หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นางศิริวรรณ คำบัว
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๗ ครั้ง
ศึกษาความสัมพันธ์ของขันติกับการรักษาศีล ๕ ในพระพุทธศาสนา (๒๕๕๔)
ชื่อผู้วิจัย : นางศิริวรรณ คำบัว ข้อมูลวันที่ : ๒๐/๐๗/๒๐๑๒
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาทวี มหาปญฺโญ (ละลง) ผศ.ดร.
  ดร. ประพันธ์ ศุภษร
  -
วันสำเร็จการศึกษา : 2554
 
บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์นี้  มีวัตถุประสงค์  เพื่อศึกษาขันติและการรักษาศีล ๕  ในพระพุทธศาสนา  เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ของขันติกับการรักษาศีล ๕ ในพระพุทธศาสนา  และเพื่อศึกษาความสัมพันธ์ของขันติกับการรักษาศีล ๕ ในสังคมไทย  ในการศึกษาครั้งนี้ผู้วิจัยได้รวบรวมข้อมูล                  และกรณีตัวอย่าง  ทั้งจากแหล่งปฐมภูมิและทุติยภูมิ    เพื่อนำข้อมูลและกรณีตัวอย่างมาศึกษาวิเคราะห์   

                                ผลการวิจัยพบว่า  ขันติ  หมายถึง  ความอดทนอดกลั้น  ทั้งทางกาย  และทางใจ                     ต่อสิ่งที่มากระทบ  จนกระทั่งอดทนต่อกิเลส  ซึ่งในงานวิจัยนี้ผู้วิจัยแบ่งขันติออกเป็น    ลักษณะ  คือ  ขันติเป็นคุณธรรมที่สนับสนุนให้การดำรงชีวิตประจำวันบรรลุเป้าหมาย  และขันติเป็นคุณธรรมที่ส่งเสริมความประพฤติเพื่อการพัฒนาตนไปสู่ความดีงาม  ส่วนศีล ๕  นับเป็นรากฐาน               ในการพัฒนาคุณธรรมในระดับที่สูงขึ้นจนกระทั่งถึงระดับโลกุตตระ  ในเบื้องต้นการรักษาศีล ๕  เป็นวินัยหรือข้อบังคับ  ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติเชิงปฏิเสธเพื่อควบคุมความประพฤติทางกาย  ทางวาจา  จนกระทั่งยกระดับไปสู่ศีล ๕ ที่สมบูรณ์ 

การรักษาศีล ๕  ในแง่ที่เป็นวินัย  บุคคลสามารถนำขันติที่เป็นคุณธรรม                      สนับสนุนให้การดำรงชีวิตประจำวันบรรลุเป้าหมายมาสนับสนุนการรักษาศีล ๕  เพื่อเพียรระวังไม่ให้โลภะ  โทสะ  โมหะ  เกิดขึ้นภายในจิตใจ  และขันติย่อมสกัดกั้นมิให้บุคคลล่วงละเมิดศีล ๕  อีกด้วย  หลังจากนั้นบุคคลสามารถนำหลักธรรมอื่นมาสนับสนุนเพื่อเว้นจากการล่วงละเมิด              ศีล ๕  เช่น  ปัญญา  สติสัมปชัญญะ  หิริโอตตัปปะ  ขันติโสรัจจะ  อนึ่งการรักษาศีล ๕  ในแง่ที่เป็นธรรม  บุคคลสามารถนำขันติทั้งที่เป็นคุณธรรมสนับสนุนให้การดำรงชีวิตประจำวันบรรลุเป้าหมาย  และคุณธรรมส่งเสริมความประพฤติเพื่อการพัฒนาตนไปสู่ความดีงามมาส่งเสริมการรักษาศีล ๕  ให้สมบูรณ์ทั้งวินัยและธรรม  ยิ่งกว่านั้นบุคคลสามารถนำหลักธรรมอื่นมาส่งเสริมการรักษาศีล ๕ ให้สมบูรณ์  เช่น  เบญจธรรม  ฆราวาสธรรม    จนกระทั่งบุคคลสามารถนำขันติที่เป็นคุณธรรมส่งเสริมความประพฤติเพื่อการพัฒนาตนไปสู่ความดีงามมาส่งเสริมหลักธรรมอื่น  เช่น  ทศบารมี  ไตรสิกขา  เพื่อพัฒนาศีล ๕  ไปสู่ความประพฤติอย่างสูง     

สำหรับผู้รักษาศีล ๕  ในแง่ที่เป็นวินัยในสังคมไทย  บุคคลสามารถนำขันติมาประพฤติเพื่ออดทนอดกลั้นต่อกระแสแห่งโลภะ  โทสะ  โมหะ  ที่เกิดขึ้นอันอาจทำให้ล่วงละเมิดศีล ๕   จากนั้นบุคคลจึงนำหลักธรรมอื่นมาสนับสนุนเพื่อเว้นจากการล่วงละเมิดศีล ๕  และสำหรับผู้รักษาศีล ๕  ในแง่ที่เป็นธรรมในสังคมไทย  บุคคลสามารถนำขันติมาประพฤติเพื่ออดทนอดกลั้น                    ละทำลายโลภะ  โทสะ  โมหะ  อันจะส่งผลให้บุคคลเว้นขาดจากการประพฤติล่วงละเมิด                          ทั้งทางกาย  ทางวาจา  และทางใจ  พร้อมกับความดีงามของบุคคลที่เจริญขึ้นภายในจิตใจ  ในที่สุดการรักษาศีล ๕ ย่อมสมบูรณ์ทั้งวินัยและธรรม

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕