หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูธรรมคุณประสิทธิ์ (นิตย์ เตชสีโล)
 
เข้าชม : ๒๐๐๑๓ ครั้ง
การประยุกต์ใช้หลักพุทธธรรมในการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขของพระสงฆ์ผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน
ชื่อผู้วิจัย : พระครูธรรมคุณประสิทธิ์ (นิตย์ เตชสีโล) ข้อมูลวันที่ : ๒๘/๑๐/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  -
  -
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๙ มกราคม ๒๕๖๒
 
บทคัดย่อ

งานวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อศึกษาสภาพปัญหาการดำเนินชีวิตของพระสงฆ์ผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ๒) เพื่อศึกษาหลักพุทธธรรมสำหรับการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข และ ๓) เพื่อศึกษาการประยุกต์ใช้หลักพุทธธรรมในการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขของพระสงฆ์ผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ดำเนินการศึกษาโดยวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพภาคสนาม (Field Research) โดยศึกษาสภาพปัญหาการดำเนินชีวิตของพระสงฆ์ผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานจากการสัมภาษณ์เชิงลึกพระสงฆ์ผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานในจังหวัดพัทลุง จำนวน ๖ รูป และศึกษาหลักพุทธธรรมสำหรับการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขโดยการวิจัยเอกสาร (Documentary Research) จากแหล่งข้อมูลต่างๆ คือ พระไตรปิฎก     อรรถกถาหนังสือ ตำรา เอกสาร สิ่งพิมพ์ทางวิชาการ งานวิจัย วิทยานิพนธ์ และแหล่งข้อมูลออนไลน์ศึกษาการประยุกต์ใช้หลักพุทธธรรมในการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขของพระสงฆ์ผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน โดยเชื่อมโยงข้อมูลหลักพุทธธรรมให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาการดำเนินชีวิตของพระสงฆ์ผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน จัดประเภทของข้อมูลตามหัวเรื่องที่กำหนด และทำการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพรรณนา เรียบเรียงผลการวิเคราะห์ข้อมูลและข้อเสนอแนะเพื่อการนำเสนอและจัดพิมพ์วิทยานิพนธ์ฉบับสมบูรณ์

ผลการวิจัยพบว่า

๑) สภาพปัญหาการดำเนินชีวิตของพระสงฆ์ผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน พบว่า พระสงฆ์ผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานมีปัญหาในการดำเนินชีวิต ๓ ด้าน คือ (๑) ปัญหาด้านสุขภาพทางร่างกาย เช่น อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ ไม่มีเรี่ยวแรง กระหายน้ำมาก ดื่มน้ำมาก ปัสสาวะมาก กลั้นปัสสาวะไม่อยู่       มีความอยากฉันอาหารหวาน น้ำหนักลดทั้งๆ ที่ฉันอาหารมาก มีปัญหาเรื่องการควบคุมน้ำหนัก รวมทั้ง มีโรคแทรกซ้อน คือ โรคไต โรคเกาต์ และข้อเข่าเสื่อม ความดันโลหิตสูง เป็นแผลเรื้อรัง มีผื่นคันตาม  ข้อพับ ชาตามมือและเท้า ปวดแสบปวดร้อนบริเวณปลายมือปลายเท้า (๒) ปัญหาด้านสุขภาพจิต เช่น ไม่มีสมาธิ ขาดความมั่นใจ มีความวิตกกังวลอารมณ์หงุดหงิดง่าย บางครั้งก็มีอาการเซื่องซึม กลัวควบคุมอาการเบาหวานไม่ได้ ทำให้เกิดอาการเบื่อหน่าย ท้อแท้กับโรค กินไม่ได้นอนไม่หลับ ไม่สนใจอยากทำอะไร ความไม่สบายใจ ซึมเศร้า (๓) ปัญหาด้านการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม เช่น พระสงฆ์บางรูปจำเป็นลดการรับกิจนิมนต์เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนญาติโยม เนื่องจากต้องควบคุมอาหาร และต้องหลีกเลี่ยงอาหารบางอย่างตามคำแนะนำของแพทย์ การฉันอาหารร่วมกับผู้อื่นเป็นเรื่องลำบาก บางรูปประสบปัญหาการปฏิบัติศาสนกิจต่างๆ ที่ไม่สะดวกเหมือนแต่ก่อนโดยเฉพาะเรื่องของการเดินทางและเรื่องอาหารที่ต้องควบคุม ขณะที่บางรูปยังคงปฏิบัติศาสนกิจได้ตามปกติ แต่เพิ่มความระมัดระวังเรื่องอาหาร

๒) หลักพุทธธรรมสำหรับการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข พบว่า มีหลักธรรม ๓ ประการที่สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขของพระสงฆ์ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ได้แก่ (๑) หลักอภิณหปัจจเวกขณ์ ธรรมที่ควรพิจารณาให้ยอมรับตามความจริง ๕ ประการ ที่ควรพิจารณาเนืองๆ     ทุกวัน (๒) หลักอินทรียสังวร การรู้จักสำรวมระวัง มีการคุ้มครองป้องกันเวลามีการเห็น การได้ยิน      การดมกลิ่น การลิ้มรส การสัมผัส การคิดนึกหรือรับรู้ความรู้สึกต่างๆ (๓) หลักโภชเนมัตตัญญุตา คือ ความรู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร

๓) การประยุกต์ใช้หลักพุทธธรรมในการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขของพระสงฆ์ผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน พบว่า พระสงฆ์ผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานมีการประยุกต์ใช้หลักพุทธธรรมเพื่อการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข ตามหลักอภิณหปัจจเวกขณ์ หลักอินทรียสังวร หลักโภชเนมัตตัญญุตา นอกจากนี้ ยังมีการนำหลักพุทธธรรมข้ออื่นๆ มาประยุกต์ใช้ด้วย เช่น ไตรลักษณ์หรือสามัญญลักษณะ อธิษฐานธรรม ความอดทน (ขันติ) ความขยัน หมั่นเพียร (วิริยะ) อปัณณกปฏิปทา อัปปมาทธรรม และพละ ๔

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕