หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นายภินันท์ สิงห์กฤตยา
 
เข้าชม : ๒๐๐๒๗ ครั้ง
ศึกษาการประยุกต์ใช้กระบวนทัศน์และกระบวนการสร้างเสริมสุขภาพตามแนวพระพุทธศาสนา(๒๕๕๓)
ชื่อผู้วิจัย : นายภินันท์ สิงห์กฤตยา ข้อมูลวันที่ : ๓๐/๐๙/๒๐๑๑
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาสุทิตย์ อาภากโร (อบอุ่น), ดร.
  ดร. ศศิวรรณ กำลังสินเสริม
  ว่าง
วันสำเร็จการศึกษา : 2553
 
บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวคิดด้านสุขภาพและกระบวนการสร้างเสริมสุขภาพตามแนวการแพทย์กระแสหลัก ศึกษาแนวคิดด้านสุขภาพและกระบวนการสร้างเสริมสุขภาพตามแนวพระพุทธศาสนา และการประยุกต์ใช้แนวคิดด้านสุขภาพและกระบวนการสร้างเสริมสุขภาพตามแนวทางพระพุทธศาสนา

วิธีดำเนินการวิจัย จะทำการศึกษาใน ๒ ระดับ คือ การศึกษาจากเอกสาร (Documentary research) และการศึกษาในภาคสนาม (Field research) ซึ่งมีการกำหนดกรอบการศึกษาในภาคสนามเป็น ๒ แบบ ได้แก่ แบบปัจเจกบุคคล โดยการสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้ให้ข้อมูลหลักอย่างจำเพาะเจาะจง จำนวน ๙ คน และแบบกลุ่มบุคคล โดยการสัมภาษณ์เชิงลึกกับแกนนำชมรมและสมาชิก โดยที่ทั้งสองแบบได้นำแนวคิดทางพระพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้ในการสร้างเสริมสุขภาพ

ผลการศึกษาพบว่า การแพทย์กระแสหลักมีกระบวนทัศน์แบบวิทยาศาสตร์ซึ่งมี   โลกทัศน์แบบจักรกล สุขภาพจึงถูกลดทอนลงเหลือเพียงการมีร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง ปราศจากโรคร้ายต่างๆ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญสามารถวัดผลได้ในเชิงประจักษ์ ในขณะเดียวกันจิตใจ อารมณ์ และความรู้สึกของมนุษย์ได้ถูกละเลยไป ปัจจุบันได้เกิดการเปลี่ยนผ่านทางความคิดสู่โลกทัศน์แบบองค์รวม สุขภาพจึงขยายขอบเขต เกิดเป็นแนวคิดสุขภาพองค์รวมที่ประกอบไปด้วยมิติทางกาย มิติทางจิต มิติทางสังคม และมิติปัญญา สำหรับการสร้างเสริมสุขภาพตามแนวการแพทย์กระแสหลักยังคงแน่นหนักไปที่มิติทางกายเป็นหลัก ในขณะที่มิติทางจิตใจ สังคม และปัญญา กลับถูกละเลยไป โดยเฉพาะในด้านที่เป็นนามธรรม คือ จิตใจ และปัญญา ซึ่งยากต่อการนิยามและการกำหนดตัวชี้วัด

ภายใต้พุทธกระบวนทัศน์ สุขภาพ คือ ธรรมชาติที่เป็นสุข หรือ เรียกอย่างง่ายว่า ความสุข ซึ่งเป็นสภาวะตรงกันข้ามกับ ความทุกข์ โดยความทุกข์ที่สำคัญที่มนุษย์ควรกำหนดรู้คือ ทุกขอริยสัจจ์ เมื่อมองสุขภาพ พระพุทธศาสนาได้อธิบายขยายความไว้มากมายโดยสุขภาพที่แท้จริงจะมีลักษณะทางจิตที่ประกอบไปด้วยความเสรี ความสงบ ความสะอาด และความสว่าง สำหรับการสร้างเสริมสุขภาพในพุทธศาสนา คือ การปฏิบัติตนตามหลักไตรสิกขา การปฏิบัติตนตามหลักทางสายกลาง หรือมรรค์มีองค์ ๘ เพื่อเข้าถึงความเป็นบุคคลผู้มีสุขภาพที่สมบูรณ์ มีความเป็นพระโสดาบัน ในเบื้องต้น

เมื่อศึกษาการประยุกต์ใช้แนวคิดด้านสุขภาพ และกระบวนการสร้างเสริมสุขภาพตามแนวทางพุทธศาสนาในผู้ให้ข้อมูลหลักพบว่า มุมมองต่อสุขภาพมีใน ๔ มิติหลักๆ คือ สุขภาพทางกาย สุขภาพทางจิต สุขภาพทางสังคม และสุขภาพทางปัญญา สุขภาพ คือ ภาวะที่สมบูรณ์ของสุขภาพ เกิดมีขึ้นด้วยความสมบูรณ์ของสุขภาพทั้ง ๔ มิติ ที่เชื่อมโยงกันเป็นองค์รวมอย่างสมดุล โดยที่สุขภาพทางใจเป็นมิติที่ได้รับการใส่ใจมากที่สุด การมีสุขภาพใจที่ดีย่อมส่งผลถึงสุขภาพทางกาย และส่งผลให้สังคมอยู่เย็นเป็นสุข สำหรับการสร้างเสริมสุขภาพตามแนวทางพุทธศาสนาที่ถูกนำมาใช้คือ การมุ่งสู่เข้าใจในธรรมชาติของโลก (ไตรลักษณ์) หลักการดำเนินชีวิตด้วยความพอเพียง การดูแลใส่ใจร่างกายตามความเหมาะสม โดยไม่หลงยึดมั่นถือมั่นในร่างกาย การยึดมั่นในศีลธรรมเป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิต การดำเนินชีวิตด้วยความมีสติ การดำเนินชีวิตตามต้นแบบ (กัลยาณมิตร) ที่ดี

download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕