หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นางสุภา มาลากุล ณ อยุธยา
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๖ ครั้ง
การศึกษาวิธีการแก้ปัญหากามฉันทนิวรณ์ในพระพุทธศาสนาเถรวาท (๒๕๕๔)
ชื่อผู้วิจัย : นางสุภา มาลากุล ณ อยุธยา ข้อมูลวันที่ : ๑๗/๐๗/๒๐๑๒
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระสมภาร สมภาโร,ผศ.
  พระมหาบุญเลิศ ธมฺมทสฺสี
  รศ. ชูศักดิ์ ทิพย์เกษร
วันสำเร็จการศึกษา : 2554
 
บทคัดย่อ

การศึกษาวิธีการแก้ปัญหากามฉันทนิวรณ์ในพระพุทธศาสนาเถรวาท  มีวัตถุประสงค์   ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาถึงกามฉันทนิวรณ์ที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท           (๒) เพื่อศึกษาวิธีการแก้ปัญหากามฉันทนิวรณ์ที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท และ    (๓) เพื่อศึกษาการประยุกต์วิธีการแก้ไขกามฉันทนิวรณ์ในสังคมไทย

การวิจัยครั้งนี้ดำเนินการโดยศึกษาจากการสัมภาษณ์เชิงลึก ได้มีการสัมภาษณ์พระวิปัสสนาจารย์ จำนวน ๕ รูป และผู้ปฏิบัติธรรมจากศูนย์ปฏิบัติธรรมวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพมหานครจำนวน ๑๐ คน ผลจากการสัมภาษณ์พระวิปัสสนาจารย์ และผู้ปฏิบัติธรรม ได้ข้อสรุปตรงกับผลการวิจัยพบว่า กามฉันทนิวรณ์ที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท หมายถึง สิ่งที่ขวางกั้นจิตไม่ให้ไปถึงความดีหรือบรรลุธรรม คือ ความพอใจในกามคุณ ๕ ประการ ได้แก่  รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะที่เกิดขึ้นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นอารมณ์ที่น่ารักใคร่ น่าปรารถนา น่าพอใจ ทำให้จิตติดอยู่จนไม่สามารถผ่านไปถึงความดีหรือบรรลุธรรม คือ สมาธิ วิปัสสนา หรือมรรค ผล นิพพานได้   เมื่อกามฉันทนิวรณ์ครอบงำจิตจะบั่นทอนกำลังปัญญา ไม่ให้วิปัสสนาปัญญาและมัคคปัญญาเกิดขึ้น ทำให้รากเหง้าของความชั่ว ที่เรียกว่า อกุศลมูล เกิดขึ้น กามฉันทนิวรณ์มีอาหารที่คอยช่วยให้เจริญเติบโต คือ การทำไว้ในใจโดยไม่แยบคายในนิมิตที่ไม่งามว่าเป็นของงาม กามฉันทนิวรณ์อยู่ในกิเลสตระกูลโลภะ มีอยู่ ๒ ประเภท คือ ความกำหนัดรักใคร่ที่เกิดขึ้นเพราะปรารภขันธ์ ๕ ของตน และความกำหนัดรักใคร่ที่เกิดขึ้นเพราะปรารภขันธ์  ๕ ของผู้อื่น โมหะเป็นสาเหตุของกามฉันทนิวรณ์ในด้านปัจจัยภายใน กามคุณ ๕ คือ สิ่งที่ทำให้เกิดความกำหนัดรักใคร่ เป็นสาเหตุของกามฉันทนิวรณ์ในด้านปัจจัยภายนอก

วิธีการแก้ปัญหากามฉันทนิวรณ์ที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท ได้แก่ วิธีการที่ ๑ การเจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ ประการ วิธีการที่ ๒ การพรรณนาถึงโทษแห่งกาม และพรรณนาถึงอานิสงส์แห่งเนกขัมมะ (การออกบวช) วิธีการที่ ๓ การแก้กามฉันทนิวรณ์ด้วยโยนิโส-มนสิการในอสุภนิมิต  และวิธีการที่ ๔ การเจริญสมถกรรมฐานจนได้เอกัคคตาอันเป็นองค์ประกอบแห่งรูปฌาน ๔  หลักธรรมและหลักปฏิบัติในการแก้ปัญหากามฉันทนิวรณ์ ได้แก่ หลักอปัณณกปฏิปทา ว่าด้วยข้อปฏิบัติไม่ผิด ๓ อย่าง หลักสัมมัปปธาน ๔ หรือหลักปธาน ๔ อย่าง หลักอินทรีย์ ๕ หลักพละ ๕ และหลักโพชฌงค์ ๗ การแก้ปัญหากามฉันทนิวรณ์ด้วยสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน ผลของการระงับดับกามฉันทนิวรณ์ได้แล้วทำให้เป็นผู้บริสุทธิ์ มีปัญญารู้จักประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นอย่างแท้จริง ทำให้บรรลุฌาน ๔ ทำให้ได้เจริญอานาปานสติ เจริญสติปัฏฐาน ๔ โพชฌงค์ ๗ ทำให้ได้อภิญญา ๖ วิชชา ๘ วิสุทธิ ๗ ญาณ ๑๖  ทำให้ได้บรรลุถึงพระนิพพาน ทำให้ได้ประโยชน์ในด้านสุขภาพจิตและการพัฒนาบุคลิกภาพ

การประยุกต์วิธีการแก้ไขกามฉันทนิวรณ์ในสังคมไทย กามฉันทนิวรณ์นี้หากไม่ควบคุมจะก่อความเสียหายต่อสังคม เพราะเมื่อไรที่กามฉันทนิวรณ์ได้แสดงตัวตนออกมาทางกาย และทางวาจา ก็กลายเป็นกิเลสอย่างหยาบ ทำให้เกิดความสับสนวุ่นวาย มีความอยากได้ใคร่ดีไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้คนนั้นทะเยอทะยานสรรหาสิ่งบำรุงบำเรอความสุขให้แก่ตน หากแสวงหามาไม่ได้    ดังใจที่ถูกกามฉันทนิวรณ์ครอบงำอยู่ก็ต้องหาวิธีการใหม่ว่าจะผิดหรือถูกต้องก็ตาม

การจะแก้ปัญหากามฉันทนิวรณ์ในสังคมไทยได้ด้วยการฝึกสติ หรือเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ที่เรียกว่า ภาวนา  การฝึกสติ หรือเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ทำให้เกิดปัญญามองเห็นทุกสิ่งทุกอย่างตามความเป็นจริง เพียงมีสติเท่าทันทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ สามารถระงับก็ได้ บังคับก็ได้ หยุดเสียก็ได้ด้วยสติ และสามารถแก้ปัญหาหรือหาทางออกได้โดยปลอดภัย

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕