หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » ภูเดชา ผันยอด
 
เข้าชม : ๒๐๐๑๕ ครั้ง
บทบาทผู้นำชุมชนในการแก้ไขความขัดแย้งตามหลักพรหมวิหาร ของประชาชนตำบลป่าพลู อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน(รัฐประศาสนศาสตร์)
ชื่อผู้วิจัย : ภูเดชา ผันยอด ข้อมูลวันที่ : ๐๑/๐๒/๒๐๑๘
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูภาวนาโสภิต
  ศรีธน นันตาลิต
  -
วันสำเร็จการศึกษา : 22 มีนาคม 2558
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

 

งานวิจัยฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อศึกษาบทบาทของผู้นำชุมชนที่มีต่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของประชาชนใน ตำบลป่าพลู อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน  2) เพื่อศึกษาสภาพปัญหาและปริมาณความขัดแย้ง  ของประชาชน 3) เพื่อศึกษาเปรียบเทียบบทบาทของผู้นำชุมชนตามหลัก พรหมวิหาร 4 ที่มีต่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของประชาชน 4) เพื่อศึกษารูปแบบการประยุกต์ใช้หลัก พรหมวิหาร 4 ทางพุทธศาสนาในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของประชาชน ดำเนินการวิจัยโดยการใช้วิธีการวิจัยแบบผสม (Mixed Methods ) ประชากรที่ใช้ในการวิจัย คือ ประชาชนตำบลป่าพลู จำนวน 375 คน  เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม (Questionnaire) และแบบสัมภาษณ์ ทำการวิเคราะห์ข้อมูลจากแบบสอบถามโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปเพื่อการวิจัยทางสังคมศาสตร์ เพื่อหาค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทำการทดสอบสมมติฐานทดสอบค่าที และทดสอบค่าเอฟ ด้วยการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบทางเดียว เมื่อพบว่ามีความแตกต่างจึงทดสอบความแตกต่างรายคู่ โดยวิธีการหาผลต่างนัยสำคัญน้อยที่สุด ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ ผู้วิจัยทำการจัดกลุ่มข้อมูล สาระสำคัญของประเด็นการสัมภาษณ์ จากนั้นทำการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงเนื้อหา

ผลการวิจัยพบว่า

1. ประชาชนตำบลป่าพลู มีความคิดเห็นต่อบทบาทผู้นำชุมชนในการแก้ไขความขัดแย้งตามหลักพรหมวิหาร โดยภาพรวม อยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาทางบทบาทเป็นรายด้าน พบว่า  ด้านข้อมูล ด้านผลประโยชน์ ด้านคุณค่าหรือค่านิยม ด้านโครงสร้าง และด้านความสัมพันธ์ อยู่ในระดับมากและเมื่อพิจารณาบทบาทของผู้นำตามหลักพรหมวิหาร พบว่า หลักเมตตา หลักกรุณา หลักมุทิตา และหลักอุเบกขา อยู่ในระดับมาก

2.การเปรียบเทียบบทบาทผู้นำชุมชนในการแก้ไขความขัดแย้งตามหลักพรหมวิหาร ของประชาชนตำบลป่าพลู การทดสอบสมมติฐานโดยการวิเคราะห์ความแตกต่างตามการจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล พบว่า ในค่าเฉลี่ยรวมด้านอายุ ไม่แตกต่างกันจึงปฏิเสธสมมติฐานที่ตั้งไว้ ส่วนตัวแปรด้านเพศ ด้านสถานภาพ ด้านระดับการศึกษา ด้านอาชีพ และด้านรายได้ ในค่าเฉลี่ยรวมแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 จึงยอมรับสมมติฐานที่ตั้งไว้

3. ผลการศึกษาปัญหา ความขัดแย้งในเรื่องของการประกอบอาชีพและปัญหาความขัดแย้งส่วนตัวกับ เพื่อนบ้าน ก็ยังเป็นปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้มากนัก เนื่องจากแต่ละคนมีความคิดเห็นซึ่งอาจจะไม่ตรงกันบ้างในบางเรื่องทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นมาได้ ข้อเสนอแนะ ควรส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในเรื่องการประกอบอาชีพ  และในเรื่องอื่นๆ  ซึ่งต้องมีความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อร่วมกันแก้ไขความขัดแย้งที่เกิดขึ้นและป้องกันความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

4. ผลการศึกษาเชิงคุณภาพ พบว่า การประยุกต์ใช้หลักพุทธธรรมเพื่อส่งเสริมบทบาทของผู้นำชุมชนที่มีต่อการแก้ไขความขัดแย้งของประชาชนจำเป็นต้องอาศัยความสัมพันธ์ส่วนตัวและอาศัยวิธีการหลายๆ อย่างร่วมกัน  ผู้ที่เป็นผู้จัดการความขัดแย้งจะต้องมีการเรียนรู้และฝึกฝนทักษะและเทคนิควิธี ตลอดจนกลยุทธ์ในการจัดการความขัดแย้ง เพื่อให้ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นตัวกระตุ้นเพื่อ แก้ปัญหาความขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์ ยึดความรู้สึกและผลประโยชน์ที่เท่าเทียมกันของทุกฝ่าย พร้อมที่จะแก้ปัญหา และยินดีที่จะเปิดประตูสู่การสร้างสรรค์

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕