หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นางสาวเดือนรุ่งฟ้า เพ็ญไพสิฐ
 
เข้าชม : ๑๙๙๙๙ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์สุนทรียศาสตร์ในผลงานจิตรกรรมของอาจารย์ทวี นันทขว้าง (๒๕๕๓)
ชื่อผู้วิจัย : นางสาวเดือนรุ่งฟ้า เพ็ญไพสิฐ ข้อมูลวันที่ : ๒๔/๑๑/๒๐๑๑
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ปรัชญา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหากฤษณะ ตรุโณ,ผศ
  ดร. วีรชาติ นิ่มอนงค์
  รศ. ดร. ไพโรจน์ ชมุนี
วันสำเร็จการศึกษา : 2553
 
บทคัดย่อ

               วิทยานิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาถึงปรัชญาแนวคิดและอิทธิพลในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะรวมทั้งลักษณะรูปแบบผลงานจิตรกรรมของอาจารย์ทวี นันทขว้าง ผู้ซึ่งเป็นศิลปินสมัยใหมของไทยที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยกย่องในการเขียนภาพเกี่ยวกับดอกบัวและบรรยากาศของบึงบัวซึ่งมีรูปแบบการสร้างสรรค์และการแสดงออกที่งดงามมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

               เพื่อศึกษาถึงความหมายและขอบเขตของสุนทรียศาสตร์ซึ่งอธิบายครอบคลุมถึงลักษณะ และประเภทของผลงานศิลปะ ความมีอยู่ของความงามและเกณฑ์ในการตัดสินความงาม รวมถึงเรื่องของประสบการณ์สุนทรียะที่เกิดขึ้นขณะที่ผู้ชมรับชมผลงานศิลปะ         

               เพื่อวิเคราะห์ถึงสุนทรียศาสตร์ในผลงานจิตรกรรมของอาจารย์ทวี นันทขว้าง ว่ามีลักษณะเป็นแบบใดและมีรายละเอียดเป็นอย่างไร เพื่อสร้างความเข้าใจในผลงานจิตรกรรมชุดดอกบัวของท่านให้ชัดเจนมากขึ้น โดยการรวบรวมจากเอกสารและข้อมูลเกี่ยวกับประวัติ ความสำคัญและรูปแบบผลงานจิตรกรรมของอาจารย์ทวี นันทขว้าง รวมทั้งทฤษฎีทางสุนทรียศาสตร์ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษรวมทั้งสัมภาษณ์ศิลปินและเพื่อนร่วมงานของอาจารย์ทวี นันทขว้าง

                        ผลการวิจัยพบว่า รูปแบบการสร้างสรรค์และการแสดงออกในผลงานจิตรกรรมของอาจารย์ทวี นันทขว้าง เกิดจาก การผสมผสานระหว่างแนวคิดแบบพุทธปรัชญากับรูปแบบของศิลปะตะวันตกหลากหลายรูปแบบแล้วสังเคราะห์สร้างสรรค์รูปแบบอันเฉพาะของตัวเองขึ้นมาใหม่ โดยอาจารย์ทวี นันทขว้างได้รับแรงบันดาลใจมาจากธรรมชาติ แล้วเลือกสรรเฉพาะสิ่งที่ประทับใจมาถ่ายทอดด้วยสีสันบรรยากาศที่ไม่มีอยู่จริงในโลกที่ทำให้เกิดความรู้สึกหรือจินตนาการถึงโลกฝันอันลึกลับ เงียบสงบและมีความสุขซึ่งเป็นความรู้สึกที่ผู้ชมสามารถสัมผัสรับรู้ได้เช่นเดียวกัน โดยมีความสอดคล้องกับปรัชญาศิลปะในทฤษฎีการเลียนแบบ (Representation Theory) ตามทรรศนะของอริสโตเติ้ล และ ทฤษฎีการแสดงออก (Expression Theory) ตามทรรศนะของดิวอี้ (John Dewey) ซึ่งเชื่อว่า การแสดงออกเป็นการกระตุ้นให้ผู้ชมเกิดอารมณ์ความรู้สึกออกมา (Expression as Evocation), ตอลสตอย (Leo Tolstoy) ซึ่งเชื่อว่า การแสดงออกเป็นการติดต่อสื่อสารระหว่างศิลปินกับผู้ชมโดยมีผลงานศิลปะเป็นสื่อกลาง (Expression as Communication) และ ดูแคส (C. J. Ducassee) ซึ่งเชื่อว่า การแสดงออกเป็นคุณสมบัติที่มีอยู่ในตัวงานศิลปะ (Expression as Property of the Work of Art) ส่วนเรื่องคุณค่าทางสุนทรียศาสตร์นั้น วิเคราะห์ได้ว่า ผลงานจิตรกรรมชุดดอกบัวของอาจารย์ทวี นันทขว้างเป็นผลงานศิลปะที่มีคุณค่าทางสุนทรียะอย่างแท้จริงที่สามารถสร้างประสบการณ์สุนทรียะให้แก่ผู้ชมได้ โดยมีความสอดคล้องกับทั้งทฤษฎีอัตนัยนิยม (Subjective Theory) และ ทฤษฎีสัมพัทธนิยม (Relative Theory) แต่ผลงานจิตรกรรมชุดดอกบัวของอาจารย์ทวี นันทขว้างมีความสอดคล้องกับเหตุผลของทฤษฎีสัมพัทธนิยมมากกว่าทฤษฎีอัตนัยนิยม

 download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕