ในสมัยรัฐบาลของหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
๒ ท่านคือ นายประมวล กุลมาตย์ และนายเปลื้อง พลโยธา ได้ยกร่าง
พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย และร่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ขึ้นมาคนละ 2 ฉบับ เนื้อหาสาระ และหลักการยังคงเป็นเช่นเดียวกับฉบับที่ตกไป
ในรัฐบาลก่อน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งสองท่านได้เสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว
ต่อสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากเป็นร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวด้วยการเงิน
รัฐบาลได้ขอรับร่างพระราชบัญญัตินี้ไปพิจารณาก่อน ภายในกำหนดเวลา
๖ เดือน ในขั้นตอนหาข้อมูลเพื่อประกอบพิจารณาของรัฐบาลนี้
สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้มีหนังสือลงวันที่ ๙,๑๐ และ
๑๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๑๙ แจ้งให้กระทรวงศึกษาธิการเสนอความเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์
ทั้งสองแห่งของนายประมวล กุลมาตย์ และนายเปลื้อง พลโยธา
กระทรวงศึกษาธิการได้มีคำสั่งที่ ๓๘๐/๒๕๑๙ ลงวันที่ ๘
สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยทั้งสองแห่ง
มีกรรมการมหาเถรสมาคมรูปหนึ่งร่วมเป็นกรรมการอยู่ด้วย
เรื่องพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์จึงถูกส่งเข้าสู่การพิจารณาของมหาเถรสมาคม
เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ มหาเถรสมาคมประชุมครั้งที่
๒๑/๒๕๑๙ ได้พิจารณาร่าง พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่ง
และได้มีมติตั้งคณะกรรมการ คณะหนึ่ง จำนวน ๑๕ ท่าน เพื่อพิจารณาเรื่องนี้โดยเฉพาะ
ต่อมาในวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๙ นายประจวบ คำบุญรัตน์
รองอธิบดีการการศาสนา ได้เสนอความเห็นถวายมหาเถรสมาคมว่า
สมควรยกร่างพระราชบัญญัติฉบับใหม่ในรูปของพระราชบัญญัติการศึกษาสงฆ์ที่มีเนื้อหาครอบคลุมการศึกษาสงฆ์ทุกระดับ
มหาเถรสมาคมได้ประชุมครั้งพิเศษในวันจันทร์ที่ ๒๗ กันยายน
พ.ศ.๒๕๑๙ มีมติให้กรมการศาสนา ดำเนินการเกี่ยวกับร่าง
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งสงฆ์เสนอกระทรวงศึกษาธิการเพื่อตราเป็นพระราชบัญญัติต่อไป
ต่อมาในวันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ คณะปฏิรูปการปกครองได้ยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลหม่อมราชวงศ์เสนีย์
ปราโมช การดำเนินการเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งสงฆ์จึงชะงักไป
ใน พ.ศ. ๒๕๒๐ สมัยรัฐบาลที่ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร
เป็นนายกรัฐมนตรี ดร.ภิญโญ สาธร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
เห็นว่า พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งสงฆ์ควรให้คณะสงฆ์ดำเนินการจัดทำ
จึงมอบหมายให้กรมการศาสนา นำร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการศึกษาของสงฆ์ทุกฉบับ
ซึ่งรวมถึงร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่ง
เสนอมหาเถรสมาคมพิจารณาเลือก หรือแก้ไขเพิ่มเติมหรือร่างขึ้นใหม่เพียงฉบับเดียว
มหาเถรสมาคมได้พิจารณาในคราวประชุมครั้งที่ ๓/๒๕๒๐ เมื่อวันที่
๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๐ มีมติเลือกร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งสงฆ์
เพื่อดำเนินการต่อไป ในที่สุดมหาเถรสมาคมได้ประชุมครั้งที่
๑๑/๒๕๒๐ เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๒๐ รับหลักการและเสนอร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งสงฆ์ให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการ
กระทรวงศึกษาธิการได้นำร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เสนอในการประชุมคณะรัฐมนตรี
เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๐ คณะรัฐมนตรีมีมติรับหลักการแล้วส่งต่อให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา
คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแก้ไขจากที่มหาเถรสมาคมร่างมา
๑๗ มาตรา เพิ่มเป็น ๒๗ มาตราแล้วส่งกลับมาที่มหาเถรสมาคม
ที่ประชุมมหาเถรสมาคมพิจารณาเห็นว่ามีการแก้ไขมาก จึงตั้งคณะกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่ง
จำนวน ๙ ท่านเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งสงฆ์ที่คณะกรรมการกฤษฎีกาแก้ไข
ร่างพระราชบัญญัตินี้ค้างการพิจารณา ของมหาเถรสมาคมนานถึง
๓ ปี จนกระทั่งสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีมีหนังสือลงวันที่
๑๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ แจ้งกระทรวงศึกษาธิการว่า สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีหนังสือเตือนเรื่องการพิจารณา
ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งสงฆ์ ๒ ครั้งแล้วยังไม่ได้คำตอบ
จึงเห็นสมควรระงับการพิจารณา
|