หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูจิรธรรมธัช (จิรธมฺโม/ศรีหงษ์ทอง)
 
เข้าชม : ๒๐๐๔๓ ครั้ง
ศึกษาการประยุกต์หลักพุทธธรรมที่ใช้ในการบริหารจัดการวงดนตรีหมอลำคณะเสียงอิสาน นกน้อย อุไรพร (๒๕๕๓)
ชื่อผู้วิจัย : พระครูจิรธรรมธัช (จิรธมฺโม/ศรีหงษ์ทอง) ข้อมูลวันที่ : ๐๖/๑๐/๒๐๑๑
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาบาง เขมานนฺโท
  พระมหาประมวล ฐานทตฺโต
  ดร. ประยูร แสงใส
วันสำเร็จการศึกษา : 2553
 
บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์เล่มนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการคือ (๑) เพื่อศึกษาประวัติผลงานของนกน้อย  อุไรพร และพัฒนาการของวงดนตรีหมอลำคณะเสียงอิสาน  (๒) เพื่อศึกษาการบริหารจัดการเชิงพุทธและหลักพุทธธรรมที่ใช้ในการบริหารจัดการของวงดนตรีหมอลำคณะเสียงอิสาน  (๓) เพื่อศึกษาผลการประยุกต์หลักพุทธธรรมที่ใช้ในการบริหารจัดการของวงหมอลำคณะเสียงอิสาน  และบทบาทที่มีต่อวิถีชีวิตชาวอีสาน  ซึ่งผลการศึกษามีดังนี้

                 ประวัติผลงานของนกน้อย อุไรพร และพัฒนาการของวงดนตรีหมอลำคณะเสียงอิสาน พบว่า นกน้อย อุไรพร ชื่อจริงว่า อุไร  ฉิมหลวง (สกุลเดิม สีหะวงษ์) เกิดวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๐๐ ที่บ้านจอมพระ  ตำบลยางชุมน้อย  อำเภอยางชุมน้อย  จังหวัดศรีสะเกษ เป็นบุตรนายสม นางบัวผัน สีหะวงษ์ มีพี่น้องร่วมกัน ๕ คน เป็นคนสุดท้อง  เริ่มเข้าสู่วงการเมื่อปี ๒๕๑๔  กับวงดนตรีคณะเพชรพิณทอง  ร้องเพลงอัดแผ่นเสียงครั้งแรกปี ๒๕๑๖  ด้วยเพลงคอยรักจากเสียงพิณและภาพถ่ายวิญญาณรัก  มีผลงานเพลงรวมทั้งสิ้นจำนวน ๑๓ ชุด  ลำเรื่องต่อกลอนจำนวน ๘ เรื่อง  การแสดงตลก  ๒๑ ชุด  ประวัติวงดนตรีหมอลำคณะเสียงอิสาน  เมื่อปี ๒๕๑๙  นายมัยกิจ  ฉิมหลวง และนกน้อย อุไรพร ได้ร่วมกันดำเนินการบริหารหมอลำคณะสะอาดนาฏศิลป์  ต่อจากนายสะอาด สีตะบุตร ที่เป็นหัวหน้าและเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นวงดนตรีหมอลำคณะเสียงอิสาน  มีนายมัยกิจ  ฉิมหลวง เป็นผู้จัดการ  นกน้อย อุไรพร เป็นหัวหน้าคณะได้พัฒนามาจนถึงปัจจุบัน  ด้านความหมายและประเภทของหมอลำ  ได้นำหลักกวีกถาที่ว่าด้วยกวีทางพระพุทธศาสนามาอธิบายความหมายและประเภทของหมอลำด้วย  

                 การบริหารจัดการเชิงพุทธและหลักพุทธธรรมที่ใช้ในการบริหารจัดการของวงดนตรีหมอลำคณะเสียงอิสาน  พบว่า การบริหารจัดการของผู้นำองค์กร  ได้นำ พุทธวิธีการบริหาร โดยยึดหลักธรรมาธิปไตยเป็นสำคัญใช้บริหารด้วยเหตุผลที่ว่า  ผู้บริหารต้องประพฤติธรรมและใช้ธรรมเป็นหลักในการบริหาร  พุทธวิธีบริหารจึงไม่เป็นทั้งเป็นอัตตาธิปไตย (การถือตนเองเป็นใหญ่)  และโลกาธิปไตย (การถือคนอื่นเป็นใหญ่)   มีการนำหลักการบริหารเชิงพุทธ ๓ ข้อ คือ จักขุมา มีปัญญามองการณ์ไกล  วิธุโร จัดการธุระได้ดี และนิสสยสัมปันโน พึ่งพาอาศัยคนอื่นได้มีมนุษยสัมพันธ์ดี  มาใช้ในการบริหารรู้จักใช้เครื่องมือแห่งความสำเร็จ คือ หลักปสิทธิธัมมูปกรณกถา ๔ ประกอบการดำเนินงาน  อาศัยหลักธรรมคุณสมบัติของคนดี คือ สัปปุริสธรรม ๗ มาใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการ 

            ผลการประยุกต์หลักพุทธธรรมที่ใช้ในการบริหารจัดการของวงดนตรีหมอลำคณะเสียงอิสาน  และบทบาทที่มีต่อวิถีชีวิตชาวอีสาน  พบว่า  การบริหารจัดการเชิงพุทธ  คณะผู้บริหารมีแนวคิดในหลักการบริหารจัดการวงที่ดี  ด้วยการวางกฎเกณฑ์ในการคัดเลือกบุคลากรและกติกาการอยู่ร่วมกันของสมาชิก  มีการกำหนดบทลงโทษผู้ฝ่าฝืนและแนวทางสำหรับแก้ปัญหา  มีการบริหารกลยุทธ์ด้านการตลาดและงานประชาสัมพันธ์  มีการนำหลักพุทธธรรมไปประยุกต์ใช้อยู่  ๒ ลักษณะ คือ  (๑) ด้านจริยศิลป์หรือจริยธรรมการแสดง ได้แก่ หลักเบญจศีล  เบญจธรรม  ให้มีสติสัมปชัญญะรู้จักปฏิบัติตามศีล ๕  มีความซื่อสัตย์  หลักอปริหานิยธรรม ๗ ให้เกิดความพร้อมเพรียงยึดกติกาของสังคมมีสัมมาคารวะ  หลักเทวธรรม ๒ (หิริ-โอตตัปปะ) ให้ควบคุมอารมณ์มีความละอายเกรงกลัวต่อโทษแห่งการทำผิด  (๒) หลักพุทธธรรมที่ใช้ในการบริหารจัดการวงดนตรีหมอลำคณะเสียงอิสาน  ได้แก่ หลักพรหมวิหาร ๔  ทำให้ทีมงานให้มีจิตใจเอื้อเฟื้อมองคนอื่นในทางที่ดี  มีจิตเมตตากรุณาต่อเพื่อนร่วมงานและคนทั่วไป  หลักอิทธิบาท ๔  ทำให้มีความพอใจขยันหมั่นเพียรมีจิตสำนึกในอาชีพของตน คิดรอบคอบ  หลักสัจจะ มีความจริงใจพูดความจริงรักษาสัญญา  หลักความรู้จักกตัญญูกตเวที  ทำให้รู้บุญคุณของผู้กระทำคุณแก่ตนและตอบแทนผู้มีพระคุณ  ส่งเสริมให้รู้จักความดีของคนอื่นประพฤติสม่ำเสมอ  ส่วนบทบาทด้านการให้บริการแก่สังคม  ประกอบด้วย  การไปแสดงในงานต่าง ๆ  การประพันธ์บทกลอนลำและเพลง  การสอนลำแก่เยาวชนและการแสดงหมอลำในงานการกุศลทั่วไปที่เป็นการให้บริการแบบสอนให้เรียนรู้อย่างแท้จริงจนสามารถนำไปประกอบอาชีพได้  บทบาทที่สะท้อนวิถีชีวิตของชาวอีสานให้ทั้งด้านความบันเทิง  การให้ความรู้  การสอนคติธรรมและพิธีกรรมไปพร้อมกัน

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕