เมื่อวันที่ ๑๗-๑๙ กันยายน ๒๕๕๕ สถาบันภาษา มจร กับมหาวิทยาลัยมหาุจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา ได้ร่วมมือจัดโครงการพัฒนาคณาจารย์ในเรื่อง "การเขียนบทความทางวิชาการ" ครั้งที่ ๒ ณ วิทยาเขตพะเยา โดยมีคณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนิสิตระดับปริญญาโทที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมการพัฒนาและฝึกอบรมจากวิทยาเขต พะเยา วิทยาลัยสงฆ์น่าน และห้องเรียนวัดพระแก้ว เชียงราย กว่า ๘๐ รูป/คน ทั้งนี้ วิทยากรหลักประกอบด้วยพระมหาหรรษา ธมฺมหาโส,รศ.ดร. ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ พระมหาสมบูรณ์ วุฒิกโร,ดร. รองคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย ศ.ดร.จำนงค์ อดิวัฒนสิทธิ์ และนายอุทัย สติมั่น เจ้าหน้าที่สถาบันภาษา มจร
การพัฒนาและฝึกอบรมครั้งที่ ๒ มีเป้าหมายเพื่อนำบทความที่ผ่านการพิจารณาหัวข้อ และโครงร่างจากผู้ทรงคุณวุฒิ ในการสัมมนาครั้งที่ ๑ และคณาจารย์ได้นำโครงร่างดังกล่าวไปเขียนเป็นบทความฉบับเต็ม หลังจากนั้น จึงนำบทความดังกล่าวมานำเสนอในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการครั้งที่ ๒ และเปิดโอกาสให้เชี่ยวชาญได้ร่วมกันวิพากษ์ จุดเด่น จุดด้อย และนำเสนอแนวทางที่ควรพัฒนาต่อบทความแต่ละเรื่อง ซึ่งบทความฉบับเต็มที่ได้รับการวิพากษ์ครั้งมีกว่า ๒๐ บทความ ขั้นตอนต่อไป เจ้าของบทความทั้งสามสถาบัน จะนำไปปรับปรุงและส่งกลับมาให้คณะกรรมการบรรณาธิการ (Peer Review) ได้อ่านเพื่อเสนอข้อคิดเห็น และปรับปรุงก่อนดำเนินการตีพิมพ์ในวารสารบัณฑิตปริทรรศน์ในช่วงต้นปี ๒๕๕๖ ต่อไป
พระราชวิริยาภรณ์ รองอธิการบดีวิทยาเขตพะเยา ในฐานะประธานในพิธิเปิดและพิธีปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการกล่าวว่า "การจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการครั้งนี้มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาศักยภาพ ในการเขียนแก่คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนิสิตทุกท่าน ให้สามารถเขียนงานวิชาการได้อย่างมีระบบ และไ้ด้มาตรฐานมากยิ่งขึ้น ผู้ที่ได้รับประโยชน์โดยตรงคือ นิสิต เพราะจะได้มีโอกาสอ่านงานที่ทรงคุณค่าจากอาจารย์ที่สอนในวิชาต่างๆ ที่สะท้อนองค์ความรู้ออกมาเป็นงานเขียนงานในเชิงวิชาการ"
พระศรีวรพินิจ ผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์พะเยากล่าวเสริมว่า "ผลประโยชน์ที่สำคัญนอกเหนือจากการพัฒนาวิชาการให้แก่คณาจารย์ให้มีคุณภาพมา ยิ่งขึ้นแล้ว บทความทางวิชาการสามารถเอื้อต่อการประกันคุณภาพของวิทยาเขาพะเยา เพราะในการประกันคุณภาพครั้งที่ผ่านมา ผลประเมินเกี่ยวกับบทความทางวิชาการ และงานวิจัยยังอยู่ในระดับต่ำ ฉะนั้น การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ จะสามารถเพิ่มศักยภาพในการประเมินให้แก่วิทยาเขตในโอกาสต่อไป ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว"
ศ.ดร.จำนงค์ อดิวัฒนสิทธิ์ ย้ำในประเด็นดังกล่าวว่า "ชื่นชมวิทยาเขตพะเยาที่ผู้บริหารระดับสูงได้เห็นความสำคัญของการพัฒนา คณาจารย์ให้มีความเป็นเลิศในด้านวิชาการ หัวใจสำคัญของวิทยาเขต คือ "ความแหลมคมด้านวิชาการ" งานวิชาการจึงเป็นเครื่องหวัดความสำเร็จในการจัดการศึกษาทั้งคณาจารย์และ นิสิต หวังว่า วิทยาเขตพะเยาจะเป็นที่พึ่งทางวิชาการให้แก่พุทธศาสนิกชน ทั้งในการนำเสนอแง่มุมทางวิชาการที่ได้คุณภาพ และเป็นที่พึ่งพาทางวิชาการให้แก่ปัญญาชนทั้งในพะเยาและจังหวัดใกล้เคียง"
สถาบันภาษา มจร ได้จัดหลักสูตรการเีขียนบทความทางวิชาการ (Academic Writing) ให้แก่คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ นิสิต และบุคคลทั่วไป ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคตั้งแต่ปี ๒๕๕๐ เป็นต้นมา ซึ่งการจัดหลักสูตรดังกล่าว ก่อให้เกิดคุณค่าและผลประโยชน์ในการพัฒนาศักยภาพในการเขียนงานวิชาการให้ได้ มาตรฐานที่เอื้อต่อการเขียนงานวิทยานิพนธ์ และบทความทางวิชาการเพื่อลงตีพิมพ์ในการประชุมวิชาการทั้งในระดับชาติและ นานาชาติจำนวนมาก |