หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูโสภณกาญจนาภิวัฒน์ (สมาน อภิวฑฺฒโน)
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๓ ครั้ง
บทบาทพระสงฆ์ในการป้องกันปัญหายาเสพติดในอำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี (สาขาวิชาการจัดการเชิงพุทธ)
ชื่อผู้วิจัย : พระครูโสภณกาญจนาภิวัฒน์ (สมาน อภิวฑฺฒโน) ข้อมูลวันที่ : ๒๕/๑๑/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูวิสุทธานันทคุณ
  พระครูสังฆรักษ์เกียรติศักดิ์ กิตฺติปญฺโญ
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๕ มีนาคม ๒๕๖๑
 
บทคัดย่อ

การวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ (๑) ศึกษาบทบาทพระสงฆ์ในการป้องกันปัญหายาเสพติดในอำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี (๒) เปรียบเทียบความคิดเห็นที่มีต่อบทบาทพระสงฆ์ในการป้องกันปัญหายาเสพติดในอำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี โดยจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล และ (๓) ศึกษาปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะในการพัฒนาบทบาทพระสงฆ์ในการป้องกันปัญหายาเสพติดในอำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี การศึกษาครั้งนี้ เป็นการวิจัยแบบผสานวิธี โดยการวิจัยเชิงปริมาณเก็บข้อมูลภาคสนามจากประชาชนในอำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี จำนวน ๓๙๕ คน วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้โดยหาค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ทดสอบสมมติฐานโดยการทดสอบค่าทีและค่าเอฟ วิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว เมื่อพบความแตกต่าง จึงทำการเปรียบเทียบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยเป็นคู่ ด้วยวิธีผลต่างนัยสำคัญน้อยที่สุด และในส่วนของการวิจัยเชิงคุณภาพมีการวิเคราะห์เอกสาร และใช้แบบสัมภาษณ์เป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูลภาคสนามจากผู้ให้ข้อมูลสำคัญ จำนวน ๑๒ รูป/คน และวิเคราะห์ข้อมูลด้วยเทคนิคการวิเคราะห์เนื้อหาประกอบบริบท

             ผลการวิจัยพบว่า

             ๑. บทบาทพระสงฆ์ในการป้องกันปัญหายาเสพติดในอำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี โดยภาพรวม อยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๓.๘๘ เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า อยู่ในระดับมากทุกด้าน โดยด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด ได้แก่ ด้านบทบาทในการรณรงค์เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด อยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๓.๘๘ ส่วนด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด ได้แก่ ด้านบทบาทในการจัดอบรมศีลธรรมป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด อยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๓.๘๗

             ๒. ผลการเปรียบเทียบความคิดเห็นที่มีต่อบทบาทพระสงฆ์ในการป้องกันปัญหายาเสพติดในอำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี โดยจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล พบว่า ปัจจัยส่วนบุคคลของประชาชน ได้แก่ การศึกษา อาชีพ และรายได้ต่อเดือน มีผลให้ความคิดเห็นต่อบทบาทพระสงฆ์ในการป้องกันปัญหายาเสพติดในอำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕ ซึ่งเป็นไปตามสมมุติฐานการวิจัยที่ตั้งไว้ ส่วนปัจจัยส่วนบุคคลอื่น ๆ ได้แก่ เพศ และอายุ ไม่พบความแตกต่าง

             ๓. ปัญหา อุปสรรคในการพัฒนาบทบาทพระสงฆ์ในการป้องกันปัญหายาเสพติดในอำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี พบว่า พระสงฆ์บางรูปยังติดบุหรี่, มีการทำงานทับซ้อนกับหน่วยงานราชการ, วัดส่วนใหญ่เน้นการจัดกิจกรรมเฉพาะในวันธัมมัสสวนะ (วันพระ), ขาดความร่วมมือกับสถาบันครอบครัว, เน้นการสอนให้สวดมนต์มากเกินไป, การจัดกิจกรรมเข้าค่ายคุณธรรมปีละ ๑ ครั้ง ไม่เพียงพอ, วัดบางวัดเป็นแหล่งมั่วสุมของวัยรุ่นและคนที่ติดยาเสพติด, ไม่ได้ใช้พื้นที่ของวัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด และข้อเสนอแนะในการพัฒนาบทบาทพระสงฆ์ในการป้องกันปัญหายาเสพติดในอำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี พบว่า ควรเป็นแบบอย่างที่ดีทางความประพฤติ, ควรประสานการทำงานร่วมกันระหว่างชุมชน วัด และโรงเรียน, ควรปรับรูปแบบการจัดกิจกรรมการรณรงค์ระดับชุมชนให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชน, ควรให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของสถาบันครอบครัว, ควรเน้นการสอนทำสมาธิในรูปแบบเหมาะสมกับวัยของกลุ่มเป้าหมาย, ควรร่วมมือกับสถานศึกษาในพื้นที่ขับเคลื่อนโครงการโรงเรียนศีล ๕, ควรมีมาตรการป้องกันไม่ให้วัดเป็นแหล่งมั่วสุม, และควรใช้พื้นที่ของวัดเป็นศูนย์กลางในการจัดกิจกรรมป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชน

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕