้เห็นชัดเจนแจ่มแจ้ง เหมือนจูงมือไปดูเห็นกับตา , สมาทปนาวิธี ทรงจูงใจให้เห็นจริงด้วย ชวนให้คล้อยตาม จนต้องยอมรับและนำไปปฏิบัติ, สมุตเตชนาวิธี ทรงเร้าใจให้แกล้วกล้า บังเกิดกำลังใจ ปลุกให้มีอุตสาหะแข็งขัน มั่นใจว่าจะทำให้สำเร็จได้ ไม่หวั่นระย่อต่อความเหนื่อยมาก และสัมปหังสนาวิธี ทรงชโลมใจให้แช่มชื่น ร่าเริง เบิกบาน ฟังไม่เบื่อ และเปี่ยมด้วยความหวัง อีกทั้ง ทรงใช้อุบายในการสอนประกอบการอธิบายเพื่อให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น อาทิ การอุปมา การยกชาดกหรือนิทาน และใช้อุปกรณ์ประกอบการสอน

จากการได้พบและฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า ส่งผลให้สตรีทั้ง ๖ ท่าน ได้บรรลุธรรมทั้งหมด โดยแบ่งเป็นภิกษุณี ๔ ท่าน บรรลุอรหันตผล ส่วนอุบาสิกา ๒ ท่าน บรรลุในระดับโสดาปัตติผล โดยสตรีแต่ละท่านมีจุดเด่นที่สะท้อนความเป็นตัวเองที่แตกต่างกัน อย่างพระมหาปชาบดีโคตมีเถรีเป็นสตรีที่มีความโดดเด่นให้เรื่องของการเป็นผู้นำ พระภัททากัจจานาเถรี มีความโดดเด่นของการเป็นภรรยาที่ดี พระปฏาจาราเถรีเป็นผู้โดดเด่นในเรื่องของการเป็นตัวแทนสตรีที่สะท้อนให้เห็นความทุกข์จากความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก พระกีสาโคตมีเถรี โดดเด่นในการเป็นมารดาที่มีความรักต่อบุตร นางวิสาขา เป็นสตรีที่เป็นมหาอุบาสิกา ผู้มีจริยวัตรงดงามทั้งภายนอกและภายใน และพระนางสามาวดี ผู้มีความเป็นเลิศในความเมตตาหาคนอื่นเสมอเหมือน ซึ่งสารธรรมที่ได้จากท่าน สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันในบทบาทต่าง ๆ แก่สตรีในสังคมปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น หลักธรรมสำหรับผู้นำ อาทิ อิทธิบาท ๔ , พรหมวิหาร ๔ , สังคหวัตถุ ๔ หลักธรรมสำหรับภรรยา อาทิ ภรรยา ๗      จำพวก,ทิศ ๖ , สมชีวิธรรม ,ฆราวาสธรรม ๔ หลักธรรมสำหรับการใช้ชีวิตของสตรี อาทิ ศีล ๕ , อัตถะ ๓  หลักธรรมสำหรับอุบาสิกา อาทิ อุบาสกธรรม ๗ และอานิสงส์ที่ได้จากการถวายทาน เป็นต้น  จึงกล่าวได้ว่า พระพุทธองค์ทรงมีหลักธรรมกำกับความประพฤติไว้ให้แด่สตรีในทุกบทบาท เพื่อเป็นคู่มือชีวิตอันยอดเยี่ยมที่สตรีควรน้อมรับและนำไปปฏิบัติ

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕