หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระใบฎีกากฤษฎา กตปุญฺโญ (แสงจันทร์)
 
เข้าชม : ๑๙๙๙๐ ครั้ง
การศึกษาเปรียบเทียบวิธีการดำเนินชีวิตอย่างสันติสุขของชาวพุทธ กับชาวมุสลิมในชุมชนตลาดหนองจอก กรุงเทพมหานคร (สาขาวิชาศาสนาเปรียบเทียบ)
ชื่อผู้วิจัย : พระใบฎีกากฤษฎา กตปุญฺโญ (แสงจันทร์) ข้อมูลวันที่ : ๒๖/๐๔/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระศรีรัตโนบล
  พระมหามงคลกานต์ ฐิตธมฺโม
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๙ มีนาคม ๒๕๖๒
 
บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์เรื่อง “การศึกษาเปรียบเทียบวิธีการดำเนินชีวิตอย่างสันติสุขของชาวพุทธกับชาวมุสลิมในชุมชนตลาดหนองจอก กรุงเทพมหานคร” นี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาวิธีการดำเนินชีวิตอย่างสันติสุขของชาวพุทธ ชุมชนตลาดหนองจอก กรุงเทพมหานคร ๒) เพื่อศึกษาวิธีการดำเนินชีวิตอย่างสันติสุขของชาวมุสลิม ชุมชนตลาดหนองจอก กรุงเทพมหานคร และ   ๓) เพื่อเปรียบเทียบวิธีการดำเนินชีวิตอย่างสันติสุขของชาวพุทธกับชาวมุสลิมชุมชนตลาดหนองจอก กรุงเทพมหานคร งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยรวบรวมข้อมูลทั้งจากเอกสาร และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และจากการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview)

ผลการศึกษาพบว่า

การดำเนินชีวิตอย่างสันติสุขในทัศนะของชาวพุทธ เป็นสภาพความเป็นอยู่ หรือการดำรงชีพอยู่ที่มีแต่ความสงบปราศจากความขัดแย้ง ความรุนแรง มีความยุติธรรม และแนวทางต่าง ๆ ที่จะก่อให้เกิดความสงบอย่างมีหลักการและมีเหตุผล รวมทั้งรู้จักสิทธิหน้าที่ มีวินัยในตนเอง ปฏิบัติตามหลักของทิศ ๖  และการส่งเสริมให้ปัจเจกบุคคลและสังคมมีธรรมะคือความถูกต้อง ยึดเอาความถูกต้องเป็นใหญ่และเป็นหลักการสำคัญในการประพฤติปฏิบัติหรือดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม การปกครอง ศาสนา การศึกษา และนิเวศวิทยา หากส่งเสริมตามแนวทางดังกล่าวให้เป็นไปพร้อม ๆ กันทั้งส่วนปัจเจกบุคคลและส่วนสังคม สันติสุขก็จะเกิดขึ้นแก่สังคมโลก

การดำเนินชีวิตอย่างสันติสุข ในศาสนาอิสลามนั้น จะเกิดขึ้นได้จะต้องมีการปลูกฝังอบรมสั่งสอนแนวคิดดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยมีองค์ประกอบ ๔ ประการ คือ ๑) การมีสันติสุขในระดับปัจเจก คือ การมอบความยำเกรงต่ออัลลอฮฺแต่เพียงพระองค์เดียวและสามารถปฏิบัติการวิถีทางของอิสลามได้อย่างสมบูรณ์ ๒) การมีสันติสุขในระดับครอบครัว โดยส่งเสริมหลักเกณฑ์ของความประพฤติ และกฎระเบียบต่าง ๆ ขึ้น ๓) การมีสันติสุขในระดับสังคม โดยยึดหลัก (๑) ความรักและความเมตตา (๒) ความร่วมมือและความเป็นปึกแผ่น (๓) ความเสมอภาค (๔) ความยุติธรรม และ (๕) สวัสดิการที่ดีของสังคม ๔) การมีสันติสุขในระดับโลก สันติสุขของโลกนั้น จะเป็นผลที่ตามมาจากการมีสันติสุขขึ้นภายในปัจเจกบุคคลแต่ละคน สันติภายในครอบครัว และสันติสุขในสังคมนั่นเอง

จากการเปรียบเทียบวิธีการดำเนินชีวิตอย่างสันติสุขของชาวพุทธกับชาวมุสลิมในชุมชนตลาดหนองจอก กรุงเทพมหานคร พบว่า ชาวพุทธและชาวมุสลิมมีทัศนะที่เหมือนกันว่า การจะอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติสุขได้นั้น ต้องมีศรัทธามั่นคงและปฏิบัติตามหลักศาสนาของตนอย่างเคร่งครัด จึงจะสามารถพัฒนากาย วาจา ใจ ของตนให้เกิดสุขได้ ส่วนนัยที่ต่างกันนั้น ชาวพุทธมุ่งหมายเอาการปฏิบัติตามหลักของศีล ๕ เป็นเครื่องพัฒนากาย วาจาให้เป็นปกติสุข และก้าวสู่ความสุขสันติอันยั่งยืนคือพระนิพพาน ส่วนชาวมุสลิมมุ่งหมายยึดหลักศรัทธาในอัลลอฮฺ มีพระองค์เป็นผู้ชี้แนวทางในการดำเนินชีวิตอันจะนำมาซึ่งความสุขอันนิรันดร

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕