หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูปทุมปริยัติการ (สนม รวิวณฺโณ)
 
เข้าชม : ๒๐๐๒๘ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์ประเพณีการถวายข้าวมธุปายาส : กรณีศึกษาอำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์
ชื่อผู้วิจัย : พระครูปทุมปริยัติการ (สนม รวิวณฺโณ) ข้อมูลวันที่ : ๑๗/๐๓/๒๐๑๘
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูปริยัติวิสุทธิคุณ
  พระอธิการเวียง กิตฺติวณฺโณ
  -
วันสำเร็จการศึกษา :
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

 

              วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ  ๑) ศึกษาเรื่องข้าวที่ปรากฏในพระพุทธศาสนา        ๒)ศึกษาเรื่องข้าวที่ปรากฏในสังคมไทย ๓)ศึกษาประเพณีการถวายข้าวมธุปายาสของประชาชนในอำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ผลการศึกษาพบว่า

              พระพุทธศาสนาได้กล่าวถึงพืชที่เป็นมูลเหตุแห่งโภชนะว่ามี ๒ ชนิดคือบุพพัณชาติและอปรัณชาติ พืชที่เป็นประเภทข้าวมีเจ็ดชนิดด้วยกันคือข้าวสาลี ข้าวเปลือก ข้าวเหนียว ข้าวละมาน ข้าวฟ่าง ลูกเดือย และหญ้ากับแก้ พัฒนาการของข้าวในพระพุทธศาสนามีกล่าวถึงในพระสูตรชื่อว่าอัคคัญญสูตรที่แสดงให้เห็นพัฒนาการของข้าวไว้อย่างชัดเจน ข้าวนั้นมีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าและพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมากเช่นข้าวมื้อแรกที่พระโพธิสัตว์ฉันแล้วได้ตรัสรู้และข้าวที่พระพุทธเจ้าฉันแล้วปรินิพพาน นอกจากนี้ข้าวยังเกี่ยวข้องกับการบัญญัติสิกขาบทในพระพุทธศาสนาเช่นการบัญญัติเกี่ยวกับการอยู่จำพรรษาของพระสงฆ์

              ประชาชนในประเทศไทยบริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก ข้าวจึงเกี่ยวข้องกับสังคมไทยมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จากการศึกษาพบว่าประเทศไทยทำนาปลูกข้าวมาแล้วไม่ต่ำกว่าห้าพันปี คนไทยสมัยโบราณปลูกข้าวสำหรับการบริโภคเท่านั้น ส่วนที่เหลือจากการบริโภคจะเก็บไว้ในยุ้งฉางหรือนำไปแลกเปลี่ยนเป็นปัจจัยอย่างอื่นที่สำคัญสำหรับการดำเนินชีวิต ประเพณีพิธีกรรมความเชื่อที่เกี่ยวกับข้าวของสังคมไทยมีเป็นจำนวนมาก มีทั้งพิธีราษฎร์และพิธีหลวงจุดประสงค์ของการทำพิธีเพื่อให้ฝนตกถูกต้องตามฤดูกาล เพื่อให้ได้ผลผลิตที่อุดมสมบูรณ์

              ข้าวมธุปายาสเป็นข้าวที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าและพระพุทธศาสนามาตั้งแต่สมัยพุทธกาล พระโพธิสัตว์ได้เสวยข้าวมธุปายาสที่นางสุชาดาถวายก่อนวันตรัสรู้หลังจากเสวยแล้วจึงได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ชาวพุทธจึงเชื่อว่าข้าวมธุปายาสเป็นข้าวทิพย์ที่ใครได้บริโภคแล้วจะทำให้มีโชค สุขภาพร่างกายแข็งแรง จึงนิยมกวนข้าวมธุปายาสถวายแก่พระสงฆ์เพื่อเป็นการทำบุญ แต่วันเวลาที่กวนข้าวมธุปายาสในแต่ละภูมิภาคของสังคมไทยไม่เหมือนกัน บางแห่งนิยมกวนก่อนขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๖ เพราะถือว่าเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าโดยตรง บางแห่งนิยมกวนข้าวทิพย์ก่อนวันออกพรรษา

              จากข้อมูลที่ผู้วิจัยได้ศึกษามา อำเภอท่าตูมมีวัดที่ยังยึดถือประเพณีกวนข้าวทิพย์ประมาณสามวัดที่จัดกวนข้าวทิพย์เป็นประจำทุกปี ความเชื่อในประเพณีกวนข้าวทิพย์ของอำเภอท่าตูมถือว่าข้าวมธุปายาสเป็นข้าวทิพย์ ทำเพื่อบูชาพระพุทธเจ้า เป็นการทำบุญตามความเชื่อที่ว่าใครได้ทานข้าวทิพย์แล้วจะทำให้มีโชค มีร่างกายแข็งแรง อำเภอท่าตูมนิยมกวนข้าวทิพย์ก่อนวันออกพรรษา เพราะถือว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่มีความอุดมสมบูรณ์

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕