หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » Sam Ath Suon
 
เข้าชม : ๑๙๙๙๑ ครั้ง
ศึกษาเปรียบเทียบพิธีกรรมแซนโฎนตาของชาวพุทธจังหวัดสุรินทร์ กับชาวจังหวัดบัณเตียยเมียนเจย์
ชื่อผู้วิจัย : Sam Ath Suon ข้อมูลวันที่ : ๒๙/๑๐/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  ธนรัฐ สะอาดเอี่ยม
  ทวีศักดิ์ ทองทิพย์
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๘ มีนาคม ๒๕๖๒
 
บทคัดย่อ

การวิจัยเรื่อง “ศึกษาเปรียบเทียบพิธีกรรมแซนโฎนตาของชาวพุทธ จังหวัดสุรินทร์กับชาวจังหวัดบัณเตียยเมียนเจย์” มีวัตถุประสงค์ในการวิจัย ๓ ประการ คือ ๑) ศึกษาความเป็นมาของพิธีกรรมแซนโฎนตาของชาวพุทธจังหวัดสุรินทร์ ๒) ศึกษาความเป็นมาของพิธีกรรมแซนโฎนตาของชาวพุทธจังหวัดบัณเตียยเมียนเจย์ และ๓) ศึกษาวิเคราะห์เปรียบเทียบคุณค่าพิธีกรรมแซนโฎนตาของชาวพุทธจังหวัดสุรินทร์กับชาวจังหวัดบัณเตียยเมียนเจย์ ผู้ศึกษาเลือกใช้วิธีการศึกษาเชิงคุณภาพ(Qualitative Research) ภาคสนาม (Field Research) คือ จังหวัดสุรินทร์ ประเทศไทยและจังหวัดบัณเตียยเมียนเจย์ ประเทศกัมพูชา โดยใช้วิธีการศึกษาจากเอกสารที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาคภาษาไทยและภาษากัมพูชา และสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) แล้วนำมาวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) และนำเสนอเป็นความเรียงแบบบรรยายเชิงวิเคราะห์ (Analytic Descriptive)

ผลการศึกษาพบว่า

ด้านที่มาของคติความเชื่อพิธีกรรมแซนโฎนตา พบว่า ทั้งสองจังหวัดมีคติความเชื่อเหมือนกัน คือ เชื่อในเรื่องการทำบุญอุทิศให้กับบรรพชน แต่แตกต่างกันในเรื่องที่มา คือ ชาวพุทธเชื้อสายเขมรในจังหวัดสุรินทร์ เชื่อตามคติในเรื่องเปรตของพระเจ้าพิมพิสาร ส่วนชาวพุทธในจังหวัดบัณเตียยเมียนเจย์มีเชื่อตามคติในเรื่องของพระอุปคุตต์, เรื่องอนาถบิณฑิกเศรษฐี, เรื่องนายพราน และเรื่องเปรตผู้เป็นญาติของพระเจ้าพิมพิสาร ด้านคำจำกัดความพิธีกรรมแซนโฎนตา พบว่า มีความแตกต่างกันในศัพท์ที่เรียกใช้ คือ ชาวพุทธในสุรินทร์เรียกว่า “แซนโฎนตา” ส่วนชาวพุทธจังหวัดบัณเตียยเมียนเจย์ เรียกว่า “พจุมบิณฑ์” แต่เมื่อกล่าวถึงโดยนัยแห่งความหมายแล้วไม่แตกต่างกันคือหมายถึง พิธีการทำบุญอุทิศให้แก่ญาติที่ล่วงลับไปแล้วเหมือนกัน ด้านความสำคัญของพิธีกรรมแซนโฎนตา พบว่าชาวพุทธทั้งสองจังหวัดที่เป็นเชื้อสายเขมร ให้ความสำคัญต่อพิธีกรรมแซนโฎนตาไม่แตกต่างกัน เพราะพิธีกรรมนี้เป็นพิธีกรรมที่แสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีที่มีต่อผู้มีพระคุณ, ด้านองค์ประกอบของพิธีกรรมแซนโฎนตา พบว่าพิธีกรรมแซนโฎนตาของชาวพุทธในจังหวัดสุรินทร์และชาวพุทธในจังหวัดบัณเตียเมียนเจย์มีองค์ประกอบในการจัดพิธีกรรมเหมือนกัน, ด้านประเภทของพิธีกรรมแซนโฎนตา พบว่าชาวพุทธจังหวัดสุรินทร์และชาวพุทธจังหวัดบัณเตียยเมียนเจย์ประเทศกัมพูชานั้นแบ่งออกเป็น  ๒ ประเภทเหมือนกัน คือเบ็นตูจ และเบ็นธม ด้านคุณค่าของพิธีกรรมแซนโฎนตา พบว่าชาวพุทธจังหวัดสุรินทร์กับชาวพุทธจังหวัดบัณเตียยเมียนเจย์ไม่แตกต่างกันในเรื่องคุณค่าในด้านหลักธรรมแต่จะแตกต่างกันในข้อปลีกย่อยเท่านั้น ส่วนการเปรียบเปรียบคุณค่าตามคติธรรมทางพระพุทธศาสนาที่ปรากฏในพิธีกรรมแซนโฎนตา คติธรรมหรือหลักธรรมทางพระพุทธศาสนามีปรากฏอยู่ในพิธีกรรมแซนโฎนตา คือ คติธรรมเกี่ยวกับการบูชา, หลักธรรมเกี่ยวกับความกตัญญูกตเวที, หลักกฎแห่งกรรม ซึ่งหลักธรรมทั้ง ๓ นี้ เป็นหลักธรรมที่ปรากฏอย่างชัดเจนในประเพณีแซนโฎนตา ดังนั้น พิธีกรรมนี้เป็นพิธีกรรมที่แสดงออกถึงความกตัญญูกตเวที และยังคงคุณค่าทางวัฒนธรรมแบบพุทธที่สืบทอดจากบรรพบุรุษสู่อนุชนตราบเท่าทุกวันนี้พิธีนี้จึงเป็นสิ่งหล่อหลอมให้ชาวพุทธทั้งในประเทศไทยและประเทศกัมพูชาอยู่กันอย่างปกติสุขและสันติสุข

Download

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕