หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูปทุมภาวนาจารย์ วิ. (วีระนนท์ วีรนนฺโท)
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๒ ครั้ง
กระบวนการสอนวิปัสสนากรรมฐานตามหลักพุทธจิตวิทยาสำหรับบุคคลแต่ละช่วงวัย (สาขาวิชาพุทธจิตวิทยา)
ชื่อผู้วิจัย : พระครูปทุมภาวนาจารย์ วิ. (วีระนนท์ วีรนนฺโท) ข้อมูลวันที่ : ๒๖/๑๐/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  กมลาศ ภูวชนาธิพง
  สิริวัฒน์ ศรีเครือดง
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
 
บทคัดย่อ

งานวิจัยเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาพุทธวิธีการสอนตามหลักพระพุทธศาสนาสำหรับบุคคลแต่ละช่วงวัยในสำนักปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน  ๒) เพื่อศึกษากระบวนการสอนวิปัสสนากรรมฐานตามหลักพุทธจิตวิทยาสำหรับบุคคลแต่ละช่วงวัย และ ๓) เพื่อเสนอกระบวนการสอนวิปัสสนากรรมฐานตามหลักพุทธจิตวิทยาที่เหมาะสมสำหรับบุคคลแต่ละช่วงวัย โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ เริ่มจากการศึกษาเอกสารเกี่ยวกับพุทธวิธีการสอนตามหลักพระพุทธศาสนาสำหรับบุคคลแต่ละช่วงวัยในสำนักปฏิบัติกรรมฐานในอดีตจนถึงปัจจุบัน เพื่อใช้เป็นแนวทางในการลงพื้นที่สำรวจ สังเกตการณ์ เก็บข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการสอนวิปัสสนากรรมฐานตามหลักพุทธจิตวิทยาสำหรับบุคคลแต่ละช่วงวัย โดยวิธีการสัมภาษณ์ และสนทนากลุ่มย่อย พระวิปัสสนาจารย์ และผู้เข้าร่วมปฏิบัติธรรมซึ่งเป็นกลุ่มเยาวชน (อายุไม่เกิน ๑๘ ปี) และกลุ่มผู้ใหญ่ (อายุ ๑๘ ปีขึ้นไป) ทำการวิเคราะห์เนื้อหา สังเคราะห์กระบวนการสอนวิปัสสนากรรมฐานตามหลักพุทธจิตวิทยาที่เหมาะสมสำหรับบุคคลแต่ละช่วงวัย ผลวิจัยพบว่า

             ๑.   พุทธวิธีการสอนตามหลักพระพุทธศาสนาสำหรับบุคคลแต่ละช่วงวัยในสำนักปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน

                  ๑)  หัวข้อและเนื้อหาที่สอน เริ่มจากเรื่องที่สร้างความเข้าใจและปฏิบัติได้ง่าย ๆ ไปสู่ระดับที่ยากขึ้น ใช้เรื่องจริงเชิงประจักษ์ที่เทียบเคียงได้เป็นตัวอย่าง ชี้ให้เห็นถึงเหตุและผลของเรื่องราวดังกล่าว และเกิดประโยชน์ที่ผู้ฟังนำไปใช้ได้อย่างเหมาะสมกับช่วงวัยของผู้ฟัง

                  ๒)  วิธีการและลีลาการสอน ซึ่งใช้เป็นหลักที่เหมาะสมสำหรับบุคคลทุกช่วงวัย คือ

                       (๑) อธิบายให้ชัดเจนแจ่มแจ้ง

                       (๒) จูงใจให้คล้อยตามและเร้าใจให้แกล้วกล้า

                       (๓) ให้มีการถามโต้ตอบ

                       (๔) กำหนดกฎเกณฑ์การเรียนรู้

                       (๕) ตรงตามจริต และความสุกงอมของอินทรีย์/ญาณของผู้ฟัง

                       (๖) สอนให้ปฏิบัติตาม

             ๒.   กระบวนการสอนวิปัสสนากรรมฐานตามหลักพุทธจิตวิทยาสำหรับบุคคลแต่ละช่วงวัยครอบคลุมประเด็นต่างๆ ได้แก่

                  ๑)  เนื้อหาสาระที่ใช้สอน สำหรับกลุ่มเยาวชนจะเน้นเนื้อหาทางหลักธรรมมากกว่าการปฏิบัติธรรม แต่กลุ่มใหญ่จะให้สัดส่วนด้านปฏิบัติธรรมมากกว่าหลักธรรม

                  ๒)  ขั้นตอนในการสอน สำหรับกลุ่มเยาวชนจะนำด้วยการใช้กิจกรรมกลุ่ม กิจกรรมเดี่ยว และเสริมด้วยธรรมบรรยายตามลำดับ ส่วนกลุ่มผู้ใหญ่เริ่มด้วยกิจกรรมเดี่ยว ตามด้วยธรรมบรรยาย และการทำกิจกรรมกลุ่ม วิธีการ และเทคนิคที่ใช้เป็นกิจกรรมสำคัญสำหรับกลุ่มผู้ใหญ่ในสำนักปฏิบัติกรรมฐานทั่วไป คือ การสวดมนต์ทำวัตรเช้า-เย็น การปฏิบัติภาวนา การฟังธรรมบรรยาย และการปิดวาจา

                  ๓)  การวัดและประเมินผล ในกลุ่มเยาวชนมีวิธีการที่หลากหลายตามพัฒนาการการเรียนรู้ของเด็กแต่ละช่วงวัย ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของพระวิทยากร หรือพระพี่เลี้ยง โดยทั่วไปจะแบ่งการวัด และประเมินผลเป็น ๓ ขั้นตอน คือ ระหว่างการทำกิจกรรม ตอนปิดกิจกรรม และติดตามประเมินซ้ำหลังเสร็จสิ้นกิจกรรม สำหรับกลุ่มผู้ใหญ่ ใช้การสอบอารมณ์ ตามรับรู้อารมณ์ สังเกตพฤติกรรม และการประเมินตนเอง โดยรับรู้ผลการปฏิบัติ จากข้อมูลย้อนกลับของพระวิปัสสนาจารย์

             ๓.   กระบวนการสอนวิปัสสนากรรมฐานตามหลักพุทธจิตวิทยาที่เหมาะสมสำหรับบุคคลแต่ละช่วงวัย กระบวนการสอนปฏิบัติธรรมในภาพรวมประกอบด้วย ๕ ขั้นตอนตามลำดับดังนี้

                  ๑)  ใช้ธรรมจริยาผู้สอน ๕ ประการ คือ  (๑) สอนตามลำดับ  (๒) มีเหตุผลประกอบ  (๓) มีจิตเมตตา  (๔) ไม่เห็นแก่อามิส  (๕) ไม่กระทบต่อผู้อื่น

                  ๒)  จำแนกกลุ่มผู้เรียนตามช่วงวัย และตามประสบการณ์การปฏิบัติธรรม กลุ่มช่วงวัยที่เหมาะสมมี ๕ ช่วงวัย คือ กลุ่มเยาวชน ๓ ช่วง คือ อายุต่ำกว่า ๑๒ ปี, อายุ ๑๒-๑๕ ปี, อายุ ๑๓-๑๘ ปี สำหรับกลุ่มผู้ใหญ่แบ่งเป็น ๒ กลุ่ม คือ วัยทำงาน และวัยผู้สูงอายุ

                  ๓)  เลือกสรรเนื้อหาให้เหมาะสมตามวัยผู้เรียน

                  ๔)  การดำเนินการสอน ในกลุ่มวัยรุ่นใช้การบรรยายธรรม ทำกิจกรรมกลุ่ม และกิจกรรมเดี่ยว ในกลุ่มผู้ใหญ่มีเทคนิค ๙ ประการ คือ  (๑) สอดคล้องกับจริตคน  (๒) อธิบายให้ชัดเจน  (๓) เริ่มจากง่ายไปยาก จากกว้างไปลึก  (๔) ให้ซักถามย้อนกลับ  (๕) จูงใจให้ศรัทธา  (๖) เร้าใจให้แกล้วกล้า  (๗) คนเรียนช้าตามทัน  (๘) การฝึกฝนด้วยตนเอง  (๙) สร้างส่วนร่วมในการเรียนรู้

                  ๕)  การวัดและประเมินผลมี ๓ ระยะ คือ ก่อนฝึก ระหว่างฝึก และเมื่อสิ้นสุดการฝึก มีวิธีการวัดและประเมิน ๓ วิธี คือ  (๑) วัดผลและการประเมินตนเอง โดยการติดตามดูอารมณ์ให้เท่าทัน  (๒) การสอบอารมณ์โดยพระวิปัสสนาจารย์ และได้รับข้อมูลย้อนกลับถึงผลแห่งการปฏิบัติ  (๓) การวัดด้วยเครื่องมือวัดผลเป็นแบบวัดความพึงพอใจและความคิดเห็น

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕