หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาเลอเดช วรวํโส (วงศ์ศรีชา)
 
เข้าชม : ๒๐๐๕๔ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์ปัญญาบารมีของพระมโหสถ(๒๕๔๙)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาเลอเดช วรวํโส (วงศ์ศรีชา) ข้อมูลวันที่ : ๒๔/๐๘/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระสุธีวรญาณ (ณรงค์ จิตฺตโสภโณ)
  ผศ.ร.ท.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ
  ดร.ใกล้รุ่ง อามระดิษ
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๔ มีนาคม ๒๕๔๙
 
บทคัดย่อ

   งานวิจัยนี้มุ่งศึกษาคำสอนเรื่องปัญญาในพระพุทธศาสนา และการบำเพ็ญปัญญาบารมีในอดีตชาติแห่งพระพุทธเจ้าของเราทั้งหลายเมื่อครั้งเสวยพระชาติเป็นพระมโหสถโพธิสัตว์ ซึ่งมีเรื่องราวปรากฏในมโหสถชาดก ชาดกเรื่องที่ ๕ ในชุดทสชาติชาดก มีที่มาในคัมภีร์ขุททกนิกาย (มหานิบาต) ชาดก พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘
การวิจัยครั้งนี้พบว่าปัญญาคือความรู้ทั่ว เป็นยอดของคำสอนในพระพุทธศาสนา จำแนกเป็นประเภทได้เช่น โลกิยปัญญา ปัญญาในระดับโลก ๆ และโลกุตตรปัญญา ปัญญาในอริยมรรคอริยผล มีชื่อเรียกต่าง ๆ เช่น ญาณ วิชชา วิปัสสนา โกศล อโมหะ ธัมมวิจัย สัมมาทิฏฐิ ชื่อเหล่านี้ใช้หมายถึงปัญญาในแง่มุมที่แตกต่างกันไป องค์ธรรมคือปัญญามีปรากฏในหมวดธรรมมากมาย เช่น ไตรสิกขา ธรรมขันธ์ ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘
การบำเพ็ญปัญญาบารมีของพระมโหสถ ได้แก่ การที่พระมโหสถพัฒนาสุตมยปัญญา คือปัญญาที่เกิดจากการศึกษาเล่าเรียน และจินตามยปัญญา คือปัญญาที่เกิดจากการคิดพิจารณา ด้วยการศึกษาเล่าเรียนวิชาความรู้ขั้นพื้นฐานจากบิดามารดา และวิชาความรู้อื่น ๆ จากกัลยาณมิตร ตำรับตำรา และสิ่งแวดล้อม และการคิดพิจารณา แล้วนำสุตมยปัญญา และจินตามยปัญญาที่ได้รับการพัฒนาแล้วกลายเป็นความเป็นผู้ฉลาดในอุบาย ไปช่วยเหลือผู้คนมากมายตั้งแต่สามัญชนคนธรรมดาไปจนถึงพระราชามหากษัตริย์ โดยมีความกรุณาเป็นพื้นฐาน มุ่งประโยชน์แก่สรรพสัตว์เป็นหลัก ปัญญาของพระมโหสถตรงตามลักษณะของบารมีธรรมที่ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์จริยาปิฎกว่า (บารมี) มีการอนุเคราะห์ผู้อื่นเป็นลักษณะ มีการทำอุปการะแก่ผู้อื่นเป็นหน้าที่ (รส) หรือมีความไม่หวั่นไหวเป็นหน้าที่ มีการแสวงหาสิ่งที่เป็นประโยชน์เป็นผลที่ปรากฏ (ปัจจุปัฏฐาน) หรือมีความเป็นพระพุทธเจ้าเป็นผล มีมหากรุณาเป็นพื้นฐาน (ปทัฏฐาน) หรือมีความเป็นผู้ฉลาดในอุบายแห่งกรุณาเป็นพื้นฐาน ดังนั้น ปัญญาของพระมโหสถจึงเป็นปัญญาบารมี
การบำเพ็ญปัญญาบารมีของพระมโหสถเป็นการทำกุศลกรรม และเป็นปุญญา ภิสังขาร กุศลกรรมนี้ให้ผลเป็นอปราปรเวทนียกรรมคือกรรมที่ให้ผลในชาติต่อ ๆ ไป และทำหน้าที่เป็นชนกกรรมชักนำให้พระโพธิสัตว์มาปฏิสนธิในครรภ์ของพระพุทธมารดา กล่าวในแง่ปฏิจจสมุปบาท ปุญญาภิสังขารที่พระมโหสถบำเพ็ญให้เกิดมีด้วยกามาวจรกุศลจิตดวงที่ ๑ เป็นปัจจัยข้ามภพชาติให้เกิดวิญญาณ คือกามาวจรกุศลมหาวิบากจิตดวงที่ ๑ ซึ่งมาถือปฏิสนธิในครรภ์ของพระพุทธมารดา กามาวจรกุศลมหาวิบากจิตดวงที่ ๑ นี้เกิดมีพร้อมกับเจตสิกธรรม (ธรรมที่ประกอบกับจิต) คือปัญญา ที่เรียกว่า สชาติปัญญา (ปัญญาที่ติดตัวมาแต่กำเนิด) สชาติปัญญานี้เองเป็นปัญญาบารมีที่สืบเนื่องมาจากปัญญาบารมีที่พระโพธิสัตว์บำเพ็ญไว้ในชาติที่เกิดเป็นพระมโหสถและชาติอื่น ๆ และได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาจนถึงระดับสูงสุดในพระชาติสุดท้าย พระโพธิสัตว์มีปัญญาบารมีคือสชาติปัญญา พร้อมทั้งบารมีอีก ๙ ประการมีทานบารมีเป็นต้นเต็มเปี่ยม ทรงเบื่อหน่ายในทุกข์เสด็จออกผนวช ทรงบรรลุฌานสมาบัติ ๘ ปุพเพนิวาสนุสสติญาณ และจุตูปปาตญาณ ด้วยอุปนิสสยปัจจัยคือภาวนามยปัญญาที่ทรงบำเพ็ญมาในอดีตชาติ แล้วทรงเจริญวิปัสสนาด้วยการใช้สชาติปัญญาที่สัมปยุตด้วยกามาวจรกุศลจิตดวงที่ ๑ พิจารณาปฏิจจสมุปบาท ทรงบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณพร้อมด้วยพระคุณทั้งปวง สำเร็จเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

Download : 254909.pdf

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕