หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระศรีสังคม ชยานุวฑฺโฒ (ธนาวงษ์)
 
เข้าชม : ๒๐๐๒๖ ครั้ง
ศึกษาพุทธศิลป์สมัยสุโขทัยที่ส่งผลให้เกิดศรัทธาในการปฏิบัติวิปัสสนา
ชื่อผู้วิจัย : พระศรีสังคม ชยานุวฑฺโฒ (ธนาวงษ์) ข้อมูลวันที่ : ๒๖/๐๔/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(วิปัสนาภาวนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระราชโมลี
  ชัยชาญ ศรีหานู
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๘
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาความงดงามของพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย ตามหลักทัศนศิลป์ ๒) เพื่อศึกษาหลักธรรมที่ปรากฏในพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย และ ๓) เพื่อศึกษาหลักศรัทธากับการปฏิบัติวิปัสสนา โดยตีความลักษณะของพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงเอกสาร โดยศึกษาข้อมูลจากคัมภีร์พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา หนังสือ เอกสาร ตำรา งานทางวิชาการ และรายงานการวิจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง แล้วนำมาเรียบเรียง ในแบบบรรยายเชิงพรรณนา

จากการศึกษาพบว่า พระพุทธรูปสมัยสุโขทัยนั้น ได้รับการยอมรับว่า เป็นยุคคลาสสิกของศิลปะไทย เช่น พระพุทธรูปลีลา ซึ่งมีลักษณะของความพลิ้วไหวที่ดูสงบเย็น มีรูปทรงงดงาม มีนิ้วพระหัตถ์อ่อนช้อยเรียวยาว และมีพระพักตร์อิ่มอ่อนหวาน นิยมสร้างให้มีพระเนตรที่มองต่ำมาก และพระพุทธชินราช มีพระพักตร์เอิบอิ่มสมบูรณ์ นิ้วพระหัตถ์ยาวเสมอกัน มีฝ่าพระบาทเรียบเสมอกัน เป็นต้น นิยมสร้างแบบปางมารวิชัย มีซุ้มเรือนแก้วอันเป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัวของสมัยสุโขทัย ลักษณะดังกล่าวนี้ จัดเป็นความงามตามอุดมคติของการสร้างพระพุทธรูปที่สอดคล้องกับวิมุตติธรรม และตรงกับหลักการสุนทรียธาตุทางศิลปะ

พระพุทธรูปสมัยสุโขทัย ประกอบด้วยลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ อยู่ภายในองค์พระ ผู้มีศรัทธาเลื่อมใสสามารถพิจารณาพระอิริยาบถทั้ง ๔ แล้วตีความประยุกต์หลักธรรมไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ เช่น ความมีจิตใจมั่นคงในองค์พระ ๔ อิริยาบถกับการปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ หรือลักษณะขององค์พระ เช่น พระกรรณยาว : สอนให้เป็นคนหนักแน่น ให้พิจารณาให้รู้จริงเสียก่อนแล้วจึงเชื่อ หรือลักษณะพระเนตรมองทอดลงต่ำ : สอนให้มองลึกเข้าไปหาต้นเหตุของปัญหาของตน ไม่ควรเพ่งดูแต่โทษคนอื่น เป็นต้น ซึ่งพุทธลักษณะเหล่านี้เกิดจากการวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบ และตีความของนักวิชาการในชั้นหลัง ๆ

ศรัทธาในพระพุทธศาสนามีความเชื่อถือในอารมณ์ที่ดีเป็นลักษณะ, มีความเลื่อมใสเป็นหน้าที่, มีความไม่ขุ่นมัวในจิตเป็นผล มีวัตถุที่ควรบูชาเป็นพื้นฐาน ศรัทธาแบ่งออกเป็น ๒ อย่าง คือ ๑) ศรัทธาที่ประกอบด้วยปัญญา ๒) ศรัทธาที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา สำหรับการปฏิบัติวิปัสสนาเพื่อจะบรรลุซึ่งมรรค ผล นิพพานได้นั้น ต้องอาศัยศรัทธาที่ประกอบด้วยปัญญาที่มีกำลังเป็นเบื้องต้น เพื่อสนับสุนนให้อินทรีย์ และพละที่เหลือ คือ วิริยะ สติ สมาธิ ให้มีกำลังมาก และเป็นใหญ่เพื่อการหยั่งรู้รูป-นามตามความเป็นจริง โดยการพัฒนาจิตตามหลักสติปัฏฐาน ๔ ซึ่งเป็นทางสายเดียวที่จะนำผู้ปฏิบัติให้หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธ-ศาสนา.

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕