หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูปลัดทิน สุนฺทโร
 
เข้าชม : ๑๙๙๙๖ ครั้ง
ศึกษาหลักธรรมและคติความเชื่อประเพณี ซังกราน ของชาวรามัญ ในเกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
ชื่อผู้วิจัย : พระครูปลัดทิน สุนฺทโร ข้อมูลวันที่ : ๒๘/๐๓/๒๐๑๘
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  เวทย์ บรรณกรกุล
  พระครูพิพิธวรกิจจานุการ
  -
วันสำเร็จการศึกษา : มีนาคม 2561
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

            วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาความเป็นมาของประเพณี “ซังกราน” ๒) เพื่อศึกษาหลักธรรม และคติความเชื่อในประเพณีที่เกี่ยวข้องกับ “ซังกราน”๓) เพื่อศึกษาคติแนวคิดในการจัดประเพณี“ซังกราน”ตามความเชื่อของชาวมอญในเกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี โดยการศึกษาทบทวนคัมภีร์หนังสือตำราที่เกี่ยวข้อง เสนออาจารย์ที่ปรึกษา ปรับปรุงแก้ไขตามข้อเสนอแนะ เรียบเรียงบรรยายเชิงพรรณนา จากการศึกษาพบว่า

การศึกษาประเพณี ซังกราน ของชาวรามัญในเกาะเกร็ด จะพบว่า ประเพณี ซังกราน ได้มีการรักษาสืบทอดมาอย่างยาวนานนับร้อยปี มีคติความเชื่อสอดแทรกอยู่ คำว่า ซังกราน คือสงกรานต์ของไทยเรานั่นเอง คนไทยรับเอาวัฒนธรรมของชาวมอญมาเป็นบางอย่างด้วยเหตุที่ว่ามีความใกล้ชิดกันมาแต่โบราณ ซังกราน หรือสงกรานต์ คือ ประเพณีของประเทศในแถบอุษาคเนย์ ซึ่งได้แก่ ไทย ลาว กัมพูชา พม่า มอญ ชนกลุ่มน้อยชาวไตแถบเวียดนาม และมนฑลยูนานของจีน รวมถึงศรีลังกา และประเทศทางตะวันออกของประเทศอินเดีย สันนิษฐานกันว่า ประเพณีสงกรานต์นั้นได้รับวัฒนธรรมมาจากเทศกาลโฮลี ในอินเดียใต้นั่นเอง

การปฏิบัติตนในช่วงประเพณีซังกรานของชาวรามัญหรือมอญในทุก ๆ ที่ จะมีลักษณะคล้าย ๆ กันคือให้ความสำคัญในการทำบุญ เป็นอย่างมากในเกาะเกร็ดก็เช่นเดียวกัน จะมีการทำบุญ ส่งข้าวแช่ หรือเปิงซังกราน สรงน้ำพระสงฆ์ รดน้ำผู้ใหญ่ ปล่อยนกปล่อยปลา ถวายธงตะขาบ การทำบุญบังสุกุลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว การเข้าวัดถือศีลฟังธรรม ก็ล้วนแล้วอยู่ในหลักใหญ่ก็คือ ทาน ศีล และภาวนา อันเป็นหัวใจหลักในพระพุทธศาสนา

ในเทศกาลซังกราน ในความคิดของคนมอญ คุณค่า และความสำคัญของเทศกาล
ซังกราน ก็คือการได้ทำบุญใหญ่ประจำปี จะสังเกตได้ว่า ชาวมอญจะเป็นห่วงเรื่องการเตรียมของทำบุญมากกว่าการที่จะไปเที่ยวเตร็ดเตร่ที่อื่น แม้แต่ความเชื่อก็ยังคงอยู่ในกรอบของพระพุทธศาสนา การละเล่นรื่นเริงจะมีไม่มาก แต่ก็พอมีบ้าง และความเชื่อเรื่องผีก็ยังคงอยู่ควบคู่ไปกับพระพุทธศาสนา ปัจจุบันในประเพณี ซังกราน ในวันสุดท้ายจะมีการทำบุญกลางบ้าน หลังจากทำบุญแล้วจะมีการทรงเจ้าพ่อ เพื่อถามเรื่องที่เกี่ยวกับการทำมาหากิน น้ำท่า ฝนฟ้าจะตกต้องตามฤดูกาลใหม่ เป็นต้น จึงเห็นได้ว่า ซังกราน เป็นประเพณีที่ทำให้ครอบครัวได้อยู่พร้อมหน้า ได้มีโอกาสทำบุญร่วมกัน ได้แสดงความกตัญญูเคารพต่อบรรพบุรุษ ได้รักษาวัฒนธรรมด้านอาหาร เป็นต้น และซังกรานนี้ก็จะเป็นแม่เหล็กที่จะดึงดูดให้ผู้ที่สนใจได้เข้ามาเที่ยวในชุมชน ซึ่งก็จะเป็นแหล่งที่ทำให้เกิดรายได้ขึ้นในชุมชนต่อไป

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕