หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระนิตินันต์ สนฺตกาโย (บุญสิริพิพัฒน์)
 
เข้าชม : ๒๐๐๑๓ ครั้ง
ปัจจัยที่ทำให้เกิดกระบวนการรู้คิดและปัญญาตามแนวพุทธจิตวิทยาผ่านงานพุทธศิลปกรรม (สาขาวิชาพุทธจิตวิทยา)
ชื่อผู้วิจัย : พระนิตินันต์ สนฺตกาโย (บุญสิริพิพัฒน์) ข้อมูลวันที่ : ๓๐/๑๐/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  สิริวัฒน์ ศรีเครือดง
  พุทธชาติ แผนสมบุญ
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๒
 
บทคัดย่อ

 

การศึกษาวิจัยเรื่อง ปัจจัยที่ทำให้เกิดกระบวนการรู้คิดและปัญญาตามแนวพุทธจิตวิทยาผ่านงานพุทธศิลปกรรม การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ ๑. เพื่อศึกษาพุทธศิลปกรรม หลักธรรมและจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับการรู้คิดและปัญญา ๒) เพื่อศึกษาปัจจัยที่ทำให้เกิดกระบวนการรู้คิดและปัญญาตามแนวพุทธจิตวิทยาผ่านพุทธศิลปกรรม (๓) เพื่อนำเสนอปัจจัยที่ทำให้เกิดกระบวนการรู้คิดและปัญญาตามแนวพุทธจิตวิทยาผ่านพุทธศิลปกรรม โดยใช้ระเบียบวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research Method ที่ใช้การเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงเอกสาร (Document Research) การสัมภาษณ์แบบเชิงลึก (In-depth Interview) โดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) และการสนทนากลุ่ม (Focus Group) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ ข้อแนวคำถามสัมภาษณ์รวมทั้ง ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญ ด้านพุทธศิลปกรรม ด้านประวัติศาสตร์พุทธศิลปกรรม ด้านพุทธศาสนา ด้านจิตวิทยาศิลปะ และด้านศิลปะบำบัด และนำข้อมูลที่ได้มาสังเคราะห์โดยใช้วิธีการวิเคราะห์สรุปแบบอุปนัยแล้วเขียนพรรณนา

 

ผลการวิจัยพบว่าการศึกษาพุทธศิลปกรรม หลักธรรมและจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับการรู้คิดและปัญญา ประกอบด้วย ๑. การศึกษาด้านพุทธศิลปกรรม เจาะจงที่ศึกษาเฉพาะในงานวิจัยนี้ประกอบด้วย งานพุทธจิตรกรรม งานพุทธประติมากรรม และงานพุทธสถาปัตยกรรม และค้นพบว่าพุทธศิลปกรรมถูกสร้างสรรค์ผ่านกระบวนการคิดด้วยหลักสุนทรียศาสตร์ หลักสัญญศาสตร์และหลักพุทธธรรม  ๒. การศึกษาด้านกระบวนการรู้คิดและปัญญาตามแนวพุทธ พบว่าต้องอาศัยหลักพุทธธรรม คือหลักโยนิโสมนสิการ/ปรโตโฆษะ หลักขันธ์ ๕ หลักสัทธรรม 3 หลักปัญญา ๓ และหลักสติ ๓. การศึกษาด้านกระบวนการรู้คิดและปัญญาตามแนวพุทธจิตวิทยา พบว่าต้องอาศัยหลักทฤษฏีการเรียนรู้และรับรู้ของจิตวิทยาการู้คิดและปัญญาของกลุ่มเกสตอลส์

การศึกษาปัจจัยที่ทำให้เกิดกระบวนการรู้คิดและปัญญาตามแนวพุทธจิตวิทยาผ่านพุทธศิลปกรรม ปัจจัยที่ทำให้เกิดกระบวนการรู้คิดและปัญญาตามแนวพุทธจิตวิทยาผ่านงานพุทธศิลปกรรม อธิบายกระบวนการรู้คิดและปัญญาตามแนวพุทธจิตวิทยาวิเคราะห์ผ่านหลักขันธ์ ๕ ได้ว่า กระบวนการจะเริ่มต้นจากการรับรู้สู่การคิด เกิดขึ้นโดยอายตนะภายนอกกระทบกับอายตนะภายใน เรียกได้ว่ามีการรับรู้หรือเกิดผัสสะ อายตนะประสบอารมณ์เช่นนั้น จึงทำให้เกิดวิญญาณ คือความรู้ต่ออารมณ์นั้น ต่อจากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการรับรู้ไปสู่ปัญญา เมื่อเกิดการรับรู้ สัญญาก็จะเกิดขึ้น คือมีความหมายรู้อารมณ์ ว่าสูข หรือ ทุกข์ เรียกว่า เวทนา ต่อเนื่องไปถึง สังขาร หรือการปรุงแต่งให้บุคคลคิด พูดหรือทำ ไปในทางกุศลหรืออกุศล นำไปสู่ปัญญาที่รู้แจ้ง รู้เห็นตามความเป็นจริง ปรโตโฆษะที่ดีชักนำไปสู่ศรัทธาเชื่อต่อการคิดเองได้และช่วยเป็นสื่อนำด้วยโยนิโสมนสิการ นำไปสู่การสร้างศรัทธาที่ก่อให้เกิดโยนิโสมนสิการที่เป็นจุดเริ่มต้น ของการเรียนรู้ ให้มีการพัฒนาปัญญาเริ่มขึ้น ซึ่งทำให้เกิดการคิดที่ใช้ปัญญา นำไปสู่การแก้ปัญหา เป็นทางแห่งการดับทุกข์ได้

การนำเสนอปัจจัยที่ทำให้เกิดกระบวนการรู้คิดและปัญญาตามแนวพุทธจิตวิทยาผ่านพุทธศิลปกรรม ได้โดยใช้แผนภาพ  การทำหน้าที่ของแผนภาพปัจจัยที่ทำให้เกิดกระบวนการรู้คิดและปัญญาตามแนวพุทธจิตวิทยาผ่านพุทธศิลปกรรม เป็นการสื่อสารให้เกิดกระบวนการรู้คิดและปัญญาระหว่าง ๒ บุคคล และ ๑ วัตถุ คือ กัลยาณมิตร พุทธศาสนิกชน/คฤหัสถ์ และพุทธศิลปกรรม ซึ่งพุทธศาสนิกชน/คฤหัสถ์มีความศรัทธาเป็นเบื้องต้นจะได้รับความรู้จากกัลยาณมิตร โดยนำพุทธศิลปกรรมใช้เป็นสื่อในการให้ความรู้ โดยผ่านหลักธรรมและทฤษฏีเกสตอลส์ด้วยกฎการจัดวางระเบียบเข้าด้วยกัน ๔ ข้อ (The law of organization) แล้วเข้าสู่กระบวนการรู้คิดและปัญญาตามแนวพุทธจิตวิทยาวิเคราะห์ผ่านหลักขันธ์ ๕ เป็นการเข้าสู่การรับรู้ภายใน ซึ่งเป็นการทำให้เกิดการรู้คิด และเกิดปัญญาเกิดขึ้นโดยตามลำดับ

 

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕