หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาชูชีพ สุทฺธิญาโณ (อินประดิษฐ์)
 
เข้าชม : ๒๐๐๑๙ ครั้ง
ศึกษาหลักธรรมในการเจริญวิปัสสนาภาวนาในฉวิโสธนสูตร
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาชูชีพ สุทฺธิญาโณ (อินประดิษฐ์) ข้อมูลวันที่ : ๒๖/๐๔/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(วิปัสนาภาวนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูพิพิธวรกิจจานุการ
  เสนาะ ผดุงฉัตร
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๘
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

             วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ เพื่อศึกษาเนื้อหาหลักธรรมในฉวิโสธนสูตร เพื่อศึกษาการเจริญวิปัสสนาภาวนาในพุทธศาสนาเถรวาท เพื่อศึกษาหลักธรรมในการเจริญวิปัสสนาภาวนาในฉวิโสธนสูตร โดยการศึกษาข้อมูลจากคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท คือ พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และคัมภีร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น คัมภีร์วิสุทธิมรรค เป็นต้น โดยการรวบรวมข้อมูล นำมาประมวล วิเคราะห์ โดยเรียบเรียงบรรยายเชิงพรรณนา และสรุป ตรวจสอบความถูกต้องโดยผู้เชี่ยวชาญ จากการศึกษาพบว่า

             ฉวิโสธนสูตรเป็นพระสูตรที่พระธรรมสังคาหกาจารย์ รวบรวมร้อยกรองไว้ในคัมภีร์มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ต่อจากลำดับ อนุปทสูตร โดยมีหลักธรรมที่เป็นสาระสำคัญที่ทรงแสดงไว้ในฉวิโสธนสูตร คือ ทรงแสดงหลักการตรวจสอบความเป็นพระอรหันต์ ๖ ประการ ได้แก่ ๑) โวหาร ๔ ประการ ๒) หลักการตรวจสอบอุปาทานขันธ์ ๕ ประการ ๓) หลักการตรวจสอบธาตุ
๖ ประการ ๔) หลักการตรวจสอบอายตนะ ๑๒ ประการ ๕) หลักการตรวจสอบเรื่องการถอนอนุสัย ๖) สิกขาและสาชีพของภิกษุ ซึ่งเป็นสิ่งที่พระอรหันต์ผู้อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว หลุดพ้นแล้วที่จะต้องตรวจสอบ

             วิปัสสนาภาวนา คือ การปฏิบัติเพื่อให้เกิดปัญญารู้แจ้งรูปนาม โดยความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ซึ่งหลักการดังกล่าวพระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ในพระสุตตันตปิฎก สติปัฏฐานสูตร ทีฆนิกายมหาวรรค ว่า. “ภิกษุทั้งหลายทางนี้เป็นทางเดียว เพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์ เพื่อล่วงโสกะและปริเทวะ เพื่อดับทุกข์ และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำให้แจ้งนิพพาน ทางนี้ คือ สติปัฏฐาน ๔”

             จากการศึกษาหลักธรรมในการเจริญวิปัสสนาภาวนาในฉวิโสธนสูตร พบว่า ในฉวิโสธนสูตร คือ สูตรแห่งการตรวจสอบพระอรหันต์ซึ่งเป็นพระอเสขะบุคคล หมายถึง ผู้อยู่จบพรหมจรรย์ คือเป็นพระอรหันต์ผู้สิ้นสังโยชน์แล้ว เป็นผู้รู้ชัดว่า จิตของเราหลุดพ้นแล้ว เพราะสิ้นไป เพราะสำรอก เพราะดับ เพราะสละ เพราะสลัดทิ้ง ซึ่ง โวหาร อุปาทานขันธ์ ธาตุ อายตนะ อนุสัย และดำรงซึ่งสิกขาและสาชีพของภิกษุอันบริสุทธิ์ ย่อมรู้ชัดในกายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา และธัมมานุปัสสนา เป็นผู้เห็นจิตของตน พ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ยึดมั่นในสิ่งเหล่านั้น เจริญซึ่งสติอันสมบูรณ์

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕