พระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จการศึกษาวิชาพระพุทธศาสนา
พ.ศ. ๒๕๒๗ ทำให้มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเติบโตอย่างรวดเร็ว
จากที่เคยมีวิทยาเขตเพียงหนึ่งแห่งใน พ.ศ. ๒๕๒๗ ได้มีวิทยาเขตเพิ่มขึ้นเป็น
๙ แห่งใน พ.ศ. ๒๕๓๔ มหาวิทยาลัยตั้งบัณฑิตวิทยาลัยใน พ.ศ.๒๕๓๑
และเปิดการศึกษาระดับปริญญาโทในปีเดียวกัน ปัญหาที่ตามก็คือการที่มหาวิทยาลัยไม่มีสถานภาพเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายทำให้การประสานงาน
กับวิทยาเขตหละหลวมทั้งในด้านบริหารทั่วไป และการบริหารงบประมาณ
นอกจากนี้ พระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จการศึกษาวิชาการพระพุทธศาสนา
พ.ศ. ๒๕๒๗ รับรองวิทยฐานะเฉพาะปริญญาตรี ไม่รับรองวิทยฐานะปริญญาโทที่เปิดสอนแล้วนั้น
มหาวิทยาลัยจึงไม่สามารถขยายการศึกษาถึงระดับปริญญาเอก
เพื่อแก้ไขข้อขัดข้องดังกล่าวมา ผู้บริหารมหาวิทยาลัยจึงเห็นพ้องต้องกันว่าจะดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์ตามกฎหมาย
จุดเริ่มต้นแห่งความพยายามที่เป็นรูปธรรมคือ การกำหนดนโยบายไว้ในแผนพัฒนามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ระยะที่ ๗ (พ.ศ. ๒๕๓๔ - ๒๕๓๙) ว่า " พัฒนามหาวิทยาลัยให้มีสถานภาพสมบูรณ์ตามกฎหมาย
" และมีมาตรการรองรับว่า " ดำเนินการให้ตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
" แผนพัฒนามหาวิทยาลัยนี้เริ่มใช้ตั้งแต่เดือนตุลาคม
พ.ศ. ๒๕๓๔ การดำเนินการที่เป็นระบบเพื่อให้ได้มาซึ่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์ยกใหม่จึงเริ่มต้นในปีนั้น
วันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ นายปราโมทย์ สุขุม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการของรัฐบาลที่มีนายชวน
หลีกภัยเป็นนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางพร้อมคณะมาเยี่ยมชมกิจการของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
เพื่อรับทราบปัญหาเกี่ยวกับการบริหารงานของมหาวิทยาลัยด้วยตนเอง
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ประชุมร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยนำโดย
พระสุเมธาธิบดี (บุญเลิศ ทตฺตสุทธิ) นายกสภามหาวิทยาลัย
และพระอมรเมธาจารย์ (นคร เขมปาลี) อธิการบดี ที่ตำหนักสมเด็จ
วัดมหาธาตุฯ ผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยได้ชี้แจงให้ทราบถึงปัญหาสำคัญที่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยประสบอยู่ขณะนั้น
คือปัญหาเกี่ยวกับสถานภาพของมหาวิทยาลัยที่ยังไม่เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายและปัญหาหลายอย่างที่ตามมา
โดยเฉพาะปัญหาด้านงบประมาณและการขยายการศึกษาให้สูงถึงระดับปริญญาโทและปริญญาเอก
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการรับว่าจะสนับสนุนการดำเนินการเรื่องพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ต่อมาในวันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๕ คณะกรรมาธิการศาสนาศิลปะและวัฒนธรรม
นำโดยนายอำนวย สุวรรณคีรี ประธานกรรมาธิการ และนายดุสิต
โสภิตชา รองประธานกรรมาธิการ ได้มาเยี่ยมชมกิจการของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
และประชุมร่วมกับนายสภามหาวิทยาลัย อธิการบดี รองอธิการบดีและคณะบดี
ที่ตำหนักสมเด็จวัดมหาธาตุฯ คณะกรรมาธิการรับว่าจะดำเนินการเรื่องพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ในวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๖ มหาวิทยาลัยได้มีคำสั่งที่
๑๔๙/๒๕๓๖ แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานเกี่ยวกับ ร่างพระราชบัญญัติมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
จำนวน ๑๑ ท่าน มีพระอมรเมธาจารย์ อธิการบดี เป็นประธานคณะกรรมการได้ประชุมครั้งแรก
ณ ตำหนักสมเด็จ วัดมหาธาตุฯ เมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์
พ.ศ. ๒๕๓๖
คณะกรรมาธิการศาสนาศิลปะวัฒนธรรมมอบหมายให้นายประเทือง
เครือหงศ์ เลขานุการคณะกรรมาธิการยกร่างพระราชบัญญัติสถาบันมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยและมหามกุฎราชวิทยาลัย
มี ๓๗ มาตรา สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ
มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งมีสภามหาวิทยาลัยร่วมกันเพียงสภาเดียวเรียกว่า
สภาสถาบันเหมือนกับสถาบันราชภัฏ ๓๖ แห่งที่มีสภาสถาบันเพียงสภาเดียว
เมื่อยกร่างเสร็จแล้ว นายอำนวย สุวรรณคีรี ได้ส่งร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ถึงนายปราโมทย์
สุขุม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการเมื่อวันที่
๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ และได้มีหนังสือลงวันที่ ๒ มีนาคม
พ.ศ. ๒๕๓๖ แจ้งให้มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยทราบเรื่องร่างพระราชบัญญัตินี้เช่นกัน
ในวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ คณะผู้บริหารระดับสูงของมหามกุฎราชวิทยาลัย
ประกอบด้วย พระเทพวราจารย์ พระราชธรรมนิเทศ พระกวีวรญาณ
และพระอมรโมลี มาประชุม ณ ตำหนักสมเด็จ วัดมหาธาตุฯ ร่วมกับคณะผู้บริหารระดับสูงของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยนำโดย
พระเมธีธรรมาภรณ์ พระครูวรกิจจาภรณ์ และพระมหาสมชัย กุสลจิตฺโต
เพื่อกำหนดแนวทางดำเนินการเกี่ยวกับพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์ร่วมกันที่ประชุม
มีมติให้ยกร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองฉบับเหมือนกับที่เคยผ่านสภาผู้แทนราษฎรเมื่อ
พ.ศ. ๒๕๑๘
ต่อมา ในวันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ คณะผู้บริหารมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยและคณะผู้บริหารมหามกุฎราชวิทยาลัยได้เข้าประชุมร่วมกับคณะกรรมธิการการศาสนา
ศิลปวัฒนธรรม ที่กรมการศาสนา มีนายปราโมทย์ สุขุม เป็นประธาน
เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติสถาบันที่คณะกรรมาธิการได้ยกร่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ที่ประชุมมีมติให้ยกร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์แยกกันเป็นสองฉบับ
คือ ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัยและร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ในวันที่ ๑๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ คณะผู้บริหารมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้ไปร่วมประชุมกับคณะผู้บริหารมหามกุฎราชวิทยาลัยที่วัดบวรนิเวศวิหาร
เพื่อพิจารณากำหนดแนวทางร่วมกันในการผลักดันร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์
ในวันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๖ นายประเทือง เครือหงศ์
เลขานุการคณะกรรมาธิการการศาสนาศิลปะและวัฒนธรรมได้ส่งร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์สองฉบับ
คือ ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัยและร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยที่ปรับปรุงแก้ไขแล้วถึงนายปราโมทย์
สุขุม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ในวันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๖ พระเมธีธรรมาภรณ์ (ประยูร
ธมมฺจิตโต) รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ นำเรื่องปรึกษาสภามหาวิทยาลัยในการประชุมครั้งที่
๔/๒๕๑๖ เรื่องตำแหน่งทางวิชาการที่จะกำหนดในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์
สภามหาวิทยาลัยมีมติให้ใช้แบบสากลนิยม คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์
รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์
ในวันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๖ นายปราโมทย์ สุขุม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ส่งร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองฉบับถึงนายสัมพันธ์
ทองสมัคร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป
นายสัมพันธ์ ทองสมัครได้ทำบันทึกถึงนายโกวิท วรพิพัฒน์
ปลัดกระทรวงศึกษาธิการว่า เรื่องนี้สำคัญละเอียดอ่อนควรขอความเห็นจากคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งเกี่ยวกับเรื่องนี้
ปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้ทำบันทึกถึง นายสุรัฐ ศิลปอนันต์
รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการให้นิมนต์ และเชิญประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้
เช่น ผู้แทนมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ผู้แทนมหามกุฎราชวิทยาลัย
นายอำนวย สุวรรณคีรี อธิบดีกรมการศาสนา อธิบดีกรมวิชาการ
อธิบดีกรมสามัญศึกษา เลขาธิการการประถมศึกษาแห่งชาติ ในวันที่
๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ เพื่อพิจารณาเรื่องพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์
โดยเฉพาะผู้แทนมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยที่เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้
คือ พระอมรเมธาจารย์ อธิการบดี พระเมธีธรรมาภรณ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ
พระครูศรีวรนายก รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร และพระมหาโกวิทย์
สิริวรณโณ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการวิทยาเขต
ในวันที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ นายอำนวย สุวรรณคีรี ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เสนอร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยที่คณะกรรมาธิการศาสนาศิลปะและวัฒนธรรมยกร่างไว้นั้น
ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร
ประธานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองฉบับเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน
เพราะรัฐต้องจัดสรรและโอนงบประมาณรายจ่ายของแผ่นดินมาดำเนินกิจการามหาวิทยาลัยสงฆ์
จึงสั่งการให้ส่งเรื่องไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณารับรอง
เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจึงส่งร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองฉบับ
ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที ๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๖
เพื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาล่วงหน้า
ในวันที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีมีหนังสือถามความเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์
ไปที่กระทรวงศึกษาธิการและทบวงมหาวิทยาลัย ทบวงมหาวิทยาลัยมีหนังสือตอบลงวันที่
๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๖
ในวันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๖ นายปราโมทย์ สุขุม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้เสนอร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์สองฉบับต่อเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อถือเป็นร่างของรัฐบาล
ในวันที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ นายวิษณุ เครืองาม เลขาธิการคณะรัฐมนตรีมีหนังสือถามความเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์ไปที่ทบวงมหาวิทยาลัย
สำนักงบประมาณกระทรวงการคลังและสำนักนายกรัฐมนตรี
ในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ กรมการศาสนาทำหนังสือแจ้งปลัดกระทรวงศึกษาธิการว่า
กรมการศาสนาได้นำเรื่องพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งเสนอที่ประชุมมหาเถรสมาคมและที่ประชุมคณะกรรมการการศึกษาของคณะสงฆ์
ทุกฝ่ายเห็นชอบในหลักการ ร่างพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับในเดือนตุลาคมนั่นเอง
กระทรวงศึกษาธิการแจ้งเลขาธิการคณะรัฐมนตรีว่า ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองฉบับมีความเหมาะสมชอบด้วยหลักการและเหตุผล
ในวันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการประสานงานร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง
เพิ่มจำนวนกรรมการเป็น ๒๑ ท่าน มีพระอมรเมธาจารย์ อธิการบดีเป็นประธานมีพระเมธีธรรมาภรณ์และพระครูศรีวรนายก
เป็นรองประธาน ทำหน้าที่ติดต่อประสานงานให้ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยผ่านการพิจารณาของรัฐสภา
ในวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๖ นายวิษณุ เครืองาม
เลขาธิการคณะรัฐมนตรีมีหนังสือถึงนายบัญญัติ บรรทัดฐาน
รองนายกรัฐมนตรี สรุปความว่า ทบวงมหาวิทยาลัย สำนักงบประมาณกระทรวงการคลัง
และสำนักนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วเห็นควรสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์
โดยทบวงมหาวิทยาลัยเสนอว่ามหาวิทยาลัยสงฆ์ควรอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของทบวงมหาวิทยาลัย
ในวันที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองฉบับ
คณะรัฐมนตรีตั้งข้อสังเกตว่า การจะให้มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งบริหารด้วยตนเองตามระบบเดิมจะมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกว่าการกำหนดให้อยู่ภายใต้ระบบราชการหรือไม่
และเป็นการสมควรหรือไม่ที่มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของทบวงมหาวิทยาลัย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการขอถอนร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์ไปแก้ไขปรับปรุงใหม่ก่อนที่จะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง
ในวันที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี
มีหนังสือแจ้งมติคณะรัฐมนตรีไปที่ทบวงมหาวิทยาลัยและกระทรวงศึกษาธิการเพื่อให้พิจารณาตกลงเรื่องหน่วยงานที่จะกำกับดูแลมหาวิทยาลัยสงฆ์
ในวันที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๗ คณะผู้บริหารระดับสูงของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
มีอธิการบดีเป็นประธาน ได้ประชุม ณ ตำหนักสมเด็จ วัดมหาธาตุ
พิจารณาสาเหตุที่ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์ไม่ผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรี
ผู้บริหารระดับสูงมีมติให้ส่งผู้แทนมหาวิทยาลัยไปประสานงานกับรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการอย่างใกล้ชิด
ในวันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๗ กรมการศาสนาได้เสนอคณะกรรมการการศึกษาของคณะสงฆ์ในการประชุมครั้งที่
๑/๒๕๓๗ ให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการยกร่างหรือปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศานา
พ.ศ. ๒๕๒๗ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการดังกล่าว
จำนวน ๑๒ ท่าน
ในวันที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๗ คณะผู้บริหารมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
นำโดยอธิการบดีได้เข้าพบนายสัมพันธ์ ทองสมัคร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเพื่อหาทางออกให้กับร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์
ในการพบครั้งนี้ได้มีข้อตกลงให้มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
และมหามกุฎราชวิทยาลัย ส่งผู้แทนแห่งละ ๕ ท่าน ไปประชุมปรึกษาหารือกับผู้แทนจากกระทรวงศึกษาธิการและผู้แทนจากทบวงมหาวิทยาลัยเพื่อตกลงในประเด็นเรื่องการกำกับดูแลมหาวิทยาลัยสงฆ์
วันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๗ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ในฐานะองค์ประธานเสนอคณะกรรมการการศึกษาของคณะสงฆ์มีพระบัญชาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการยกร่างหรือปรับปรุงแก้ไข
พระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา
พ.ศ. ๒๕๒๗ จำนวน ๑๒ ท่าน มีพระราชธรรมนิเทศเป็นประธาน
และมีนายมาณพ พลไพรินทร์ ผู้อำนวยการกองศาสนศึกษา เป็นกรรมการและเลขานุการ
ในวันที่ ๑๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๗ ผู้แทนมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
๕ รูป นำโดยอธิการบดีและผู้แทนมหามกุฎราชวิทยาลัย ๕ รูป
ไปประชุมร่วมกับคณะอนุกรรมการยกร่างหรือปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา
พ.ศ. ๒๕๒๗ ที่กรมการศาสนา ที่ประชุมมีมติให้กระทรวงศึกษาธิการมีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการและผู้แทนมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งละ
๕ รูปนั้นเป็นกรรมการชุดใหญ่มีหน้าที่พิจารณาพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์และพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ เลขานุการที่ประชุมยังได้เสนอว่า " ควรจะมีการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา
พ.ศ.๒๕๒๗เป็นหลักเพระนโยบายของท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
มหาวิทยาลัยสงฆ์จะไม่มีสองมหาวิทยาลัยอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเพราะขณะนี้จะมีมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาแห่งโลกเกิดขึ้นโดยตั้งงบประมาณไว้แล้ว
"
ต่อมา ทางฝ่ายเลขานุการในคณะอนุกรรมการยกร่างหรือปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา
พ.ศ. ๒๕๒๗ ได้ยกร่างพระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา
พ.ศ.
ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา
พ.ศ. ๒๕๒๗ ร่างพระราชบัญญัติฉบับแก้ไขเพิ่มเติมนี้กำหนดให้ผู้สำเร็จเปรียญธรรม
๙ ประโยคมีวิทยฐานะปริญญาเอก พร้อมกับรับรองวิทยฐานะปริญญาโทและปริญญาเอกในมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่ง
เลขานุการในคณะอนุกรรมการชุดนี้ได้มีหนังสือเชิญอนุกรรมการไปประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวในวันที่
๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๗
เมื่อข่าวเรื่องร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้แพร่ออกไป ผู้บริหารมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จะทำให้ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์หมดความหมาย
อธิการบดีจึงมีหนังสือแจ้งให้เจ้าหน้าที่และคณาจารย์ทั้งหมดเข้าร่วมเสวนาเรื่องพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์
ณ ศูนย์วัดศรีสุดาราม ในวันที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๗ มหาวิทยาลัยได้เชิญนายอำนวย
สุวรรณคีรี ประธานกรรมาธิการศาสนาศิลปะและวัฒนธรรม และนายดุสิต
โสภิตชา รองประธานกรรมาธิการศาสนาศิลปะ และวัฒนธรรมมาเป็นวิทยากรบรรยายนำ
ผู้เข้าร่วมเสวนามีมติยืนยันให้เสนอร่างพระราชบัญญัติมหามกุฎราชวิทยาลัยและร่างพระราชบัญญัติมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยกลับเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี
ในวันที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๗ ผู้แทนมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งพร้อมด้วยผู้แทนทบวงมหาวิทยาลัย
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ สำนักงานข้าราชการพลเรือน
สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และผู้แทนกรมการศาสนาไปประชุมร่วมกับคณะกรรมาธิการศาสนาศิลปะและวัฒนธรรมที่รัฐสภาตามหนังสือเชิญของประธานคณะกรรมาธิการ
ที่ประชุมมีมติให้รีบเสนอร่างพระราชบัญญัติมหามกุฎราชวิทยาลัยและร่างพระราชบัญญัติมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี
เพราะเวลาได้ล่วงเลยมานานแล้ว และเห็นควรให้มหาวิทยาลัยสงฆ์อยู่ในความควบคุมดูแลของมหาเถรสมาคม
และกระทรวงศึกษาธิการตามที่เคยเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี
ที่ประชุมมีมติให้ผู้เกี่ยวข้องประชุมร่วมกันอีกครั้งหนึ่งที่วัดบวรนิเวศวิหารในวันที่
๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๗
ในวันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๗ ผู้แทนกรมการศาสนา (นายศิริ
ศิริบุตร รองอธิบดีกรมการศาสนา) ได้มีหนังสือรายงานผลการประชุมที่รัฐสภาต่อนายสัมพันธ์
ทองสมัคร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีได้ทำบันทึกท้ายหนังสือว่ามอบให้
ดร.รุ่ง แก้วแดง อธิบดีกรมการศึกษานอกโรงเรียน เป็นประธานคณะทำงานนโยบาย
ของกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ทำบันทึกแยกต่างหาก
มอบหมายงานปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์แก่
ดร. รุ่ง แก้วแดง ว่า
" เรียนคณะทำงาน (ดร. รุ่ง แก้วแดง)
ด้วย ครม. ได้ให้ ศธ. มาปรับ พ.ร.บ. จัดการศึกษาสงฆ์ ผมมอบเรื่องนี้ให้กรมการศาสนาไปนานแล้ว
ยังไม่มีอะไรคืบหน้า ของ ดร. รุ่ง ได้ปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.
ดังกล่าวให้ด้วย เมื่อพิจารณาแก้ไขแล้วเสร็จ จะได้สัมมนาหารือร่วมกันอีกสักครั้งก่อนเสนอ
ครม."
ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๗ ผู้แทนมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งพร้อมด้วยผู้แทนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประชุมร่วมกับคณะกรรมาธิการศาสนาศิลปะและวัฒนธรรม
ที่วัดบวรนิเวศวิหารเพื่อพิจารณาปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์โดยเปรียบเทียบกับร่างพระราชบัญญัติสถาบันราชภัฎ
ในวันที่ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๗ ดร. รุ่ง แก้วแดง ได้เชิญผู้แทนมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่ง
ประธานกรรมาธิการศาสนาศิลปะและวัฒนธรรมและผู้เกี่ยวข้องประชุมครั้งแรกที่กรมการศึกษานอกโรงเรียน
เพื่อพิจารณาปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์
ในการประชุมครั้งนี้ ดร.รุ่ง ได้กำหนดประเด็นปัญหาไว้
๒๕ ข้อ เพื่อหาคำตอบตรงกันทุกฝ่ายแล้วจึงใช้เป็นหลักการประกอบการร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์
พระเมธีธรรมาภรณ์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) เป็นผู้ชี้แจงคำตอบในประเด็นปัญหาเหล่านั้นในนามของมหาวิทยาลัยสงฆ์
ดร.รุ่ง แก้วแดง ได้ประชุมครั้งที่ ๒ ในวันที่ ๑๔ กรกฎาคม
และครั้งที่ ๓ ในวันที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๗ ผลของการประชุมทำให้ได้หลักการและคำอธิบายประกอบร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์จำนวน
๒๒ ข้อ ซึ่งที่ประชุมใช้เป็นกรอบในการปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์
ร่างพระราชบัญญัติที่ปรับปรุงใหม่นี้ได้ยึดแนวของพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
พ.ศ. ๒๕๓๓ และพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พ.ศ.
๒๕๓๕
ในวันที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๗ ดร.รุ่ง แก้วแดง เสนอร่างพระราชบัญญัติมหามกุฎราชวิทยาลัย
และร่างพระราชบัญญัติมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยที่ได้ปรับปรุงใหม่ต่อที่ประชุมอธิบดีของกระทรวงศึกษาธิการ
ที่ประชุมเห็นชอบตามเสนอ
ต่อมาในวันที่ ๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๗ รัฐมนตรีว่ากระทรวงศึกษาธิการได้ส่งร่างพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
เลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้มีหนังสือถามความเห็นไปยังกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมและสำนักงบประมาณในวันที่
๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๗
สำนักงบประมารทำหนังสือตอบลงวันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๗
ยืนยันการสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์
ในวันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๗ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมทำหนังสือตอบเลขาธิการคณะรัฐมนตรีว่า
พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์ไม่ต้องอยู่ภายใต้บังคับกฎหมายแรงงาน
วันที่ ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๘ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย
และร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
และให้ส่งคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา
ในวันที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๘ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีส่งร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา
ในวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๘ มีการประชุมคณะกรรมการกฤษฎีกาชุดเล็กเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์เป็นครั้งแรก
มีนางสาวพวงเพชร สารคุณ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีการเป็นประธานที่ประชุมมีผู้แทนมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
๓ รูป ไปชี้แจง คือ พระอมรเมธาจารย์ พระเมธีธรรมาภรณ์
และพระมหาสุรพล สุจริโต ดร.รุ่ง แก้วแดง เข้าชี้แจงในนามกระทรวงศึกษาธิการพร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงานต่าง
ๆ คือ สำนักงบประมาณ กรมธนารักษ์ กรมบัญชีกลาง กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
สำนักงานส่งเสริมตุลาการ และสำนักงานปลัดทบวงมหาวิทยาลัย
คณะกรรมการกฤษฎีกาชุดนี้ประชุมครั้งที่ ๒ ในวันที่ ๓
มีนาคม และประชุมครั้งที่ ๓ ในวันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๘
ในวันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ มีประกาศยุบสภา รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีชวน
หลีกภัย ได้สิ้นสุดลง ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองฉบับนี้จึงตกไปในขณะที่ยังค้างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา
เมื่อรัฐบาลที่นายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรีเข้ามาบริหารประเทศมหาวิทยาลัยเริ่มดำเนินการเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์ต่อไปด้วย
การแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการเกี่ยวกับพระราชบัญญัติมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยชุดใหม่
มีพระเมธีธรรมาภรณ์เป็นประธาน พระครูศรีวรนายกเป็นรองประธาน
และพระมหาสุรพล สุจริโตเป็นกรรมการและเลขานุการ เมื่อวันที่
๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๘
ในวันที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ คณะสังคมศาสตร์ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
จัดอภิปรายเรื่อง " แนวทางการสานต่อ พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยสงฆ์
" ผู้ร่วมอภิปรายประกอบด้วย นายสุขวิช รังสิตพล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่
ดร.รุ่ง แก้วแดง นายอำนวย สุวรรณคีรี ร้อยโทกุเทพ ใสกระจ่าง
และนายจำนงค์ สวมประคำ โดยมีพระเมธีธรรมาภรณ์เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย
คณะวิทยากรและผู้ดำเนินการอภิปรายได้เสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการการสาน
ต่อพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์ นายสุขวิช รังสิตพลให้ความมั่นใจแก่ที่ประชุมว่า
จะถือเรื่องพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์เป็นนโยบายสำคัญ
ของกระทรวง ศึกษาธิการ
ภายหลังการอภิปรายในวันนั้น พระเมธีธรรมาภรณ์ได้นัดประชุมคณะกรรมการดำเนินการเกี่ยวกับ
พระราชบัญญัติมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเป็นครั้งแรกเพื่อกำหนดแนวทางการประสานงานเรื่องพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์
ในวันที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ กระทรวงศึกษาธิการส่งร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์
ทั้งสองฉบับถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี
ผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่ง ได้เข้าพบ
ร.ต.ท. เชาวริน ลัทธศักดิ์ศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ในวันที่ ๑๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ และได้เข้าพบนายสุขวิช
รังสิตพล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในวันที่ ๒๑
สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ เพื่อสอบถามความคืบหน้าของพระราชบัญญัติมหาวิทยาลังสงฆ์
เลขาธิการคณะรัฐมนตรีมีหนังสือลงวันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ.
๒๕๓๘ ถึงเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาให้เร่งพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองฉบับ
ที่ค้างการพิจารในสมัยรัฐบาลก่อน
ในวันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ คณะกรรมการกฤษฎีกาประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์ต่อจากที่ค้างไว้จนครบทุกมาตรา
ต่อมาในวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๘ ที่ประชุมคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา
พ.ศ. ๒๕๒๗ เพื่อให้สอดคล้องกับร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์
ในวันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๘ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกามีหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรีรางายผลการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองฉบับ
และร่างพระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระรพุทธศาสนา
ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม
ในวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๙ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมกุฎราชวิทยาลัย
ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
และร่างพระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา
ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม
ในวันที่ ๒๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๙ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
มีหนังสือถึงนายโภคิน พลกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อให้พิจารณาประเด็นที่ว่ามหาวิทยาลัยสงฆ์ควรมีอำนาจกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาและการวิจัยโดยมีรัฐบาลค้ำประกันหรือไม่
ในวันที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๙ คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ประกอบด้วยพระครูศรีวรนายก พระมหาสุรพล สุจริโต พระมหาไพเราะ
ฐิตสีโล พระมาไสว โชติกา และ ดร.พรรษา พ่วงแตง ได้เข้าพบนายบุญเอื้อ
ประเสริฐสุวรรณ ประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อขอให้เร่งนำร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์บรรจุในวาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาโดยเร็ว
ในวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๙ คณะกรรมาธิการการศึกษา
สภาผู้แทนราษฎรมีมติสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์
และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประธานคณะกรรมการมีหนังสือแจ้งให้พระสุเมธาธิบดี
นายกสภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยทราบในวันที่
๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๙
ในวันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ นายโภคิน พลกุล ได้เพิ่มประเด็นที่ว่าให้กระทรวงการคลังค้ำประกันหนี้ต่างๆ
ของมหาวิทยาลัยสงฆ์และได้แจ้งไปยังประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อขอดำเนินการต่อไป
ในวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ นายปองพล อดิเรกสาร ประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรได้นัดประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่ทำเนียบรัฐบาล
มีผู้แทนมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยไปร่วมประชุมชี้แจง ๓
รูป คือ พระราชรัตนโมลี พระเมธีธรรมาภรณ์ และพระมหาสุรพล
สุจริโต
ในวันที่ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ นายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีมีหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อส่งร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย
ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
และร่างพระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา
ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมเสนอสภาผู้แทนราษฎร
ในวันที่ ๑๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ คณะผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก เพื่อกราบทูลถวายรายงานความคืบหน้าของการเสนอร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองฉบับ
สมเด็จพระสังฆราชได้มีลิขิตถึงนายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรี
นายบุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ ประธานสภาผู้แทนราษฎร นายชวนหลีกภัย
ผู้นำฝ่ายค้าน และนายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานวุฒิสภา เพื่อให้เร่งดำเนินการเกี่ยวกับ
พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองฉบับจนทันประกาศใช้ในปีกาญจนภิเษก
ในวันที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองฉบับ
และร่างพระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา
ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ พร้อมด้วยร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์อีก
๓ ร่างที่นายอำนวย สุวรรณคีรี นายไพจิต ศรีวรขาน และพันตำรวจเอกสุทธี
คะสุวรรณเป็นผู้นำเสนอ ที่ประชุมได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแปรญัตติโดยให้ถือร่างของรัฐบาลเป็นหลัก
คณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ประกอบด้วยกรรมาธิการจำนวน
๒๗ ท่าน มี ร.ต.ท. เชาวริน ลัทธศักดิ์ศิริ เป็นประธาน
นายอำนวย สุวรรณคีรี นายไพจิต ศรีวรขาน และนายดุสิต โสภิตชาเป็นรองประธาน
มีกรรมการที่เป็นศิษย์เก่ามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๓ ท่านคือ
นายจำนงค์ ทองประเสริฐ ร้อยโทกุเทพ ใสกระจ่าง และนายสนิท
ศรีสำแดง ผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมประชุมชี้แจงในคณะกรรมการ
คือ พระเมธีธรรมาภรณ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชากากร และมหาสุรพล
สุจริโต รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวางแผน คณะกรรมาธิการประชุมรวม
๕ ครั้ง คือ
ครั้งที่ ๑ วันที่ ๒๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๙
ครั้งที่ ๒ วันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๙
ครั้งที่ ๓ วันที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๙
ครั้งที่ ๔ วันที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๙
ครั้งที่ ๕ วันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๙
ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้บรรจุเรื่องร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จเรียบร้อยแล้ว
เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ ๒๕
กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๙ เรื่องอยู่ในอันดับที่ ๔ แต่ยังไม่ทันได้รับการพิจารณาก็ปิดประชุมเสียก่อน
ในวันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๙ ได้มีพระราชกฤษฎีกายุบสภา
รัฐบาลซึ่งมีนายบรรหาร ศิลปอาชาได้สิ้นสุดลง ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์จึงตกไป
ต่อมาในวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้มีการหนังสือถึงกรมการศาสนาว่า
" ถ้ามีความประสงค์จะดำเนินงานต่อ ให้ยืนยันร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์และเสนอไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง
"
ในวันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ กรมการศาสนามีหนังสือถึงปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
ยืนยันร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองฉบับ เพื่อเสนอนายสุขวิช
รังสิตพลรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในคณะรัฐบาลที่มี
พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี พิจารณาลงนามในหนังสือแจ้งเลขาธิการคณะรัฐมนตรีต่อไป
ในวันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ได้มีหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ยืนยันร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองฉบับ
ในวันที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์
และมีมติให้เสนอสภาผู้แทนราษฎรในวันเดียวกันนั่นเอง โดยไม่ต้องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาอีก
ในวันที่ ๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๐ หลังจากที่ได้บรรจุเรื่องร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์เข้าสู่การประชุมสภาผู้แทนราษฎรแล้ว
คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร มีมติให้เลื่อนระเบียบวาระเรื่องพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์ขึ้นมาพิจารณาในอันดับที่
๖.๓ , ๖.๔ ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรซึ่งจะมีขึ้นในวันที่
๘ ธันวาคม โดยมีผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสอง
คือ คณะรัฐมนตรี นายอำนวย สุวรรณคีรีและคณะ นายณัฐวุฒิ
ประเสริฐสุวรรณและคณะ นายเปรมศักดิ์ เพียยุระและคณะ
ในวันที่ ๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๐ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองฉบับและร่างพระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา
(ฉบับที่ ๒) และลงมติด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์รับหลักการร่างพระราชบัญญัติทั้งสามฉบับ
ที่ประชุมได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแปรญัตติโดยให้ถือร่างของรัฐบาลเป็นหลัก
คณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ ประกอบด้วยกรรมาธิการจำนวน
๒๗ ท่าน มีนายสังข์ทอง ศรีธเรศ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
เป็นประธาน นายอำนวย สุวรรณคีรี ร.ต.ท. เชาวริน ลัทธศักดิ์ศิริ
และนายดุสิต โสภิตชา เป็นรองประธาน มีกรรมการที่เป็นศิษย์เก่ามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
๓ ท่าน คือ นายจำนงค์ ทองประเสริฐ ร้อยโทกุเทพ ใสกระจ่าง
และนายสนิท ศรีสำแดง เป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมประชุมชี้แจงในคณะกรรมาธิการ
คือ พระราชวรมุนี (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ
พระมหาสุรพล สุจริโต รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวางแผน และพระมหาโกวิทย์
สิริวณฺโณ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการวิทยาเขต
คณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ได้ประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์
๓ ครั้ง คือ
ครั้งที่ ๑ วันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๐
ครั้งที่ ๒ วันที่ ๒๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๐
ครั้งที่ ๓ วันที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๐
ผลการประชุมพิจารณาในครั้งที่ ๓ นี้กล่าวเฉพาะ ในส่วนพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
มีประเด็นสำคัญที่ควรทราบคือ มาตราที่ ๖ ความเดิมวรรคหนึ่งมีว่า
" ให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นมหาวิทยาลัยหนึ่งเรียกว่ามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยและเป็นนิติบุคคลอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์
" คณะกรรมาธิการได้ขอแปรญัตติตัดคำว่า " อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์
" ที่ประชุมพิจารณาเห็นว่า การจะให้มหาวิทยาลัยอยู่ในพระบรมราชูปภัมภ์ควรเป็นไปตามพระราชวินิจฉัยขององค์พระมหากษัตริย์
การตรากฎหมายกำหนดให้อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์เป็นเรื่องไม่เหมาะสม
เมื่อได้อภิปรายกันแล้ว ที่ประชุมมีมติให้ตัดคำว่า "
อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ " ออกไป
เมื่อคณะกรรมการพิจารณาเสร็จแล้ว นายสังข์ทอง ศรีธเรศประธานคณะกรรมาธิการได้ส่งร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองฉบับ
และร่างพระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา
ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ ๕
กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๐ เพื่อเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
ในวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๐ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติทั้งสามฉบับซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญได้พิจารณาเสร็จแล้วลงมติในวาระที่
๒ และที่ ๓ เห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยทั้งสองฉบับและร่างพระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนาฉบับแก้ไขเพิ่มเติม
ด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์
ในวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๐ ที่ประชุมวุฒิสภา
ได้ลงมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์และร่างพระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา
(ฉบับที่ ๒) และมอบให้คณะกรรมาธิการการศึกษาและวัฒนธรรมของวุฒิสภาพิจารณาแปรญัติภายใน
๕ วัน
คณะกรรมาธิการชุดนี้จำนวน ๑๗ คน มีนายเกษม สุวรรณกุลเป็นประธานมีนายสิปนนท์
เกตุทัต และนายวิจิตร ศรีสอ้านเป็นรองประธาน นายจำนงค์
ทองประเสริฐเป็นเลขานุการ ผู้แทนมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเข้าร่วมประชุมชี้แจงแสดงความเห็น
๔ ท่าน คือ พระราชวรมุนี พระมหาสุรพล สุจริโต พระมหาโกวิทย์
สิริวณ?โณ และพระมหาไสว โชติโก คณะกรรมาธิการได้ประชุม
๕ ครั้ง คือ
ครั้งที่ ๑ วันที่ ๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๐
ครั้งที่ ๒ วันที่ ๑๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๐
ครั้งที่ ๓ วันที่ ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๐
ครั้งที่ ๔ วันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๙
ครั้งที่ ๕ วันที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๐
ในวันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๐ นายเกษม สุวรรณกุล ประธานคณะกรรมการการศึกษาวัฒนธรรมได้ส่งร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองฉบับ
และร่างพระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนาฉบับแก้ไขเพิ่มเติม
ต่อวุฒิสภาเพื่อพิจารณา
ในวันที่ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรรับทราบมติของวุฒิสภาเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา
ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จึงสำเร็จเป็นกฎหมายไปก่อน
แต่เนื่องจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่ผ่านการพิจารณา
ของวุฒิสภาแล้วนั่น มีแก้ไขเพิ่มเติม ๑๙ มาตรา บางมาตราเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมในสาระสำคัญ
โดยเฉพาะมาตรา ๗ ความเดิมมีว่า " มหาวิทยาลัยไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ
ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีงบประมาณหรือกฎหมายอื่น " วุฒิสภาได้แก้ไขเป็น
" มหาวิทยาลัยไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ "
ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรจึงมีมติให้ตั้งคณะกรรมการร่วมกัน
เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองฉบับ
ประกอบด้วยกรรมาธิการจำนวน ๒๒ คน คณะกรรมาธิการชุดนี้มีนายสังข์ทอง
ศรีธเรศเป็นประธาน นายสุรัฐ ศิลปอนันต์ และนายวิจิตร ศรีสอ้าน
เป็นรองประธาน ร้อยโท กุเทพ ใสกระจ่าง เป็นเลขานุการ
พระราชวรมุนี อธิการบดีมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้มีหนังสือลงวันที่
๒๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ ถึงนายสังข์ทอง ศรีธเรศ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการว่า
การที่พระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา
ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ผ่านรัฐสภาเป็นกฎหมายไปแล้ว ทั้งที่พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์ยังค้างอยู่นั้นก่อนให้เกิดปัญหาต่อมา
ถ้าพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์ตกไปเพราะเหตุใดเหตุหนึ่ง
จะมีผลให้การดำเนินงานทั้งหมดของมหาวิทยาลัยสงฆ์ไม่มีกฎหมายรองรับ
เพราะประเด็นที่เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยสงฆ์ในพระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา
ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมได้ถูกตัดออกไป
ต่อมาคณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองฉบับ
ได้มีการประชุม ๒ ครั้ง คือ
ครั้งที่ ๑ วันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๐
ครั้งที่ ๒ วันที่ ๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๐
ประเด็นเกี่ยวกับมาตรา ๗ นั้น ที่ประชุมคณะกรรมาธิการร่วมมีมติแก้ไขเพิ่มเติมว่า
" ให้มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ "
ในวันที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ นายสังข์ทอง ศรีธเรศ ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองฉบับที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการแล้วต่อสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งหนึ่ง
ในวันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร
มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองฉบับ
ในวันที่ ๒๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ ที่ประชุมวุฒิสภามีมติเห็นชอบต่อจากนั้น
เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้ส่งร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์
ทั้งสองฉบับ และร่างพระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา
(ฉบับที่ ๒) ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ให้นำขึ้นทูลเกล้าฯ
เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย
ในวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๐ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ
รัชกาลปัจจุบัน ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองฉบับ
คือ พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย พ.ศ.
๒๕๔๐ และพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
พ.ศ. ๒๕๔๐ และพระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา
(ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๐
ในวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ พระราชบัญญัติทั้งสามฉบับประกาศในราชกิจจานุเบกษา
เล่ม ๑๑๔ ตอนที่ ๕๑
|