หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » จีราภรณ์ จันทร์โฉม
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๒ ครั้ง
แนวคิดผีฟ้าในเชิงปรัชญาของชุมชนบ้านนาเสียว ตำบลนาเสียว อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ
ชื่อผู้วิจัย : จีราภรณ์ จันทร์โฉม ข้อมูลวันที่ : ๑๒/๐๔/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(ปรัชญา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  สุวิน ทองปั้น
  จรัส ลีกา
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๗ มีนาคม ๒๕๖๒
 
บทคัดย่อ


การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ คือ ๑) เพื่อศึกษาแนวคิดผีฟ้า ๒) เพื่อศึกษาแนวคิดผีฟ้าของชาวชุมชนบ้านนาเสียว ตำบลนาเสียว อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ และ ๓) เพื่อศึกษาแนวคิดผีฟ้าในเชิงปรัชญาของชาวชุมชนบ้านนาเสียว ตำบลนาเสียว อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ เครื่องที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสัมภาษณ์เชิงลึก แบบสังเกต และแบบสนทนากลุ่ม ผู้ให้ข้อมูลหลัก ได้แก่ ผู้ประกอบพิธีกรรม ผู้ป่วย และผู้มีส่วนร่วม จำนวน ๑๘ คน วิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีการพรรณนาตามหลักอุปนัยวิธี

ผลการวิจัยพบว่า  

 
    ความเป็นมาแนวคิดผีฟ้า มีพื้นฐานมาจากความเชื่อ ๓ แนวคิด คือ ๑) แนวคิดของศาสนาพราหมณ์ในเรื่องพระพรหมเป็นผู้สร้างสรรพสิ่ง ส่วนพราหมณ์จะทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างพระพรหมกับมนุษย์ ๒) แนวคิดเรื่องผีของชาวอีสาน ชาวอีสานมีความเชื่อเรื่องพญาแถนซึ่งเป็นผีหรือเทพพระเจ้าสูงสุด และเป็นผู้สร้างสรรพสิ่ง และ ๓) แนวคิดของพระพุทธศาสนาในเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด ถ้าใครทำบุญตายไปจะไปเกิดบนสวรรค์ ถ้าใครทำบายตายไปจะเกิดในนรก ดังนั้น แนวคิดผีฟ้ามาจากการหล่อหลอมแนวคิดทั้งสามแนวคิดเข้าด้วยกัน คือแนวคิดเรื่องพระพรหมเป็นเทพพระเจ้าแห่งผู้สร้าง แนวคิดพญาแถนเป็นเทพพระเจ้าแห่งผู้สร้างและแนวคิดเรื่องพระอินทร์พระพุทธศาสนา  

   แนวคิดผีฟ้าของชาวชุมชนบ้านนาเสียว ตำบลนาเสียว อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ ชาวบ้านนาเสียวเชื่อว่าผีฟ้ามีอยู่จริง และความเชื่อนี้มีมาตั้งแต่สมัยที่จังหวัดชัยภูมิยังตกอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรล้านช้าง ในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ได้ส่งเจ้าพ่อพระยาแลจากนครเวียงจันทน์มาปกครองเมืองชัยภูมิ และเจ้าพ่อพระยาแลก็ได้นำเอาผีฟ้ามาจากเวียงจันทน์ จุดประสงค์ที่นำผีฟ้ามาด้วยเพื่อให้ผีฟ้ามาปกปักรักษาทหารและชาวประชา (คนชัยภูมิ) และความเชื่อเกี่ยวกับผีฟ้ายังสืบทอดมาจึงปัจจุบันนี้ ชาวบ้านนาเสียวจึงมีพิธีกรรมต่างๆ ในการบวงสรวงเพื่อสื่อสารกับผีฟ้า

 
แนวคิดผีฟ้าในเชิงปรัชญาของชาวชุมชนบ้านนาเสียว ผีฟ้าถ้าศึกษาในเชิงปรัชญาก็จะเป็นการศึกษาในแง่ของอภิปรัชญา เพราะอภิปรัชญาคือสาขาที่ศึกษาเกี่ยวกับสิ่งที่เป็นนามธรรมหรือสิ่งที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้า แต่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยเหตุผลหรือประสาทสัมผัสที่หก (จิต) ดังนั้น ผีฟ้าในเชิงปรัชญาสามารถอธิบายได้ใน ๓ ทัศนะคือ ๑) ทัศนะพุทธปรัชญา ในทางพระพุทธศาสนาเชื่อว่าพระอินทร์มีจริงซึ่งมีอยู่ในภาพของจิต ๒) ทัศนะชาวอีสานเชื่อว่าผีฟ้าหรือพญาแถน มีอยู่จริงในฐานะเป็นเทพพระเจ้าสูงสุด เป็นผู้มีอำนาจ และเป็นผู้สร้าง ๓) ทัศนะพราหมณ์ พราหมณ์มีความเชื่อว่าพระพรหมเป็นเทพพระเจ้าแห่งผู้สร้าง พระองค์ทรงสร้างมนุษย์ จักรวาลและสรรพสิ่งในจักรวาล ดังนั้น ผีฟ้าในความหมายของชาวชุมชนบ้านนาเสียว หมายถึง พระอินทร์ในพระพุทธศาสนา พญาแถนของชาวอีสาน และพระพรหมของพราหมณ์ ทั้งสามทัศนะได้ยืนยันถึงแนวคิดของตนว่าเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง มีว่าจะเป็นเรื่องการมีอยู่ของพระอินทร์ การมีอยู่ของผีฟ้าและการมีอยู่ของพระพรหม
 

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕