หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระบุญทิศ สิริจนฺโท (จันทะวอน)
 
เข้าชม : ๑๙๙๙๓ ครั้ง
ศึกษาวิเคราะห์หลักพุทธธรรมที่ปรากฏในประเพณีหกเป็งของวัดพระธาตุแช่แห้ง จังหวัดน่าน
ชื่อผู้วิจัย : พระบุญทิศ สิริจนฺโท (จันทะวอน) ข้อมูลวันที่ : ๐๙/๑๐/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาพงษ์ประภากรณ์ วิสุทธิญาณเมธี
  สุเทพ สารบรรณ
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๔ ธันวาคม ๒๕๖๑
 
บทคัดย่อ

 

การวิจัยเรื่องศึกษาวิเคราะห์หลักพุทธธรรมที่ปรากฏในประเพณีหกเป็งของวัดพระธาตุ แช่แห้ง จังหวัดน่าน มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาประวัติความเป็นมาและความสำคัญของประเพณีหกเป็งวัดพระธาตุแช่แห้ง จังหวัดน่าน ๒) เพื่อศึกษาหลักพุทธธรรมที่ปรากฏในงานประเพณีหกเป็งวัดพระธาตุแช่แห้ง จังหวัดน่าน และ ๓) เพื่อวิเคราะห์คุณค่าของประเพณีหกเป็ง                  วัดพระธาตุแช่แห้ง จังหวัดน่าน

          เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ศึกษาจากเอกสาร รายงาน การวิจัยที่เกี่ยวข้อง และมีการสัมภาษณ์ประกอบโดยการสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้างที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นตามวัตถุประสงค์ของการวิจัย ซึ่งประกอบด้วยคำถามปลายปิด และคำถามปลายเปิด

ผู้ให้ข้อมูลหลักประกอบด้วย ผู้นำภาครัฐ (ชุมชน) ประชาชน ผู้ปฏิบัติธรรม นักท่องเที่ยว ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมถึงพระมหาเถระและปราชญ์ที่อาศัยอยู่รอบ ๆ วัดพระธาตุแช่แห้ง                     รวม ๒๔ รูป/คน ซึ่งแบ่งออกเป็น ๓ กลุ่ม คือ กลุ่มที่ ๑ ผู้นำภาครัฐ จำนวน ๓ คน กลุ่มที่ ๒ ผู้นำชุมชน และพระมหาเถระที่มีส่วนเกี่ยวข้อง จำนวน ๑๓ คน และกลุ่มที่ ๓ ผู้ปฏิบัติธรรม ปราชญ์ชาวบ้าน นักท่องเที่ยว และประชาชนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง จำนวน ๘ คน

ผลการวิจัยพบว่า ประเพณีงานนมัสการพระธาตุแช่แห้ง หรืองานหกเป็ง เป็นงานสำคัญที่จัดขึ้นเพื่อนมัสการพระธาตุแช่แห้ง ซึ่งภายในเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุข้อพระหัตถ์ซ้าย          จัดขึ้นตรงกับวันขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๖ เหนือ เป็นเวลา ๗ วัน ๗ คืน เป็นงานที่จัดขึ้น ตั้งแต่สมัยพญา การเมืองและเจ้าเมืองน่านองค์ต่อ ๆ มาก็ถือปฏิบัติกันมาตามลำดับ จนเป็นประเพณีที่ประชาชนจังหวัดน่านได้สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนั้น ในด้านหลักพุทธธรรมที่พบในงานนี้ ได้แก่ หลักบุญกิริยาวัตถุ ๓ สังคหวัตถุ ๔ และสาราณียธรรม ๖ ถือเป็นกรอบปฏิบัติสำหรับปลูกจิตสำนึกให้รู้จักความสามัคคี ส่วนคุณค่าของประเพณีมีด้วยกัน ๕ ด้าน ดังนี้ ๑) คุณค่าด้านวิถีชีวิต ประเพณี            หกเป็งวัดพระธาตุแช่แห้งเป็นสิ่งที่ผูกพันกับวิถีชีวิตของชาวน่าน โดยนับถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่พึ่งทางใจ และเป็นพระธาตุประจำปีของคนที่เกิดปีเถาะ ๒) คุณค่าด้านศิลปวัฒนธรรมและประเพณี พบว่าประเพณีหกเป็ง วัดพระธาตุแช่แห้งเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีและวัฒนธรรมที่ปฏิบัติและสืบทอดกันมาตั้งแต่ พ.ศ. ๑๘๙๖ เป็นต้นมา ๓) คุณค่าด้านสถาปัตยกรรม พระธาตุแช่แห้งมีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมแบบสกุลช่างน่าน ซึ่งเป็นลักษณะสถาปัตยกรรมเฉพาะของศิลปะสกุลช่างน่าน            ๔) คุณค่าด้านเศรษฐกิจและสังคม ประเพณีหกเป็งวัดพระธาตุแช่แห้ง จังหวัดน่าน ได้มีอิทธิพลต่อกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวของประชาชนชาวไทย โดยเฉพาะจังหวัดที่ใกล้เคียงจังหวัดน่านในเขตภาคเหนือ และคนต่างชาติ ที่ได้เดินทางมายังประเทศไทยทั้งในรูปแบบท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ และ ๕) คุณค่าด้านประวัติศาสตร์วัดพระธาตุแช่แห้งมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาและมีความสำคัญคู่บ้านคู่เมืองน่าน ๖๖๖ ปี ถือว่าเป็นโบราณสถานสำคัญที่มีความเก่าแก่และมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ยืนยันถึงการก่อสร้างและประเพณีที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน

 

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕