หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » VEN.TAN AH YAT
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๒ ครั้ง
ศึกษาวิริยะเพื่อการบรรลุธรรมในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท
ชื่อผู้วิจัย : VEN.TAN AH YAT ข้อมูลวันที่ : ๑๖/๐๘/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(วิปัสนาภาวนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระราชวรเวที (เฉลา เตชวนฺโต)
  วิโรจน์ คุ้มครอง
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๗/ มีนาคม/ ๒๕๕๙
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

             วิทยานิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ เพื่อศึกษาวิริยะในคัมภีร์พุทธศาสนา
เถรวาท เพื่อศึกษาการบรรลุธรรมในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท และเพื่อศึกษาวิริยะเพื่อการบรรลุธรรมในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท โดยศึกษาข้อมูลจากคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาทและเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวบรวม สรุป วิเคราะห์ เรียบเรียงบรรยายเชิงพรรณนา ตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ จากการศึกษาพบว่า

             วิริยะในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท หมายถึง ความพยายาม, ความบากบั่นเพื่อทำกายและจิตให้ตื่นอยู่เสมอ ๆ จนสามารถยกจิตที่เร้นอยู่ให้ขึ้นมามีสติเป็นไปทุกลมหายใจทุกขณะจิต, ความตั้งใจที่จะขวนขวายในการทำในสิ่งที่ดีช่วยให้นำไปสู่ผลที่สูงขึ้น วิริยะเป็นองค์ธรรมที่สำคัญยิ่งเพราะเป็นองค์แห่งสัมมาวายามะซึ่งเป็นองค์มรรค คือ ช่วยสนับสนุนองค์มรรคข้ออื่น ๆ จนสามารถเกิดวิปัสสนาญาณขึ้น

             การบรรลุธรรมในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท คือ การใช้สติพิจารณาอยู่เนือง ๆ ในอารมณ์ปัจจุบันตามหลักสติปัฏฐาน ๔ คือ ตามดูกาย เวทนา จิตและธรรม ด้วยการอาศัยองค์ธรรม ๓ ประการเป็นเครื่องประกอบ คือ อาตาปี สัมปชาโน สติมา มีความเพียรเผากิเลสประกอบกับความรู้ตัวมีสติอยู่ในปัจจุบันจนรู้แจ้งอริยสัจ ๔ บรรลุโลกุตรธรรม ๙ คือ มรรค ผล นิพพาน

 

             การปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาเพื่อบรรลุธรรมต้องอาศัยธรรมเป็นเครื่องตรัสรู้ที่เรียกว่า
โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ ซึ่งมีวิริยะเป็นธรรมสำคัญประการหนึ่ง คือ สัมมาวายามะหรือความเพียรที่ถูกต้อง อันได้แก่ สัมมัปปธาน ๔ ประกอบในการกำหนดสติพิจารณาอย่างจดจ่อต่อเนื่อง อันจะทำให้กำจัดอภิชฌาและโทมนัสเป็นต้นได้ การประกอบความเพียรในปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาต้องมีความสมดุลแห่งอินทรีย์ ระหว่างวิริยะกับสมาธิต้องเสมอกัน เพราะว่าถ้าวิริยะมากสมาธิอ่อน ผู้ปฏิบัติจะฟุ้งซ่าน แต่หากสมาธิมากความเพียรอ่อน ผู้ปฏิบัติจะเกียจคร้าน การปรับสมดุลแห่งวิริยะและสมาธิจะทำให้ผู้ปฏิบัติมีความก้าวหน้าไปตามลำดับจนบรรลุธรรมได้ในที่สุด

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕