หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหา อิสรเชษฐ์ ปัญญาวชิโร (ใจมาสุข)
 
เข้าชม : ๒๐๐๒๐ ครั้ง
ศึกษาเปรียบเทียบแนวคิด เรื่องวิปัสสนาญาณในพุทธปรัชญาเถรวาทกับแนวคิด อัชฌัตติกญาณ ของ โอโช่ (๒๕๕๓)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหา อิสรเชษฐ์ ปัญญาวชิโร (ใจมาสุข) ข้อมูลวันที่ : ๒๘/๑๑/๒๐๑๑
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ปรัชญา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาณรงค์ กนฺตสีโล, ผศ.ดร.
  พระใบฎีกาเสน่ห์ ญาณเมธี, ดร.
  -
วันสำเร็จการศึกษา : 2553
 
บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์นี้  มีวัตถุประสงค์ คือ (๑) เพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องวิปัสสนาญาณ ในพุทธปรัชญาเถรวาท  (๒) เพื่อศึกษาแนวคิดเรื่อง อัชฌัตติกญาณ ของโอโช่  (๓) เพื่อศึกษาเปรียบเทียบให้เห็นถึงความคล้ายและความต่าง พอสรุปได้ดังนี้  

                ตามทัศนะพุทธปรัชญาเถรวาท  วิปัสสนาญาณ หมายถึง ปัญญาที่เห็นแจ้งในรูปนาม (ขันธ์ ๕)   เป็นสภาวะที่เห็นการเกิด – ดับ ของรูปนาม เห็นรูปนามตกอยู่ในกฎแห่งไตรลักษณ์ คือ มีความเกิดขึ้น  ตั้งอยู่ และดับไป  และแนวทางการเกิดวิปัสสนาญาณ ใช้สติปัฏฐาน,อินทรีย์พละ,หลักไตรสิกขาเป็นบาทฐานการปฏิบัติ เพื่อนำไปสู่ความหลุดพ้น จาก กิเลส ตัณหา อุปาทาน   

                 ตามทัศนะของโอโช่   อัชฌัตติกญาณ หมายถึง ความรู้ที่เกิดจากประสบการณ์ตรงที่เกิดขึ้นภายใน  อัชฌัตติกญาณ เป็นสภาวะที่เหนือเหตุผล อยู่เหนือจิตสำนึก  การเข้าถึง    อัชฌัตติกญาณต้องใช้ความรู้สึก ใช้สติระลึกรู้ตัว อยู่กับปัจจุบันขณะ ละทิ้งความคิดการปรุงแต่งทั้งหลายลง  ก็สามารถเข้าถึงอัชฌัตติกญาณได้

                ความคล้ายกันของทั้งสองทัศนะ คือ (๑) ในแง่ความหมาย ทัศนะทั้ง ๒ กล่าวถึงความรู้เกิดมาจากสิ่งภายใน  เป็นความรู้ที่เกิดจากประสบการณ์ตรงไม่ผ่านการคิดหาเหตุผลใดๆ (๒) ในแง่บ่อเกิด  คล้ายกันตรงที่ ความรู้ที่แท้ เกิดจากการใช้ความรู้สึกล้วนๆ ไม่ได้เกิดจากการปรุงแต่งใดๆ หรืออาศัยเหตุผล เข้าไปรับรู้อารมณ์ต่างๆ (๓) สภาวะลักษณะมีความคล้ายกันเพราะเป็นสภาวะอยู่เหนือจิตสำนึก  อยู่เหนือสิ่งสมมุติบัญญัติ (๔) กระบวนการความรู้  คล้ายกันตรงที่ให้ความสำคัญต่อการใช้สติ ความระลึกรู้ตัว เป็นบาทฐาน (๕) ในแง่จุดมุ่งหมาย คล้ายกันตรงที่ทำให้จิตหลุดพ้นจากความคิดปรุงแต่ง  เป็นจิตที่ว่างเปล่าไม่ยึดติดกับสิ่งสมมติต่างๆ  

                   ความต่างกันของทั้ง ๒ ทัศนะ คือ (๑) ความต่างกันในเชิงความหมาย  อัชฌัตติกญาณของโอโช่ อีกความหมายหนึ่ง คือ ความรู้ที่เกิดโดยลางสังหรณ์  รู้เองเกิดขึ้นเอง  แล้วกลายเป็นพลังสร้างสรรค์  แต่วิปัสสนาญาณคือการรู้แจ้งเห็นจริง ในกายและใจ  เห็นสภาวะความไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา เท่านั้น (๒) ในเรื่องบ่อเกิด ทางพุทธปรัชญา เห็นว่า บ่อเกิดของวิปัสสนาเกิดจากใช้ความรู้สึกมองสิ่งต่างๆตามความเป็นจริงในรูปนาม จนเกิดการรู้แจ้งวิปัสสนาญาณตามลำดับ  โอโช่ได้ให้ความสำคัญกับ ความรู้ทางสัญชาตญาณที่ไม่ควรเข้าไปกดทับ เป็นแหล่งที่สามารถนำไปสู่อัชฌัตติกญาณได้ (๓) เรื่องสภาวะลักษณะ    วิปัสสนาญาณเห็นสิ่งต่างๆ มีแต่การแตกดับ ทนอยู่ไม่ได้และไร้ตัวตน แต่อัชฌัตติกญาณมีลักษณะที่สมบูรณ์ในตัวเอง มีพลังในตัวเอง เป็นหนึ่งเดียวไม่มีการแบ่งแยก (๔) เรื่องของกระบวนการความรู้   อัชฌัตติกญาณเกิดจากการมีสติเพื่อตามรู้อารมณ์ที่ปรากฏทางกายและใจ  ที่แสดงออกมาตามแรงสัญชาตญาณจนเกิดการตื่นตัวทางอารมณ์  สามารถละความคิดการปรุงแต่งทั้งหลาย  เมื่อนั้นอัชฌัตติกญาณจะปรากฏ  ส่วนทางพุทธปรัชญา การมีสติตามรู้ตามดูทางกายและจิต โดยใช้สัมมาสติ  เพื่อให้เกิดวิปัสสนาญาณเห็นตามความเป็นจริง จนพัฒนา  ในระดับที่เป็นโลกิยะไปสู่โลกุตตระ (๕) เรื่องจุดมุ่งหมาย  วิปัสสนาญาณทำให้จิตหลุดพ้นจากกองทุกข์ เข้าไปสู่นิพพาน หรือก้าวเข้าไปสู่ความเป็นอริยบุคคลชั้นสูง  ส่วนอัชฌัตติกญาณของโอโช่  คือ การก้าวไปสู่ความว่างแห่งจิตที่ไร้พันธนาการทางความคิด นำไปสู่จิตเดิมแท้ ที่เป็นสภาวะของอัชฌัตติกญาณ  

download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕