ประชุมวิสาขโลกวันสุดท้าย นายกยิ่งลักษณ์ กล่าวสุนทรพจน์ ชูชาวโลกใช้หลักธรรมพระพุทธองค์สร้างสันติภาพ ลดความรุนแรง ด้านประธานาธิบดีศรีลังกา วอนผู้นำทั่วโลกใช้หลักอหิงสาบริหารประเทศ เชื่อลดความขัดแย้งสร้างสงบสุขได้จริง ขณะที่ชาวพุทธประกาศปฎิญญา
เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 2 มิ.ย. ที่ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ ถือเป็นวันที่ 3 วันสุดท้ายของการประชุมวิสาขบูชานานาชาติ ครั้งที่ 9 วันสำคัญของโลก เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองพุทธชยันตี 2600 ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เรื่องพระปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าเพื่อประโยชน์สุขของมวลมนุษยชาติ โดยก่อนการประชุมผู้นำประมุขสงฆ์ และชาวพุทธนานาชาติจาก 85 ประเทศทั่วโลก ประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์ พร้อมทั้งมีการอ่านสาส์นจากบุคคลสำคัญ อาทิ นายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ นางอิรินา โบโควา เลขาธิการองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(ยูเนสโก) จากนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายมหินทรา ราชปักษา ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา ได้เดินทางมาร่วมการประชุมพร้อมกล่าวสุนทรพจน์ต่อที่ประชุมชาวพุทธนานาชาติ โดยน.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ตนรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมการประชุมวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลกที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร.)ได้จัดขึ้น ซึ่งครั้งนี้ครบวาระ 2600 ปีแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญกับการฉลองพุทธชยันตี เพื่อให้ชาวพุทธทั่วโลกเห็นว่า หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา มีความสำคัญที่จะสามารถสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในโลกได้ รวมทั้งมีหลักคำสอนที่ไม่ให้ใช้ความรุนแรงและสอนให้มวลมนุษย์เคารพซึ่งกันและกัน ซึ่งเรื่องของสันติภาพและการไม่ใช้ความรุนแรงนั้น เวลานี้เหมาะสมกับประเทศไทย ตนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ประชาชนทั่วไปจะได้ความรู้ ความเข้าใจในสาระสำคัญในพุทธธรรม และก่อให้เกิดความสงบสุข ความสงบ แก่พุทธศาสนิกชนและมวลมนุษยชาติอย่างแท้จริง ด้าน นายมหินทรา กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มาร่วมงานวิสาขบูชาโลกที่ประเทศไทยแห่งนี้ ซึ่งตนได้น้อมนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา มาใช้ในการบริหารประเทศ โดยผู้นำของศรีลังกาได้ใช้หลักธรรมนี้บริหารประเทศมาหลายทศวรรษแล้ว โดยใช้หลักอหิงสา มีเมตตาธรรมกับผู้อื่น รู้จักการเสียสละให้อภัยถึงแม้ว่าในศรีลังกาจะเคยผ่านเหตุการณ์ความรุนแรงแต่ก็ผ่านพ้นด้วยหลักธรรมของพระพุทธเจ้า ดังนั้น หากผู้นำทั่วโลก นำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา มาใช้บริหารประเทศด้วยหลักอหิงสา คือ หลีกเลี่ยงความรุนแรง ไม่เบียดเบียนและเคารพในชีวิตของผู้อื่น เชื่อว่า ทั่วโลกจะไม่เกิดความไม่ความขัดแย้ง ที่นำไปสู่ความรุนแรงจะทำให้โลกเกิดความสงบสุขและเกิดสันติภาพได้ ในเวลา 15.00 น.ที่ประชุมผู้นำชาวพุทธ 85 ประเทศ รวมกันประกาศปฏิญญากรุงเทพมหานคร โดยมีสาระสำคัญดังนี้ 1.ตระหนักว่า การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าและคำสั่งสอนของพระพุทธองค์เมื่อ 2600 ปีที่ผ่านมีผลกระทบต่อมนุษยชาติทั่วโลกในการเปลี่ยนชีวิต ดังนั้น เราจึงจะต้องพยายามตามหลักอริยมรรคมีองค์ 8 และเผยแผ่หลักคำสอนเรื่องสันติภาพแก่ชาวโลก 2.ความขัดแย้งในโลกมีความซับซ้อนหลายมิติ คือ มิติทางด้านบทบาททางสังคม เศรษฐกิจ พวกเราจึงเรียกร้องให้ทุกรัฐบาลทั่วโลกเป็นนักปฏิบัติจริง และส่งเสริมการอภัยกัน โดยช่วยกันยุติความขัดแย้งทางสังคมและการเมืองในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวพุทธโลกต้องนำเอาการส่งเสริมเรื่องสันติภาพและความปรองดองไปใช้ทั่วโลกโดยประยุกต์คำสั่งสอนในพระพุทธศาสนาเรื่องการให้อภัย อหิงสา กรุณาและขันติธรรมอย่างชาญฉลาด และทำงานอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยควบคุมธรรมชาติของมนุษย์ที่มีความต้องการไม่สิ้นสุด, มีความเกลียดชังกันและความไม่รู้ เพื่อสร้างสังคมที่บูชาคุณค่าของมนุษย์ 3.ตระหนักถึงการเพิ่มขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อนของอุบัติภัยด้านสิ่งแวดล้อมในโลก พวกเราจึงส่งเสริมให้ตระหนักรู้ถึงการพึ่งพากันระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติตามหลักปฏิจจสมุปบาทให้มากยิ่งขึ้น 4.ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนชีวิตมนุษย์ในสังคม ทั้งจิตใจ จริยธรรม และสติปัญญา พวกเราจึงส่งเสริมให้มีการปฏิบัติกรรมฐาน ซึ่งพระพุทธศาสนาทุกนิกายได้อนุรักษ์สืบทอดมาอย่างหลากหลาย 5. ที่ประชุมมีมติเห็นชอบตั้งศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก ตามที่มีการประชุมโต๊ะกลมที่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เมื่อวันที่ 1มิ.ย.ที่ผาน มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเครือข่ายที่มีประสิทธิภาพสำหรับชาวพุทธโลก ณ พุทธมณฑล จ.นครปฐมให้เป็นจริงขึ้นมา 6. พวกเราจึงยินดีต่อการบรรลุผลตามวัตถุประสงค์ของการประชุมใหญ่ครั้งที่ 2 ของสมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติ ที่ใช้หัวข้อการประชุมว่าด้วยพุทธปรัชญาและแนวทางการปฏิบัติ โดยอาศัยกระบวนการของการปรึกษา การอภิปราย และความร่วมมือกันทางด้านวิชาการ 7.พวกเราจะธำรงรักษาและส่งเสริมความก้าวหน้าของโครงการสำคัญ 2 โครงการ เนื่องในวันวิสาขบูชาวันสำคัญของโลก คือโครงการพระไตรปิฎกฉบับสากล และโครงการจัดทำสหบรรณานุกรมตำราทางพระพุทธศาสนา 8.พวกเราขอยกย่องความร่วมมือกันของยูเนสโก รัฐบาลเนปาล ในการเสนอมาตรการดูแล และลดมลภาวะทางอากาศ ณ ลุมพินีสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นแหล่งมรดกโลกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว สำหรับในช่วงเวลา 16.00 น. ที่ลานหน้าองค์พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์ อ.พุทธมนฑล จ.นครปฐม ผู้นำประมุขสงฆ์ และชาวพุทธนานาชาติ ประกอบพิธี ธรรมยาตรา ประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์และจิตภาวนา ถวายพระพรชัยมงคล และถวายพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฎราชกุมาร ทรงเจริญพระชนมพรรษา 60 พรรษา อย่างไรก็ในพิธีมีพระสงฆ์และประชาชนเดินทางมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก ต่อมาในเวลา 17.30 น. คณะสงฆ์ ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ อาคารสำนักงานศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก ซึ่งจะมีการจัดสร้างขึ้นที่พุทธมณฑลเป็นครั้งแรกของโลก หลังจากนั้น ประกอบพิธีเวียนเทียนรอบองค์พระประธาน พร้อมชมการแสดงทางวัฒนธรรมนานาชาติจาก 13 ประเทศ พระธรรมโกศาจาย์ อธิการบดีมจร. กล่าวถึงการก่อสร้างอาคารสำนักงานศูนย์กลางพระพุทธศาสนาของโลกว่า ชาวพุทธทั่วโลกได้มีการประชุมหารือถึงแนวทางการพัฒนาศูนย์กลางพระพุทธศาสนาของโลกในประเทศไทย ในเบื้องต้นมีแนวทางดำเนินการจัดสร้างอาคารที่ทำการ เพื่อใช้เป็นที่รวบรวมข้อมูลทางพระพุทธศาสนาจากทุกมุมโลก สถานที่ปฏิบัติธรรม กิจกรรมชาวพุทธทั่วโลกพร้อมทั้งจะมีการจัดทำเว็บไซต์ สถานีโทรทัศน์ สถานีวิทยุพระพุทธศาสนาโลก ขึ้น อีกทั้งจะใช้อาคารพิพิธภัณฑ์ และหอสมุดที่มีอยู่ในพุทธมณฑล พัฒนาเป็นห้องสมุดพระพุทธศาสนานานาชาติ รวบรวมหนังสือจาก ทุกนิกายได้ด้วย นอกจากนี้ ในอนาคตจะมีการพัฒนาจัดสร้างศูนย์การประชุมขนาดใหญ่ที่สามารถจุคนได้มากกว่า 3,000 คนอาคารที่พักไว้รองรับการประชุมระดับนานาชาติด้วย พระธรรมโกศาจารย์ กล่าวต่อไปว่า ในวันที่ 3 มิ.ย. รัฐบาลได้นิมนต์ ประมุขสงฆ์และผู้นำชาวพุทธ ที่เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ไปเจริญพุทธมนต์และรับภัตตาหารเพล ที่ทำเนียบรัฐบาลโดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน อย่างไรก็ตาม การจัดประชุมชาวพุทธนานาชาติ เนื่องในวิสาขบูชา วันสำคัญของโลก ครั้งที่ 10 ปี 2556 ที่ประชุมมติให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ เนื่องจากเห็นว่า ศูนย์กลางพระพุทธศาสนาอยู่ที่ประเทศไทย ช่วงเช้าวันเดียวกัน ที่วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานวันวิสาขบูชา ประจำปี 2555 พร้อมทั้งกล่าวว่า รัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้มีมติสนับสนุนการจัดงานพุทธชยันตี 2600 ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ตามมติของเถรสมาคม(มส.)อย่างเต็มที่ เพื่อให้เหมาะสมกับการที่ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาของโลก ดังนั้นการจัดกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาทั้ง 3 วัน คือวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา และวันอาสาฬบูชา รัฐบาลจึงให้ความสำคัญอย่างมาก ให้มีความเหมาะสมกับการเฉลิมฉลองครบ 2,600 ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า โดยกำหนดให้ พุทธมณฑล จ.นครปฐม เป็นศูนย์กลางการจัดงาน นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวว่า ในวันที่ 4 มิ.ย.ซึ่งตรงกับวันวิสาขบูชา และเป็นวันครบรอบ 2,600 ปีแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าพอดี จะมีพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ 89 รูป รอบบรมบรรพต(ภูเขาทอง) พิธีเจริญพระพุทธมนต์ เจริญจิตตภาวนา การแสดงธรรมลีลาวิสาขบูชาพุทธชยันตีและพิธีเวียนเทียนบูชาพระบรมสารีริกธาตุ ขึ้นสู่ภูเขาทอง สมหมาย สุภาษิต |