หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นางสาวรพีพรรณ โชพุทธา
 
เข้าชม : ๒๐๐๑๑ ครั้ง
การศึกษาแนวความคิดเรื่องเจตนาในพระพุทธศาสนาในฐานะเป็นบูรณาการสำหรับปัญหาเรื่อง เจตนาในกฎหมายไทย(๒๕๕๐)
ชื่อผู้วิจัย : นางสาวรพีพรรณ โชพุทธา ข้อมูลวันที่ : ๑๙/๐๘/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระสุธีธรรมานุวัตร
  พระศรีสิทธิมุนี
  นายสนิท ศรีสำแดง
วันสำเร็จการศึกษา : ๓๐ กันยายน ๒๕๕๐
 
บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการคือ ๑ เพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องเจตนาในพระพุทธ-ศาสนา ๒ เพื่อศึกษาแนวคิดและปัญหาเรื่องเจตนาในกฎหมายไทย และ ๓ เพื่อบูรณาการแนวคิดเรื่องเจตนาในพุทธศาสนามาแก้ปัญหาเรื่องเจตนาในกฎหมายไทย           

               ผลการวิจัยพบว่าแนวคิดเรื่องเจตนาในพุทธศาสนาเป็นแนวคิดแบบองค์รวมที่มองความสัมพันธ์ระหว่างจิตกับกายของมนุษย์ว่า การกระทำของมนุษย์ล้วนเกิดจากเจตนาภายในใจเป็นเบื้องต้น ซึ่งการคิดปรุงแต่งภายในจิตใจนั้นมีมูลเหตุที่เป็นได้ทั้งสิ่งที่ดีงาม (กุศลมูล) และสิ่งที่ชั่วร้าย(อกุศลมูล) โดยมนุษย์นำมูลเหตุต่างๆ มาคิดปรุงแต่งขึ้นภายในจิตใจก่อน แล้วจึงจะแสดงออกมาเป็นการกระทำทางกายหรือ ทางวาจา ดังนั้นทางพุทธศาสนาจึงถือว่าการคิดในใจก็เป็นกรรม คือการกระทำ แม้ยังไม่ส่งผลต่อสังคมแต่ก็มีผลต่อตัวผู้ประกอบมโนกรรมส่วนแนวคิดเรื่องเจตนาในทางกฎหมาย เป็นการมองแบบแยกส่วน โดยมองว่าเจตนาในการเคลื่อนไหวเนื้อตัวร่างกายเป็นเจตนาส่วนหนึ่ง และเจตนาร้ายเป็นอีกส่วนหนึ่ง ประกอบกับนักกฎหมายปัจจุบันถือว่ากฎหมายไทยเป็นระบบลายลักษณ์อักษร จึงต้องตีความตามตัวอักษรทำให้ปฏิเสธแนวคิดเรื่องเจตนาร้าย ด้วยเห็นว่าเป็นเรื่องล้าสมัย จึงทำให้เกิดปัญหาในการพิสูจน์เจตนาที่แท้จริงในใจของผู้กระทำความผิด ส่งผลให้วินิจฉัยความรับผิดของผู้กระทำผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง
การบูรณาการแนวคิดเรื่องเจตนาในพุทธศาสนามาแก้ปัญหาเรื่องเจตนาในกฎหมายไทย จึงเป็นการนำองค์ความรู้เรื่องกระบวนการทำงานของจิต แนวทางพิจารณาวินิจฉัยผลของการกระทำที่สอดคล้องตามหลักกรรม และการนำหลักทางจริยธรรมเรื่องอกุศลกรรมบถ ซึ่งเป็นแนวทางสำหรับปฏิบัติในสังคมเช่นเดียวกับกฎหมาย มาช่วยเติมเต็มและแก้ปัญหาเรื่องการพิสูจน์และการวินิจฉัยเจตนาในทางกฎหมายได้การวิจัยดังกล่าว จึงเป็นประโยชน์แก่นักกฎหมาย ในการทำความเข้าใจหลักกฎหมายเรื่องกรรมเป็นเครื่องชี้เจตนาได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ช่วยให้สามารถกำหนดตำแหน่งของเจตนาลงในองค์ประกอบของการกระทำได้อย่างถูกต้องแม่นยำ เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยลงโทษผู้กระทำความผิดด้วยความยุติธรรมอย่างแท้จริง

 


Download :  255112.pdf

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕